แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 5569|ตอบ: 0
go

ที่มาพุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก

Rank: 8Rank: 8

pimnuttapa โพสต์เมื่อ 2014-11-15 18:35 |แสดงโพสต์ทั้งหมด

img068.jpg



ที่มาพุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก



ความจริง ตำนานพระบาทและพระธาตุของพระพุทธเจ้านี้ เทวดาพระอินทร์และพระพรหมพระอรหันต์ทั้งหลาย ได้เฝ้ารักษาพระธาตุเจ้าทั้งหมดไว้ และได้กำหนดชื่อพระบาทและพระธาตุของพระพุทธเจ้า ไว้ในกระดานหินประดิษฐานไว้ในเมืองลังกาทวีป หินก้อนนั้นยาว ๒๐ ศอก กว้าง ๕ ศอก (บางฉบับว่า กว้าง ๔ ศอก หนา ๕ ศอก ยาว ๑๕ ศอก) ในที่ประดิษฐานแผ่นหินนั้น เคยเป็นที่พระพุทธเจ้าทรงประทับเป็นครั้งแรก เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จไปเมืองลังกา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วในปีเต่าสัน (ปีวอก) เดือน ๖ เพ็ญ หลังจากนั้น ๑ ปี คนทั้งหลายจึงพากันไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในเมืองลังกาที่นั้นซึ่งเป็นกัลยาณมิตรกับด้วยพระเจ้าอโศกราช แล้วขอเอาพระศาสนาไปเผยแพร่ในลังกาทวีป พระเจ้าอโศกราชจึงทรงอาราธนานิมนต์พระมหินทเถรผู้เป็นราชโอรส ให้เป็นประธานแก่พระสงฆ์ทั้งหลาย ชักชวนพระอรหันต์ทั้งหลายนำเอาพระพุทธศาสนาพระธาตุและไม้ศรีมหาโพธิ์ ไปประดิษฐานไว้ในเมืองลังกา คนทั้งหลายก็พร้อมใจกันสร้างมหาวิหารครอบแผ่นหินที่เป็นตำนานของพระธาตุและพระบาทไว้ สถานที่นั้นจึงเป็นวัดปรากฏชื่อว่า "มหาเสลอาราม” คือว่า “วัดพระหิน” นั้นแล


เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้แล้ว พระองค์ก็เสด็จดับขันธปรินิพพานไป เมื่อพระองค์นิพพานไปแล้วได้ ๒๐๕๐ พรรษา มีพระยาธรรมิกราชพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า “พระเจ้าอนุรุทธธรรมราช” เสวยราชสมบัติในเมืองหงสาวดีราชธานี พระองค์มีพระทัยเลื่อมใสศรัทธา มีพระประสงค์ใคร่รู้ว่า “ศาสนาของพระพุทธเจ้าที่ประดิษฐานไว้ ๑๐๑ เมืองในชมพูทวีปนี้ จะมีเมืองใดบ้างที่ยังคงเจริญรุ่งเรืองอยู่” พระองค์จึงทรงอาราธนานิมนต์ พระเถระเจ้าทั้งหลายรวม ๑๐๑ รูป ต่างรูปต่างก็จำพระไตรปิฎกทั้งสิ้น ให้ท่านได้เดินทางไปตลอด ๑๐๑ เมือง คือนิมนต์ให้ท่านไปดูในเมืองราชคฤห์ ที่พระมหากัสสปเถรเจ้านิพพาน ๑ รูป ที่เมืองวิเทหะอันพระจุลกัสสปนิพพาน ๑ รูป และนิมนต์ให้ไปเมืองต่างภาษาอันได้ ๑๐๑ ภาษา ทุกเมืองเมืองละ ๑ รูป


