แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 5039|ตอบ: 1
go

วัดสวามีนารายัน สิ่งมหัศจรรย์แห่งใหม่ของโลก [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

วัดสวามีนารายัน สิ่งมหัศจรรย์แห่งใหม่ของโลก

ATT00006.jpg
วัดสวามีนารายัน สิ่งมหัศจรรย์แห่งใหม่ของโลก

Akshardham
ตั้งแต่ ปี 2005 ได้เกิดศาสนสถานฮินดูแห่งใหม่ในเดลีที่มีขนาดใหญ่โตมาก มีชื่อว่าอักชารดาห์ม Akshardham หมายถึงศาสนสถานนิรันดร์กาลของพระเจ้าสูงสุด ตามที่ปรากฏในพระเวทของศาสนาฮินดู วัดนี้เป็นฮินดูนิกายหนึ่งที่เรียกชื่อตามศาสดาว่า สวามีนารายัน Swaminarayan
แรงบันดาลใจในการสร้าง

จุดเริ่มแรกของศาสนสถานที่ยิ่งใหญ่นี้ มาจากความปรารถนาอย่างแรงกล้าของ Brahmaswarup Yogiji Maharaj ศาสดาหรือกูรูองค์ที่ 4 ของนิกาย Swaminarayan เมื่อปี ค.ศ. 1968 ที่อยากจะให้มีวัดของนิกาย ริมแม่น้ำยมุนา ความฝันนี้ได้รับการทำให้เป็นจริงโดย Pramukh Swami Maharaj กูรูองค์ที่ 5 และองค์ปัจจุบัน

ATT00004.jpg
อัศจรรย์งานก่อสร้าง
วัด Akshardham ใช้เวลาสร้างเพียง 5 ปี ด้วยการควบคุมอย่างใกล้ชิดจาก Pramukh Swami Maharaj องค์ปัจจุบัน เป็นงานที่รวมเวลาที่ใช้ในการก่อสร้างมากถึง 300 ล้านชม.มีอาสาสมัครช่วยงานมากกว่า 11,000 คนรวมทั้งสาธุ (พระสงฆ์ของนิกาย) ในจำนวนนี้เป็นช่างฝีมือประมาณ  7000 คนจากตระกูลช่างฝีมือชั้นยอดจากทั้งในอินเดียและต่างประเทศ เยาวชนและสาวกของมูลนิธิ BAPS Swaminarayan Sanstha ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลของนิกาย กล่าวกันว่าการก่อสร้างขนาดใหญ่เช่นนี้ ตามปรกติจะต้องใช้เวลานานถึง 40 ปี แต่ด้วยความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าของผู้สร้าง Pramukh Swami Maharaj ทำให้สามารถก่อสร้างเสร็จในเวลาอันสั้นเพียง 5 ปี

original.jpg
มีน้ำล้อมรอบเสมือนแม่น้ำศักดิ์สิทธ์ของอินเดีย
วิหารอักชารดาห์มแห่งนี้ไม่ได้ใช้เหล็กเป็นส่วนประกอบในการก่อสร้างเลย แต่ใช้เทคนิคการก่อสร้างตามแบบสถาปัตยศาสตร์โบราณ  ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้มีความทนทานนานนับพันปี การตัดหินเป็นก้อนนั้นใช้เครื่องมือตัดแต่การแกะสลักหินแต่ละก้อนใช้มือคนสลักอย่างเดียว

วิหารประกอบด้วยเสาแกะสลัก 234 โดม 9 โดม ประติมากรรมช้าง รูปปั้นบุคคลต่างๆ ของเหล่ากูรู มากกว่า 20,000 รูปปั้น

original_aks4web008.jpg
หินทรายแกะสลักด้วยฝีมือช่างชั้นยอดจากอินเดีย
อาคารที่เป็นวิหารกลางสร้างด้วยหินทรายสีชมพู 6000 ก้อนจากรัฐราชาสถานและหินอ่อนสีขาวจากอิตาลี โดยหินทรายสีชมพูสื่อถึงการบูชาพระเจ้า และหินอ่อนสีขาวสื่อถึง สันติภาพที่บริสุทธิ์และนิรันดร์
ความสูงของวิหาร : 141.3 ฟุต
กว้าง: 316 ฟุต
ยาว: 356 ฟุต


