แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: UMP
go

ขอเชิญร่วมปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ ณ วัดป่าเจดีย์เทวธรรม  จ.ร้อยเอ็ด 25 ธ.ค. 58 - 5 ม.ค. 59

Rank: 1

UMP โพสต์เมื่อ 2015-12-6 17:21 |แสดงโพสต์ทั้งหมด
"เดินจงกรมบริกรรมพุทโธ เดินอย่างไรให้เห็นอาการเกิดดับ"

คุณแม่ชีเกณฑ์ท่านสอนให้เดินช้าๆ เท้ายกขึ้น ให้คำว่าพุท การรับรู้ที่เท้าเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน และก่อนเท้าจะลงให้หยุดไว้ จะเห็นคำว่าโธผุดขึ้นในใจ ให้มันดับไปก่อนแล้วค่อยเอาเท้าลงพร้อมคำว่าโธที่เอ่ยขึ้นมาใหม่ เพื่อให้การรับรู้ เท้าที่ลงและคำว่าโธเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน 

เมื่อเห็นใจมันสั่งให้เอาเท้าลงหรือบอกให้ไป อย่าไปทำตามมัน หยุดดูให้มันดับลงก่อนจึงไปต่อ ถ้าความคิดเกิดขึ้นให้หยุดค้างไว้ ความปวดเกิดขึ้นก็ให้หยุดค้างไว้ เมื่อความคิดและอาการปวดดับจึงไปต่อ มันมาอีกก็หยุดอีก มันดับเราก็ไปต่อ

การเห็นการเกิดดับ เป็นต้นทางของการวิปัสสนา เป็นปัญญาขั้นแรกที่จะพาเราพ้นทุกข์ได้ ผู้ปฏิบัติธรรมที่เห็นและเข้าถึงการเกิดดับจากการปฏิบัติ จะปฏิบัติธรรมเข้าใจได้ง่ายและไม่เนิ่นช้า

จะบริกรรมอะไรหรือไม่บริกรรม คุณแม่ท่านให้สังเกตจุดเดียวกันคือ จุดที่การรับรู้เกิดแล้วก็ดับ และเห็นจิตที่คิด จิตที่สั่งเกิดแล้วดับ การเดินช้าแล้วหยุดจะทำให้เราเห็นธรรมชาติอันแท้จริงนี้ เพราะใจที่ไม่ยอมรับว่าทุกสิ่งเกิดแล้วดับ ความคิดจึงต่อกันยาวเหยียด

ถ้าคิดมากไม่ยอมหยุดเพราะสติเรายังไม่มีกำลังพอ หยุดค้างไว้และให้กำหนดคิดหนอๆ หรือตามอาการความรู้สึกในใจ หากฟุ้งมาก อึดอัดมาก ให้บริกรรมออกเสียงดังๆ เพื่อให้จิตคลายและมาสนใจอาการที่ปากเป็นระยะ เมื่อต่อเนื่องมากๆ มันไม่ถูกปรุงแต่งให้คิดต่อ ความคิดนั้นก็ดับลง หรือจะคิดให้มันจบไปเลย เมื่อสรุปได้ก็วาง


Rank: 1

UMP โพสต์เมื่อ 2015-12-6 17:21 |แสดงโพสต์ทั้งหมด
"การเดินจงกรมเพื่อการพักจิต"

เมื่อใจเบื่อคำบริกรรม ถามคุณแม่ชีเกณฑ์ว่าใช้ลมหายใจแทนคำบริกรรมได้ไหม ท่านบอกว่าได้ไม่ผิดอะไร วิธีกรรมของครูบาอาจารย์เป็นแนวทาง ผู้ที่รู้จักตัวเองดีแล้วก็ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับตัวเองได้ ในวันนี้จึงขอเดินเงียบๆ ช้าๆ ไม่เร่งตัวเอง ไม่เร่งลมหายใจ ปล่อยใจให้สบาย ไม่ได้ทำเพื่อใครหรือเพื่ออะไร เป็นการเดินจงกรม 6 จังหวะ โดยใช้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกแทนคำบริกรรม

จังหวะที่ 1. ยกส้น+หายใจเข้า.....หยุดค้าง+หายใจออก
(ยกส้นเท้าขึ้นพร้อมกับหายใจเข้ายาวๆ จนลมเต็มปอดท้องพองจนสุด แล้วหยุดเท้าค้างไว้พร้อมกับปล่อยลมหายใจออกจนลมหมดท้อง แล้วค่อยเปลี่ยนจังหวะ)

จังหวะที่ 2. ยก+หายใจเข้า....หยุดค้าง+หายใจออก
(ยกเท้าขึ้นพร้อมกับหายใจเข้ายาวๆ แล้วหยุดค้างไว้พร้อมกับปล่อยลมออกจนหมดท้อง)

