ประวัติวัดโขงขาว
(แหล่งที่มา : ป้ายประวัติวัดโขงขาว ภายใน วัดโขงขาว)
มังคละวุฒิ จามเทวี ทายาโท วิหรันโต อยัง ภิเทยโย โหนติ ศรีสวัสดี อตีเตกาเล สมเยฯ ในอดีตตามตำนานที่ผู้เฒ่าผู้แก่รุ่นปู่ย่าตาทวดได้เล่าให้บุตรหลานสืบต่อกันมาว่า วัดโขงขาวนี้ พร้อมทั้งศาสนวัตถุมีวิหารเป็นต้น ได้ก่อสร้างขึ้นมาครั้งสมัยเมื่อพระนางจามเทวีได้เสด็จมาสร้างเจดีย์ธาตุดอยคำ ขณะเดียวกันก็มีพระราชศรัทธาสร้างวิหารวัดโขงขาวถวายเป็นพุทธบูชา กาลเวลาผ่านพ้นไป พระวิหารก็ได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลาตามธรรมชาติ พระเถราจารย์ผู้เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อๆ มาหลายต่อหลายรูปชั่วอายุก็ได้ทำปฏิสังขรณ์ทำนุบำรุงสืบต่อๆ กัน มาถึงสมัยครูบานันตเถระ, ครูบาพรหม, ครูบาโปธา, ครูบาตาคำ, จนกระทั่งมาถึงพระอธิการอินตา
ภายหลังอธิการอินตาได้ลาสิกขาบทเจ้าอาวาสว่างลง เจ้าคณะตำบล คณะสงฆ์ และคณะศรัทธาเสนอเจ้าคณะจังหวัดแต่งตั้งให้พระครูปิยรัตนาภรณ์ (บุญรัตน์ กันตจาโร) เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา พระครูปิยรัตนาภรณ์ หลังจากรับตราตั้งเจ้าอาวาสแล้ว ก็ได้มาพิจารณาถึงศาสนวัตถุของวัด ก็เห็นว่าวิหารของวัดซึ่งเป็นสถานที่ใช้ประกอบศาสนกิจบำเพ็ญกุศลเป็นสถานที่มีความจำเป็นและสำคัญยิ่งของชาวเหนือ ได้ปรักหักพังชำรุดทรุดโทรมไปตามอายุที่สร้างมานมนาน จึงนำเรื่องปรึกษากับศรัทธาญาติโยมผู้อุปถัมภ์วัด ตลอดญาติโยมคณะศิษย์จากกรุงเทพ ต่างมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้รื้อถอนแล้วสร้างขึ้นมาใหม่ทดแทน ฉะนั้นในวันพฤหัสบดีที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๙ ปีมะเมียอัฏฐศก จ.ศ. ๑๓๒๘ เดือน ๙ เหนือ แรม ๖ ค่ำ ได้ฤกษ์ในการสร้างวิหาร เมื่อเสร็จเรียบร้อยในวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๑๔ ปีจอ โทศกค.ศ.๑๓๓๒ เป็นเดือน ๖ เป็งของชาวเหนือ ได้นิมนต์พระสังฆเถราจารย์ จำนวน ๕๐ รูป มาสมโภช ฉลองวิหาร ตามจารีตประเพณีชาวเหนือ
ในปีต่อมาได้รับความเมตตาจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี พร้อมด้วยคณะศิษย์ในพระคุณท่านได้กรุณาช่วยเหลืออุปถัมภ์ในการก่อสร้างศาสนวัตถุของวัดสิ่งใดที่มีอยู่เห็นควรปฏิสังขรณ์ก็ปรับเปลี่ยนซ่อมแซม สิ่งไหนยังขาดตกบกพร่องก็ช่วยเหลือในการก่อสร้าง เช่น การเปลี่ยนแปลงกระเบื้องหลังคาวิหาร สร้างกุฏิสงฆ์เป็นอาคาร ๒ ชั้น ๑ หลังคาทรงไทย ศาลาหอฉัน ๒ ชั้น ๑ หลัง สร้างศาลารายล้อมวิหาร และซ่อมอุโบสถ อย่างละหลัง ซื้อที่ขยายเขตบริเวณวัดอีก ๖ ไร่ สร้างศาลาการเปรียญ “พระราชพรหมยาน” ๒ ชั้น ทรงไทย กว้าง ๑๐ วา ยาว ๑๘ วา ในพื้นที่ประมาณ ๑ ไร่ ๑ หลัง สร้างห้องกัมมัฏฐาน ๒๐ ห้อง กุฏิสงฆ์เพิ่มอีก ๔ หลัง กุฏิอาคันตุกะ ๒ หลัง สร้างกุฏิไว้สำหรับพระมหาเถระอีก ๑ หลัง ก่อเจดีย์ครอบเจดีย์องค์เดิม เพื่อความเหมาะสม ๑ องค์ ก่อกำแพงศิลาแลงกั้นแสดงอาณาเขตบริเวณวัดทั้งสี่ด้าน