ATT00001.jpg
วิหารหรืออาคารหลัก มีเสาสลัก 234 เสา โดม 9 โดม มียอดศาลา 20 ยอด และมีรูปแกะสลักมากกว่า 2 หมื่นรูปประดับอยู่บนอาคาร

ณ ใจกลางอาคารนี้ มีรูปปั้นหล่อทองของศาสดาองค์แรกอยู่ตรงกลางและรูปปั้นของสวามีทุกองค์ของนิกายยืนเรียงรายหันหน้าเข้าหาศาสดา
ATT00008.jpg
เพดานประดับด้วยรูปปั้นเทพฮินดูหลายร้อยองค์

กำแพงรายด้านนอก ยาว 611 ฟุต สูง 25 ฟุต ประกอบด้วยหินแกะสลัก 4287 ก้อน แกะสลักเป็นพระพิฆเนศร์ 48 องค์ รูปปั้นเทพ 200 องค์

ATT00009.jpg
ช้าง 148 เชือกร่วมบูชาเทพเจ้า
กำแพงรายแกะสลักหนัก 3 พันตัน ยาว 1070 ฟุต มีหินแกะสลักเป็นช้าง 148 เชือก นกและสัตว์ต่างๆ 42 ตัว รูปปั้นคน 142 รูปคน เป็นการนำเรื่องราวของสัตว์โดยเฉพาะช้างมาเสนอเพื่อเป็นการยกย่อง โดยสื่อถึงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้งระหว่างสัตว์ มนุษย์และพระเจ้า
ประตูหินแกะสลัก 10 ประตู

ประตูหินแกะสลักนกยูง มีรูปแกะสลักนกยูง 869 ตัวประดับตามเสามีรอยบาทของสวามีนารายันอยู่ในสระน้ำพุ

ATT00012.jpg
ระเบียงรายมีหลังคาสูง 2 ชั้น ยาว 3000 ฟุต ประกอบด้วยเสา 1152 เสาและ 145 หน้าต่าง
มีอัฒจรรย์กลางแจ้งตามแบบโบราณที่มีน้ำพุประกอบดนตรี

มีอาคารนิทรรศการ และการล่องเรือชมฉากจำลองประวัติศาสตร์และอารยธรรมของอินเดียตั้งแต่สมัยโบราณย้อนไปถึง 10000 หมื่นปี

original_aks4web007.jpg
นิทรรศการที่ให้ข้อคิดเกี่ยวกับชีวิตที่ดีมาก
มีฉากจำลองชีวิตของสวามีและจอภาพยนตร์ขนาดยักษ์ IMAX ฉายประวัติของภควัน สวามีนารายัน มีสวนวัฒนธรรม มีรูปปั้นของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์อินเดียทุกเพศทุกวัย

มีร้านอาหารร้านของที่ระลึกและร้านหนังสือ
เปิดครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2005

ที่สุดของโลก
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม  2007 อักชารดาห์มแห่งนี้ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากหนังสือกินเนสบุ๊คเวิร์ดเร็คคอร์ต ว่าเป็นศาสนสถานฮินดูที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ประกาศนียบัตรระบุว่า “เป็นที่สุดของโลก” สองรายการคือ
1.เกี่ยวกับตัวบุคคลได้แก่  His Divine Holiness Pramukh Swami Maharaj  ผู้นำมูลนิธิ BAPS Swaminarayan Sanstha ว่าเป็นบุคคลที่สร้างสิ่งก่อสร้างวัดมากที่สุดในโลก

His Holiness Pramukh Swami Maharaj สร้างวัดมาแล้วมากถึง 713 วัดใน 5 ทวีประหว่างปี  1971 ถึงปี  2007 ซึ่งในจำนวนนี้ มีวัด Swaminarayan Akshardham ในเดลีรวมอยู่ด้วย

