แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

รวมบทความพระอริยะ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

21#
pimnuttapa โพสต์เมื่อ 2023-6-9 07:19 |แสดงโพสต์ทั้งหมด

ตอนที่ ๒๐

สันติสุขจากการพึ่งตน

เจ้าคุณนรรัตนราชมานิต

(วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร กรุงเทพฯ)

1.png



พระพุทธเจ้าสอนว่า “สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี”

หมายความว่า ความสุขอื่นมี เช่น ความสุขในการดูละคร ดูหนัง ในการเข้าสังคม ในการมีคู่รักคู่ครอง หรือในการมีลาภยศ ได้รับความสุขสรรเสริญและได้รับความสุขจากสิ่งเหล่านี้ ก็สุขจริง
แต่ว่าสุขเหล่านี้มีทุกข์ซ้อนอยู่ทุกอย่าง ต้องคอยแก้ไขปรับปรุงกันอยู่เสมอ

ไม่เหมือนกับความสุขที่เกิดจากสันติสุขความสงบ ซึ่งเป็นความสุขที่เยือกเย็นและไม่ซ้อนด้วยความทุกข์ และไม่ต้องแก้ไขปรับปรุงตกแต่งมาก เป็นความสุขที่ทำได้ง่ายๆ เกิดกับกายใจของเรานี่เอง
อยู่ในที่เงียบๆ คนเดียวก็ทำได้ หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมสังคมก็ทำได้ ถ้ารู้จักแยกใจหาสันติสุข กายนี้ก็เพียงสักแต่ว่าอยู่ในที่ระคนด้วยความยุ่ง สิ่งแวดล้อมเหล่านั้นไม่ยุ่งมาถึงใจและประสบสันติสุข ซึ่งไม่มีสุขอื่นยิ่งกว่าสันติสุขนั้น

พระพุทธเจ้าให้ฝึกเป็น ๓ ทาง คือ
๑. สอนให้สงบกาย วาจา ด้วยศีล
๒. สอนให้ฝึกหัดให้เกิดสันติสุขทางใจ ด้วยสมาธิ
๓. ทรงสอนให้ฝึกหัดให้เกิดสันติสุขทางทิฏฐิ ความเห็น ด้วยปัญญา


* อย่าไปเร่งรัดให้เสียกำลังใจ
* จงรักษาใจให้เป็นอิสระมั่นคงอยู่เสมอ
* ไม่หวั่นไหวไปตามเหตุการณ์เหล่านั้น
* เป็นเหตุให้ใจตั้งอยู่ในสันติสุข
* เป็นอิสระ เกิดอำนาจทางจิต ที่จะใช้ทำกรณียะ อันเป็นหน้าที่ของตนได้สำเร็จสมประสงค์


จงพึ่งตนเอง           จงเป็นแสงสว่างของตัวเอง
จงเป็นผู้นำตนเอง    จงรับผิดชอบตัวเอง
จงพิจารณาตัวเอง    จงมีตนเป็นที่พึ่ง


เต็มไปด้วยความเชื่อในสมรรถภาพของตนเอง
ก้าวไปข้างหน้าด้วยความกล้าหาญ เข้มแข็ง เด็ดขาดมั่นคงไม่ท้อถอย
มุ่งไปข้างหน้าด้วยความหวังสู่จุดหมายที่ตนปรารถนาอันสูงสุด แล้วก็จะบรรลุความสำเร็จที่ประสงค์และมุ่งหมายทุกประการ


จงพึ่งตัวของตัวเอง อัตตา หิ อัตตโน นาโถ - ตนเองเป็นที่พึ่งของตน โก หิ นาโถ ปโร สิยา -ใครอื่นเล่าจะเป็นที่พึ่งของตนได้ นี้เป็นคำสอนของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นความจริงยั่งยืน

ก่อนที่จะอ้อนวอน ขอให้ผู้อื่นช่วย ต้องพึ่งคำสอนของพระพุทธเจ้าที่กล่าวมาแล้วก่อน ที่พึ่งภายในตนเองสำคัญมากกว่าที่พึ่งภายนอก ซึ่งมาจากคนอื่น ถึงคนอื่นจะช่วยได้ก็ช่วยได้เฉพาะ เพราะตนเองช่วยตนเองก่อน พระพุทธเจ้าก็เป็นแต่ผู้ชี้ทางแนะนำสั่งสอนให้เท่านั้น

จงพึ่งตนเอง จงเป็นแสงสว่างนำตนเอง อย่าหวังพึ่งสิ่งภายนอก ทุกคนต้องต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคแห่งวิถีชีวิตของตนเองด้วย พระพุทธเจ้าก็ดี ครูบาอาจารย์ บิดามารดา ญาติ มิตรสหาย ผู้มีไมตรีจิตสนิทสนมรักใคร่ ก็เพียงแต่เป็นผู้เอาใจช่วยเป็นกำลังใจ เป็นเครื่องกระตุ้นบำรุงขวัญเท่านั้น

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
          • ท่านผู้ให้แสงสว่าง: จากบันทึกของคุณตริ จินตยานนท์: ท.เลียงพิบูลย์ เรียบเรียง: กรมช่างอากาศ สะพานแดง, ๒๕๒๐. หน้า ๑๗๓-๑๗๖, ๑๘๗-๑๘๘.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

22#
pimnuttapa โพสต์เมื่อ 2023-6-9 07:21 |แสดงโพสต์ทั้งหมด

หลวงพ่อสด.JPG


ตอนที่ ๒๑

ละจนถึงที่สุด

พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด)

(วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ)

1.png



หลวงพ่อสด ท่านบอกว่า ปัจจุบันนี้ยังมีอีกหลายคนที่ยังมัวแต่ชมสวนดอกไม้อยู่ในโลกนี้ บ้างก็ชมรูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง ไม่ได้ไปไหนกับเขาเลย บางคนก็ไปแล้วเลี้ยวกลับไม่ไปจริงๆ ไปเพลิดเพลินในบ้านเรือนกันอีกแล้ว ทำกลับๆ กลอกๆ อย่างนี้ จะเอาชีวิตไม่รอด ท่านให้เหตุผลว่า

ด้วยความหมั่นมั่นใจไม่ประมาท      รักษาอาตม์ข่มใจไว้เป็นศรี
ผู้ฉลาดอาจตั้งหลักพำนักดี             อันห้วงน้ำไม่มีมารังควาน


หลวงพ่อท่านสอนว่า การปฏิบัตินั้นต้องให้ที่สุด อย่าหยุด ไม่ว่าเราจะเห็นหรือไม่เห็น ก็ให้ปฏิบัติเรื่อยไป อย่าปล่อยให้กาลเวลาล่วงเลยไปเปล่าประโยชน์ ท่านจะเน้นเช่นนี้เสมอ


เพราะความเพียรก็ต้องมีที่สุดของความเพียร ความอดทนก็ต้องมีที่สุดของความอดทน ถ้าเรายังปฏิบัติความเพียรยังไม่ถึงที่สุด แล้วเราก็บอกว่าเราอดทนแล้ว เพราะที่สุดของคนแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน เปรียบเสมือนการอ่านหนังสือ บางคนอ่านเพียงครั้งเดียวก็เข้าใจมีความรู้ทันที บางคนเปิดอ่านหลายครั้งหลายคราวจึงจะเข้าใจ ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับปัญญาบารมีของแต่ละคนซึ่งมีไม่เท่ากัน

ท่านสอนว่า การจะเข้าถึงธรรมต้องปล่อยชีวิตจิตใจ ไปรักไปห่วงอะไรไม่ได้ ปล่อยกันให้หมดสิ้นทีเดียว ถ้ายังมีรักมีห่วงอยู่ เป็นไปไม่ถึงเด็ดขาด ท่านให้ข้อเตือนใจว่า

พายเถอะนะเจ้าพาย            ตลาดจะวายสายบัวจะเน่า
โซ่ไม่แก้กุญแจไม่ไข            จะไปได้อย่างไรกันล่ะเจ้า


ไอ้ที่ทุกคนต้องทนทุกข์อยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะว่ามันยึด ไม่ยอมปล่อย คือไม่ยอมวางนี่แหละ

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
         • หนังสือหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ. สายธาร ศรัทธาธรรม เรียบเรียง. หน้า ๗๐-๗๒.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

23#
pimnuttapa โพสต์เมื่อ 2023-6-9 07:22 |แสดงโพสต์ทั้งหมด

ตอนที่ ๒๒

ค้นพบสัจธรรม

พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด)

(วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ)

1.png



พระสด แสวงหาอาจารย์ ใฝ่หาผู้รู้อยู่นาน พอมีความรู้ช่วยตัวเองได้แล้ว จึงปลีกตัวออกไปหาที่วิเวกบำเพ็ญเพียร ท่านออกปฏิบัติในที่สงบสงัด คราวนี้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดโบสถ์บนตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

วันหนึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เวลาเย็น ท่านได้เจริญกัมมัฏฐาน โดยตั้งจิตอธิษฐานว่า

“ถ้ายังไม่เห็นธรรม ตามที่พระพุทธองค์ทรงเห็น จะไม่ยอมลุกขึ้นจากที่ จนตลอดชีวิต”

ทั้งได้ตั้งจิตกราบทูลพระพุทธองค์ว่า


“ขอให้พระองค์ทรงเมตตาโปรดประทานธรรม ที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้วแก่ข้าพระพุทธเจ้า แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยนิดก็ยินดี ถ้าหากการบรรลุธรรมของพระองค์แล้ว จักเกิดโทษแก่พระศาสนา ก็ขออย่าได้ทรงประทานเลย แต่ถ้าจะเป็นคุณแก่ศาสนาแล้ว ขอได้โปรดประทานแก่ข้าพระองค์เถิด ข้าพระพุทธเจ้าขอรับเป็นทนายพระพุทธศาสนาต่อไป จนตลอดชีวิต”

