พระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประดิษฐาน ณ ซุ้มเรือนแก้วติดกับองค์พระสถูปเจดีย์ฯ ค่ะ
พระคาถาบูชาสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (กล่าวนะโม ๓ จบ) โอม ปะระเม นะเรศวรมะหาราช นะเรศสะ จิตติ อิทธิฤทธา นุภาเวนะ นะเรศจิตติ สิทธิ สังโฆ นะโม พุทธ ปะฐะวี คงคา ภุมมะ เทวา ขะมามิหัง (สวด ๓ จบหรือ ๙ จบ)
ประวัติพระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบและปั้นเสร็จเรียบร้อยเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๑๓ และเททองหล่อหลอม เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๑๓ ตรงกับวันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๐ และตบแต่งแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๓ จากนั้นก็ได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ สถูปเจดีย์ที่สร้างขึ้น เพื่อทันประกอบพิธีเปิดและฉลองในเดือนมกราคม ๒๕๑๔
แบบของอนุสรณ์ ๑. ขนาดสูงประมาณ ๒ เมตร ๒. ลักษณะเป็นพระรูปยืนประทับแท่น ๓. เครื่องทรง ชุดเครื่องทรงออกศึกพระหัตถ์ซ้ายทรงพระแสงดาบ พระหัตถ์ขวาทรงพระเต้าในลักษณะหลั่งน้ำทักษิโณธก ๔. ไม่สรวมพระมาลา ๕. หล่อด้วยโลหะรมดำ
พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเสด็จพระราชสมภพ ณ เมืองพิษณุโลก เมื่อปีเถาะ พุทธศักราช ๒๐๙๘ พระองค์เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชา และพระวิสุทธิกษัตรี ราชธิดาในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ดังนั้นพระองค์จึงมีพระชาติ ทั้งราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัยทางพระราชบิดา และราชวงศ์อยุธยาทางพระราชมารดา พระองค์ทรงมีพระพี่นางพระนามว่า พระสุวรรณเทวีหรือพระสุพรรณกัลยา และพระน้องยาเธอพระนามว่า สมเด็จพระเอกาทศรศ
ในขณะที่กรุงศรีอยุธยา ต้องตกเป็นประเทศราชของพม่า เมื่อพระองค์มีพระชันษาได้ ๙ ปี พระเจ้าหงสาวดีได้ขอไปเป็นพระราชบุตรบุญธรรม พระองค์ได้ประทับอยู่ที่หงสาวดีถึง ๖ ปี เมื่อพระชันษาได้ ๑๕ ปี จึงได้เสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา เพื่อช่วยพระราชกิจของพระราชบิดา ทรงดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชาโดยได้เสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก
ขณะทรงพระเยาว์และในระหว่างที่พระองค์ทรงประทับอยู่ที่กรุงหงสาวดี ก็ได้ศึกษาวิชาศิลปะศาสตร์ และวิชาพิชัยสงคราม ทรงนิยมในวิชาการรบทัพจับศึก พระองค์ทรงมีโอกาสศึกษา ทั้งภายในราชสำนักไทย และราชสำนักพม่า มอญ และได้ทราบยุทธวิธีของชาติต่างๆ ที่มารวมกันอยู่ในกรุงหงสาวดีเป็นอย่างดี ทรงนำหลักวิชามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ และสภาพแวดล้อมได้เป็นเลิศ ดังเห็นได้จากการสงครามทุกครั้งของพระองค์ยุทธวิธีที่ทรงใช้ เช่น การใช้คนจำนวนน้อยเอาชนะคนจำนวนมาก และยุทธวิธีเดินเส้นใน พระองค์ทรงนำมาใช้ก่อนจอมทัพที่เลื่องชื่อในยุโรป
นอกจากนั้นหลักการสงครามที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน เช่น การดำรงความมุ่งหมาย หลักการรุก การออมกำลัง และการรวมกำลัง การดำเนินกลยุทธ เอกภาพในการบังคับบัญชา การระวังป้องกัน การจู่โจม หลักความง่าย ฯลฯ พระองค์ก็ทรงนำมาใช้อย่างเชี่ยวชาญ และประสบความสำเร็จอย่างงดงามมาโดยตลอด
พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติและพสกนิกรนานัปการราชการสงครามในสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่ง พระองค์ได้ทรงกอบกู้เอกราชจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก และได้ทรงแผ่อำนาจของราชอาณาจักรไทย อย่างกว้างใหญ่ไพศาล ทรงปราบปรามศัตรูของบ้านเมืองจนราบคาบ พระองค์ได้แสดงพระเดชานุภาพและพระปรีชาสามารถในการสงครามเป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรและเป็นที่เกรงขามแก่อริราชไพรีทั้งปวง ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะมังสามเกลียดพระมหาอุปราช ที่ตำบลหนองสาหร่าย จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๑๓๕
ลุพุทธศักราช ๒๑๔๘ พระยาอังวะยกทัพไปตีเมืองนายและจะไปตีเมืองแสนหวีอันอยู่ในพระราชอาณาจักร พระองค์จึงได้กรีฑาทัพขึ้นมายังเมืองเชียงใหม่และยกทัพมุ่งไปเมืองหาง ทรงโปรดให้ตั้งค่ายยั้งทัพ ณ ตำบลเมืองงาย คือที่ตั้งพระสถูปฯ ปัจจุบัน แล้วเสด็จยกทัพหลวงไปที่ตำบลทุ่งแก้ว ราชอาณาจักรพม่า แล้วทรงประชวรเป็นละลอกที่พระพักตร์กลายเป็นพิษเสด็จสวรรคต รวมพระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา และเสวยราชได้ ๑๕ พรรษา
พระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งสิ้นทั้งปวงของพระองค์ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองและคนไทยทั้งมวล ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ จะอยู่ในสนามรบและชนบทโดยตลอด มิได้ว่างเว้น แม้แต่เมื่อเสด็จสวรรคต ก็เสด็จสวรรคตในระหว่างเดินทัพไปปราบศัตรูของชาติไทย นับว่าพระองค์ได้ทรงสละพระองค์เพื่อชาติบ้านเมืองโดยสิ้นเชิง สมควรที่ชาวไทยรุ่นหลังต่อมาได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์และจดจำวีรกรรมของพระองค์ เทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯ ไปตราบชั่วกาลนาน
พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับเมืองงายในอดีต
เมืองงายในอดีตมีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์อยู่มิใช่น้อย จากบทความรู้เรื่องเมืองงายของอาจารย์ชุ่ม ณ บางช้าง ได้กล่าวไว้ว่า ความสำคัญของเมืองงายเนื่องจากตั้งอยู่ในเส้นทางเดินทัพบุเรงนอง กษัตริย์พม่าเคยทรงใช้เส้นทางผ่านสายเมืองงายนี้เข้าโจมตีนครเชียงใหม่ถึง ๒ ครั้ง เมื่อพ.ศ.๒๑๐๑ ครั้งหนึ่ง กับเมื่อพ.ศ.๒๑๐๗ อีกครั้งหนึ่ง และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา ก็ได้ทรงใช้เส้นทางนี้ เมื่อคราวเสด็จยกกองทัพไปตีกรุงอังวะเมื่อ พ.ศ.๒๑๔๗
ปรากฏหลักฐานจากหนังสือไทยรบพม่า พระราชนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีข้อความพิสดารว่า “ครั้นพระเจ้าอังวะมีอำนาจขึ้น เหล่าเมืองไทยใหญ่ที่อยู่ใกล้แดนพม่ากลัวเกรงกลัวยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าอังวะก็มี เมืองที่อยู่ห่างออกไปไม่ยอมอ่อนน้อมโดยดี พระเจ้าอังวะก็ยกทัพปราบปรามตีได้เมืองไทยใหญ่ ที่ตั้งตัวเป็นอิสระโดยลำดับมาจนถึงเมืองหน่ายที่มาขึ้นอยู่กับไทย พระเจ้าอังวะตีได้เมืองหน่ายแล้วจะมาตีเมืองแสนหวี สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบก็ขัดเคือง จึงดำรัสสั่งให้กะเกณฑ์รี้พลจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ เข้ากองทัพจะเสด็จไปตีเมืองอังวะ