สำหรับพระมหาสามีธรรมรสผู้มีพรรษาได้ ๒๐ พรรษา พระองค์นิมนต์ว่า “ขอพระคุณเจ้าไปดูพระพุทธศาสนา พระบาทและพระธาตุเจ้าเมืองลังกาทวีป ให้ได้รู้ได้เห็นคุณวิเศษที่มีในเมืองลังกาทวีปนั้นโดยแจ่มแจ้งทุกประการแล้วโปรดกรุณากลับคืนมาชี้แจงให้ข้าพเจ้าทราบทุกประการเถิด" แล้วจึงรับสั่งให้คนทั้งหลายทำเรือสำเภาให้มั่นคงดีแล้ว จึงนิมนต์พระมหาสามีเจ้าธัมมรสเดินทางด้วยสำเภาลำนั้น แล่นไปตามทะเลนานได้ ๖ เดือนจึงไปเมืองลังกาทวีป เมื่อพระมหาสามีเจ้าไปถึงแล้ว จึงเข้าไปพักอยู่วัดหลวงพระหิน อันเป็นที่ประทับอยู่แห่งพระมหาสังฆราชานายก สมเด็จพระมหาสังฆราชตรัสถามว่า “ดูรา ท่านธรรมรสผู้มีอายุ ท่านเดินลงมาถึงประเทศบ้านเมืองที่นี้ ท่านมีความประสงค์สิ่งใด”


พระมหาสามีธรรมรสทูลว่า “ข้าแด่พระมหาสังฆนายก ในกาลบัดนี้มีพระยาธรรมิกราชองค์หนึ่งปรากฏขึ้น ทรงพระนามว่า พระเจ้าอนุรุทธธรรมราช ถวายราชสมบัติเป็นเอกราชใหม่ๆ พระองค์มีพระทัยปสาทศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาประสงค์จะยกย่องเชิดชูพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองในเมืองหงสาวดีราชธานี จึงมีพระทัยใคร่ทรงทราบว่าพุทธศาสนาที่ประดิษฐานอยู่ในสกลชมพูทวีป ๑๐๑ เมืองนั้น ยังมีเมืองใดที่พระพุทธศาสนายังเจริญรุ่งเรืองอยู่ จึงอาราธนานิมนต์พระมหาเถรเจ้าทั้งหลาย ๑๐๑ รูป ให้ไปดูในเมืองต่างๆ เมืองละ ๑ รูป ๑๐๑ ภาษาอันเป็นมหานครนั้นทุกแห่ง ให้ข้าพเจ้ามาสู่ลังกาทวีปที่นั้น เดินทางมาทางทะเลเป็นเวลา ๖ เดือน จึงมาถึง ประสงค์เพื่อจะมานมัสการพระธาตุและรอยพระบาท และดูพระพุทธศาสนาในเมืองลังกาทวีปนี้”


มหาสังฆราชจึงตรัสว่า “สาธุ สาธุ ดีดีแท้แล ดูราท่านธรรมรส ท่านได้เข้ามาถึงที่นี้ ประสงค์เพื่อจะมานมัสการพระสรีรธาตุและพระบาท ตลอดถึงไม้ศรีทักขิณสาขามหาโพธิ์นั้น เป็นการดีแก่ท่านยิ่งนัก แต่โดยที่แท้ พระบาท พระธาตุและไม้ศรีมหาโพธิ์อันประเสริฐ ก็มีอยู่ในชมพูทวีปโน้นเป็นอันมากเพราะว่า เมื่อพระสัพพัญญูพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ทรงพาพระอรหันต์ทั้งหลาย เสด็จจาริกไปโปรดเวยไนยสัตว์ทั้งหลาย พระองค์ก็ทรงไว้พระบาทและพระเกศาธาตุในที่ต่างๆ และทรงพยากรณ์ไว้ว่าพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ให้นำเอาพระธาตุไปประดิษฐานไว้ในบ้านใหญ่บ้านน้อยและบ้านใหญ่เมืองน้องทั้งหลาย”


เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพานแล้ว พระอรหันต์ พระอินทร์และพระเจ้าอโศกราช ได้พร้อมกันอัญเชิญพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าไปประดิษฐานไว้ในที่ที่พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ไว้ทุกแห่ง เทวดาทั้งหลายที่อยู่เฝ้ารักษาพระบาทและพระบรมธาตุ เขาก็เอาชื่อบ้านชื่อเมืองประเทศชื่อถ้ำหรือชื่อภูเขา อันเป็นที่ประดิษฐานพระบาทหรือพระธาตุทั้งสิ้น ในชมพูทวีป มาเขียนไว้ในฝาผนังวิหาร ด้วยถ้อยคำว่า พระบาทหรือพระธาตุชื่อนี้ชื่อนั้น ประดิษฐานไว้ในเมืองชื่อนั้นในบ้านชื่อนี้ในป่าชื่อนี้ในดอยชื่อนี้ในถ้ำคูหาชื่อนี้ ได้เขียนสารตราไว้ในวิหารที่นี้ ท่านใคร่รู้ใคร่เห็นจงไปอ่านเอาเถิด”