จังหวะที่ 3. ย่าง+ลมหายใจเข้า....หยุดค้าง+ลมหายใจออก
(ก้าวขาออกไปพร้อมกับหายใจเข้ายาวๆ แล้วหยุดค้างไว้พร้อมกับปล่อยลมออกจนหมดท้อง)

จังหวะที่ 4. ลง+ลมหายใจเข้า...หยุดค้าง+ลมหายใจออก
(เอาเท้าลงแต่ปลายเท้ายังไม่ถูกพื้นพร้อมกับหายใจเข้ายาวๆ แล้วหยุดค้างไว้พร้อมกับปล่อยลมออกจนหมดท้อง)

จังหวะที่ 5. ถูก+ลมหายใจเข้า...หยุดค้าง+ลมหายใจออก
(ปลายเท้าถูกพื้นพร้อมกับหายใจเข้ายาวๆ แล้วหยุดค้างไว้พร้อมกับปล่อยลมออกจนหมดท้อง)

จังหวะที่ 6. เหยียบ+ลมหายใจเข้า....หยุดค้าง+ลมหายใจออก
(เหยียบพื้นเต็มเท้าพร้อมกับหายใจเข้ายาวๆ แล้วหยุดค้างไว้พร้อมกับปล่อยลมออกจนหมดท้อง)

ผลจากการเดินจงกรมแบบนี้ ในเวลาไม่กี่วัน ใจก็วางเรื่องที่คิดไปหลายสิบเรื่อง เป็นใจที่สงบ เย็น หนักแน่น ว่างและวาง 

การเดินจงกรมไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าเรารู้จุดนี่คือวิธีพักจิต คลายใจ ชำระจิต โดยที่ไม่ต้องไปไหน ไม่ต้องรอเวลา ไม่เสียเงิน แค่ห้องเล็กๆ ก็กว้างพอ แม้จะเดินได้แค่ก้าวเดียว ยืนกับที่ เดินไม่ได้ ยืนไม่ได้ เคลื่อนไหวได้แค่มือ หรือแค่ปลายนิ้ว ก็สามารถนำวิธีนี้ไปปรับให้เข้ากับตนเองได้ อยู่กับลมหายใจมาครึ่งค่อนชีวิตแล้ว เพิ่งจะใช้เขาให้เป็นประโยชน์สูงสุดก็วันนี้เอง


Rank: 1

UMP โพสต์เมื่อ 2015-12-6 17:22 |แสดงโพสต์ทั้งหมด
"มันโกรธไปแล้ว ดับยากเพราะอะไรครับ"

คุณแม่ชีเกณฑ์ : เพราะโทสะมันแรง ตัวทิฐิ อัตตาตัวตนมันแรง ก็เลยดับไม่ได้ คุณโยมเห็นกำแพงมั้ย ลมเข้าได้มั้ย สติคุณโยมหนาอย่างนี้เมื่อไหร่ อารมณ์ก็ไหลเข้าไปสู่ใจคุณโยมไม่ได้ แล้วคุณโยมเคยบริกรรมอะไรมั้ย
ผู้ปฏิบัติธรรม : เคยแต่เดินจงกรม

คุณแม่ : แล้วนั่งสมาธิมั้ย
ผู้ปฏิบัติธรรม : เคยนั่งดูลมหายใจ

คุณแม่ : อย่างนั้นแม่จะถาม คุณโยมเคยสังเกตมั้ย เมื่อลมหายใจเข้า ก่อนลมจะออก คุณโยมรู้สึกว่ารู้ตามมั้ย มีสติรู้ตามตลอดมั้ย
ผู้ปฏิบัติธรรม : บางครั้งก็รู้ตาม บางครั้งก็หลง

เห็นมั้ยแปลว่าคุณโยมรู้เป็นบางขณะ คุณโยมต้องรู้ตามทุกขณะ ขณะที่มันเข้า ที่มันออก ทุกขณะที่คุณโยมคิด คุณโยมพูด คุณโยมปรุงแต่ง ให้คุณโยมรู้เท่าทันอยู่ตลอด รู้เท่าทันแล้วให้รู้โทษมันด้วย ไม่ใช่รู้เท่าทันแล้วเฉยๆ ไม่ได้ 

รู้ว่ามันโกรธ ก็โกรธไปไม่ได้ รู้ว่า เออ อันนี้มันโกรธ มันเป็นโทษนะ ตายไปขณะนี้ ต้องไปเกิดเป็นสัตว์นรกแน่นอน เป็นสัตว์เดรัจฉาน ต้องบอกมันอย่างนี้ รู้เฉยๆ ไม่มีอะไรบอกไม่ได้ เพราะมันดื้อ มันไม่เชื่อ ต้องบอกมัน ถ้าตายตอนนี้นะ ถ้าโกรธต้องไปเป็นสัตว์ที่โหด ไปเป็นเสือโคร่งที่ดุร้าย ขย้ำขยี้ ฉีกเนื้อมนุษย์ สัตว์ทั้งหลายที่เล็กและอ่อนแอกว่า ไปเป็นงู ก็คงเป็นงูอสรพิษที่ร้าย 