ต่อมาในจุลศักราช ๑๓๔๓ ปีล้วงเล้า เดือน ๕ ขึ้น ๑ ค่ำตามคติชาวเหนือ ตรงกับวันจันทร์ที่ ๒๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๕ ปีระกาตรีศก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราช รัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้พระราชทานวิสุงคามสีมา ทางวัดโขงขาว มีพระครูปิยรัตน์ พร้อมทั้งคณะศิษย์และคณะศรัทธาญาติโยมของวัดตลอดทั้งทางกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ เมื่อได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้วจึงได้พร้อมใจกันเป็นเอกฉันท์ก่อสร้างอุโบสถขึ้นมีขนาดกว้าง ๑๔ ศอก ยาว ๓๕ ศอก ทรงล้านนาปูหินอ่อน สร้างศาลาล้อมโรงอุโบสถ์ เมื่อก่อสร้างเรียบร้อยแล้วในปีกุนสัปตศก จ.ศ. ๑๓๕๗ พ.ศ. ๒๕๓๘ พระครูปิยรัตน์ฯ พร้อมทั้งคณะศิษย์และศรัทธาญาติโยมจึงได้อาราธนาพระเถรานุเถระจำนวน ๒๕๐ รูป มีเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เจ้าคณะภาค ๗ วัด วัดปากน้ำ กรุงเทพฯ เจ้าคณะจังหวัด เป็นประธานดำเนินงาน ประกอบพิธีสวดถอนสีมา
ต่อมาในปีชวด อัฏฐศกชาวเหนือเรียกขานว่า “เมือไม้ปา” ศักราชได้ ๑๓๕๙ ตรงกับปีพ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นปีที่จังหวัดเชียงใหม่มีอายุครบ ๗๐๐ ปีบริบูรณ์ ทางพระครูปิยรัตนาภรณ์ พร้อมทั้งคณะศิษย์และศรัทธาญาติโยมได้อาราธนาพระสงฆ์จำนวน ๕๐ รูป มีเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เจ้าคณะภาค ๘ วัดปากน้ำ กรุงเทพฯ และเจ้าคณะจังหวัด เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ เชิญผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานฝ่ายฆราวาสประกอบพิธีฝังลูกนิมิต ตัดลูกนิมิต สวดญัติสมมุติสีมา เป็นการร่วมเฉลิมฉลอง ๗๐๐ ปีของเชียงใหม่
พระครูปิยรัตนาภรณ์ได้บรรจุพระรอด พระคงแดง และพระชนิดต่างๆ ไว้ใต้ฐานชุกชีล้อมรอบศาลา และใต้ท้องลูกหงส์ทั้ง ๓ ตัว ตลอดภายใต้บลารี(ฉัตร์) หลังคาอุโบสถมีพระพุทธปฏิมาหลายองค์ ซุ้มเบื้องหลังพระ ประธานก็ได้บรรจุพระเครื่องชนิดต่างๆ หลายพันองค์ ครั้นได้มงคลฤกษ์จึงได้อาราธนามวลคณะเถราจารย์เข้ามาประกอบมงคลพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ภาวนาแผ่พลังบารมีเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๗ ปีจอศกจ.ศ.๑๓๕๖ เดือน ๑๒ เหนือ เดือน ๑๐ ภาคกลาง เวลาอุดมมงคล ๐๙.๐๐ นาฬิกา...นิพพานัง ปะระมัง สุขัง....
|