พระมหาสังฆราชวัดพระหิน เมื่อตรัสบอกเช่นนั้นแล้ว จึงนำเอาหนังสือตำนานพระบาทและพระธาตุที่ประดิษฐานไว้ใน ๑๐๑ เมือง ในชมพูทวีปทั้งสิ้นนั้นมาให้พระมหาสามีธรรมรสได้อ่าน เมื่อท่านอ่านได้ดูแล้วก็รู้ทุกแห่งว่า “พระธาตุพุทธเจ้าที่ประดิษฐานอยู่ในเมืองหงสาวดีมี ๕๒ แห่ง ประดิษฐานอยู่ในบริเวณเมืองหริภุญชัยมี ๒๓ แห่ง กับรอยพระพุทธบาทอีก ๑๒ แห่ง พระบรมธาตุและรอยพระพุทธบาทที่มีในเมืองไทยทั้งหมด ๗๐ แห่ง ท่านก็รู้แจ่มแจ้งทุกแห่งทุกที่ตั้ง ๑๐๑ เมือง แล้วท่านพระมหาสามีก็คิดว่า “ตำนานพระบรมธาตุและพระพุทธบาทที่มีใน ๑๐๑ เมืองนั้น หากว่าเราจะเขียนเอาไปทั้งหมด ก็ไม่อาจจะไปนมัสการได้ทุกแห่ง เพราะว่าอยู่ห่างไกลยิ่ง เราจะเขียนเอาเฉพาะที่เราสามารถจะไปนมัสการกราบไหว้ถึงเท่านั้นเถิด” เมื่อท่านคิดเช่นนี้แล้ว ท่านจึงได้เขียนเอาตำนานพระธาตุและพระบาทเอาที่อยู่ในเมืองใกล้ๆ คือตำนานพระธาตุและพระบาทที่มีอยู่ในเมืองยวนและเมืองหริภุญชัยนครทั้งสิ้น ตลอดถึงตำนานพระธาตุพระบาทที่มีอยู่ในเมืองลื้อเมืองไทยทั้งมวล (คือเมืองลื้อเมืองไต)


ท่านมหาสามีธรรมรสอยู่จำพรรษาในลังกาทวีป ๑ พรรษา แล้วจึงขึ้นเรือสำเภากลับคืนมาเมืองหงสาวดี ใช้เวลาเดินทางนาน ๖ เดือน แล้วก็เทศนาบอกกล่าวเรื่องราวต่างๆ ที่ท่านได้รู้ได้เห็นและได้นมัสการมา ให้แก่พระเจ้าอนุรุทธธรรมราชทุกประการ จากนั้นท่านก็ได้จาริกออกเดินทางไปนมัสการกราบไหว้รอยพระพุทธบาทและพระบรมธาตุ ในเมืองหงสาวดีราชธานีทุกแห่ง แล้วก็เดินทางไปไหว้พระพุทธบาทและพระบรมธาตุในเมืองลื้อในเมืองไทยทุกแห่ง จากนั้นท่านก็ลงไปไหว้รอยพระพุทธบาทและพระบรมธาตุในเมืองหริภุญชัยนครทุกแห่ง ตามที่ตำนานได้กล่าวถึง จนกระทั่งมาถึงดอยเกิ้งคำเมืองหอด (อำเภอฮอด ในปัจจุบัน เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่)


