ตอนที่ ๑๓ ปัจฉิมโอวาทของหลวงปู่มั่นในวาระสุดท้ายของชีวิต พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ (วัดป่าบ้านหนองผือ จ.สกลนคร)
ตอนสุดท้ายแห่งธรรมที่พอยึดได้ว่าเป็นปัจฉิมโอวาท เพราะท่านมาลงเอยในสังขารธรรมเช่นเดียวกับพระปัจฉิมโอวาทที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่สงฆ์เวลาจะเสด็จปรินิพพาน โดยท่านยกเอาพระธรรมบทนั้นขึ้นมาว่า
“ดูก่อนพระภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราเตือนท่านทั้งหลาย สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเกิดหรือเจริญขึ้นแล้ว เสื่อมไปดับไป จงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
จากนั้นท่านก็อธิบายต่อใจความว่า คำว่าสังขารในพระปัจฉิมโอวาทนั้นเป็นยอดธรรม พระองค์ทรงประมวลมาในคำว่าสังขารทั้งสิ้น แต่พระประสงค์ทรงมุ่งสังขารภายในมากกว่าสังขารอื่นใดในขณะนั้น เพื่อเห็นความสำคัญของสังขารอันเป็นตัวสมุทัย เครื่องก่อกวนจิตให้หลงตาม ไม่สงบลงเป็นตัวของตัวได้
เมื่อพิจารณาสังขารคือ ความคิดปรุงของใจทั้งหลาย ละเอียดรู้ตลอดทั่วถึงแล้ว สังขารเหล่านั้นก็ดับ เมื่อสังขารดับ ใจก็หมดการก่อกวน แม้มีการคิดปรุงอยู่บ้างก็เป็นไปตามปกติขันธ์ ที่เรียกว่าขันธ์ล้วนๆ ไม่แฝงขึ้นมาด้วยกิเลสตัณหาอวิชชา ถ้าเทียบกับการนอนก็เป็นการนอนหลับอย่างสนิท ไม่มีการละเมอเพ้อฝันมาก่อกวนในเวลาหลับ
ถ้าหมายถึงจิตก็คือ “วูปสมจิต” เป็นจิตสงบที่ไม่มีกิเลสนอนเนื่องอยู่ภายใน จิตของพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งปวงเป็นจิตประเภทนี้ทั้งนั้น ท่านจึงไม่หลงใหลใฝ่ฝันหาอะไรกันอีก นับแต่ขณะที่จิตประเภทนี้ปรากฏขึ้น คำว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ก็มีมาพร้อมกัน ความสิ้นกิเลสก็สิ้นไปในขณะเดียวกัน ความเป็นพระอรหันต์ก็เป็นขึ้นพร้อมในขณะเดียวกัน จึงเป็นธรรมอัศจรรย์ก็ไม่มีอะไรเทียบได้ในโลกทั้งสาม
พอแสดงธรรมถึงที่นี้แล้วท่านก็หยุด นับแต่วันนั้นมาไม่ปรากฏว่าได้แสดงที่ไหนในเวลาใดอีกเลย จึงได้ยึดเอาว่าเป็นปัจฉิมโอวาท และได้นำลงในประวัติท่านเป็นวาระสุดท้าย สมนามว่าเป็นปัจฉิมโอวาท
ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
• พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี. ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ, ๒๕๓๘. หน้า ๓๓๓-๓๓๔.
|