อันนี้เป็นเรื่องจริงเพราะจิตมันร้ายก่อนที่จะตาย มันก็ต้องไปสู่สิ่งที่ร้าย อันนี้คือแน่นอนเพราะว่ามันไปแล้ว มันสร้างกรรม สร้างภพก่อนที่จะไปให้มันแล้ว 

ไม่ต้องดูยากเลยว่าเราจะตายยังไง นรกขุมไหนละ ดูใจเราก่อน ต้องรู้ตลอดเวลาว่าจิตมันคิด มันปรุงมันแต่งอยู่ในภาวะใด สติเท่านั้นเองที่จะสกัดกั้น และปัญญาเห็นโทษเห็นภัยมันอย่างนี้จึงจะขาดจากมันได้


Rank: 1

UMP โพสต์เมื่อ 2015-12-6 17:22 |แสดงโพสต์ทั้งหมด
"ทำไมบางคนปฏิบัติทุกวันแต่ยังโกรธอยู่ ยังไม่ทันอารมณ์ค่ะ"


ไม่แปลกอะไรเลยเพราะเขายังมีความยินดียินร้ายอยู่ ปัญญายังไม่เห็นโทษเห็นภัยของความยินดียินร้ายและจิตที่ไปยึดอารมณ์ สติมันช้าไม่ทันกับจิตที่ถูกปรุงแต่งไปก่อนแล้ว มันก็เลยยังโกรธอยู่ 


เราต้องย้อนมาดูตัวเอง ทำทุกวันแต่ยังโกรธอยู่ เราพลาดที่ตรงไหน มันผิดที่ตรงไหน ต้องปรึกษาครูบาอาจารย์ที่รู้จริง จะได้แก้ถูกจุด ไม่ผิดทางและไม่เนิ่นช้า ไม่ใช่ว่าปฏิบัติมานานแล้วอารมณ์โกรธจะหายไป อารมณ์โกรธจะละได้เราต้องใช้ปัญญาเห็นโทษเห็นภัยมัน ทุกอย่างจะต้องสมดุลกัน ทั้ง สติ สมาธิและปัญญา สติเป็นตัวกั้นกระแสความปรุงแต่ง ปัญญาเป็นตัวตัดให้ขาด 


สติจะเร็วได้ต้องรู้เท่าทันทุกอิริยาบถ ทุกความรู้สึกที่ใจ ถี่ยิบหนาแน่นประดุจกำแพงปูน จะด้วยการกำหนด หรือวิธีการใดก็ได้แต่ขอให้รู้เท่าทัน ปัญญาเกิดได้ด้วยการสอนใจตัวเอง ชี้เหตุผลตามความเป็นจริงให้ใจมันเห็นและสอนให้เข้าใจหัวอกผู้อื่นเพื่อลดอัตตาตัวตน สติมันทัน ปัญญามันเห็นโทษและอัตตาตัวตนลดลงเมื่อใด มันก็ไม่โกรธเมื่อนั้น 


Rank: 1

UMP โพสต์เมื่อ 2015-12-6 17:22 |แสดงโพสต์ทั้งหมด
"เมื่อเบื่อหน่ายกายนี้ พลิกให้เกิดปัญญา อย่าให้ถลำลึกลงไปจนเกิดความทุกข์"

ยิ่งปฏิบัติธรรมไป ยิ่งเห็นความจริงในร่างกายนี้ ยิ่งเห็นภาระหนักที่ต้องแบกไว้ ยิ่งเกิดความเบื่อหน่าย จนไม่อยากจะมีร่างกายนี้แล้ว มันเป็นภาระอย่างแสนสาหัส เราทำทุกอย่างเพื่อร่างกายที่มันไม่จีรังยั่งยืน ร่างกายที่นำมาแต่ความทุกข์ อยู่กับมันซ้ำแล้วซ้ำอีก นับชาติไม่ถ้วน

เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายในร่างกายนี้เกาะกินใจ คุณแม่ท่านว่าเราต้องพลิกความเบื่อหน่ายให้เกิดปัญญา อย่าให้มันปรุงแต่งจนทุกข์หนักเข้าไปอีก มองให้เห็นโทษของมัน มองให้เห็นความไร้สาระของมัน แล้วอย่าไปยึดมัน เบื่อมันให้จริงๆ ไม่ใช่แค่อารมณ์ชั่วครั้งชั่วคราว