ท่าหัวเคียน ในเวลานั้นมีพระเถรรูปหนึ่งชื่อว่า มหาโพธิสมภาร ท่านเป็นลูกชาวนาวาการ คือช่างทำเรือ ท่านอยู่ในอาวาสใกล้เชิงเขาดอยเกิ้งคำที่นั้น มีพรรษาได้ ๖๐ พรรษา ได้ยินข่าวว่า พระมหาธรรมรสเมืองหงสาวดีได้ไปเมืองลังกาทวีป ท่านได้ตำนานพระบาทพระธาตุมา เมื่อมาถึงเมืองหงสาวดีแล้วท่านก็ได้เที่ยวจาริกไปไหว้บูชาพระบาทพระธาตุทั้งหลาย จนกระทั่งมาถึงที่นี้ ตำนานพระบาทพระธาตุอันวิเศษนั้นเป็นของหายากยิ่ง เราควรขอลอกเขียนเอาเถิด" เมื่อรำพึงเช่นนี้แล้ว จึงเข้าไปสู่สำนักพระมหาเถรชาวมอญองค์นั้น แล้วก็ขอลอกเขียนเอาตำนานพระบาทพระธาตุเรื่องนี้ไว้ เพื่อบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง ท่านได้ลอกเขียนเอาในปีก่าเม็ด (มะแม) จุลศักราช ๘๘๔ (พ.ศ.๒๐๖๖) เดือน ๗ ดับวันอังคาร ไทยรวายยี


นับตั้งแต่นั้นต่อมา เจ้าไทยคือพระภิกษุหรือบุคคลใด มีเจตนาจักใคร่ลอกเขียนเอาไว้ ก็ให้ลอกเขียนเอาทั้งหมด ทุกตัวอักษรหมดสิ้นถ้อยคำที่มีอยู่ ไม่ให้เหลือแม้แต่ตัวเดียว หากว่าไม่มีความอุตสาหะเขียนลอกให้หมดถ้อยคำได้ ก็ไม่ควรจะคัดลอกเอาเป็นการดีที่สุด เพราะจะทำให้เรื่องราวขาดหายเป็นกระท่อนกระแท่นไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่ง ผู้ใดจะลอกเขียนเอา ให้ฟังคำตักเตือนของเราผู้ชื่อว่าโพธิสมภารนี้เถิด จึงจะเป็นการดียิ่ง


ต่อจากนั้นมา ยังมีพระมหาเถรองค์หนึ่งชื่อว่า อรัญญิกวัตร ท่านมีปรกติอยู่ในป่า ท่านได้คัดลอกเอาจากสำนักพระมหาเถรโพธิสมภาร ในปีเบิกไส้ (มะเส็ง) จุลศักราชได้ ๘๙๐ เดือน ๗ แรม ๘ ค่ำ วันเสาร์ไทยว่าวันกัดไส้


ต่อจากนั้นมา พระมหาสามีเชตวัน ก็ได้คัดลอกเอาตำนานเรื่องนี้ จากสำนักพระมหาวัดป่าเจ้าองค์นั้นคือ พระอรัญญิกวัตร ในปีเบิกใจ้ (ปีชวด)


ต่อจากนั้นมา พระมหาธรรมจุฬ อยู่เมตตาในวัดสนุก ท่านก็ได้คัดลอกสืบเอาแต่สำนักพระมหาสามีวัดป่าเชตวัน ในปีเกิดไจ้ (ปีชวด)


ต่อจากนั้นมา พระอนุรุทธ อยู่วัดมหาธาตุในเมืองหริภุญชัยนคร ได้คัดลอกเอาจากพระมหาสามีวัดป่าเชตวัน ในปีล้วงเหม้า (เถาะ) จุลศักราช ๘๙๓ เดือน ๔ ขึ้น ๕ ค่ำ วันศุกร์ไทยว่าวันยี


ต่อจากนั้นมา พระมหาสังฆราชเจ้า วัดในเมืองลำพูน ก็ได้คัดลอกเอาจากพระมหาอนุรุทธเถร


ต่อจากนั้นมา อโนรสภิกขุ ก็ได้คัดลอกสืบต่อจากพระมหาสังฆราชละพูน (ลำพูน)


ต่อจากนั้นมา อุบาสกผู้หนึ่งชื่อว่า พวกปวง ก็คัดลอกสืบต่อจากสำนักอโนรสภิกขุ วัดบ้านงวก เมืองลังเมืองเชียงใหม่