เมื่ออธิษฐานจิตแล้ว คุณตรียา เนียมขำ ศิษย์สำคัญคนหนึ่งได้เล่าว่า

“เมื่อตั้งสัจจะอธิษฐานแล้ว ท่านก็เริ่มนั่งขัดสมาธิปฏิบัติกัมมัฏฐาน พอดีมีมดที่อยู่ในช่องแผ่นหิน ที่ท่านนั่งอยู่นั้นกำลังไต่ไปมารบกวนสมาธิท่าน ท่านจึงหยิบขวดน้ำมันก๊าด เอานิ้วจุ่มเพื่อจะเขียนวงให้รอบตัว กันไม่ให้มดเข้ามารบกวน แต่แล้วก็เกิดความคิดว่า ชีวิตของเราๆ ได้สละแล้ว เพื่อการบำเพ็ญเพียร แต่เหตุไฉนจึงยังกลัวมดอยู่อีก จึงวางขวดน้ำมัน


แล้วเจริญกัมมัฏฐานต่อไป จนถึงยามดึกจึงได้เริ่มเห็นดวงปฐมมรรค หรือดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั่นเอง เมื่อได้รู้เห็นธรรมะแล้ว ท่านจึงเข้าใจแจ่มแจ้งว่าพระธรรมนี้เป็นของลึกซึ้งยิ่งนัก ยากที่มนุษย์จะเข้าถึง

การจะเข้าให้ถึงได้ต้องรู้ตรึก รู้นึก รู้คิด ต้องหยุดเป็นจุดเดียวกัน แต่พอหยุดก็ดับ ดับแล้วก็เกิด ถ้าไม่ดับก็ไม่เกิดนี่เป็นของจริง ของจริงอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนนี้แล้วเป็นไม่เห็นเด็ดขาด”

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
          • หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ผู้เปี่ยมด้วยคุณธรรมความเมตตา: สายธาร ศรัทธาธรรม เรียบเรียง: กรุงเทพมหานคร, ๒๕๓๙. หน้า ๓๓-๓๔.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

24#
pimnuttapa โพสต์เมื่อ 2023-6-9 07:25 |แสดงโพสต์ทั้งหมด

DSC01786.2.JPG


ตอนที่ ๒๓

ปัจจุบันธรรมเป็นธรรมโม

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ

(วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่)

1.png


แสดงวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๓



ความคิดทั้งที่เป็นอดีตอนาคต เมื่อเราคิดขึ้นมาพร้อมกันมันก็ดับ ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านกล่าวว่า อดีตและอนาคตมันก็อันเดียวกันนั่นแหละ ความตัวเดียวนี้แหละ อดีตและอนาคตก็อันนี้แหละ ปัจจุบันก็อันนี้แหละ แต่ปัจจุบันนี้เป็นธรรมโม อดีตอนาคตเป็นธรรมเมา

ของสังขารทั้งหลายมันปรุงมันแต่ง มันเกิดมันดับอยู่นี้ มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่นี้แหละ สมควรจำต้นมันไว้ ต้นเหตุอดีตอนาคตเป็นธรรมเมา ปัจจุบันเป็นธรรมโม จำไว้ให้แม่น น้อมเข้ามาสู่กายสู่ใจของตน น้อมเข้ามาในกายให้รู้แจ้งเห็นแจ้ง จนเห็นเป็นโครงกระดูก ธรรมทั้งหลายก็ต้องรู้แจ้งกายรู้แจ้งภายในใจนี้ จึงเป็นผู้รู้

ถ้าว่าตามหลักปริยัติธรรมแล้วมันมากมาย แต่ก็เอาของเก่านี้แหละ กลับไปกลับมา เล่นของเก่าอยู่นี้แหละกลับไปกลับมา ไม่มีที่สิ้นสุด ต้องเอาให้เห็นแจ้งรู้รอบสังขาร เมื่อรู้รอบสังขารทั้งหลายแล้วจึงดับต้นเหตุมันได้ รู้เท่าสังขาร สังขารทั้งหลายดับไปหมด ใจมันจึงสงบลง ไปรู้ธรรมเป็นนะก็ว่าเป็นธรรมก็ได้ เป็นนะโมก็ว่า

อตีตาธรรมเมา อนาคตาธรรมเมา ปัจจุบันเป็นธรรมโม ตั้งหลักอย่างนี้ไว้เสียก่อน ถ้าเพลิดเพลินหลงไปให้ยกขึ้นพิจารณา อดีตอนาคตเป็นธรรมเมา ปัจจุบันเป็นธรรมโม มันหลงของเก่านี้แหละ ทำเข้าไปให้จิตมีกำลัง ถ้าจิตยังไม่มีกำลัง ดูประหนึ่งว่าการทำนี้มันลำบาก บุคคลผู้ปกครองคนหมู่มาก ซึ่งแต่ละคนก็มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น ละความชั่ว เอาไปๆ เวลามันหลง ต้องจำที่ต้นเหตุคือ ตัวสังขาร

มันมักจะไปเป็นอตีตธรรมเมา อนาคตธรรมเมา ปัจจุบันธรรมโม ตั้งอยู่ไม่ไป ไม่มา ไม่ออก ไม่เข้า อันนี้เป็นของจริง ไม่ออก ไม่เข้า ไม่เสียหายนี้คือ ใจมันตั้งมั่น มันไม่ไปที่ไหน ถ้าทำให้ได้ของจริง มันต้องอยู่ในนั่นแหละ รู้แจ้ง เห็นแจ้ง


ส่วนมากคนทั้งหลายมักจะได้มากในด้านความจำ แต่ถ้าเอาเข้าจริงๆ หลบเข้าไปตรงนั้นที หลบเข้าไปตรงนี้ที หลงลายเลย การกระทำเป็นสิ่งสำคัญ ทำเข้าๆ เมื่อได้กำลังแล้วมันเกิดเอง ปัจจุบันเป็นธรรมโม อดีตอนาคตเป็นธรรมเมา จำหลักอันนี้ไว้ให้ดี สังขารมันตั้งอยู่ตรงนี้แหละ

ว่าไปก็ไม่มีที่สิ้นสุด ประเดี่ยวเอาอย่างนั้นประเดี๋ยวเอาอย่างนี้ เอาเข้าๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ก็เลยลืมหลักไปเสีย ให้ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันนี้แหละ เร่งเข้าความเพียร ไม่หลับไม่นอน บางมีก็หลงไปบ้างเหมือนกัน หลวงปู่มั่นท่านว่า ไม่ต้องเอามาก เอาเพียงเล็กน้อยก็พอแล้ว

สติสัมปชัญญะก็ดี สัมมาสติก็ดี ก็อันเดียวกันนั้นแหละ เพราะคิดดีก็ดี คิดชั่วก็ดี เกิดขึ้นแล้วมันก็ดับ มันอันเดียวนั้นแหละ มันหมุนไปหมุนมาอยู่นั่นแหละ เอาสตินำออกเสียจากความชั่ว อันเป็นส่วนดีก็รักษาไว้ อันเป็นเหตุส่วนทุกข์ให้ละเว้นเสีย สติสัมปชัญญะก็ดี สัมมาสติก็ดี ก็อันเดียวกันนั้นแหละ มีกำหนดรู้ ที่เกิดของธรรม ที่ดับของธรรม รู้อยู่ที่เดียวนี้แหละ ละอยู่ที่เดียวนี้แหละ วางอยู่ที่เดียวนี้แหละ

การปรารภความเพียรก็เอาสตินี้แหละ เวลาเกิดความคับขัน ก็ให้น้อมเข้ามา ปฏิบัติอยู่ให้เพียรเพ่งอยู่จนหายสงสัย เพ่งจนหายสงสัย อันนี้สำคัญมาก เพ่งเข้ามาสู่จิตสู่ใจ อย่าไปเพ่งออกภายนอก เพ่งจนหายสงสัยจนไม่มีเกิดไม่มีดับ พราหมณาจารย์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เพียรเพ่งอยู่มันดับไปเอง แม้เกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไปเอง แต่อย่าเข้าไปยึดถือในอะไรๆ สิ่งที่มันปรุงขึ้นแต่งขึ้นมักจับมันไม่ทัน

จิตของผู้มีความเพียรเพ่งอยู่จนหายสงสัย อย่าไปเพ่งออกภายนอก ให้เพ่งเข้าสู่ภายใน เมื่อมีสติมั่นเพ่งอยู่อย่างนี้ สิ่งทั้งปวงเมื่อเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป ให้เพ่งจับอยู่เฉพาะในปัจจุบัน อย่างไปเพ่งอดีต อนาคต อดีตเป็นธรรมเมา อนาคตเป็นธรรมเมา

พราหมณาจารย์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่เพ่งอยู่ภายใน ต้องเพ่งเข้าสู่ภายใน สิ่งใดสิ่งหนึ่งเมื่อเกิดขึ้นมันก็ดับไปเอง อย่าเข้าไปยึดถือสำคัญมั่นหมาย ว่าเป็นสิ่งนั่นว่าเป็นสิ่งนี้ เพ่งอยู่จนหายสงสัย ถ้าหายสงสัยมันก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพานเท่านั้นแหละ


การเพ่งอย่าให้มันออกไปข้างนอก ให้เพ่งเข้ามาทางใจ ให้เข้าสู่ใจ ให้เข้าสู่ฐีติภูตัง ให้ตั้งอยู่ในธรรม อันไม่ไป ไม่มา ไม่เข้า ไม่ออก เร่งความเพียรไม่หยุดหย่อน ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป พระอริยเจ้าไม่ว่าสมัยใด ท่านเปลี่ยนอิริยาบถทั้ง ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน มีความเพียรทุกอิริยาบถ ไม่ทอดทิ้ง ขันติบารมี อดทนด้วยกาย อดทนด้วยวาจา อดทนด้วยใจ ท่านไม่ยอมละความเพียร  

“อตีตาธรรมเมา อนาคตธรรมเมา ปัจจุบันเป็นธรรมโม จำเอาไว้ให้แม่น

ไม่ต้องพูดมาก พูดมากไม่ใช่ธรรมะ มันเป็นธรรมเมา”

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
         • ธรรมโอวาท: พระนาค อัตถวโร วัดสัมพันธ์วงศ์ กรุงเทพฯ เรียบเรียง, ๒๕๔๕. หน้า ๑๙-๒๒.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