2.ประกาศนียบัตรที่สองระบุว่า  Akshardham Temple ในเดลี เป็นวัดฮินดูที่ใหญ่ที่สุดในโลก สร้างด้วยหินอ่อน หินทรายและไม้ โดยใช้สถาปัตยกรรมโบราณของอินเดีย และไม่ได้ใช้เหล็กเลยแม้แต่เส้นเดียว ซึ่งผู้ก่อสร้างตั้งใจให้ศาสนสถานแห่งนี้มีความทนทานถาวรไปนับพันปี

พื้นที่สิ่งก่อสร้างของวัด 32 acres หรือประมาณ 80 ไร่ ใช้คนงานทำงานทั้งวันทั้งคืนมากถึงหนึ่งหมื่นหนึ่งพันคน สร้างเสร็จภายใน 5 ปี จากปรกติที่ต้องใช้เวลา 40 ปี มีอาสาสมัครที่ศรัทธาในนิกายช่วยงานวันละ 850 คน มีคนเยี่ยมชมวันละหนึ่งแสนคน หรือปีละประมาณ  5 ล้านคน

ATT00007.jpg
Bhagwan Swaminarayan และสวามีผู้สืบทอด

ศาสดา
ตามประวัติภัควัน สวามีนารายัน Bhagwan Swaminarayan  เกิดที่หมู่บ้าน Chhapaiya ใกล้เมือง Ayodhya  ทางเหนือของอินเดีย เมื่ออายุเพียง 11 ขวบ ได้ออกจากบ้านเพื่อเดินทางจาริกแสวงบุญไปทั่วอินเดียเพื่อหาสัจธรรม ท่านได้รับการบวชจาก Vaishnav Guru คือ Ramanand Swami และได้ปักหลักอยู่ในภาคตะวันตกของอินเดีย ใช้ชีวิตอยู่ในรัฐ Gujarat และ Kathiawad กว่า 30 ปี เผยแพร่หลักธรรมคำสอน และมีพระสาวก(สาธุ) ติดตามกว่า 2 พันรูป ท่านได้สร้างวัด Swaminarayan Sampradaya ปฏิรูปทางสังคมและทำการกุศลเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้และได้สร้างวัดอีก 6 วัด ศาสนกิจที่สำคัญของศาสดาองค์แรกคือมุ่งฝึกคน สร้างคนให้เป็นคนดี

ท่านได้รับการนับถือจากผู้คนมากกว่า 2 ล้านคน ท่านสิ้นชีพเมื่อมีอายุเพียง  49 ปี และได้ทิ้งแนวทางการปฏิรูปฮินดูให้คนรุ่นหลัง โดยผ่านผู้สืบทอดที่กำหนดให้เป็นเสมือนศาสดาเช่นกัน

องค์ที่ 1 ได้แก่ Gunatitanand Swami (1785-1867) หลังจากนั้น มีผู้สืบทอด
องค์ที่ 2 ได้แก่ Bhagatji Maharaj (1829-1897)
องค์ที่ 3 ได้แก่ Shastriji Maharaj (1865-1951) ในสมัยนี้ ได้สร้างวัดอีก 5 วัดและในปี  1907 ก่อตั้งองค์การการกุศลเพื่อสืบทอดงานของนิกาย นั่นคือมูลนิธิ Bochasanwasi Shri Akshar Purushottam Sanstha (BAPS) ซึ่งได้กลายเป็นองค์กรที่สำคัญในการดำเนินงานของนิกายมาจนถึงทุกวันนี้
องค์ที่ 4 ได้แก่ Yogiji Maharaj (1892-1971) เป็นผู้เริ่มเผยแพร่คำสอนของศาสดาไปยังดินแดนโพ้นทะเล ได้แก่ แอฟริกาตะวันออก อังกฤษและสหรัฐฯ ซึ่งมีคนอินเดียอาศัยอยู่ หลังจากที่สิ้นชีวิต
องค์ที่ 5 Pramukh Swami Maharaj ได้รับมอบการสืบทอดอำนาจในปี 1971  ซึ่งได้นำมูลนิธิ  BAPS ให้เจริญรุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้