ต่อจากนั้นมา พระมหาเถรเจ้าองค์หนึ่ง ได้คัดลอกเขียนต่อจากอุบาสกพวกปวง


ต่อจากนั้นมา พระมหาเถรธรรมจุฬา ได้คัดลอกเขียนต่อจากพระมหาเถรเจ้าองค์นั้น


ต่อจากนั้นมา อุบาสกผู้หนึ่งได้คัดลอกสืบต่อเอาจากพระมหาเถรธรรมจุฬา ในปีเมืองไส้ (มะเส็ง) ศักราช ๙๐๙ เดือน ๕ ขึ้น ๘ ค่ำ วันอังคาร ไทยเมืองเหม้า ฤกษ์ได้ ๑ ตัวชื่อว่า ภรณี


ต่อจากนั้นมา พระพุทธวังสะเถร ได้คัดลอกสืบต่อจากอุบาสกผู้นั้น


ต่อจากนั้นมา ลูกศิษย์ของท่านพุทธวังสะเถร ชื่อว่า สุวรรณภิกขุ ได้คัดลอกเขียนต่อจากพระพุทธวังสเถร


ต่อจากนั้นมา พระมหาสังฆราชชื่อว่ามหาสิไชย ได้คัดลอกเขียนจากสุวรรณภิกขุ คราวเมื่ออยู่วัดบ้านกวาง เมืองฝาง ในปีก่าเป้า (ฉลู) จุลศักราช ๙๙๓ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑ ค่ำ วันพฤหัสบดี ไทยดับเหม้า  

ต่อจากนั้นมา พระมหาสังฆราชศรีสองเมือง ผู้มีชื่อว่า นาคเสน อยู่วัดบ้านดอกคำเมืองหย้อบุญเหนือ ได้คัดลอกสืบเอาจากพระอินทปัญญาเถร ในปีกดยี (ขาล) ถึงปีล้วงเหม้า (เถาะ) จุลศักราช ๙๙๖ เดือน ๖ ขึ้น ๒ ค่ำ วันพฤหัสบดี ไทยเบิกยี เสร็จในเวลาเย็น


ต่อจากนั้นมา พระมหาขนานน้อย ก็คัดลอกเขียนต่อจากพระมหาสังฆราชศรีสองเมือง ในปีก่าเหม้า (เถาะ) จุลศักราช ๑๐๒๕ เดือนออก ๙ ค่ำ วันจันทร์ ไทยกัดเหม้า เวลาพลบค่ำ


ต่อจากนั้นมา พระมหาปัญญาเถรชาวเชียงรุ้ง เมืองลื้อ ท่านมาอยู่เมตตาสั่งสอนศรัทธาทั้งหลายอยู่วัดบ้านแหลงเมืองลา ได้มาคัดลอกจากเจ้ามหาขนานน้อย ในปีเบิกสัน (วอก) จุลศักราช ๑๑๓๐ เดือน ๙ ขึ้น ๖ ค่ำ ไทยเบิกสะง้า เวลาเที่ยงวัน


ต่อจากนั้นมาเป็นเวลานานมาก มีพระภิกษุรูปหนึ่งนามว่า โกวิทา ได้มาขอคัดลอกจากพระมหาปัญญาวุฒิ ครั้งในปีกาบสะง้า (มะเมีย) จุลศักราช ๑๑๓๖ เดือน ๔ ขึ้น ๖ ค่ำ


ต่อจากนั้นมา พระราชครูองค์หนึ่งนามว่า มหาปัญญาวิเศษ ได้คัดลอกสืบต่อจากพระมหาโกวิทา


ต่อจากนั้นมา พระมหาพลปัญโญ ได้คัดลอกเขียนต่อมา


ต่อจากนั้นมา อุบาสกผู้หนึ่งชื่อว่า ปัญญา เป็นชาวบ้านผองเมืองลวง ได้คัดลอกเขียนจากพระมหาพลปัญโญภิกขุ ในปีรวายสี (มะโรง) จุลศักราช ๑๑๔๓ เดือน ๑๐ ขึ้น ๑ ค่ำ


ต่อจากนั้นมา พระมหาเกสโรภิกขุ อยู่วัดบ้านฝายเมืองลวง ได้คัดลอกเขียนจากหนังสือของปัญญาอุบาสก ในปีเบิกสะง้า (มะเมีย) จุลศักราช ๑๑๖๐ เดือน ๙ ขึ้น ๒ ค่ำ วันอังคาร ไทยกาบเล็ด ฤกษ์ตัวที่ ๑๘