25#
pimnuttapa โพสต์เมื่อ 2023-6-9 07:26 |แสดงโพสต์ทั้งหมด

ตอนที่ ๒๔

ให้ตั้งสัจจะ

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ

(วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่)

1.png


แสดงแก่พระภิกษุ วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๗



การปฏิบัติเราจะเดินก็ให้ตั้งสัจจะไว้ว่า จะเดินเท่านี้เท่านั้น หรือเราจะนั่งวันหนึ่งคืนหนึ่ง หรือถ้าเราสู้ไม่ไหว เราก็เอาแต่พอสมควร ให้ตั้งใจจริงๆ กำหนดตั้งสัจจะไว้ในจิตในใจ ละความมัวเมาออกให้หมด คอยกำหนดจิตเข้ามาสู่ภายในให้ใจเบิกบาน ตั้งความสัตย์ว่าจะภาวนาเป็นเท่านั้นเท่านี้ หรือถ้าจะเดินก็ให้กำหนดระวังรักษาจิตใจของเราให้แช่มชื่นเบิกบาน ไม่ปล่อยใจให้เป็นธรรมเมา รักษาจิตใจให้ตั้งอยู่เฉพาะธรรมโม

อย่าละความเพียรความพยายาม ให้เพียรไปติดต่อกัน จะเป็นวันหนึ่งหรือคืนหนึ่งก็ได้ เช่น ตั้งสัจจะว่าจะนั่งตลอดคืนจะไม่นอนอย่างนี้ ตั้งสัจจะไว้อย่างนี้เป็นการดี ตั้งสัจจะต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วตั้งใจให้ดี คอยระวังรักษาจิตใจของเรานั้นแหละให้ผ่องใสตลอดไป


ให้พยายามรักษาความดีความหมั่น ความขยันของเราไว้ ให้สละความเกียจคร้านออกไปเสีย ปกติจิตของเรานี้มักจะไหลไปสู่ความเกียจคร้านความหลุ่มหลง เราต้องพยายามหาอุบายมาเตือนตนอยู่เสมอ ด้วยความเพียรความหมั่น ให้รักษา กาย วาจา ใจ ของเราให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ในสิกขาวินัย นำความผิดความชั่วออกจากกาย จากวาจา จากใจ

อาศัยความเพียรเป็นไปติดต่อ จึงจะชนะความเกียจคร้านได้ ความมัวเมาความประมาทอันใดมีก็ให้ละเสียให้วางเสีย ทำให้จิตใจของเราตั้งอยู่ในธรรมโม พิจารณากลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ ต้องอาศัยความเพียร ความหมั่นความขยัน ไม่เช่นนั้นจิตมันจะตกไปสู่ความเกียจคร้าน

เราต้องตักเตือนข่มขู่ ชักจูงแนะนำจิตของเราด้วยอุบายแยบคาย ถ้าจิตใจมันเกียจคร้าน เราต้องหาอุบายมาตักเตือน ชักจูงแนะนำให้มีความกล้าหาญ ร่าเริง ให้เกิดความอุตสาหะขยันหมั่นเพียร ไม่ปล่อยให้จิตเฉยเกียจคร้าน

เราต้องละความเกียจคร้าน ความไม่ดีของจิต ด้วยอบรมภาวนาอย่างนี้ ถ้าเราตักเตือนชี้นำด้วยอุบายอันชอบในที่สุด จิตก็จะฟังเหตุผล เกิดความมุมานะพยายามในความเพียร เราต้องข่มขู่ตักเตือนบ่อยๆ ในสมัยที่จิตนิ่งเฉยต่อความเพียร

ถ้าเราคอยประคับประคองจิต ด้วยอุบายข่มขู่ตักเตือนด้วยอุบายแยบคาย จิตยอมจำนนต่อเหตุผล ระวังรักษาสติไว้อย่าให้หลงลืม ฝึกหัดให้เกิดความรู้ความฉลาดเกิดขึ้นในจิตในใจของตน

จิตของเรา ถ้ามันเกียจคร้านขึ้นมา มันจะทำให้เรานอนท่าเดียว ถ้ามันเกิดอย่างนี้ขึ้นมา เราต้องหาอุบายมาข่มขู่ ตักเตือน อุบายใดที่ยกขึ้นมาชี้แจงแล้วจิตยอมเชื่อฟัง นั่นแหละคือ อุบายที่ควรแก่จิตในลักษณะนั้นและในขณะนั้นๆ ถ้าเราไม่ข่มขู่ชี้โทษโดยอุบายที่ชอบ ใครเขาจะมาตักเตือนเรา


บางครั้งจิตถ้ามันเกียจคร้านขึ้นมา มันจะวางเฉยในอารมณ์ทั้งหมด ในลักษณะเช่นนี้แหละ เราต้องหาอุบายมาทำให้จิตตื่นให้ได้ เช่น ไหว้พระสวดมนต์ หรือยกธรรมบทใดบทหนึ่งขึ้นมาพิจารณา

ให้ตั้งอยู่ในความหมั่นความเพียรในคุณงามคนดีของตน พยายามเพ่งดูในจิตในใจของเรานี้แหละ ถ้าไม่อาศัยความขยันหมั่นเพียรไม่ได้ จิตเรามักจะไหลลงสู่อารมณ์ต่างๆ เป็นอดีตอนาคตไป เราต้องหาอุบายมาชี้แจ้งให้ตั้งอยู่ในปัจจุบันธรรม

พระพุทธเจ้าสั่งสอนให้เราตั้งอยู่ในมรรคในผล ให้พยายามรักษาจิตรักษาใจของเรา อาศัยความองอาจกล้าหาญ ในความพากเพียรของเรา อย่าอ่อนแอท้อแท้ เราต้องสู้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าองอาจกล้าหาญจึงจะผ่านอุปสรรคไปได้

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
         • ธรรมโอวาท: พระนาค อัตถวโร วัดสัมพันธ์วงศ์ กรุงเทพฯ เรียบเรียง, ๒๕๔๕. หน้า ๑๓-๑๖.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

26#
pimnuttapa โพสต์เมื่อ 2023-6-9 07:27 |แสดงโพสต์ทั้งหมด

ตอนที่ ๒๕

คติธรรม…ธัมมุทเทส ๔

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ

(วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่)

1.png



อุปะนียะติ โลโก                โลกคือหมู่สัตว์อันชราต้อนไปอยู่
อะตาโณ โลโก                 โลกที่ไม่มีผู้ต่อต้าน
อะนะภิสสะโร                   ไม่มีผู้เป็นยิ่งใหญ่
อัสสะโก โลโก                  โลกไม่มีสิ่งเป็นของของตน

   
สัพพัง ปะหายะ คะมะนียัง   จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งสิ้นแล้วต้องไป
อูโน โลโก                       โลกยังพร่องอยู่
อะติตโต                          เป็นผู้ยังไม่อิ่ม ไม่เบื่อ
ตัณหา ทาโส.                   จึงต้องเป็นทาสแห่งตัณหา.


สัตว์เดรัจฉานก็ดี มันหมุนอยู่ในไตรโลกอันนี้ ตกอยู่กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหานี้ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ของจริงมันมีอยู่ประจำอยู่อย่างนี้ มันหมุนเป็นกงจักรบดสัตว์โลกทั้งหลาย อยู่ประจำอิริยาบถเจ็บแข้ง เจ็บขา ปวดหลัง ปวดเอว เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันแสดงให้เราดูอย่างนี้ เว้นแต่เรามองไม่เห็นมันเท่านั้น

ส่วนมากจะตกอยู่ใต้อำนาจของสังขาร มันปรุงมันแต่งเป็นอดีตอนาคตไป ส่วนปัจจุบันสัจธรรมที่เข้าแสดงตัวให้ปรากฏอยู่ มันไม่ใคร่เอามานึกมาคิด ไม่เคยน้อมเข้าหากายหาใจของเรา มันคอยแต่จะเป็นธรรมเมาไป.

อย่าไปรู้เพียงแผนที่ ถ้ารู้เพียงแผนที่มักเกิดการทะเลาะวิวาท ต้องน้อมเข้ามาปฏิบัติในกาย วาจา ใจของเรา ต้องศึกษาให้รู้จักภูมิประเทศคือ กายของเรานี้

รักษาศีล ๕ ประจำ คือ ขาสอง แขนสอง หัวหนึ่งน้อมเข้ามาหาตัวเรานี้แหละ อันนี้แหละคือตัวของศีลแท้ เป็นโลกุตตรศีล หรืออริยกันตศีล ศีลประจำตน

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
          • ธรรมโอวาท: พระนาค อัตถวโร วัดสัมพันธ์วงศ์ กรุงเทพฯ เรียบเรียง, ๒๕๔๕. หน้า ๑, ๓๐, ๒๗.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

27#
pimnuttapa โพสต์เมื่อ 2023-6-9 07:28 |แสดงโพสต์ทั้งหมด

DSC01786.1.JPG


ตอนที่ ๒๖

หลวงปู่เล่าเรื่อง ประวัติพระแก้วมรกต

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร   

(วัดถ้ำผาปล่อง จ.เชียงใหม่)

1.png



แต่ว่าเดี๋ยวนี้เราก็จะเห็นแต่พระพุทธรูป หรือรูปวาดเขียนต่างๆ ที่คนเราเขียนไว้หล่อไว้ ที่สำคัญเมืองไทยเราก็เรียกว่า “พระแก้วมรกต” อยู่ที่พระราชวังหลวงโน่น พวกที่เคยมาที่นี่อาจเคยไปไหว้ไปกราบ แต่ว่าที่ท่านจัดไว้นั้นก็สูงไปหน่อย เวลาตาคนเรามองไปถึงพระแก้วนั้นมันเห็นน้อยไปนิดเดียว แต่ไม่ใช่แก้วเขียวเหมือนเมืองไทย เป็นแก้วมรกต

