แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

ธรรมะสำหรับผู้ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์และสานุศิษย์พระโพธิสัตว์ ; หลวงปู่ทวด [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๘

พระโพธิสัตว์



คุณหญิงระเบียบ สุนทรลิขิต
ลูกจะถามเรื่องธรรมะ การปฏิบัติธรรมะ หลวงปู่ใช้อะไร ใช้วิธีไหน ใช้อะไรเป็นอารมณ์

หลวงปู่ทวด – อาตมาใช้น้ำ

คุณหญิงระเบียบ สุนทรลิขิต อ๋อเพ่งน้ำ กสิณน้ำ

หลวงปู่ทวด – กสิณเป็นจุดรวมของจิต จิตนิ่งแล้วองค์ฌานหรือโลกุตรฌาน ไอ้นั่นเป็นบารมีสะสมมาแต่ละชาติเสริมแต่ง

คุณหญิงระเบียบ สุนทรลิขิต
ลูกทราบว่าหลวงปู่น่ะ ต้องการเป็นพระโพธิสัตว์ใช่ไหมคะ เพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตใช่ไหมคะ

หลวงปู่ทวด – มีความตั้งใจเช่นนั้น

คุณหญิงระเบียบ สุนทรลิขิต ฉะนั้นหลวงปู่ก็เคยจะปฏิบัติตามหลักมหาสติปัฏฐานหรือเปล่า

หลวงปู่ทวด – ก็ตามแนวที่วางมา แต่ว่าท่านทำเข้าไปถึงแล้ว บางอย่างมันไม่ใช่ตามแนวนั้น

คุณหญิงระเบียบ สุนทรลิขิต เพราะว่าถ้าท่านทำไปแล้ว ก็ไม่ได้เป็นพระโพธิสัตว์สิคะ

หลวงปู่ทวด – คือ คำว่าฌานญาณมันอยู่คล้ายๆ ว่า ถ้าในลักษณะก็คือ เปรียบให้มันง่ายให้มนุษย์เข้าใจ จุดที่ถึงเขาเรียกว่า “เตรียม” การเตรียมนั้น อยู่ที่เราตัดสินใจว่า จะเดินทางไหน

คุณหญิงระเบียบ สุนทรลิขิตนี่หลวงปู่ยังไม่ยอมมาทางมหาสติปัฏฐาน เพราะว่าทางมหาสติปัฏฐาน ถ้าทำถึงจุดแล้วจะไม่เกิด หลวงปู่ก็จะไม่ได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ลูกก็คิดเอาเอง หลวงปู่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องได้ฌาน เพื่อจะลงมาเกิดอีกใช่ไหม ต้องมาเกิดอีกใช่ไหมคะ

หลวงปู่ทวด – ถ้าไม่เกิด แล้วความปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าจะเป็นได้อย่างไร

คุณหญิงระเบียบ สุนทรลิขิต นั่นนะซิ พระพุทธเจ้าต้องตรัสรู้ในเมืองมนุษย์ หลวงปู่ก็ขึ้นไปบำเพ็ญบารมีบนสวรรค์จนกว่าจะถึงเวลา ฉะนั้นลูกจะไม่ถามเรื่องมหาสติปัฏฐาน เพราะว่ามหาสติปัฏฐานนั้นพระพุทธเจ้าว่าไปสู่ความพ้นทุกข์ มีอยู่ทางเดียวที่รับรองไว้ ทางอื่นพ้นทุกข์ไม่ได้ เช่นพวกกสิณนี้ก็ต้องไปเป็นพรหม หลวงปู่เป็นพรหมอยู่ชั้นไหน

