- สมัครสมาชิกเมื่อ
- 2009-1-22
- เข้าสู่ระบบล่าสุด
- 2021-1-18
- สิทธิ์ในการอ่าน
- 150
- เครดิต
- 0
- โพสต์
- 5381
- สำคัญ
- 1
- UID
- 13
 
|
 | |  |  |
ตำนานพระธาตุ ๔ จอม (จอมมอญ จอมกิตติ จอมทอง จอมแจ้ง)
(แหล่งที่มา : นาคฤทธิ์ รวบรวมชำระสะสาง (๒๕๔๐-๒๕๔๕). (๒๕๔๕, ๑ ตุลาคม). พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง (พิมพ์ครั้งที่ ๑). เชียงใหม่: ลานนาการพิมพ์, หน้า ๒๒๐-๒๒๑.)
จะขอกล่าวถึงตำนานพระธาตุ ๔ จอมที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสู่กันฟังต่อๆ มา มีแม่เฒ่าหม่อนเหมย วงศ์น้อย อายุ ๘๐ กว่าปี กล่าวว่าคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่เมืองยวมนี้ พระองค์ได้ทรงหยุดยืนนิ่ง พร้อมเพ่งมองไปทางทิศเหนือยังดอยลูกหนึ่ง ดอยลูกนั้นจึงได้ชื่อว่า “ดอยจอมมอง” ต่อมายามเกิดภัยสงครามผู้คนจึงนำเงินทองบรรทุกเกวียนมาฝังไว้ในถ้ำมากมายถึง ๓ เกวียน ถ้ากองรวมกันก็เป็นม่อนดอย บางส่วนได้สร้างเจดีย์ครอบไว้ จึงเรียกว่า “ดอยจอมม่อน” กาลต่อมาสมัยสมเด็จพระนเรศวรกวาดต้อนพม่า มอญ ไทยใหญ่ (เงี้ยว) กะเหรี่ยง (ยาง) บัญชาให้ช่างชาวมอญบูรณะพระเจดีย์ขึ้นใหม่ จึงเรียกชื่อว่า “พระธาตุจอมมอญ” มาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
ย้อนกล่าวถึงเมื่อพระพุทธองค์เพ่งมองที่ดอยจอมมองแล้วเสด็จต่อไปเอาพระหัตถ์ไปแตะที่ดอยลูกหนึ่งอยู่ทิศตะวันตก กิริยาที่มือแตะหรือจับต้อง ภาษาพื้นเมืองโบราณเรียกว่า “ติ” จึงมีชื่อว่า “ดอยจอมกิตติ” มาจนทุกวันนี้ แล้วพระองค์ก็ไปประทับพระหัตถบาทไว้ยังดอยอีกลูกหนึ่งอยู่บนถ้ำ (ปัจจุบันเรียกดอยพระบาทกันติดปาก ที่จริงเป็นรอยพระหัตถ์ บางกระแสว่าเป็นพระบาท ช่างไปแต่งกลายเป็นพระหัตถ์ไป เมื่อวิเคราะห์ดูแล้วมีขนาดกว้างคืบกว่า ยาว ๑ ศอก ก็เห็นสมควรจะเป็นพระหัตถ์เสียมากกว่า อยู่ใกล้ดอยจอมทอง)
จากนั้นพระองค์ก็ท่องเที่ยว (ต้องเตียว) ต่อไปยังดอยอีกลูกหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก จึงมีชื่อเรียกว่า "ดอยจอมท่อง" (จอมต้อง) ต่อมาเพี้ยนเป็น "ดอยจอมทอง" มาจนถึงทุกวันนี้ จากนั้นพระองค์ก็จาริกเดินทางต่อไป มาสว่างยังดอยอีกลูกหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองยวมเดิม จึงเรียกว่า "ดอยจอมแจ้ง" มาจนกระทั่งทุกวันนี้
ต่อมาในยุคของพระฤาษี ประมาณ พ.ศ.๑๐๐๐ กว่า (เข้าใจว่าจะอยู่ในสมัยเดียวกันกับพระฤาษีวาสุเทพแห่งอุจฉุตบรรพต (เขาไร่อ้อยหรือดอยสุเทพ) ส่วนที่เมืองยวมยังมีฤาษี ๔ ตนเป็นพี่น้องกัน ฤาษีผู้พี่พำนักอยู่ดอยจอมกิตติ เก่งทางหมอยา สามารถชุบชีวิตผู้ที่พึ่งตายใหม่ๆ แล้วให้ฟื้นคืนชีพได้ โดยสอนให้ศิษย์ทำการผสมสูตรยาชุบชีวิตไว้เป็นอย่างดีแล้ว ก็กระโจนลงสู่หม้อยาที่กำลังร้อนเดือดอยู่ ร่างฤาษีได้ละลายหายไปในหม้อยานั้น ศิษย์ตกใจเป็นอย่างยิ่งจึงผสมสูตรยาผิดๆ ถูกๆ ด้วยลืมขั้นตอนการใส่ยาชุบชีวิต ทำให้พระฤาษีผู้เป็นอาจารย์ต้องมาจบชีวิตลงในหม้อยานั่น ปัจจุบันยังมีผู้พบยาฤาษีผสมเป็นก้อนหิน เมื่อทุบดูข้างในจะมีผงยาสีขาวบ้าง เหลืองบ้าง สามารถนำมาแช่น้ำเป็นยาวิเศษรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ตามความเชื่อของคนเจ็บป่วยที่รักษาที่อื่นไม่หาย ก็มาหายกับยาฤาษีผสมนี้ก็มี