กายเรามันไร้สาระเช่นนี้ เราก็ต้องใช้มันให้เกิดประโยชน์สูงสุดสิ พามันปฏิบัติ เอาความเพียรชนะกิเลส จนไม่ต้องเกิดมามีกายนี้อีก พามันทำความดี ทำกุศลให้ถึงพร้อม ตอบแทนพระคุณพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ผู้มีพระคุณ ศาสนา พามันทำสิ่งที่ควรทำที่สุด พามันปฏิบัติจนออกจากวังวนแห่งทุกข์นี้ให้ได้

เราไปจากโลกนี้ ร่างกายที่มันเน่าๆ ก็ถูกทิ้งไว้ ตามไปได้คือบุญบาปที่เราสร้างมา ถ้าเบื่อมันจริงๆ จนไม่อยากมาเจอมันอีก ทำให้ถึงที่สุดสิ ย้อนกลับมามองตัวเอง สิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ จะกิน จะพูด จะคิด จะซื้อ เราเบื่อมัน แล้วเราทำไปแต่ละอย่างเพื่อกลับมามีมันอีกมั้ย แม้แต่คิดจะโกรธ จะเกลียด จะรัก จะชอบ จะอาฆาตใคร เราทำไปเพื่อกลับมาอีกมั้ย ถ้าไม่อยากกลับมาอีก ก็ละมันเสียเถิด


Rank: 1

UMP โพสต์เมื่อ 2015-12-6 17:23 |แสดงโพสต์ทั้งหมด
"สติเป็นผู้คุ้มครองโลก โลกใจของเรา"

คุณแม่ท่านเล่าถึงประวัติของพระพุทธองค์ ในวันที่ท่านตั้งสัจจะอธิฐานและลอยถาดทองคำให้ฟังว่า ท่านพิจารณาเห็นสิ่งใด โดยเริ่มเล่าจากตอนที่ นางสุชาดานำถาดทองใส่ข้าวมธุปายาส มาถวายและกลับไปบ้านแล้ว

พระมหาบุรุษเสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ ถือถาดทองข้าวมธุปายาสเสด็จไปยังริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เสด็จลงสรงน้ำ แล้วขึ้นมาประทับนั่งริมฝั่ง ทรงปั้นข้าวมธุปายาสออกเป็นปั้น รวมได้ ๔๙ ปั้น เสวยจนหมด เสร็จแล้วทรงตั้งสัจจะอธิษฐานก่อนจะลอยถาดทองคำว่า...

ข้าพเจ้าจะขอนั่งคู้บัลลังก์อยู่ตรงนี้ อยู่ ณ สถานที่ตรงนี้ ถ้าไม่ได้เห็นความเป็นจริง ไม่แจ้งในทุกข์แล้วจะไม่ลุกออกจากที่นั่ง แม้แต่เอ็นเนื้อหนังกระดูกจะขาดเป็นชิ้นๆ ก็ยอม ถ้าข้าพเจ้าจะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ก็ขอให้พานทองนี้ ที่น้ำกำลังเชี่ยวนี้ ให้ทวนกระแสคืนเถิด ว่าแล้วก็ปล่อยลงไป น้ำกำลังเชี่ยว แต่อัศจรรย์จริงหนอ พานทองหมุน 3 รอบ ทวนขึ้นกระแส

ท่านได้สติปัญญาว่า โอ้ นี่เราต้องทวนกระแสหรือนี่ อย่างนั้นเราต้องมีสติรู้เท่าทันกับอารมณ์ที่มากระทบสิ เราต้องขัดกับกิเลส เท่านั้นแหละ นั่งขัดสมาธิ รู้เท่าทันกิเลสเพราะปัญญาเกิดตามมา อารมณ์อะไรเข้ามารับรู้ เราต้องรับรู้ รับรู้แล้ว เราต้องพยายามฝืนจิตไม่ให้มันคิด ไม่ให้มันปรุง ไม่ให้มันแต่ง

จนสติแก่กล้าขึ้น สมาธิแก่กล้า ปัญญาเห็นว่า จิตเป็นธรรมชาติ ไม่มีตัวไม่มีตน บังคับให้มันคิดไม่ได้ แต่เราต้องฝึกสติให้รู้เท่าทันมัน สติของท่านแก่กล้า เท่าทัน พอจิตคิดปุบ ท่านดับปับไม่ปรุงแต่งต่อ ท่านมารู้ว่า ไอ้ที่เราคิด เพราะจิตมันไปยึดนี่นา ไปเกาะเพราะสัญญาหมายรู้จำได้ นางนั้นเป็นภรรยาเรา อันนี้เป็นลูกเรา อันนี้เป็นพ่อเรา เป็นตระกูลเรา