original_psm01.jpg
ประมุขสวามีมหาราชผู้สืบทอดองค์ที่ 5 ศาสดาองค์ปัจจุบัน
HDH Pramukh Swami Maharaj ประมุของค์ที่ 5 ของ ท่านเกิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1921 ในหมู่บ้านเล็กๆ ที่ชื่อว่า Chansad ในรัฐ Gujarat
Pramukh Swami Maharaj มีชื่อเดิมว่า Shantilal Patel บวชเมื่อวันที่ 10 มกราคม 1940 เมื่ออายุเพียง 19 ปี บวชเป็นสาธุ โดยสวามี Shastri Yagnapurushdas หรือเป็นที่รู้จักในนาม Shastriji Maharaj สวามีองค์ที่ 3 จากนั้นเพียง 10 ปีต่อมา เมื่อวันที่ 21 เดือนพฤษภาคม ปี 1950 ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารสูงสุดของมูลนิธิ BAPS จนกระทั่ง Yogiji Maharaj สวามีองค์ที่ 4 สิ้นไปเมื่อปี 1971 จึงได้สืบทอดเป็นประมุขสูงสุดในชื่อ Pramukh Swami Maharaj มาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยการนำของ Pramukh Swami Maharaj มูลนิธิ BAPS  มีความเจริญมั่นคงเรื่อยมา ได้จัดงานสำคัญหลายงาน เช่นงานฉลองเทศกาลระดับนานาชาติในปี 1981 (ฉลอง 200 ปี ของ Lord Swaminarayan) และในปี 1985 (ฉลอง 200 ปีของ Gunatitanand Swami) ในปี 1992 (ฉลอง 100 ปีของ Yogiji Maharaj)

การจัดงาน Cultural Festivals of India ในกรุงลอนดอนในปี 1985 และที่ New Jersey สหรัฐฯ ในปี 1991 ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการนำเสนอมรดกทางวัฒนธรรมของอินเดียไปสู่สากล ในยุคของสวามีองค์ที่ 5 การเผยแพร่ประสบความสำเร็จทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม การแพทย์ สังคม ศีลธรรม วัฒนธรรม ศาสนาและกิจกรรมการกุศล

Pramukh Swami Maharaj มีบุคลิกที่อ่อนโยน ถ่อมตน เต็มเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มและเมตตาธรรม ทำให้คนจำนวนมากที่ได้พบเห็นประทับใจ ด้วยคำสอนที่เรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยปัญญา อีกทั้งยังเปิดกว้างสำหรับคนทุกชั้น ทุกศาสนาด้วยทัศนคติที่ว่า ทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเอกภาพทางวัฒนธรรม ความเชื่อที่หลากหลายที่จะทำให้เกิดความสันติสุขได้

Pramukh Swami Maharaj เป็นผู้นำมูลนิธิ  Bochasanwasi Shri Akshar Purushottam Swaminarayan Sanstha (BAPS) และสามารถทำให้องค์กรเจริญมั่นคงเป็นปึกแผ่นได้อย่างชัดเจน ผลงานที่ได้ทำมาได้รับการยอมรับของเหล่าสาวกและผู้คนทั่วไป นั่นคือการที่ ท่านได้เดินทางไปตามหมู่บ้านต่างๆ มากกว่า 15 000 หมู่บ้าน ไปโปรดคนในบ้านมากกว่า 2 แสนห้าหมื่นหลังคาเรือน สวามีได้รับจดหมายและตอบจดหมายมากกว่า 5 แสนฉบับ รวมทั้งได้ให้คำแนะนำส่วนตัวแก้ปัญหาชีวิตแก่คนมากว่า 6 แสนคน สร้างวัดมาแล้วกว่า 650 วัดทั้งในอินเดียและในต่างประเทศ 5 ทวีป ท่านเทศน์มาแล้วกว่า 2 หมื่นครั้งและมีสาธุหรือพระสาวกในความดูแล 700 คน