กองทัพที่ยกไปคราวนี้ จะเดินทางเมืองเชียงใหม่ไปข้ามแม่น้ำสาละวิน ที่เมืองหางแล้วผ่านแว่นแคว้นไทยใหญ่ไปเข้าแดนพม่าที่ใกล้เมืองอังวะ ทางที่กะนี้สะดวกกว่าจะยกไปทางเมืองมอญ เพราะไปทางเมืองมอญจะต้องรบพุ่งกับเมืองตองอูและเมืองแปงก่อนจึงจะผ่านขึ้นไปถึงเมืองอังวะได้ไปทางเมืองเชียงใหม่เดินทางในพระราชอาณาจักรไป จนในแดนไทยใหญ่พวกไทยใหญ่ที่เข้ากับไทยก็มีมาก โดยจะมีบางเมืองที่จะต่อสู้ก็จะไม่แข็งแรงเท่าใดนักเพราะพระเจ้าอังวะ ก็เพิ่งได้เมืองเหล่านั้นไว้ในอำนาจ
ที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จมาทางเมืองเชียงใหม่คงเป็นด้วยเหตุเหล่านี้ เห็นจะเอาเมืองเชียงใหม่เป็นที่ประชุมพล และเกณฑ์กองทัพมอญ ทัพชาวล้านนา เข้าสมทบกับกองทัพไทย จำนวนเบ็ดเสร็จคงจะราวสัก ๒๐๐,๐๐๐ แต่รายการที่มีในหนังสือพงศาวดารน้อยนักปรากฏแต่ว่า สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จออกจากพระนครเมื่อ ณ วันพฤหัสบดีเดือนยี่ แรม ๘ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ.๒๑๔๗ เสด็จโดยกระบวนเรือไปตั้งทัพชัย ณ ตำบลพระหล่อ แล้วยกกองทัพบกไปทางเมืองกำแพงเพชร ครั้นเสด็จไปถึงเมืองเชียงใหม่ จัดกระบวนทัพอยู่เดือน ๑ แล้วให้กองทัพสมเด็จพระเอกาทศรถออกไปทางเมืองฝาง
ส่วนกองทัพหลวงยกไปทางเมืองหาง ครั้นเสด็จถึงเมืองหางตั้งค่ายหลวงประทับอยู่ที่ทุ่งแก้ว สมเด็จพระนเรศวรประชวรเป็นละลอกขึ้นที่พระพักตร์ แล้วกลายเป็นบาดทะพิษพระอาการหนัก จึงโปรดให้ข้าหลวงรีบไปเชิญเสด็จพระเอกาทศรถมาเฝ้า สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จมาถึงได้ ๓ วัน สมเด็จพระนเรศวรก็สวรรคตที่เมืองหาง เมื่อ ณ วันจันทร์ เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำปีมะเส็ง พ.ศ.๒๑๔๘ พระชันษา ๕๐ ปี เสวยราชสมบัติได้ ๑๕ ปี
กองทัพหลวงของสมเด็จพระนเรศวรครั้งนี้จะต้องไปตามเส้นทางเมืองงายอย่างปราศจากข้อสงสัย เนื่องจากเส้นทางเชียงใหม่-ฝาง ยังไม่มีในสมัยนั้น และการประทับแรมที่เมืองงายก็น่าปราศจากข้อสงสัยเช่นเดียวกันเพราะคงจะแยกกำลังศึกแสนคนออกเป็น ๒ กองทัพหลวงที่เมืองงายนี้เลย แล้วต่อจากนั้นสมเด็จพระเอกาทศรถก็ทรงคุมกองทัพหน้าไปทางเมืองฝาง
ส่วนสมเด็จพระนเรศวรทรงคุมกองทัพหลวงไปทางเมืองหาง และไปทรงพระประชวร แล้วเสด็จสวรรคต ณ เมืองนั้นตามที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ดังกล่าวข้างต้น ความสำคัญของเมืองงายทางด้านประวัติศาสตร์ จึงอยู่ตรงที่ว่า เมืองงายเป็นตำแหน่งสุดท้ายในแผ่นดินในสมัยปัจจุบันซึ่งอดีตที่พระมหาราชผู้เกรียงไกรได้ประทับและเสด็จผ่าน
เมืองหาง หรือเมืองห้างหลวง ปัจจุบันติดชายแดนประเทศไทย ห่างจากเมืองฝาง ประมาณ ๔๐ กิโลเมตร อยู่ในรัฐไทยใหญ่ สหภาพพม่า มีเจดีย์สร้างไว้ที่เชิงเขา ๒ องค์ เป็นเจดีย์ที่สมเด็จพระเอกาทศรถโปรดให้สร้างขึ้น แต่ในปัจจุบันนี้ได้ชำรุดทรุดโทรมถูกทำลายจนหมดสิ้น
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช แด่ลูกหลาน เหลนไทย
อันอังคารสังขารของกูนี้ บัดนี้ผ่านสี่ร้อยกว่าปีหามีไม่ ถึงกายกูตัวกูจะจากไป วิญญาณไซร้ยังอยู่คู่แผ่นดิน
ก็แผ่นดินผืนนี้หรือมิใช่ ที่กูสู้กู้ไว้ ให้ลูกหลาน บัดนี้เหลนโหลนอยู่สุขมานาน ถึงปราศปรานยังอยู่คู่พวกมึง กูสู้กู้แผ่นดินไว้ให้อิสระนำคนไทยสู่ชัยชนะมิรู้สิ้น
ถึงตัวตาย(ไป) รักษ์ไว้ ซึ่งแผ่นดิน ปณิธานนี้มิเลือนถึงสิ้นปราณ แผ่นดินผืนนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ แม้นมันผู้ใดคิดมุ่งร้ายต้องตายสิ้น
เหตุเพราะกูผู้กอบกู้กู้แผ่นดิน ยังดูแลตราบสิ้นชั่วกาลนาน กรุงศรีเคยคลุกคลีด้วยสีเลือด แผ่นดินเคยลุกเดือดเลือดโลมไหล
แต่ไทยต้องคงนานความเป็นไทย ถึงไม่มีใครวิญญาณกูจะรู้เอง
|