พอรู้เท่านั้นแหละ ท่านก็รู้ว่า จิตมันเป็นภาวะที่ต้องปรุงต้องแต่ง เพราะมันเกิดมาด้วยตัณหา มันเกิดมาด้วยความใคร่ มันก็ลงด้วยความใคร่ แล้วอะไรพาหลงล่ะ ก็จิตนี้เองเป็นผู้พาหลง เป็นผู้คิดว่าเป็นหญิง เป็นชาย มีรูปร่างสวยอย่างนั้นอย่างนี้ โอ มันปรุงแต่งนี่เองเนาะ เท่านั้นแหละ มองทะลุเลย โอ้...ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นที่จิตมันปรุงแต่ง

สติรู้เท่าทัน ท่านก็เลยให้มีสติปัฏฐาน 4 อย่าง คือ รู้เท่าทันทุกอริยาบถ เพื่อต้องการให้เรารู้เท่าทันอารมณ์ที่เข้ามาปรุงแต่ง เท่านั้นแหละบรรลุ ปัญญาก็แตกฉานเห็นความจริงว่าคนเกิดด้วยอะไร เพราะความใคร่พาให้เกิด เป็นหญิง เป็นชาย เข้ามาสัมผัสมีเลือดมีเนื้อ ทะลุหมดเลย

ย้อนไปนึกถึงอดีตแจ้งไปหมด เห็นโลกธาตุทั้ง 3 เห็นเทวดา อันนี้ไปเกาะเป็นภพเป็นชาติ จบวางหมดเลย เข้าสู่โลกุตตระ ละอย่างเดียว จิตใด ๆ ไม่เอา ละอย่างเดียว รู้วางๆๆ ท่านถึงบอกว่า...สติเป็นผู้คุ้มครองโลก โลกใจของเรา ถ้าเราคุ้มครองโลกใจของเราได้ คนก็ไม่เดือดร้อนกัน


Rank: 1

UMP โพสต์เมื่อ 2015-12-6 17:23 |แสดงโพสต์ทั้งหมด
"ผู้ที่เคยปรามาสพระพุทธศาสนาแก้ได้อย่างไร"

ผู้ปฏิบัติธรรมบางคนพอตั้งใจปฏิบัติจริงๆจังๆ วิบากกรรมเก่าเข้าแทรก บางคนเห็นพระพุทธรูปใจก็ตำหนิ อันนี้คุณแม่ท่านว่าอันตราย ถ้าเป็นผู้หญิงหากมีครอบครัวแล้ว อาจเกิดตั้งครรภ์แล้วลูกออกมาหน้าตาบิดเบี้ยวหรือไม่สมประกอบ พอเริ่มคิดท่านให้กำหนด คิดหนอๆๆ และให้หัดสอนตัวเองว่า...ช่างเขามีความพยายามเนาะ เขาทำสุดความสามารถของเขาแล้ว

บางคนเกิดดูหมิ่นพระพุทธเจ้าขึ้นมา อันนี้คุณแม่ท่านว่าเพราะเคยนับถือศาสนาอื่น ไม่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา นอกจากการกำหนดคิดหนอๆ คุณแม่ท่านก็ให้แยกแยะดูให้ดี พระไม่ดีก็มี แต่พระพุทธองค์ท่านไม่เกี่ยวกับพระเหล่านั้น ท่านเป็นคนละองค์กัน เราไม่ควรไปเหมารวมท่านด้วย มันคิดขึ้นมาก็บอกว่ามันไม่ใช่เรา มันเป็นมาร ชาตินี้เราศรัทธาในพระพุทธเจ้า เราจะไม่หวั่นไหวคลอนแคลน

บางคนเดินจงกรมไปเกิดภาพหลอนเห็นเศียรพระพุทธรูปอยู่ที่พื้น ทำให้ไม่กล้าก้าวเท้าลงไป ผู้ปฏิบัติธรรมคนนี้คุณแม่ต้องขนาบอย่างใกล้ชิด ท่านเอาเท้าลงไปเหยียบให้ดู และบอกว่าไม่มี นั่นคือภาพหลอน และบังคับให้เหยียบลงไปที่พื้น พอรับรู้ว่าไม่มีจริงๆ ภาพเหล่านั้นก็หายไป ผู้ปฏิบัติธรรมคนนี้เคยแสดงความไม่เคารพในสถานที่ทุกครั้งที่ไปวัด พอภาพเกิดขึ้นมาท่านก็ให้กำหนดเห็นหนอๆ

บางคนตำหนิพระในใจ แรกๆก็ว่าพระไม่ดี นานไปก็เหมารวมไปหมด และเกิดความไม่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา คุณแม่ท่านว่าหากตำหนิพระปลอมไม่เป็นบาป แต่พระที่ท่านดีก็มีอยู่ เราไม่ควรเหมารวมไปหมด ท่านเป็นคนละองค์กัน เราต้องแยกแยะตามความจริงให้ใจดู มันคิดขึ้นมาก็กำหนดคิดหนอๆ เพื่อหยุดไม่ให้ปรุงแต่งต่อ