……………………………………..
ความเกี่ยวข้องกับช่างคนไทย
สิ่งหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครทราบมาก่อนเพราะไม่มีการเปิดเผยหรือบอกกล่าวก็คือบรรดารูปปั้นที่ทำด้วยโลหะจำนวนกว่าร้อยรูปปั้น (184) รวมทั้งองค์ศาสดาขนาด 11 ฟุตหนัก 2600 กิโลกรัมและรูปปั้นสวามีอีก 5 องค์ในวิหารกลางนั้นล้วนเป็นฝีมือของช่างคนไทย ก็คงทราบกันเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็ถือว่าเป็นครั้งแรกที่นำมาบอกกัน ณ ที่นี้

รูปปั้นทั้งหมดหล่อจากเมืองไทยและนำไปตั้งประดิษฐานให้ผู้คนสักการะที่อักชารดาห์ม นครเดลี นอกจากนั้น เนื่องจากเปิดมา 5 ปีแล้ว จึงมีการซ่อนแซมใหญ่ในปี 2553 นี้ โดยในส่วนของงานปิดทององค์ศาสดาและรูปปั้นสวามี มีการว่าจ้างทีมช่างฝีมือคนไทย 17 คนนำโดยคุณสมปอง แซ่โค้วไปทำงานฝีมือได้แก่งานปิดทอง งานประดับและงานเขียนลาย โดยไปทำงานนี้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553  และจะทำให้เสร็จทันวันเปิด 13 กค.2553

คุณสุเรน พาเทล Suren Patel ผู้นำทีมคณะช่างไทยบอกว่าสาเหตุที่อักชารดาห์มใช้บริการของช่างคนไทยในการสร้างองค์พระหล่อโลหะและรูปปั้นต่างๆ แทนที่จะใช้ช่างจากอินเดียนั้น ทราบมาว่าเนื่องจากช่างไทยสามารถหล่อองค์พระโลหะได้ในเวลาที่รวดเร็ว ในกรณีนี้ สามารถหล่อองค์พระศาสดาขนาดใหญ่เสร็จเรียบร้อยภายในเวลา 2 เดือน ส่วนรูปหล่อของสวามีขนาดเท่าคนจริงและรูปปั้นอื่นๆ ช่างไทยหล่อเสร็จภายในเวลา 2 สัปดาห์ต่อ 1 รูป ในขณะที่ถ้าสั่งทำจากมัสดราส (เมืองเจนไนในปัจจุบัน) ต้องใช้เวลาถึง 4 เดือนต่อ 1 รูปหล่อขนาดเท่าคนปกติ

ได้ทราบเรื่องนี้แล้วก็อดภูมิใจในความสามารถของช่างฝีมือไทยเหล่านี้ อย่างน้อยก็อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของอักชารดาห์มด้วยแม้จะเป็นส่วนน้อยๆ ต้องขอบคุณคุณสุเรน พาเทลที่บอกเล่าให้ทราบกัน ทำให้การไปเที่ยวอักชารดาห์มมีความหมายมากขึ้น

ในโอกาสหน้า หากคนไทยผ่านไปเที่ยวอักชารดาห์ม ก็อย่าลืมระลึกถึงช่างไทยเหล่านี้ด้วยนะครับ

ด้วยความปรารถนาดี
พลเดช วรฉัตร


ATT00002.jpg (81.56 KB, จำนวนดาวน์โหลด: 1)

ATT00002.jpg

ATT00003.jpg (135.44 KB, จำนวนดาวน์โหลด: 3)

ATT00003.jpg

ATT00005.jpg (79.44 KB, จำนวนดาวน์โหลด: 2)

ATT00005.jpg

ATT00011.jpg (70.71 KB, จำนวนดาวน์โหลด: 1)

ATT00011.jpg

Rank: 1

สวยมากเลยคะ

‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-5-6 23:57 , Processed in 0.097725 second(s), 16 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.