พระฤาษีองค์รอง พำนักอยู่ดอยจอมทอง เก่งทางเล่นแร่แปรธาตุ สามารถซัดตะกั่วให้กลายเป็นทองคำก็ได้ พระฤาษีผู้น้องอีกตนหนึ่งพำนักอยู่ดอยจอมแจ้ง เก่งทางวิชาอาคมไสยเวทย์ทุกประการ พระฤาษีผู้น้องสุดท้องพำนักอยู่ดอยจอมมอญ เก่งทางเรียกฝนเรียกลม สำเร็จกสิณน้ำกสิณลม บันดาลให้มีน้ำหรือให้บังเกิดเป็นน้ำบ่อทิพย์ขึ้นบนเขาที่แห้งแล้งก็ได้ (มีผู้พบบ่อน้ำทิพย์บนเขาดอยจอมมอญ ๒ รายให้ดื่มกินได้ เมื่อพาผู้อื่นไปเอากลับหายไปหาไม่พบ ปัจจุบันเจาะบ่อบาดาล น้ำใต้ดินได้ไหลพุ่งขึ้นมาเอง ไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ พระฤาษีผู้นี้อาจบันดาลให้มีน้ำอุดมสมบูรณ์เป็นน้ำบ่อทิพย์ใช้เป็นประโยชน์ได้ทั้งวัดเลยทีเดียว)
พระฤาษีทั้งสี่พี่น้องนี้ยังได้สร้างเจดีย์สำเร็จด้วยหินอยู่บนเขาทั้งสี่จอมไว้เป็นที่สักการบูชาของสาธุชนอีกด้วยและมีอาจารย์ของฤาษีเป็นอาจารย์ใหญ่ที่ถ่ายทอดวิชาต่างๆ ให้ฤาษีทั้ง ๔ ตนนี้ ท่านพำนักอยู่ถ้ำเหง้า (หรืออาจเป็นถ้ำพระเจ้า ซึ่งอยู่ในป่าทางทิศเหนือที่พบรอยพระพุทธบาทนั้นก็ได้) เมื่อหมดยุคของพระฤาษีแล้วก็รกร้างเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลาและหนีภัยสงครามกันด้วย
กาลต่อมาถือเอาบุพพนิมิตที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดชาวเมืองยวมพยากรณ์จอมดอยสี่แห่ง จึงได้สร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้น ๔ มุมเมือง โดยที่ชาวอำเภอแม่สะเรียงเป็นอำเภอชายแดนติดเขตพม่า แต่ก่อนเคยเป็นถิ่นฐานอาศัยของชนเผ่าลัวะ (ละว้า) ยาง (กะเหรี่ยง) ต่อมามีชนพื้นเมืองพม่า ไทยใหญ่ (เงี้ยว) มอญ (เม็ง) อพยพมาอาศัยอยู่ด้วย เพื่อความสมานสามัคคีกันในหมู่คณะ ต่างก็ถึงซึ่งพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่ง จึงปรึกษาหารือกันให้ชาวมอญสร้าง “พระธาตุจอมมอญ” ไว้เป็นที่กราบไหว้สักการบูชา ประมาณปี พ.ศ.๒๑๔๓ (สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) ชาวพม่าสร้าง “พระธาตุจอมกิตติ” ไว้สักการบูชา ชาวไทยใหญ่ (เงี้ยว) สร้าง “พระธาตุจอมทอง” ไว้สักการบูชา ประมาณปี พ.ศ.๒๒๐๑ ชาวพื้นเมืองได้ช่วยกันสร้าง "พระธาตุจอมแจ้ง" ประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๗ ไว้สักการบูชา
พระธาตุ ๔ มุมเมืองทุกแห่งได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศพม่ามาบรรจุไว้ในพระเจดีย์อีกด้วย และปรากฏเหตุการณ์อัศจรรย์คือ มีแสงพระธาตุเสด็จลอยไปมาหาสู่กันระหว่างพระธาตุ ๔ จอมนี้อยู่เสมอในคืนวันพระและวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนา
ผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าสืบๆ กันมา ผูกเป็นคำกลอนพูดติดปากกันว่า “จอมมอญ มาจอมมะติ มาต้องที่นี่และมาแจ้งที่นี่” ก็คือพระธาตุจอมมอญ จอมกิตติ จอมทอง และจอมแจ้ง นั่นเอง ผู้เฒ่ากล่าวว่าพุทธองค์ได้พยากรณ์ไว้ว่า “หากพระธาตุ ๔ จอมนี้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาเมื่อใด ชาวเมืองยวมและพุทธศาสนาจะมีความเจริญรุ่งเรืองถึงที่สุด จะได้อยู่เย็นเป็นสุขทุกถ้วนหน้ากัน” ปัจจุบันพระธาตุ ๓ แห่งได้บูรณปฏิสังขรณ์มีความเจริญรุ่งเรืองตามลำดับ ยังคงค้างพระธาตุจอมกิตติที่ยังไม่ค่อยเจริญเท่าใดนัก ถึงกระนั้นอำเภอแม่สะเรียงก็มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นกว่าเก่ามาก นับว่าเจริญเป็นอันดับ ๒ รองจากอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนเลยทีเดียว
ดังนั้นพระธาตุ ๔ จอม จึงถือเป็น "พระธาตุคู่บ้านคู่เมือง" แม่สะเรียง สมดั่งคำขวัญของอำเภอแม่สะเรียง
.....ผ้าทอกะเหรี่ยง เสนาะเสียงสาละวิน
งามถิ่นธรรมชาติ พระธาตุสี่จอม
ดอกไม้หอมเอื้องแซะ
แวะบูชารอยพระหัตถ์ พระบาทเมืองยวม.....(ผู้เรียบเรียง)
| |  | |  |
|
|