หลวงปู่ทวด อาตมาก็ไม่รู้ว่าอยู่ชั้นไหน เพราะมันไปหมดทุกชั้น

คุณหญิงระเบียบ สุนทรลิขิต ที่อยู่ประจำ

หลวงปู่ทวด – ที่อยู่ขณะนี้ อยู่ชั้นดุสิต

คุณหญิงระเบียบ สุนทรลิขิต อ๋อไม่ใช่พรหมซิคะ ชั้นดุสิตน่ะชั้นเทพเทวดา

หลวงปู่ทวด – นี่เพราะมนุษย์เข้าใจอย่างนี้ ผู้เตรียมตัวเป็นพระพุทธเจ้าก็ดี ผู้ที่จะเข้ามารับผิดชอบเหตุการณ์ในโลกมนุษย์ก็ดี ถึงแม้ว่าจะเป็นพรหมเป็นอะไร เขาก็ต้องมาอยู่ชั้นดุสิต เพราะดุสิตเป็นจุดเตรียมที่จะขึ้นสูงลงต่ำ ดุสิตเป็นจุดที่ใกล้มนุษย์ที่จะทราบเหตุการณ์ในโลกมนุษย์ได้ง่าย ไม่ใช่เขาเจาะจงให้เทวดาอยู่ที่นั่น พระศรีอริยเมตไตรยเวลานี้ก็อยู่ชั้นดุสิต

(เทศน์เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๘)

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๙

สัจจบารมี



วันนี้อาตมาขอเทศน์โปรดสานุศิษย์ทุกคนว่า เราเข้ามาสังคมพระโพธิสัตว์นี้เพื่ออะไร จุดที่เราต้องถามตัวเราเองก่อน คือเมื่อเรามีสัจจะแห่งการถวายตนที่จะมาร่วมสังคมทำงานเพื่อมนุษยชาติ

กฎของความจริงแล้ว
คำว่าเพื่อชาติแล้ว
ไม่มีเพื่อเรื่องกอบโกย
ถ้าเพื่อเพื่อนมนุษย์ส่วนรวม
ก็ไม่มีเพื่อความสุขส่วนตัว


เพราะฉะนั้นอาตมาจึงบอกว่า การที่จะก้าวขยายงานต่อไป อาตมาไม่กล้าคิด ระบบตายเอาดาบหน้า เมื่อกองทัพธรรมเราควรจะแข็งแกร่ง แต่มันก็ยังไม่จริงจังเต็มที่ ซึ่งที่จริงแล้วถ้ากำลังแค่นี้ อาตมาคิดว่าเอากันจริงๆ ทำงานใหญ่ได้


คำว่า “พิภพ” หรือคำว่า “สังคมของสัตวโลก” ถ้าเราเข้าไปยุ่งแล้ว เราก็ต้องมีทุกข์ เพราะอะไร ท่านลองสังเกต มนุษย์ทุกคนทำงานด้วยตัวโลภเป็นหลัก แต่ท่านมาทำงานอยู่ในสังคมพระโพธิสัตว์ เราเรียกว่าไม่เอาอะไร และมีเรื่องภาระหนึ่งที่ว่า ถ้าเราอยู่ต่อไป งานก็ต้องก้าวหน้าอยู่เรื่อย ไม่เช่นนั้นเขาไม่เรียกว่า “กงล้อแห่งธรรมจักร” มันต้องหมุนไปเรื่อย ถ้าตราบใดเรายังไม่หยุด

เพราะฉะนั้นอาตมาจะขอร้องและวิงวอนให้ทุกคนควรจงคิดว่า เรามานี้เพื่ออะไร เราทุกคนที่มาที่นี่ ก็มาด้วยความไม่โลภ มาทำเพื่อจาคะ ก็ขอให้มีการสำรวจ สังวร พิจารณาตนทุกขณะจิต แล้วก็เอาจริงตามฐานะสุดความสามารถ คือ มีความจริงใจและจริงจังในเรื่องการทำงานมากขึ้นทุกวัน


เมื่อท่านกล้าตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวในการกระโดดลงเรือพระโพธิสัตว์ พร้อมที่จะช่วยกันโกยสัตวโลกให้พ้นทุกข์ ซึ่งขนาดอาตมานี่ก็กระโดดเข้ามาแล้ว ร่วมนำเรือพระโพธิสัตว์กับท่านโต ก็ถือว่าในเรื่องที่จะปล่อยให้ท่านตายนี้ไม่มี อาตมาห่วงท่านอยู่เสมอ โดยขอเตือนท่านว่า การเป็นคนมันมีอยู่สองทาง คือ สายพระอรหันต์ และสายพระโพธิสัตว์

ทางหนึ่ง สายพระอรหันต์ เราหยุดทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วทำสมาธิละลายกิเลสจนสามารถทำให้สำเร็จมรรคผลหลุดพ้นจากสังสารวัฏ และเอาตัวรอดมุ่งทางแห่งนิพพาน