แก้วมรกต ก็คือว่าในประเทศอินเดียในภูเขาหิมาลัยลูกใดลูกหนึ่งนั้นแหละ เขาลูกนั้นเป็นหิน เป็นหินแก้วมรกต เมื่อเป็นหินแก้วมรกต เวลาหินในเขาลูกนั้นกลั่นมาเป็นน้ำแก้ว ก็เป็นแก้วมรกต สีเขียว มีฤทธิ์มีอำนาจ

พระเจ้าแผ่นดินหลายชั่วพระเจ้าแผ่นดินในอินเดียนั้น ก็ไปได้ลูกแก้วลูกนี้มา แต่ยังไม่ได้แกะสลักเป็นพระพุทธรูปเหมือนเราเห็นทุกวันนี้ เป็นแก้วหรือที่ประเทศไทย เราเห็นโป่งข่ามนั้น มันเป็นหกเหลี่ยมบ้าง สี่เหลี่ยมบ้าง แหลมปลายเสีย มันหยดออกมาจากภูเขา

เมื่อเป็นสมบัติพระเจ้าแผ่นดินในอินเดียมานานจนนับประมาณไม่ได้ พอดีมีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งอุบัติบังเกิดขึ้น แล้วก็มาได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินเป็นใหญ่ในแผ่นดินอินเดีย ให้ชื่อว่า พระยามิลินท์ เป็นคนปฏิภาณโวหารดี สมัยนั้นยังพระอรหันต์เยอะแยะ แต่ว่าท่านพระอรหันต์เหล่านั้นก็ไม่กล้าทัดทานวาทะของพระยามิลินท์ พระยามิลินท์เวลานั้นยังไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ไปไหนมาไหนแกก็ปฏิภาณครอบโลกไปอย่างนั้นแหละ คนกลัวเพราะมีอำนาจ


พระอรหันต์เถระสมัยนั้น จึงมาจินตนาการว่า จะทำอย่างไรกับพระยามิลินท์นี้ให้เลื่อมใสในพุทธศาสนา แต่ว่าพวกเราที่เกิดปฏิบัติอยู่นี้ไม่มีใครทัดทานแกได้ คนแบบนี้คงมีอาจารย์ของแกว่าอย่างนั้น ข้อสันนิษฐานของพระเถระในเวลานั้น เมื่อลงสันนิษฐานอย่างนั้นแล้ว ก็ถ้ามีอาจารย์ของท่านพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้มาสอน ที่เคยเป็นอาจารย์จึงจะฟังว่าอย่างนั้น พวกเราสมัยนี้สอนมันไม่ฟัง

พระเถระก็เข้าฌานดูว่าเทวดาหรือมนุษย์คนไหน ที่เคยเป็นครูอาจารย์ของพระยามิลินท์นี้ เมื่อพระเถระท่านให้พระที่มีฌานเหาะเหินเดินอากาศไปทั่วมนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก ก็ไปเห็นอยู่ในเทวโลก เมื่อสอบถามดูก็เคยเป็นอาจารย์เป็นครูสอนของแกว่าอย่างนั้น “เออ! อย่างนั้น มันก็ขอ(นิ)มนต์ ขอเชิญเทวดาเจ้าจุติไปเกิดในโลกมนุษย์ แล้วจะได้ช่วยกิจการพระศาสนา” ว่าอย่างนั้น


พระอาจารย์ของพระยามิลินท์ที่เป็นเทวดาอยู่ท่านก็รู้ รับรองว่าจะลงมาจุติปฏิสนธิในโลกมนุษย์นี้ให้ตามต้องการของพระอรหันตขีณาสพ จะได้ช่วยกิจการพระศาสนา ว่าอย่างนั้น ก็เลยแนะนำว่า “ถ้าไปเกิดก็ให้ไปเกิดในตระกูลนั้นตระกูลที่ได้รับจะได้รับรอง พระสงฆ์ก็จะได้เตรียมการรับรองมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย” ว่าอย่างนั้น ก็เป็นอันว่าตกลงกันดีแล้ว ก็ลงมา

วันนั้น เทวดาตนนั้นก็ลงมาเกิดที่ว่านั้นแหละ เกิดแล้วก็พระสงฆ์องค์เจ้าก็ไปบิณฑบาตบ้านญาติโยมไว้ให้มันพร้อมมูลทุกอย่าง เตรียมการต้อนรับไว้จนกระทั่งเด็กทารกนั้น เจริญวัยใหญ่โตขึ้นมา พอจะบวชเป็นสามเณรได้ ก็ขอจากญาติโยมมาบวชเป็นสามเณรเรียนธรรมะคำสอน ประพฤติปฏิบัติ ก็เป็นอันว่าตกลงทั้งญาติโยมพ่อแม่ของ “พระนาคเสน” ชื่อ “นาคเสน” ว่าอย่างนั้น


พอใหญ่ขึ้นมาอายุครบ ๒๐ อุปสมบทให้เป็นพระ ส่วนการภาวนาก็เรียกว่าได้สำเร็จเป็นขั้นๆ มาจนถึงเป็นพระอรหันตขีณาสพจบพรหมจรรย์ เรียนพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ จบเรียบร้อย พร้อมด้วยการละกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ ให้หมดสิ้นไป แล้วจึงได้ไปโต้วาทีกับพระยามิลินท์ เพราะเป็นอาจารย์เก่า ตามข่าวคราวว่าโต้เถียงกันมาตลอด พระนาคเสนก็มีหน้าที่แสดงธรรม พระยามิลินท์ก็โต้ไปไม่ยอม พอหนักเข้าๆ ก็มาถึงปัญหาข้อนึง

พระนาคเสนท่านก็ตอบแบบเล่นๆ ล่ะ บอกว่า “โยม มหาบพิตร มีน้ำก็มีปลา มีนาก็มีข้าว” ว่าอย่างนั้น “มีอย่างหนึ่งก็ต้องมีอย่างหนึ่ง” ทีนี้พอว่าถึง มีน้ำมีปลา มีนามีข้าว ก็จับจุดเอาตรงที่ว่ามีน้ำมีปลา ก็เรียกลูกน้องมา

พระเจ้าแผ่นดินสั่งลูกน้องว่า “ให้ไปขึ้นมะพร้าวมา มาผ่าดู ว่ามีปลาจริงไหม” นั่นสู้กันด้วยเรื่องเล็กน้อย แขกอินเดียมันมีปัญญาสมัยนั้น ทีนี้ด้วยพระวาจาของพระอรหันต์มันเกิดมีปลาขึ้นมาบัดนี้ มะพร้าวลูกโตๆ มาผ่า มีปลาอยู่ในนั้น จึงยอม ยอมนับถือ จึงยอมนับถือศาสนาพุทธ ยอมเป็นลูกของพระนาคเสน


เมื่อนับถือศาสนาพุทธ ยอมเป็นลูกศิษย์พระนาคเสนแล้ว พระนาคเสนหรือพระอรหันต์ในสมัยนั้น ท่านก็รู้ว่ามีแก้วมรกตลูกหนึ่ง ที่พระแก้วมรกตเมืองไทยเรานี่แหละ “ว่าขอบิณฑบาตแก้วมรกตที่เป็นมูลสังฆญาตินั้น จะได้ไหมมหาบพิตร” ก็ถามไป ท่านก็คงตอบว่า พระเจ้าแผ่นดินน่ะ คงจะถามว่า “จะเอาไปทำไม” ถ้าภาษาไทยเราก็เรียกว่า เอาไปทำไม


พระนาคเสนก็ตอบว่า “คือแก้วนี้เป็นแก้วมีฤทธิ์มีอำนาจ จะนำแก้วไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูป พระศาสนาจะได้เจริญรุ่งเรืองต่อไป” ว่าอย่างนั้น “เอาถ้าอย่างนั้นก็จะเอามาถวาย” เมื่อได้ฤกษ์งามยามดีก็เอามาถวายพระนาคเสน พระนาคเสนก็รับเอาแก้วลูกนี้ พอข่าวคราวว่าพระยามิลินท์ศาสดาหัวแหลมสู้พระนาคเสนไม่ได้ จึงยอมถวายลูกแก้วมรกตว่าอย่างนั้น

ทีนี้ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีนักแกะอยู่ ตาวติงสาท่านมีนักแกะที่ดีลงมาขอจากพระนาคเสนรับเอาไปแกะ จะแกะเป็นอย่างดีจะไม่ให้แตกไม่ให้ทำลาย พระนาคเสนก็มอบให้ แกะเสร็จเรียบร้อยก็เอามาถวายพระนาคเสน พระนาคเสนก็ฉลองสมโภชทุกสิ่งทุกอย่างตามธรรมเนียมแขกอินเดียในสมัยนั้น


ในพระแก้วมรกตมีอำนาจคือว่า แก้วนั้นก็มีอำนาจ แล้วแกะเป็นพระพุทธรูปก็เพิ่มขึ้นไปอีก ทีนี้พระนาคเสนก็อธิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าเข้าไว้ในองค์พระแก้วนั้น ก็เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมากมาย

เมื่อล่วงเลยจากนั้นแล้ว ก่อนที่พระแก้วมรกตจะได้เสด็จมาประเทศไทยเราน่ะ มีแขก แขกทางทะเลทรายโน่น เป็นศาสนาอิสลามยกกองทัพมารบอินเดีย ให้เข้าศาสนาอิสลาม แต่ว่าคนแขกสมัยนั้นใจไม่ค่อยสู้เลยยอมให้อิสลามนั้นทำลายสถานที่ จนกระทั่งเผาวัดเผาวา ฆ่าใครไม่นับถือ


คือ ศาสนาอิสลามนี้ สมัยนั้นไม่เลื่อมใสศาสนาพุทธ ค้านทุกอย่าง แล้วยังไม่พอ ถ้ามีพระมีวัดวาที่ไหน ก็ทุบต่อยตี หลวงปู่ได้ไปตั้ง ๒ ครั้งแล้ว พระพุทธรูปต่างๆ นั้นเขาทุบหมด ที่ไหนไปแกะสลักไว้ในภูเขา ในถ้ำ มันก็เอาค้อนเหล็กไปตีจนหน้าตาเสีย ไปตรงไหนที่มันบางๆ อย่างว่าพระกรรณหูนี้ ก็ไม่เหลือล่ะ ทุบเอาทั้งนั้นล่ะ