นอกจากการกำหนดคุณแม่ท่านให้ขอขมาต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และหมั่นแผ่เมตตาเจาะจงให้แต่เจ้ากรรมนายเวรของตัวเอง เมื่อวิบากรรมเหล่านี้พ้นไปจึงเริ่มแผ่เมตตารวมๆ ให้ผู้อื่นได้


Rank: 1

UMP โพสต์เมื่อ 2015-12-6 17:24 |แสดงโพสต์ทั้งหมด
"เวลานั่งสมาธิ  ควรกำหนดอย่างไรค่ะ"

ผู้ที่บริกรรมพุทโธ หายใจเข้าก็จับดูพุท หายใจออกก็โธ 

ผู้ที่พอง หายใจเข้าก็ดูอาการท้องพอง หายใจออกก็ดูอาการท้องยุบ 

ผู้ที่ไม่ปรากฏพองยุบ เห็นแต่อาการลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็ดูแต่อาการและให้มีสติระลึกรู้ประคองตั้งจิตไว้ 

คำว่าประคองคือ มีสติให้ต่อเนื่อง ให้เห็นว่าขณะนี้ ที่เรากำลังบริกรรมพองหรือยุบ จิตของเราวิ่งออกไปหาอารมณ์อื่นมั้ย มีอารมณ์พอใจ และอารมณ์ยินร้าย เข้ามาแทรกในจิตเรามั้ย 


ถ้าเข้ามาแทรกก็พิจารณาว่า รู้หนอ ๆ หรือกำหนดไปตามอาการที่มันคิด ที่มันมีความรู้สึก คิดถึงอะไรก็คิดหนอ ๆ อย่างเดียวก็ได้ 


ถ้าหงุดหงิด ก็หงุดหงิดหนอ ๆ ทุกข์ก็ทุกข์หนอ ๆ มีความทุกข์ มีความคับแค้นใจ นิวรณ์ 5 ชอบใจ ไม่ชอบใจ ง่วง ฟุ้ง สงสัย 6 คือนิมิต ให้กำหนดอารมณ์ที่อยู่ในใจ แล้วให้กลับมาดูพอง ดูยุบ พอหูได้ยินเสียง ก็ได้ยินหนอ ๆ แต่ให้หยุดพอง หยุดยุบ ให้ไปกำหนดแต่อาการที่มันแทรกเข้ามา แล้วก็กลับมาดูพองยุบ 


สงบก็รู้ว่าสงบ ไม่สงบก็รู้ว่าไม่สงบ รู้สึกเห็นอาการทุกอย่างในกาย เวทนาเกิดขึ้น เจ็บปวดก็รู้ มีสติรู้ว่า เออ มันเป็นธรรมดาของมัน พระพุทธองค์ท่านชี้แนวโลกุตตระ รู้อะไรละอย่างเดียว ไม่ยึด ไม่ติด ไม่เกาะ เพราะการยึด การติด เป็นภพเป็นชาติ 

ผู้ใดที่เข้าฌานเพื่อระงับจากนิวรณ์ทั้งหลายได้ง่าย มันก็ยังเป็นณานที่ไม่ใช่ทางหลุดพ้น เป็นณานโลกีย์ที่ยังยึด ยังติดอยู่ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ออกมาถึงรู้ ถ้าตายจะไปอยู่ในอรูปพรหม ไม่มีหู ไม่มีตา จมูกก็ไม่มี มีช่องเล็กๆ เหมือนน้ำเต้า มีรูให้ลมออกจากตรงนั้น มีแต่ความรู้สึกอย่างเดียว ตั้งอยู่เหมือนก้อนหิน ไม่กระดุกกระดิกหลายหมื่นปี ออกจากนั้นก็เวียนว่ายตายเกิดอีก 

ทำไมไม่มีแข้งไม่มีขา เพราะตอนนั่งเข้าณาน รู้สึกเหมือนตัวเองไม่มีตัวไม่มีตน มีแต่ความรู้สึกลมหายใจเข้าลมหายใจออก อะไรมาต้องกายก็ไม่รับรู้ หูได้ยินเสียงไม่รับรู้ แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเรามีกายหยาบอยู่ จำเป็นต้องรู้ตัวทั่วพร้อม เราถึงจะทำลายขันธ์ได้ พระพุทธองค์ท่านไม่สรรเสริญ เพราะทำให้เราไปยึด ไปเกาะไปติดอยู่ เมื่อถึงเวลามันก็จะเป็นไปเองจากสมาธิที่มีสติ และจะเป็นณานที่เป็นสัมมา มีสติครบถ้วนบริบูรณ์



Rank: 1

UMP โพสต์เมื่อ 2015-12-6 21:23 |แสดงโพสต์ทั้งหมด
"จิตต้องเสมอเหมือนดั่งเดียวกัน ทั้งคนใกล้และคนไกล....ถึงจะเต็มร้อย"