ทางสอง สายพระโพธิสัตว์ เราจะต้องทำงานเพื่อส่วนรวม เมื่อเราจะทำงานก็คือ การจะก่อทุกข์ให้เรา


เพราะฉะนั้นเวลาบำเพ็ญจิตถึงจตุตถฌานสี่ ที่จะขึ้นเรื่องในการที่จะซอยไปสู่อภิญญาหรือว่าเข้าไปเล่นในญาณ คำว่าฌานกับญาณนี่มันต้องแยก ตอนนี้เขาจะต้องตั้งสัจจบารมี จะไปเป็นพระอรหันต์ โดยเอาตัวรอดเป็นยอดดี หรือจะไปเป็นพระโพธิสัตว์ โดยว่าจะเอาตัวเองทำงานช่วยเหลือคนอื่น

ส่วนมากผู้บำเพ็ญในเหล่าพุทธสาวกถึงจุดนี้แล้ว เขาจะหยุดนิ่ง ใช้กระแสจิตพิจารณา เพราะฉะนั้นการเป็นมนุษย์ก็ต้องมีเข็มทิศของเรา ในการตั้งเข็มทิศ ตั้งแล้วจะต้องแข็งและแน่นเหมือนภูเขา ไม่ใช่เอนเหมือนต้นอ้อ ภูเขาไม่กลัวลม ภูเขาไม่กลัวฝน ภูเขาไม่กลัวฟ้าร้อง

เพราะฉะนั้นท่านจะต้องศึกษาว่า เจตนาของผู้บำเพ็ญแล้ว ตั้งอะไรลงไปแล้ว คำว่าถอยไม่มี ทีนี้เขาสามารถสำเร็จตามเป้าหมาย หรือว่าสร้างคุณงามความดีจนมีคนบูชาก็เพราะว่า การตั้งเข็มทิศของเขาเหล่านั้น เมื่อตั้งแล้วเอาช้างมาลากก็ไม่ยอมไป อารมณ์ของผู้ที่เข้าใจถ่องแท้แล้วทำงานเพื่ออุดมการณ์ที่ตั้งไว้ ย่อมยอมตายทุกเมื่อ เพื่อสัจจบารมี


เมื่อคนเราตั้งความแน่วแน่หนึ่ง พลังจิตจดจ่อหนึ่ง กุศลแน่วแน่หนึ่ง พลังภายในหนึ่ง เทวดาอนุโมทนาหนึ่ง ก็สำเร็จได้

ผู้ที่ทำอะไรไม่สำเร็จ เพราะจิตเปลี่ยนทุกวินาที ภาวะจิตแบบลิง เขาเหล่านั้นจึงไม่ได้เกิดความสำเร็จแห่งชีวิตในทางโลกหรือทางธรรม เขาเหล่านั้นจึงมิสามารถที่จะยื่นตัวออกไปเหนือเพื่อนมนุษย์โลกนี้ เพราะสัจจบารมีไม่เข้มแข็ง คนเหล่านี้จึงยังต้องตกอยู่ในฐานะปุถุชนที่ดิ้นรนท่ามกลางทะเลโลกียะที่กำลังบ้าคลั่ง

(วันเสาร์ที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๗)

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๐

ความแน่วแน่



การทำงานให้ธรรมนำโลกในการรณรงค์ มนุษย์ที่จะร่วมกันในการทำงานเพื่อส่วนรวม อาตมาถือว่าเรื่องจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จนั้น ก็ขึ้นอยู่กับมนุษย์ที่จะดำเนินการ แต่ว่าทุกคนก็คงเข้าใจดี ในสภาวะของสยามประเทศในขณะนี้ ทีนี้การที่จะทำงานเพื่อส่วนรวม จะทำงานเพื่องานใหญ่ จะทำงานเพื่อมนุษยชาติ จะทำงานเพื่อศาสนา จะทำงานเพื่อสันติสุข