พระยามิลินท์มาแล้ว ก็ไม่มีใครต่อสู้ ญาติโยมที่เหลืออยู่ พระสงฆ์สามเณรก็ตกลงมติว่า ท่านคงเข้าฌานดูว่า “ในโลกเราต่อไป ประเทศไหนคนพวกใดจะรักษาพระพุทธศาสนา ท่านก็รู้ทีเดียวว่าเมืองไทย ไม่ใช่เป็นเมืองไทยละ (สมัยนั้น) เขาเรียกว่า “ปัจจันตประเทศ” เป็นประเทศที่เรียกว่ายังไม่เจริญ ไม่เหมือนอินเดียว่าอย่างนั้น


เมื่อรู้อย่างนั้นก็เลยเอาลงเรือแบบเรือใบน่ะ จากอินเดีย เกาะลังกานั้นแหละวนรอบมาขึ้นเขมรแล้วก็ขึ้นมาเมืองไทย จนไปหลายที่ เชียงแสน เชียงราย เชียงใหม่ก็มาอยู่ หลังจากนั้นพระแก้วมรกตก็ไปเวียงจันทน์กับหลวงพระบาง รัชกาลที่ ๑ กรุงเทพมหานครเรานี่แหละ สมัยนั้นยังเป็นแม่ทัพใหญ่อยู่ ไปรบทางภาคเหนือทางเวียงจันทน์ ได้ชัยชนะก็เอาพระแก้วมรกตมาไว้ ที่เราท่านทั้งหลายเห็นอยู่ที่วัดพระแก้วนี้  


ดังนั้น แก้วดวงนี้แก้วองค์นี้ จึงเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใดเกิดใหม่ใหญ่ทีหลังยังไม่ได้ไปกราบไปไหว้ ก็ให้ไปไหว้ มันเป็นพระพุทธรูป ไปไหว้เมื่อใดวันใดก็ได้ ตามข่าวว่าวันพระท่านก็เปิด ให้ไหว้ได้วันเสาร์ วันอาทิตย์หรือวันใดก็ไหว้ได้ เป็นพระแก้วมรกตโบร่ำโบราณ

ส่วนว่าพระยามิลินท์ และพระนาคเสนก็สู้ความแก่ชราไม่ได้ แก่เฒ่ามาก็ฟันหลุด ผมหงอก พระนาคเสนก็ดับขันธ์เข้าสู่นฤพานไป แต่ตามตำนานของหลวงปู่มั่น ที่รูปของท่านอยู่ข้างหลังหลวงปู่นี้ หลวงปู่มั่นนี้ท่านก็มีความรู้พิเศษทางนี้แหละ ว่าพระนาคเสนท่านก็อยู่โน้นแหละ อินเดีย แต่ว่าตอนแก่ชรามาเห็นว่าไปไม่รอดแล้ว


ท่านก็เสด็จมาไว้สรีระปัจจันตประเทศ ประเทศไทยเรานี่แหละ ที่สมัยนั้นเขาเรียกว่า แต่ก่อน ดงพญาไฟ หรือเขาใหญ่ เดี๋ยวนี้เขาใหญ่ก็สงวนไว้ ป่ายังใหญ่อยู่ มีช้าง มีวัว กระทิง มีพันธุ์สัตว์ต่างๆ ยังเยอะ ช้างก็ยังเยอะอยู่ มานิพพานที่เขาใหญ่ แต่ถ้ำใดก็จำไม่ได้ แต่หลวงปู่มั่นท่านรู้ท่านเล่าให้ฟัง

ส่วนพระยามิลินท์ นักโต้วาที เมื่อแก่ชรามาก็อวดดีกับพญามัจจุราชไม่ไหว พอเห็นท่าว่าไม่ไหวก็เลยลาราชการมาบวช พระยามิลินท์ปฏิภาณดีก็บวช บวชแล้วก็ภาวนาได้สำเร็จเป็นพระอรหันตขีณาสพ
แก่เฒ่าชรากาลเสด็จมานิพพานที่เมืองไทย


ประเทศไทยเราที่ (วัดพระธาตุ) ลำปางหลวง นครลำปาง เดี๋ยวนี้อยู่ในเขตอำเภอเกาะคา ผู้ใดไปแล้วก็ไปไหว้ได้ เป็นที่พระยามิลินท์มานิพพานที่นั้น แล้ววัดพระธาตุลำปางหลวงนั้น เวลานี้ก็มีพระแก้วเหมือนกัน แต่เป็นแก้วเปรียวไม้ไผ่ ไม่ถึงกับเป็นแก้วมรกตเหมือนอยู่ที่พระราชวังเมืองไทยเรานี้


นั่นแหละ พระพุทธรูปท่านก็ดี ท่านไม่โกรธให้ใคร ท่านไม่โลภอยากได้ของใคร แม้จะเป็นพระแก้วมรกต ท่านก็ไม่ดุดันเหมือนคนเรา ท่านก็นั่งภาวนาของท่าน ท่านไม่มีไปซื้อหวยลอตเตอรี่เพื่อให้ร่ำให้รวยเหมือนคนเราหรอก นั่งภาวนาลูกเดียว “พุทโธ-พุทโธ”


ฉะนั้น ผู้ใดได้ไปเห็นก็ให้พากันไหว้พระแก้วมรกตน่ะ ก็ทำใจของเราทุกคนให้ใสเป็นแก้วมรกต


4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
          • ภาวนา “พุทโธ” ทำใจให้ใสเป็นแก้วมรกต. คณะผู้จัดทำ. สิงหาคม ๒๕๔๖. หน้า ๑-๘.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

28#
pimnuttapa โพสต์เมื่อ 2023-6-9 07:32 |แสดงโพสต์ทั้งหมด

ตอนที่ ๒๗

พระคติธรรม

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร

(วัดถ้ำผาปล่อง จ.เชียงใหม่)

1.png



เมื่อถึงเวลานั่งสมาธิภาวนา ท่านจึงให้รวมจิตเข้ามา ไม่ให้ตามไป ไม่ให้ไปหลงอายตนะทั้งหลาย ได้แก่ กายเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส กายกระทบเย็นร้อนอ่อนแข็ง จิตคิดในธรรมารมณ์ต่างๆ ไม่ให้หลงออกไป ก็คือว่า ให้รู้ในจิตนั่นแหละ รู้ว่ารูปก็ตาม เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่มันอยู่ในโลกนี้แหละ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น อย่าได้ยินดียินร้าย

จิตนี้หลงกายของตัวเองนั่นแหละ จึงได้หลงกายผู้อื่น จิตหลงอยู่ในตา หู จมูก ลิ้น จึงได้หลงไปตามรูป เสียง กลิ่น รส ความหลงทั้งหลาย เมื่อย่นย่อเข้ามาให้สิ้นที่สุด ก็คือว่า จิตดวงเดียวนี่แหละเป็นผู้หลง

ไม่ต้องกล่าวถึงบุคคลอื่น แม้ตนเองจะไว้ใจตนเองเสมอไปได้หรือ ถ้ายังมีกิเลสคือ โลภ โกรธ หลงอยู่ จะไว้ใจที่มีกิเลสดังกล่าวหาได้ไม่ ฉะนั้นเมื่อไม่ควรจะไว้ใจตนเองได้เสมอไป และจะไว้ใจผู้อื่นโดยไม่เลือกไม่พิจารณาได้อย่างไร

อันมูลเหตุที่เกิดความตึงเครียดขึ้นนั้น โดยตรงที่สุดก็คือ ตัณหาความทะยานอยากในจิตใจของบุคคล หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ กิเลสเหล่านี้เป็นไฟเผาโลกอยู่ทุกกาลสมัย และเป็นนายที่บงการมนุษย์ให้เบียดเบียนทำลายล้างกันและกัน


แม้บุคคลจะมีอำนาจครอบงำผู้อื่นได้มากมาย แต่ก็คงเป็นธาตุของตัณหา จึงได้ขวนขวายเพื่อหักล้างผู้อื่นลงไปให้ย่อยยับ โดยที่ไม่พยายามหักตัณหาในใจของตนเองลงไปได้เลย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ความสงบก็เกิดขึ้นได้ยาก ยิ่งแก้ด้วยวิธีเพิ่มตัณหาให้แก่ตน และหักล้างผู้อื่นให้จำยอม ก็ยิ่งเพิ่มความไม่สงบ เพราะไม่มีใครที่จะยินยอมแก่กัน ต้องพากันพยายามป้องกันตน หรือคือหักล้างเป็นการตอบแทนกันอยู่ตลอดไป

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
          • เวียนว่าย/ตายเกิด: ราช เลอสรวง บรรณาธิการ: ตรงหัว. หน้า ๑๓๘. และโลกทิพย์ ๓๙๗ ปีที่ ๒๒ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๔๖. หน้า ๘.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

29#
pimnuttapa โพสต์เมื่อ 2023-6-9 07:34 |แสดงโพสต์ทั้งหมด

หลวงปู่โต๊ะ.JPG


ตอนที่ ๒๘

มรรคผลนิพพาน อยู่ที่ตนเอง

หลวงปู่โต๊ะ

(วัดประดู่ฉิมพลี กรุงเทพฯ)

1.png



ที่จะพึงกระทำในเรื่องการปฏิบัตินี้ได้ เรียกว่าสุดเอื้อมของคนแต่ละคนที่จะพึงเป็นไปได้ ถ้าหากว่าเราจะเทียบดูแต่ละบุคคล บุคคลต่างๆ เขาทำไมจึงทำอย่างเราไม่ได้ ให้เทียบดู บางทีเขาทำได้ก็ทำเป็นพิธีเท่านั้น ทำตามเขาคนที่เขาเรียกว่าเป็นคนใจบุญ ถือศีลกินเจ

เมื่อถึงคราวแล้วก็ถือศีลกินเจบ้าง ทำกันไปตามกันมาเรื่อยๆ ถือศีล ๘ บ้าง ศีล ๕ บ้าง ศีล ๒๒๗ บ้าง ซึ่งทำกันอย่างนี้ เลยเป็นประเพณีไป ไม่ใช่เพราะความมุ่งให้ถึง ไม่ได้ทำให้เห็นแจ้งในทุกข์โทมนัสอุปายาส ที่ทำนี้ทำตามประเพณี