ต่อจากนั้นมา พระมหาวินทภิกขุ อยู่เมืองลัวะมาอยู่ประจำเป็นราชครูอยู่ในเมืองบ้านยู้ ได้คัดลอกเขียนออกมา เพื่อให้คฤหัสถ์และนักบวชทั้งหลายได้อ่านได้ฟัง เพื่อให้เขาเกิดความเชื่อความเลื่อมใสในพระศาสนา คัดลอกสำเร็จในปีล้วงเล้า (ระกา) จุลศักราช ๑ อธิกมาสเดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ วันพุธ ไทยดับไส้ เวลาเย็นเป็นการแล้วเสร็จแห่งหัตถกรรมคือการคัดลอก เพื่อให้เป็นที่เจริญรุ่งเรืองแก่พระศาสนาตราบสิ้น ๕๐๐๐ พรรษา


ต่อจากนั้นมา มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า “ชินวังสมหาราช” เสวยราชสมบัติในมหารัฐคือเมืองหลวง ได้คัดลอกสืบต่อจากสำนักพระมหาเถรเจ้า ที่อยู่ภัททลีอารามคือวัดป่ากล้วย เมืองสิงห์  ปีกุดสะง้า (มะเมีย) จุลศักราช ๑๑๖๒ เดือน ๑๒ แรม ๖ ค่ำ วันพุธ เวลาสาย ได้ฤกษ์ตัวที่ ๗


ต่อจากนั้นมา อุบาสกทั้งหลายที่เป็นศรัทธาวัดบ้านก้อน เมืองน่าน ได้รู้เห็นตำนานพระธาตุและพระบาท ก็บังเกิดโสมนัส จึงปรึกษากันแล้วติดตามตำนานเรื่องนี้ ไปถึงภูมินทอาราม (วัดภูมินทร์) และวัดต่างๆ ในเมือง ขอคัดลอกเขียนเรียนต่อ เริ่มตั้งแต่เดือน ๙ แรม ๗ ค่ำ วันอาทิตย์ จุลศักราช ๑๑๗๔ คัดลอกเสร็จสมบูรณ์ในโลหชาเลนอาราม ในวันเดือน ๑๒ แรม ๑๕ ค่ำ วันศุกร์ ไทยกาบไจ้ ได้ฤกษ์ตัวที่ ๑๓


บุคคลใด คือคฤหัสถ์ หรือนักบวชทั้งหลายทั้งหญิงชาย มีใจบังเกิดเจตนาศรัทธาเลื่อมใสในหัตถกรรมคัดลอกเขียนตำนานเรื่องนี้ด้วยตนเองก็ดี ได้มีจิตใจรำลึกถึงเรื่องราวของตำนานเรื่องนี้ก็ดี ได้สักการบูชาด้วยปรมามิสบูชาทั้งหลายเป็นต้นว่า ข้าวตอก ดอกไม้ ข้าวน้ำโภชนาหาร ข้าวเปลือก ข้าวสาร สิ่งของ เงินทอง แก้ว แหวน มุกดาหาร วัตถาภรณ์ประทีป ธูปเทียน ฉัตร ธง ร่ม น้ำร้อน น้ำเย็น ไม้สีฟัน ด้วยอันเคารพอย่างยิ่งก็ดี ได้จดจำเรื่องราวของตำนานไว้ก็ดี ได้แสดงบอกกล่าวเล่าให้ท่านผู้อื่นฟังก็ดี ได้แสดงความเคารพด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ก็ดี ได้เทศน์ให้คนและเทวดาทั้งหลายได้ฟังก็ดี เมื่อเทศน์หรือเมื่อฟังก็ฟังด้วยเคารพเกิดความเลื่อมใสยินดี ในพระพุทธบาทและพระบรมธาตุ ที่พระพุทธเจ้าทรงพระมหากรุณาธิคุณเสด็จไปเผยแพร่พระศาสนาทรงเหยียบรอยพระบาทและประดิษฐานพระบรมธาตุไว้ เมื่อครั้งพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ก็ดี และเมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว พระอรหันต์สาวกทั้งหลายได้อัญเชิญพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าไปประดิษฐานไว้เพื่อให้เป็นที่สักการบูชากราบไหว้ของคนและเทวดาทั้งหลายก็ดี