หลักแห่งความจริงของการทำงานใหญ่ ผู้ที่ทำงานจะต้องมีขันติเป็นสรณะ และความล้มเหลวหรือสำเร็จของงานนั้น ขึ้นอยู่กับหัวหน้าสายงานจะต้องมีความหนักแน่นในการทำงาน จะต้องไม่มีการอ่อนไหวตามลมปากของมนุษย์ที่เข้ามาสู่กระแสเรา งานนั้นก็จะสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเข้าใจว่า มนุษย์ที่เกิดเป็นคนมันมีหลายระดับ สิ่งที่กลมก็ต้องมองกันคนละด้านมุม และตามภาวะของจิตของคนที่มีธรรมะขั้นไหน ก็มองในขั้นนั้นไปได้ ทีนี้ ขณะนี้ท่านกำลังทำงานชิงกับเวลา และการรวมฝ่ายธรรมะที่แสนอ่อนแอ เป็นงานที่มิใช่จะทำง่าย แต่ท่านจะมีน้ำใจตั้งมั่นอยู่ในความศรัทธาแห่งความแน่วแน่ เหมือนดั่งการบำเพ็ญจิต


ครั้งหนึ่งมีธรรมนิยายเรื่องหนึ่ง “เป้าหมายแห่งความแน่วแน่” ของพระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าได้เกิดเป็น “อีแต” หรือนางแตอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง เกิดน้ำท่วมและท่วมลูกทั้งหมดพัดลงไปสู่น้ำทะเล ความแน่วแน่ของพระโพธิสัตว์ที่เสวยชาติเป็นนางแตนั้น ก็เลยพยายามใช้หางฟาดวิดน้ำในทะเลเพื่อให้น้ำทะเลแห้ง เป็นการที่จะช่วยลูกของตนที่อยู่ในกลางทะเลแห่งความบ้าคลั่ง

จนกระทั่งร้อนถึงพระอินทร์ต้องลงมาถามนางแตว่า “หางอันนิดหนึ่งของท่านจะตวัดน้ำในทะเลทั้งทะเลแห้งนั้น จะต้องใช้เวลากัปกี่กัลป์ จึงสามารถทำให้น้ำทะเลทั้งทะเลแห้งได้”

นางแตก็ตอบพระอินทร์ว่า “ถึงแม้ทะเลจะลึกจะใหญ่ขนาดไหน ฉันมีความแน่วแน่ที่จะช่วยลูกฉันที่ตกอยู่ในทะเลนี้ให้ขึ้นจากการจมน้ำตาย ถึงแม้จะใช้หางน้อยๆ ตวัดน้ำขึ้นสู่บนบกได้ทีละไม่กี่หยด ฉันก็ตั้งเป้าหมายไว้แล้วว่า ถึงตวัดจนตาย ฉันก็ขออธิษฐานเกิดมาเป็นอีแตอีก เพื่อมาตวัดน้ำในทะเลทั้งทะเลให้แห้ง เพื่อช่วยลูกให้พ้นจากการจมน้ำตาย”

ฉะนั้นนี่เป็นอุทาหรณ์ ให้สังวรว่าการทำงานใหญ่นั้น ถ้าจิตท่านไม่เข้มแข็ง ไม่แน่วแน่ เกรงกลัวก็ไม่สำเร็จ ดังเช่น กำลังดำเนินแผนเผยแผ่ “โลกวิญญาณส่งทูตสันติภาพชี้จุดบอดและจุดแก้ของเมืองไทย” ในขณะนี้ อุปสรรคอีกนานาประการที่จะเข้าถึงท่าน แต่ถ้าท่านไม่มีน้ำใจอันแน่วแน่ ไม่มีความเสียสละในเรื่องส่วนตัว ไม่มีการยอมสละทรัพย์ที่ตนมีอยู่ ก็คิดว่าจะไม่ได้รับความเห็นใจจากผู้ที่กำลังมองท่านทำงาน และผลแห่งการกู้ประเทศของท่านก็จะไม่สัมฤทธิ์ผล

ฉะนั้น ขั้นแรกท่านกำลังเดินในสนามรบแล้ว ท่านกำลังประกาศรบแล้ว ท่านควรมีอุทาหรณ์แห่งความแน่วแน่ในเป้าหมาย และคัดเลือกบุคคลที่มีความจริงจัง รวมกลุ่มเป็นพลัง ก็คิดว่าพอที่จะช่วยท่านได้ ดังอุทาหรณ์เมื่อนางแตมีความแน่วแน่ พระอินทร์ร้อนอาสน์ต้องลงมาช่วย และใช้อิทธิฤทธิ์บันดาลให้น้ำทั้งทะเลแห้ง เพื่อช่วยลูกน้อยของเขาขึ้นจากน้ำได้ ฉันใดก็ฉันนั้น