ไปวัดทำไม ?
ไปฟังพระท่านเทศน์
ท่านเทศน์เรื่องอะไร ?
ฉันจำไม่ได้
แล้วได้อะไรมาบ้าง ไปวัดน่ะ ?
ก็ไปตามประเพณี ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ก็ไปเสียที ไปกันคนละทีสองทีสามที


บางคนก็ทนไปแค่รับศีล
บางคนไม่ถึงรับศีลหรอก ออกไปเลย
ทำไมล่ะ ?
ไม่ไหว อยู่ไม่ไหว
ทำไมล่ะ ?
ธุระมันมาก ธุระนี้ ธุระอะไรต่อมิอะไร


ก่อนนี้เป็นอย่างไรจึงทำได้ ?
ทำได้ ก่อนนี้ก็เป็นไปตามประเพณีเคยทำอยู่ เพราะยังไม่เห็นรายได้ของการกระทำ

ทำให้ยิ่งๆ ไป ขึ้นไป วันนี้ไม่ได้ เดือนนี้ไม่ได้ ก็เดือนหน้า เดือนหน้าไม่ได้ ก็ทำในเดือนต่อๆ ไป ทำเป็นปีๆ ไป


เขาลือกันว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี้ดับทุกข์ได้ แล้วเราจะต้องทำไปเท่าที่เราจะพึงทำได้ อดอยากเท่าไร คับแค้นเท่าไร ไม่คำนึง ต้องการตามคำที่ร่ำลือว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ท่านช่วยเราให้พ้นจากทุกข์ได้

มันมีจริงแค่ไหนนะที่เขาพูด มันมีจริงแค่ไหน เราไม่ท้อใจ ต้องค้นให้พบ เพราะของจริงมีอยู่ การที่เราเข้าไม่ถึงของจริง มันมีอ้างอย่างโน้นอย่างนี้ อ้างโน่นอ้างนี่อยู่เรื่อยๆ ต่างคนต่างมีความขัดข้องด้วยประการต่างๆ

วามเข้มแข็งในการปฏิบัติศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี ย่อหย่อน ผ่อนไปตามความพอใจของกิเลส แล้วออกนอกทางๆ ไม่เจอของจริงๆ นี่ๆ ถ้าเจอก็จริงบ้างไม่จริงบ้าง ก็ไม่อยากทำอะไร ใจของตัวเองก็ยังสับปลับอยู่ ยังไม่รู้จะแน่นอนอย่างไร เพราะประมาณใจของตัวยาก

พระพุทธเจ้าสาวกท่านปฏิบัติมานาน ทำโดยประเพณีกันมาก ไม่ต้องทำจริงทำจังหรอก ทำตามประเพณีก็ได้ ทำได้แค่บุญ ภาวนาก็ได้บุญ ภาวนาเข้าๆ ทำไปทำมา เอ๊ะ มันผิดท่าแล้ว ปาเข้าไปตั้ง ๔ อสงขัยกำไรแสนมหากัป ก็ไม่เห็นได้อะไรบ้าง ไม่เห็นได้อะไร ไม่เห็นจริงๆ ๔ อสงขัยบ้าง ๘ อสงขัยบ้าง ๑๖ อสงขัยบ้าง ก็พยายามไป ก็ไม่ได้อะไร

เอ๊ะ ผิดแล้วๆ ๆ นี่ ผิดหลักของการกระทำ ผิดหลักของการปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำให้ทำ พระปริยัติก็เป็นแต่ทางแนะนำ ครูบาอาจารย์ทั้งหมดก็เพียงแนะนำให้เท่านั้น ท่านจะยื่นมรรคนิพพานให้ไม่มี ไม่มีอย่างเด็ดขาด

เออ จะว่าอย่างไร ?
ก็เราไปว่ามาเสีย ๔ อสงขัยกำไรแสนมหากัป
อ้อ มันไม่ยาก มันไม่ได้อยู่ที่ครูบาอาจารย์หรอก มันอยู่ที่เราในเราที่จะกระตุ้น มันอยู่ที่ใจเรานี่เอง มรรคก็อยู่ที่นี่ ผลก็อยู่ที่นี่ นิพพานก็อยู่ที่นี่ ไม่ได้อยู่ไหน อยู่ที่ตนเองของตนเอง ศีลก็ของตน ทานก็ของตน สมาธิของตนปัญญาก็ของตน


พระพุทธองค์ทรงชี้สิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่พุทธสาวก ประทานให้จนไม่มีวิชาจะให้ ให้หมด ศีลก็ให้หมด สมาธิก็ให้หมด ปัญญาก็ให้หมด…

10.1.png




๑. ศีลอมตะ...สีลพัต


เจริญวิปัสสนาจนเกิดปัญญา ปัญญาเห็นชอบก็ได้บุญ
เออ มันอยู่ที่ไหนบุญนี่


บุญก็แปลว่าสะอาด สะอาดกาย สะอาดวาจา สะอาดใจ เราเคยสังเกตไหม ยืน ความสะอาดของเรามีครบแล้วหรือยัง เดิน ความสะอาดของเรามีแล้วหรือยัง นั่ง ความสะอาดของเรามีแล้วหรือยัง นอน ความสะอาดของเรามีแล้วหรือยัง ยืน เดิน นั่ง นอน ความสะอาดของเราในอิริยาบถทั้ง ๔ มีหรือยัง อะไรมันบกพร่อง หรือมันไม่บกพร่องให้รู้ไว้

กายสะอาดจริง วาจาสะอาดจริง บริสุทธิ์ของใจด้วยอำนาจของศีลที่เรารักษาไว้ ได้อานิสงส์บ้างไหม ถ้าหากว่าได้ความบริสุทธิ์หมดจด มันก็เป็นศีลที่แท้ ศีลที่เป็นแก่นสาร ถ้าหากว่าไม่ได้อย่างที่ว่ามานั้น มันก็เป็นสีลัพพตปรามาสไป ไม่ใช่ศีลที่เป็นแก่นสารอะไร มันพลาดไปเป็นสีลพัต มันก็ไม่ถ่องแท้อะไร

เราก็เพียงทำความรู้ไว้ว่า นี่เป็นศีลแท้ตามพุทธบัญญัติหรือไม่ หรือเป็นสีลพัตที่ทรงติไว้ ที่เราปฏิบัติอยู่นี่ มันเป็นศีลอะไร เมื่อเราจับเหตุได้ เราก็แก้ได้ เมื่อเราจับเหตุไม่ได้ มันก็แก้ไม่ได้ ไม่รู้จะแก้อย่างไร ไม่รู้ว่าเหตุปัจจัยของมันเป็นอย่างไร มันก็แก้ไม่ได้ ศีลก็เป็นสีลัพพตปรามาส

ศีลที่นักปราชญ์ท่านสรรเสริญไว้แน่ ไม่ให้แก้ เป็นอมตศีล ไม่ใช่สีลพัต ถ้ามันเป็นสีลัพพตปรามาส ไม่ใช่มันเป็นศีลที่กลับกลอก มันเป็นศีลแฝงอะไรๆ อยู่หลายอย่าง เมื่อเรารู้ทางสีลพัตมากๆ ๆ เข้า เราจะไม่พบศีลที่แท้ที่แน่นอน

สีลพัตมีรส ส่วนศีลที่แท้ที่นักปราชญ์มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญไว้จืดๆ ไม่มีรส ไม่มีรูป ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีสัมผัสใดๆ จืดหมด

สีลพัตผ่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เราก็ผ่านไปไม่ได้
อันนี้แหละ ศีลที่ผ่านมามันเป็นศีลของใครกันแน่ มันเป็นศีลของโลกหรือเป็นศีลของธรรม

อ้อ มันเป็นศีลของโลกปล่อยเลย เราจะไม่แก้ให้เป็นศีลในธรรมต่อไป ให้เป็นศีลที่จืดไม่มีรสอะไร

เราไม่ได้นินทาใคร เกิดขึ้นเองว่าศีลที่เรารักษาที่มันศีลอะไร
พ่อคุ้ณ เป็นพระ เป็นเณร เป็นชี เป็นอุบาสก อุบาสิกา นั่นมีศีลอะไรกัน เออ มันศีลอะไรกัน


10.2.png




๒. ศีล สมาธิ ปัญญา


เมื่อถึงศีลแล้ว มันก็เป็นสมาธิ แล้วก็โยงไปถึงปัญญา แล้วก็โยงไปถึงวิมุตติ เพราะสายเดียวกัน

เมื่อเราเอ่ยถึงพระพุทธ ก็พบพระธรรมและพระสงฆ์ เมื่อเราเอ่ยถึงพระสงฆ์ ก็พบพระพุทธและพระธรรม เมื่อเราเอ่ยถึงพระธรรม ก็พบพระพุทธและพระสงฆ์ เพราะเป็นสายเดียวกัน

เมื่อเราเอ่ยถึงศีล ก็พบสมาธิและปัญญา ศีลของเรา หรือสมาธิของเรา หรือปัญญาของเรา มันไม่สัมพันธ์กัน มันหลุดไปอยู่ไม่ได้ เพราะความสะอาดของเรามันยังไม่พอ มันก็ติดอยู่แค่สมาธิปัญญานั่นแหละ เพราะศีล สมาธิ ปัญญาของเรามันยังไม่เป็นสิ่งที่แท้ ไม่ใช่ศีลที่เป็นธรรม บางทีรักษากัน ๓ กัปป์ ๓ กัลป์ อย่างที่เราเคยได้ยินอยู่บ่อยๆ ไปวัดทำไม ไปฟังเทศน์ ฟังเทศน์เรื่องอะไรไม่ทราบ

นี่รู้ไหม “ปาณาติปาตา เวรมณี” ว่าตามพระท่านๆ ๆ เอ้า ว่าดังๆ หน่อย ว่าดังๆ เสียงจะได้เข้าทางโสตแล้วไปถึงใจ ว่าดังๆ หน่อยๆ ๆ แล้วจะเป็นอะไร