คุณแม่ชีเกณฑ์ท่านว่า...ตัวเองสำเร็จหรือไม่สำเร็จ จิตกระเพื่อมหรือไม่ ผู้ใกล้ชิดนี่แหละเลิศที่สุด ที่จะทดสอบว่าตัวเองขาดหรือไม่ขาด ที่จะทดสอบว่าจิตของเราอยู่ระดับไหน

ถ้าคนใกล้ชิดยังมีผลกับใจเราอยู่ ด้วยเพราะความเคยชินจึงประมาทไป แก้ยังไงนะหรือก็ให้มีสติเท่านั้นเอง ให้รู้ตัวเองว่า...นี่แสดงว่าเรายังมีความพอใจ ยังมีความยินดียินร้ายอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ตัวหรือไกลตัว ทำให้เสมอเหมือนดั่งเดียวกัน จิตต้องเสมอเหมือนกัน ไม่ยินดียินร้ายทั้งคนใกล้และคนไกล ถึงจะผ่านไปได้

คุณได้โสดา สกิทาคา อนาคามี ได้เด็ดขาดมั้ย ทดสอบที่คนใกล้ตัวนี่แหละ เสมอเหมือนดั่งเดียวกันมั้ย ตอนที่โกรธใจกระเพื่อมมั้ย ขุ่นมัวมั้ย หรือว่าจะปากเฉยๆ มันก็ต้องดูใจตัวเอง

อย่างดุให้ลูกศิษย์หรือคนใกล้ชิด เราพูดเฉยๆ แต่ใจไม่กระเพื่อม เหมือนกระตุ้นเขาให้เขามีสติ แต่ใจของเราไม่กระเพื่อมไปด้วย คำว่าโกรธใจมันยังกระเพื่อมอยู่ อันนี้ไม่โกรธ มันไม่กระเพื่อม พูดออกไปเพื่อดุ ต้องใช้คำพูดที่ให้สติ แต่ในใจไม่กระเพื่อม มันไม่ได้โกรธ มันไม่ฉุนไปด้วยเลย

ที่ว่าอรหันต์ด่าไม่มีผล ก็ใจท่านไม่กระเพื่อมเลย ท่านเพื่อจะเตือนสติ แต่ท่านพูดดุด้วยเสียงหยาบคาย เพราะคนพูดหวานไม่กลัว แต่ท่านจะไม่ ท่านไม่อยากให้คนมาเป็นบาป เขาไม่สามารถรู้จิตของท่านได้ เขาก็โกรธใช่มั้ย เพราะเขายังมีความยินดียินร้ายอยู่

กระเพื่อมมั้ย น้อยใจมั้ย ให้สังเกตดู ถ้ากระเพื่อมแสดงว่าเรายังมีความยินดียินร้ายอยู่ เราต้องผ่านกับคนใกล้ถึงจะว่าเต็มร้อย ไม่พอใจนานมั้ย ขุ่นมัวฉุนเฉียวนานมั้ยก็ต้องดู ให้สังเกตตรงนี้ เมื่อสังเกตเห็นตัวเอง...นี่ไม่ใช่นี่ เราต้องการตัดภพตัดชาตินี่ ไม่ใช่นี่ เรากำลังสร้างวจีกรรม มันจะสะสม เราประมาทแล้วนี่ คนไกล้หรือคนไกล ต้องเสมอเหมือนดั่งเดียวกัน อย่างนี้สิถึงจะถือว่าผ่านได้เต็มร้อย


Rank: 1

UMP โพสต์เมื่อ 2015-12-7 18:52 |แสดงโพสต์ทั้งหมด
"ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การปฏิบัติ"

คุณแม่ท่านถามว่า...ตื่นมาเดินจงกรมตีสามไหวมั้ย ไม่ไหวค่ะ ผ่านไปอีกอาทิตย์ท่านก็ถามอีก...ตื่นมาเดินจงกรมตีสามไหวมั้ย ก็ยังคงตอบว่าไม่ไหวค่ะ ถ้าตีห้าก็พอไหว 

ผ่านไปอีกสองอาทิตย์ คุณแม่ท่านเล่าว่า...ตอนเช้าแม่ไม่ได้อาบน้ำ มันเสียเวลา ท่านพูดแค่นี้แล้วหยุดไม่บอกว่าเสียเวลายังไง ผ่านไปอีกสองวันท่านก็เล่าว่า...เวลาตีหนึ่งถึงตีสามเป็นเวลาที่เหมาะแก่การเดินจงกรมและนั่งสมาธิ เป็นเวลาที่โลกสงบเงียบไม่วุ่นวาย เป็นช่วงเวลาที่จิตว่างจากการถูกปรุงแต่ง เราจะเห็นจิตของเราได้ชัด