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านคงเข้าใจว่าขณะนี้ประเทศสยามของท่านกำลังจะมีอะไร และท่านกำลังจะทำอะไร ถ้าระหว่างเดินทางอยู่นั้น ท่านหวั่นไหวต่ออารมณ์ ต่อปากคนที่เข้ามา ต่ออิทธิพลมืดที่บีบเข้ามาแล้วไซร้ ท่านก็ไม่มีกระแสแห่งความสำเร็จในเป้าหมายได้ อันนี้ก็ให้คิดกันเอง อาตมากลับละ

เจริญพร

(เทศน์เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๗)

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๑

อารมณ์ของสตรีในการทำงานใหญ่



สานุศิษย์หญิง – กราบนมัสการหลวงปู่เจ้าค่ะ ดิฉันขอกราบทูลถามว่า ดิฉันมีโครงการรวบรวมสานุศิษย์หญิงที่ร่วมตั้งสัจจะอย่างแน่วแน่ว่าจะช่วยทำงานศาสนา โดยจะพยายามคัดเลือกตัดสินอย่างยุติธรรม รับเฉพาะคนที่พร้อมตายด้วยกันได้เจ้าค่ะ ขอพระเมตตาหลวงปู่โปรดให้คำแนะนำด้วยเจ้าค่ะ

หลวงปู่ทวด – อารมณ์แห่งการทำงานของสตรี ก็ต้องเข้าใจว่า ทัศนะของอาตมาก็พูดแบบท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระว่า

สตรีเต็มไปด้วยอารมณ์ สตรีเต็มไปด้วยความหวั่นไหว สตรีเต็มไปด้วยความทิฐิของความพอใจไม่พอใจ สตรีเขาเรียกว่า ยกเรื่องส่วนตัวกับส่วนรวมไม่ออก อารมณ์คนเราเช่นนี้ จึงทำให้เกิดความวุ่นวายทั่วทั้งโลกตลอดเวลา ถึงแม้สตรีจะเป็นเพศมารดาก็จริง


แต่ในภาวะนี้ต้องเข้าใจว่า อยู่ในภาวะที่ท่านจะยึดอุดมการณ์ หรือยึดบุคคล หรือยึดอะไรในการทำงานใหญ่ เพราะฉะนั้น ถ้าพูดในลักษณะงานของการทำงานแล้ว งานศาสนาไม่ใช่งานราชการ ประเทศไทยจะพังก็เพราะระบบราชการที่ยืดเยื้อ ซึ่งทำไมระบบราชการไม่บริหารแบบสมัยเก่า เช่น ยุคพ่อขุนรามคำแหง เป็นต้น คือเรียกว่า มาปรึกษามาคุยกันสุจริตทั้งกายและใจ

ที่นี้ลักษณะของผู้หญิง เราจะถือว่าเราจะไปมองแง่ไหนว่าเขาทำผิด มองแง่ไหนว่าเขาถูก เรื่องนี้เป็นการพูดลำบาก จะเอาอะไรเป็นเครื่องวัดว่า คนนี้ใช้ได้หรือไม่ได้ และจะเอาอะไรเป็นเครื่องวัดในอารมณ์การพิจารณาของมนุษย์ที่ตัดสินว่า นี่คือ “ความยุติธรรม”


เมื่อของมันอยู่ตรงกลาง คนอยู่ทิศเหนือมองของนั้นเป็นไปอีกอย่างหนึ่ง คนอยู่ทิศใต้มองของนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสัจจะแห่งความเจริญมีอยู่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ มันมีดีก็ต้องมีชั่ว มีถูกก็ต้องมีผิด เพียงแต่มีส่วนใดมากน้อยเท่านั้น ที่เราจะมีความสามารถเลือกใช้ส่วนที่ดีของเขาได้