สะอาดซิ ทางกายก็สะอาด ทางวาจาก็สะอาด ทางใจสะอาด
ถ้ามันยังไม่สะอาดล่ะ จะทำอย่างไร ?
ก็ขัดซิ ขัดเกลา ขัดศีล ขัดสมาธิ ขัดปัญญา ให้มันถึงความหลุดพ้นไปได้

มันก็เป็นกำไรของคนที่ฉลาด
เรียกว่าอะไร ?
พวกนี้เรียกวิชชาทั้งนั้นแหละ “วิชชา จะระณะสัมปันโน” ทั้งนั้น


10.3.png




๓. วิชชา


ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ เป็นวิชชาทั้งนั้น เรามีความรู้แล้ว ก็ต้องใช้ความรู้ที่มีอยู่แล้วให้มันถูกก็แล้วกัน

ผิดเราก็มี ถูกก็มี เราก็ต้องการความถูกมากๆ ๆ ขึ้น ความไม่ถูกมันก็หมดไปๆ ๆ มันก็ไม่เหลืออะไรที่จะพึงเหลือไว้ได้ มีแต่ความรู้อยู่เท่านั้น มันรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่มีอะไรที่จะไม่รู้ ต่อๆ ไปมันก็รู้ดีขึ้นเป็นลำดับๆ ๆ

ความรู้นั้นก็ไม่หายไปไหน รักษากันเอง ความรู้รักษากันเอง เราไม่ต้องเข้าไปช่วยรักสงรักษาอะไรเขาหรอก พูดง่ายๆ ว่าพระธรรมไม่ให้ผู้ประพฤติธรรมแล้วตกไปในทางที่ชั่ว ท่านก็รับประกันอยู่แล้ว เราไม่ต้องไปทำอะไรเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา คนละเรื่องกันแล้ว ถึงที่สุดที่ไหน รู้ด้วยตนของตนเอง แล้วใครเขาจะสอนเสินอะไรให้ ตนสอนตนของตนเอง สอนเสร็จความบริสุทธิ์หมดจดอะไรๆ

ผู้ที่เป็นคนฉลาดเอาตัวรอดได้ นี่ๆ บุญ เรามานี่ก็เพื่อตรวจดูบุญบาปของเรา ให้เห็นอนิจจาตา ทุกขตา อนัตตตา แล้ว เราก็ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติได้

10.4.png




๔. ใจเป็นของกายสิทธิ์


สิ่งที่เสกได้หลายอย่างคือ ใจ มันเสกได้ร้อยแปดพันเก้า ประเดี๋ยวเดียวไปได้ โอ้ โฮ เยอะ พับเดียว เพราะเป็นของกายสิทธิ์ ไปได้ไกลๆ ไปไหนๆ ไม่รู้ เข้าดงเข้าป่าไปไหนไม่รู้

หน้าที่ของจิตก็เป็นอย่างนี้ จะทำอะไรต้องอาศัยอย่างนี้มาช่วยบ้าง อย่างโน้นมาช่วยบ้าง กว่าเขาจะเห็นว่า เออดี อย่างนี้ดี เพราะยังไม่มีคนพยายามเคี่ยวเข็ญให้เขาทำความดี
ทำไปเถอะ ได้บุญ ได้บุญตามฐานะที่เราจะพึงกระทำ

เราก็ลงทุนลงแรงมาลำบากยากเข็ญใจบุกป่าฝ่าดง ไม่ปรารถนากิจการอะไร มุ่งแต่โพธิญาณเรื่อยไป มันได้แค่ไหนก็แค่นั้น ไม่ต้องรีบร้อนอะไร เมื่อถึงคราวถึงสมัยถึงกาลมาเองๆ เห็นเอง ได้เอง รู้เอง ด้วยตนของตนทั้งนั้น

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
         • หลวงปู่โต๊ะ สอนธรรม “มรรคผลนิพพาน อยู่ที่ตนเอง”. ลานโพธิ์: ฉบับ อภินิหาร-พลังจิต ฉบับที่ ๖. สิงหาคม ๒๕๒๖. หน้า ๖๒-๖๖.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

30#
pimnuttapa โพสต์เมื่อ 2023-6-9 07:35 |แสดงโพสต์ทั้งหมด

ตอนที่ ๒๙

การกำจัดความโกรธ

หลวงปู่โต๊ะ

(วัดประดู่ฉิมพลี กรุงเทพฯ)

1.png



หลวงปู่โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ หรือ พระราชสังวราภิมณฑ์ หลวงปู่ท่านเกิดในตระกูลรัตนคอน เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีกุน อัฐศก ตรงกับวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๐ ที่บ้านคลองบางน้อย ต.บางพรม อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม และท่านมรณภาพ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๔ นับอายุได้ ๙๓ ปี ๑๑ เดือน กับ ๖ วัน

หลวงปู่โต๊ะ ท่านกล่าวถึงโทสะ หรือความโกรธว่า...
เป็นหนึ่งในกามแห่งรากเหง้าความชั่วร้ายทั้งหลายในโลกนี้ (รากเหง้าความชั่วร้าย หรืออกุศลมูล มี ๓ คือ โลภะ โทสะ โมหะ)

เมื่อความโกรธเกิดขึ้น หลวงปู่ท่านสอนให้ดูว่า “เป็นเพราะอะไรจึงเกิดขึ้น” และท่านให้ไปดูที่จิต ดังที่กล่าวว่า จิตเป็นประธาน จิตเป็นใหญ่ จิตสำเร็จที่จิต จิต ๓ ประการนี้ มีสื่อเข้าไปรายงานอยู่ทุกๆ วินาที จิตต้องรับรู้ผู้ที่เข้ามา ดีก็รับไว้ ชั่วก็รับไว้ ไม่ดีไม่ชั่วก็ต้องรับไว้ เพราะจิตเป็นประธานยิ่งใหญ่ทั้ง ๓ ทาง

ใครเป็นผู้รายงาน ใครเป็นสื่อ
อายตนะภายนอก ๖ อายตนะภายใน ๖
ตากระทบรูป รูปที่ดี ชอบ ใจชอบ รูปที่ไม่ดี ใจไม่ชอบ
เสียงที่ดี ใจชอบ กลิ่นที่ไม่ดี ไม่ชอบ
รสที่ดี ชอบ รสที่ไม่ดี ไม่ชอบ
สัมผัสที่นุ่มนวล ชอบ สัมผัสที่ไม่นุ่มนวลที่กระด้าง ไม่ชอบ
อารมณ์ที่เกิดขึ้น ที่เรียกว่าธัมมารมณ์ที่ดี ชอบ อารมณ์ที่เกิดขึ้นไม่ดี ไม่ชอบ


เป็นเพราะอะไร จึงเป็นอย่างนั้น
นี่เราจะทำอย่างไร ทำจิตอย่างไรจึงจะไม่ให้ความโกรธเกิดขึ้นได้

นี่ต้องมีคนสูงกว่าจิตอีกคนหนึ่ง เรียกว่าประธานเหนือประธาน....สติ


สติมีหน้าที่อะไร

มีหน้าที่คุมจิต เพราะจิตเขาชอบทำงาน เป็นคนขยัน ไม่เลือกงาน งานดีก็ทำ งานไม่ดีก็ทำ เรียกว่าทำตามความพอใจของจิต


เพราะฉะนั้น ผู้ที่ทำงานจึงมีความผิดบ้าง ความถูกบ้าง ที่จะรู้ว่าเราทำผิดหรือทำถูก ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาคิดสติมีที่อยู่ไหน ปัญญามีอยู่ที่นั่น เกิดขึ้นตัดสินได้เด็ดขาดว่า รูปที่ดีรูปที่ไม่ดีมาเกี่ยวข้องอะไรกับท่านด้วย

ถามจิตว่า มันมาเกี่ยวอะไรกับท่านด้วย ปัญญากับสติเขาถาม มันเกี่ยวอะไรกับท่านด้วย ท่านจึงต้องไปรับรู้ในเรื่องจิต เพราะฉะนั้น จิตจึงต้องมีสติสัมปชัญญะเข้ามาควบคุม ถ้าหากว่าปราศจากสติเมื่อใด ความผิดเกิดขึ้นเข้าใจว่าถูก ความดีเกิดขึ้นเข้าใจว่าผิด เพราะเขาทำตามความพอใจของจิต จิตก็ต้องเป็นไปตามความพอใจของจิตที่ไม่มีสติควบคุมไว้ จงทำกิจการอะไรเล็กใหญ่ไม่เลือก โดยมากมีความผิด

ผิดเพราะอะไร
เพราะปราศจากสติเครื่องควบคุมของจิต จิตก็มีอำนาจด้วยไม่หวาดสะดุ้งใดๆ
ธรรมชาติของจิตนั้นบริสุทธิ์หมดจด ไม่มีสิ่งที่ไม่ดีเข้ามาเคลือบแฝงบริสุทธิ์ เรียกว่า จิตบริสุทธิ์

ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น คือดีบ้างชั่วบ้าง
กิเลส กิเลสทำให้จิตมัว มาเคลือบอยู่ที่จิต เห็นผิดเป็นชอบไปได้

กิเลสมันก็สูงกว่าจิต เมื่อกิเลสสูงกว่าจิต อำนาจของจิตถอย ถอยกำลังลงไป กิเลสสูงกว่าก็บังคับเราได้ ทำตามอำนาจของกิเลสที่มาเคลือบอยู่ที่จิต จิตก็มัวหมองไม่ผ่องใส

ที่นี่จะทำอย่างไร

ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม มันเคล้าอยู่กับจิตเสมอ ต้องรู้เท่าทันความเกิดขึ้นของจิตที่เรียกว่าอารมณ์ รัก รักไว้ข้างในก่อน เกลียด เกลียดไว้ข้างในก่อน อย่าให้ความรักแสดงออกมาทางกายวาจา อย่าให้มันออกมา ความไม่พอใจก็ตาม หรือความพอใจก็ตาม อย่าเพิ่งให้มันแสดงออกมา