ทั้งหญิงชายคฤหัสถ์นักบวชทั้งหลายนั้น ก็จะได้ผลานิสงส์เป็นอันมาก จนไม่อาจที่จะกำหนดนับได้ ท่านทั้งหลายที่กระทำดังกล่าวมา ได้ชื่อว่าเป็นอวินิปาตบุคคล คือเป็นบุคคลที่ไม่มีโอกาสไปเกิดในอบายทั้งสี่ มีแต่จะพุ่งดิ่งตรงต่อพระนิพพาน เพราะบุคคลนั้นเสมอดังได้รู้ได้เห็นและได้ปฏิบัติอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา ประการหนึ่ง เสมอดังได้อภิวาทกราบไหว้บูชา และเสมอดังได้ถวายจตุปัจจัยทุกวัน ประการหนึ่ง เสมอดั่งได้พูดได้คุยได้ถามปัญหาซึ่งพระพุทธเจ้าทุกวันทุกเวลา ประการหนึ่ง เสมอดังได้เดินตามหลังพระพุทธเจ้าทุกบาททุกก้าว ประการหนึ่ง เสมอดังได้สดับตรับฟังพระสุรเสียงของพระพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรมเทศนาคำสอนทุกเวลา ประการหนึ่ง เสมอดังได้ปลูกสร้างพระเจดีย์ พระวิหาร อันเป็นที่สำราญของพระบาทและพระธาตุเจ้าทั้งหลายที่ได้กล่าวมาทุกแห่ง ประการหนึ่ง เสมอดังได้น้อมตนเข้าไปสักการบูชากราบนบอุปัฏฐาก พระพุทธบาทและบรมธาตุทุกเวลา ประการหนึ่ง เสมอดังได้บำเพ็ญกุศลส่วนบุญด้วยปาก ด้วยกายและด้วยใจทุกเวลา


ด้วยเดชแห่งผลานิสงส์ดังนี้จะอุปถัมภ์ค้ำชู อุดหนุนให้ตั้งอยู่ในทางที่ชอบ ประกอบด้วยยศศักดิ์ชื่อเสียงที่เลื่องลือ เป็นผู้ฉลาดมีญาณปัญญายิ่งกว่าคนทั้งหลาย ภัยอันตรายต่างๆ ก็ดี โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็ดี อุบาทว์และศัตรูต่างๆ ก็ดี ย่อมจะระงับดับหายไป จะสัมฤทธิ์สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สิ่งของเงินทองข้าวเปลือกข้าวสารทั้งปศุสัตว์ จักอุดมด้วยฤทธิ์เดชยิ่งนัก จะประสบสุขในชาตินี้และชาติต่อๆ ไป ยิ่งกว่าคนและเทวดาทั้งหลาย หากว่ามีบุญสมภารมากก็จะได้ถึงพระนิพพานในศาสนาของพระพุทธเจ้าโคตมะนั้นแน่นอน แม้นว่าบุญสมภารยังไม่บริบูรณ์เต็มที่ ยังจะต้องท่องเที่ยวเวียนวนในวัฏฏสงสาร จะไม่ได้ไปเกิดในอบายทั้งสี่แม้แต่ครั้งเดียว จะได้เห็นพระอริยเมตไตรย และจะได้ถึงมรรคผลธรรมในศาสนาแห่งพระอริยเมตไตรยนั้น โดยไม่ต้องสงสัยแลฯ


เอกทสโม กณ.


พุทธตำนานกัณฑ์ที่ ๑๑ ก็จบด้วยประการฉะนี้


ตำนานพระบาทพระธาตุผูกสุดท้าย ก็จบบริบูรณ์


o5.png



(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : นาคฤทธิ์ รวบรวมชำระสะสาง (๒๕๔๐-๒๕๔๕). (๒๕๔๕, ตุลาคม). พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง กัณฑ์ที่ ๑๑ ตอน ความพิสดารพุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก “ศิลาจารึก พระบาทพระธาตุในลังกาทวีป” (พิมพ์ครั้งที่ ๑). เชียงใหม่ : ลานนาการพิมพ์, หน้า ๑๙๒-๑๙๖.)
บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-10-4 18:57 , Processed in 0.035160 second(s), 16 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.