ผ่านไปอีกอาทิตย์เริ่มถามคุณแม่ว่า การเดินจงกรมกับการสวดมนต์ อันไหนอานิสงส์มากกว่ากัน ท่านบอกว่า...การเดินจงกรมลูกจะได้ทั้งสุขภาพที่ดี และได้สติได้ปัญญาที่จะพาให้เราหมดภพหมดชาติ เรารู้ว่าได้สติแน่นอน แต่ได้ปัญญาตรงไหนหนอ จนสุดท้ายเราไม่อยากมีชีวิตที่อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ไม่ขาดเสียที เริ่มเห็นแล้วว่าเวลาปฏิบัติแค่ตอนบ่ายวันละ ชม.ไม่พอ เราไม่มีกำลังมากพอที่จะหยุดมัน และไม่มีปัญญาที่จะตัดให้ขาด เราอาจตายไปก่อนและอาจไปเกิดเป็นอสรพิษร้ายก็ได้

เราพยายามตื่นตีสาม ไม่ไหวก็ต้องทน ยอมรับว่าวันแรกเป็นการเดินจงกรมและนั่งสมาธิที่ทรมานที่สุด แต่ต้องรักษาสัจจะกับตัวเองที่ตั้งใจไว้ ตื่นขึ้นมา ก่อนที่มันจะคิดโน่นคิดนี่ ล้างหน้าแปรงฟันไม่เสียเวลาอาบน้ำอย่างที่ท่านว่า และเริ่มเดินจงกรม 6 จังหวะช้าๆ อย่างที่ท่านสอน เพื่อฆ่าเวลาและห้องที่เดินแคบมาก เดินเร็วก็เวียนหัว ช่วงแรกนั่งสมาธิแล้วง่วงมาก จึงเลือกที่จะเดินจงกรมอย่างเดียว ที่เคยคิดว่าเดินจงกรมตอนตีสามคงไม่ไหว ผิดคาดยิ่งเดินจิตยิ่งตื่น วันไหนที่เริ่มต้นชีวิตด้วยการเดินจงกรมแต่เช้า วันนั้นทำงานอย่างไม่รู้จักเหนื่อย ไม่ง่วงหาวนอน ไม่ต้องกินกาแฟ ไม่ฟุ้งซ่าน จิตเบิกบาน ไม่หงุดหงิดง่าย และใจเย็น

บอกคุณแม่ว่าเดินจงกรมตอนเช้าไม่เห็นอะไรวิเศษ เห็นแต่ใจตัวเอง เรื่องที่ฝังอยู่ในใจมันขึ้นมาและมันก็พิจารณาด้วยความเป็นกลางไม่เข้าข้างตัวเอง ว่าสิ่งที่ตัวเองทำควรหรือไม่ควร เริ่มเห็นเหตุผลว่าทำไมคนนั้นจึงทำเช่นนี้กับเรา แล้วมันก็วาง เรื่องนั้นก็ไม่ขึ้นมาอีก และหลายครั้งความคิดดีๆ ในการแก้ปัญหาจะเกิดขณะที่เดินจงกรมตอนตีสาม คุณแม่ท่านบอกว่าของวิเศษที่สุดคือได้เห็นจิตเห็นใจตัวเองนี่แหละ เห็นใจตัวเอง เราจะเข้าใจตัวเอง เตือนตัวเองสอนตัวเองได้ ไม่หลงตัวเอง เมื่อเราเข้าใจตัวเอง เราก็จะเข้าใจผู้อื่น เห็นใจผู้อื่น ลูกว่าจะมีอะไรที่วิเศษไปกว่านี้อีกไหม

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาเราพยายามตื่นมาเดินจงกรมตอนตีสามหนึ่งชม. ให้ทัน ช่วงแรกยังต้องตั้งนาฬิกาปลุก แต่เมื่อนานวันเขาจะตื่นเขาเองโดยอัตโนมัติ ชีวิตในแต่ละวันเริ่มเปลี่ยนไป ความเบื่อหน่ายในชีวิตหายไป เริ่มใช้เวลาทุกวินาทีให้มีค่ามากที่สุด นานเป็นปีแล้วที่ไม่เคยนั่งใจลอยคิดถึงใครในอดีต ไม่เอาอดีตมาทิ่มแทงตัวเอง 

คำหนึ่งที่คุณแม่พูดเสมอ...เราทำเพื่อคนอื่นมามากแล้ว ถึงเวลาที่เราต้องทำเพื่อตัวเองบ้าง คิดว่าจะเริ่มต้นเมื่อไหร่ ร่างกายมันคอยเราไหม เริ่มเสียก่อนที่มันจะสายเกินไป


สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-3-29 14:50 , Processed in 0.153904 second(s), 13 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.