ต้องให้มีสติควบคุม และปัญญารู้ถ่องแท้แน่ในใจแล้ว จึงปล่อยมันออกมา ที่เราปล่อยมันเข้าออกนั้นเขาเคยตัว เขาเคยเข้าได้ออกได้อย่างสบายโดยไม่มีอะไรมาติดขัดกับการเข้าออกของเขา

เราไม่ยอม ยังไม่โกรธทีเดียว เรียกว่า ปฏิฆะ ข้อง

ข้องเป็นอย่างไร
มัวๆ ขุ่นมัว แต่ไม่ถึงกับแสดงความหยาบคายทางกายวาจา ไม่แสดงออกมาทนอยู่ได้ อดอย่างพอสมควรทนเอาบ้าง เรียกว่าขันติ ต้องทน ทนในอารมณ์ที่เกิดขึ้น ดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม เพียงแต่ทำความรู้ไว้ว่า เอ้อ นี่ดี เอ้อ นี่ชั่ว แต่ไม่เก็บเอาไว้เพราะมีปัญญา สติรู้เท่าทันเขา รู้เท่าทันอารมณ์ที่มีอยู่ในตัว

เขาขืนเก็บไว้นาน หนัก แบกไม่ไหว
เพราะฉะนั้นก็รู้ความเป็นไปว่า นี่รูปดี นี่รูปไม่ดี แล้วก็ให้เขาผ่านไป


นี่เกิดอะไร
ปัญญารู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น ทุกครั้ง ทุกตอน ทุกขณะ รูปเสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ก็รู้เท่าทันเขาหมด

เมื่อจิตเศร้าหมองไม่ผ่องใส ก็ต้องยึดหลักของขันติไว้ อดทนไว้ อย่าให้มันออกมาข้างนอก ถ้าให้ออกมาข้างนอกแล้ว มันน่าเกลียด มันหลายอย่าง จับอาวุธยุทธภัณฑ์ด่าว่าหยาบคายด้วยประการต่างๆ โดยเราปราศจากสติ เพราะฉะนั้น อย่าให้มันออกมา อดทนไว้ เมื่อเราทนบ่อยๆ จึงเห็นโทษว่า การที่กระทำด้วยความไม่รู้ อาย

เกิดละอายขึ้นทางใจ ด้วยธรรมะที่เราปฏิบัติได้ปฏิบัติถึงนั่นเอง เกิดขึ้นเอง เห็นขึ้นเองได้ ได้ด้วยตนเอง นี่ธรรมะที่แท้ของเราๆ ต่างหาก

เราต้องการความดี ไม่ต้องการความชั่ว แต่ทำไมจิตจึงตกไปในทางที่ชั่วได้บ่อยๆ เพราะอำนาจของกิเลส เขาสูงกว่าความเฉลียวฉลาด เขาก็หาทางจะมาล่อจิตของเราให้ตกลงไปในหลุมที่เขาต้องการ เมื่อเรามีขันติใช้ได้สม่ำเสมอ ก็ชื่อว่ารู้โทษของจิตว่าจิต

โทสะนี้มันเป็นอย่างไร พระท่านว่าอย่างไร

โทสะนี่นะ หรือไฟสามกอง คือ ราคะ โทสะ โมหะ ท่านว่ามันเป็นไฟราคัคคิ โทสัคคิ โมหัคคิ มันเป็นไฟ
ธรรมดาของไฟมันเกิดขึ้นที่ไหน เขาต้องทำลายในที่เกิดนั้นก่อน

ถ้าเจ้าของรู้เท่าทันก็ไม่ลุกลามไปยังที่อื่น ถ้าหากเจ้าของรู้ไม่เท่าทันเรื่อยๆ ไป มันก็ไปกันใหญ่ เผาๆๆ เรา เผาใจให้เดือดร้อน เห็นผิดเป็นชอบ ไม่เป็นตัวของตัวเอง มีแต่โทษส่วนเดียว คุณหามีไม่ เพราะความโกรธเกิดขึ้น

การโกรธ ไม่ใช่ว่าผลุนผลันแล้วโกรธ อย่างที่พูดมาแล้วว่า ปฏิฆะมันข้องอยู่ก่อน เราก็ต้องอดกลั้น ไม่ตามอารมณ์ของความโกรธที่เกิดขึ้น


เมื่อบ่อยๆ เข้า ชำนิชำนาญเข้า ก็เตือนตนของตนได้ว่า นี่ความโกรธไม่เดือดร้อน เราเดือดร้อนก่อนคนอื่นๆ ความเดือดร้อนนั้นใครชอบบ้าง ไม่มีใครชอบ ตนเองก็ไม่ชอบ คนอื่นก็ไม่ชอบ

นี่ได้ผลตามความคิดของจิตที่ตั้งไว้ผิด ตัวเราเองก็ไม่เป็นตัวของเราเอง จิตของเราต้านทานอะไรที่คนเขามาอาศัยไม่ได้ เราสู้ไม่ได้ คืออารมณ์เขามาประเดี๋ยวเดียว มาทำที่อยู่ของเราแหลกลาญไปหมด บางทีเรานึก อื้อ เสียดาย แล้วจะทำอย่างไรมันหมดไปแล้ว

รู้ไหมว่าไฟไหม้บ้านแล้วมันเสียหายอย่างไร
ไม่อยากดู ดูเป็นอันตรายทุกอย่าง ไม่มีส่วนดีเลย


แล้วต่อไปข้างหน้าเราจะว่าอย่างไร
ต้องระวัง มันเกิดบ่อยๆ เราก็แย่ เครื่องใช้ไม้สอยอะไรต่ออะไรหมด ระวังไม่ให้มันเกิดขึ้นบ่อยๆ นัก เปรียบอย่างนั้น โทสะแหลกลาญหมด นี่ก็เห็นโทษ

ต่อไปก็เห็นโทษ มารๆๆ มีการเข็ดหลาบ เพราะเสียทรัพย์ไปหลายอย่างหลายประการด้วยกัน อย่าก่อไฟภายในเผาบ้านของตนเอง อย่าๆๆๆ

อาศัยบ้านของเราอยู่ กินนอนสบายทุกอย่าง เราต้องหูไวตาไว จึงจะรักษาบ้านของเราอยู่ได้นานๆ โดยไม่มีข้อครหาอะไรว่า บ้านนั้นทำอย่างนี้ บ้านนี้ทำอย่างนั้น มีแต่เสียงที่ไม่น่าฟัง พูดก็พูดเถอะ เจ้าคนที่เขารักษาบ้าน เขารู้เขาสรรเสริญว่าบ้านนี้เขาดี จะพูดจะจา จะรับรองแขกที่ไปมาเรียบร้อยไปหมด
นั่นเขาสรรเสริญเราว่าเรียบร้อยเพราะเรารู้ทัน ไม่ให้ไฟกองนั้นมาเผาบ้านของเราให้เสียหายทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง อดทนเรื่อยๆ ไป

ทีนี้เหตุการณ์ที่มันจะเกิดขึ้น เราก็รู้ทัน เคยโดนมาแล้ว ฉันเคยโดนมาแล้ว ก็มีการกวดขันขึ้นในตัวของเราเอง เคยโดนมาแล้วโทรมทุกที โดนเข้าเมื่อไร โทรมทุกที บางทีทำนอกบ้านเดือดร้อนมา ยังมาร้อนคนในบ้านอีก แล้วก็ร้อนไปที่อื่นๆ ไม่ดีเลย ต้องละเว้นไม่กระทำ

ต่อไป ก็คุ้นกับความไม่กระทำความชั่ว
พูดก็พูดดี ทำก็ทำดี คิดก็คิดดี เป็นสุจริต เกิดมีศีล มีสมาธิ มีปัญญาเกิดขึ้น


ได้ผลอย่างไร มีศีลมีสมาธิได้ผลอย่างไร
เป็นหน้าที่ของพระท่าน เพราะเราพึ่งพระท่าน กายวาจาใจที่ชั่วก็ถวายพระ กายวาจาใจที่ดีก็ถวายพระ ท่านจะบันดาลอย่างไรแล้วแต่พระท่าน


เมื่อกายวาจาใจของเราดี สิ่งที่ชั่วๆ ที่เราเคยล่วงมาแล้ว ท่านไม่ให้กระทำๆ มันไม่งาม เพราะเข้าในวงศ์ของพระแล้ว

ทีนี่เราก็เดินไปตามพระท่าน ความผิดพลาดหรือความไม่เฉลียวฉลาด พระท่านจะสอนเราเอง โดยเรากระทำของเราได้เอง โดยเราเห็นของเราได้เอง โดยเราได้ยินของเราเอง ไม่ต้องเชื่อใคร เชื่อความสามารถของตนว่า สามารถทำได้

มีหลักอะไรมาอ้างว่าสามารถทำได้ด้วยตนเอง
พระพุทธเจ้าเป็นหลัก อาจารย์ที่ไหนดี โน่น อยู่โน่น เมืองน้ำเมืองเหนือดี ไปหาหมด ท่านก็ไปลองดี ท่านองค์นี้ว่าอย่างนั้น ท่านองค์นั้นว่าอย่างนี้ ก็ว่ากันไปต่างๆ ทรงทดลองดูหมด

จึงถึงการตกลงพระทัยว่า ความดีไม่ได้อยู่กับคนอื่นหรอก ความชั่วก็ไม่ได้อยู่กับคนอื่น ตนของตนนั่นเองเป็นความดี เป็นคนทำความชั่ว ก็ทรงทำ ทำที่โคนต้นโพธิ์ ทรงทำจนเห็นโทษของความชั่ว เห็นดีของความดี เพราะมันเป็นแค่ลมเท่านั้น มันเกิดขึ้นแล้วมันก็หายไป ดีก็ผ่านไปชั่วมันก็ผ่านไป

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
          • หนังสือหลวงปู่โต๊ะ ผู้หยั่งรู้จิตใจคน พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม ๒๕๔๑: สายธาร ศรัทธาธรรม เรียบเรียง. หน้า ๑, ๙๑-๙๗, ๑๔๓.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-1 06:14 , Processed in 0.159855 second(s), 16 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.