ทีนี้บางเรื่องนี่ มนุษย์จะเอาแต่อารมณ์ตัวเป็นใหญ่ คือ บางคนแบบเอาตามใจฉัน ฉันพอใจฉันก็ทำ ฉันไม่พอใจฉันก็ไม่ทำ และอาตมาขอเตือนให้เหล่าสตรีทั้งหลายหมั่นบำเพ็ญจิตว่า จงพยายามละลายกิเลสแห่งการเป็นคนเจ้าอารมณ์ เจ้าบทบาท เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย งดเว้นอารมณ์แห่งการจองเวรอาฆาตมาดร้าย นินทาความผิดของคนอื่น และพร้อมที่จะแผ่มหาเมตตา อันเป็นการฝึกให้จิตใจไม่คับแคบ มิฉะนั้นแล้ว สตรีก็จะทำงานใหญ่ไม่ได้

จะเห็นตั้งแต่โบราณกาลลงมา สตรีมีอำนาจเมื่อใด ส่วนมากประเทศนั้นหมู่คณะนั้น ก็ต้องฉิบหายล่มจมไม่ช้าก็เร็ว โดยไม่มีวันดีขึ้นได้ เมื่อสตรีเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลายโลก จึงขอเตือนสติเพียงเท่านี้ และเตือนบุรุษทั้งหลายว่า จะทำงานร่วมกับสตรี ต้องมีจิตใจหนักแน่นและไม่หูเบา แล้วท่านก็จะทำงานกับสตรีได้

(วันเสาร์ที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๐)

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๒

ความเงียบที่น่ากลัว



ภาวะปัจจุบันอาตมารู้สึกว่า ท่านได้พยายามทุกวิถีทางในการขยาย กระจายแผนงาน เพื่อที่จะแข่งขันกับเวลาทันเหตุการณ์ ทุกคนก็คงรู้ว่า ท่านกำลังจะทำอะไร ขณะนี้ไฟกำลังจะไหม้ ท่านก็กำลังจะเดินเข้าไปทางไฟ แล้วก็จะดับไฟ แต่ว่าการที่จะเดินทางเข้าไปในกองไฟ แล้วก็จะดับไฟนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำง่าย โดยเฉพาะน้ำน้อย

เมื่อสถานการณ์ทั่วไปก็เรียกว่า เป็นสถานการณ์ของการเงียบ อย่างการอยู่ในป่าเรียกว่า “เงียบอย่างน่ากลัว” ในความเงียบย่อมมีความวังเวง มีอะไรซ่อนเร้นอยู่ในความเงียบ


สัตว์ป่าเมื่อเห็นศัตรู จะเข้าตะครุบศัตรู สัตว์นั้นก็จะเรียนเดินอย่างเงียบ เพื่อไม่ให้ศัตรูรู้ เพื่อการตะครุบ นั่นคือ “สัญชาตญาณของสัตว์ป่า” และในภาวะท่านจะเข้าหาไฟและดับไฟ แล้วก็ประกาศท้าทายไฟ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าคิดมาก แต่ว่าทั้งนี้และทั้งนั้น ระดับสมองจะต้องเพิ่มมากขึ้นและมีความจริงจังกว่านี้

คำว่า “การไปฝึกปรมัตถธรรมนั้น” ท่านต้องเข้าใจคำว่า ปรมัตถ คืออะไร ปรมัตถเป็นธรรมะขั้นสูง ปรมัตถธรรม ธรรมะแห่งความหลุดพ้น ธรรมะแห่งความหลุดพ้นย่อมต้องไม่มีทิฐิมานะในอัตตาของตัวตนของการ “ยึด” เพราะว่า “ยึด” แล้วก็จะหลง และการทำงานนั้นคนหนึ่งจะอุดช่องรั่วทั่วประเทศ มันย่อมอุดไม่ไหวแน่ มันก็จะต้องให้มันรั่วบ้าง

ในเมื่อคนจำนวนมากเขาไม่รู้สึกตัวว่า “ภัยกำลังลุกเป็นไฟ” กรรมที่เขาสร้างกันเอง คนหนึ่งไปดุลกรรมคนทั้ง ๔๓ ล้านคน มันไม่ไหวแน่ เพราะฉะนั้นสถานการณ์ขณะนี้ก็คิดว่า ท่านกำลังจะเข้าไปในกองไฟ ท่านก็ต้องมีไฟถือบ้าง และขอให้ทุกคนรับทราบขณะนี้ ท่านกำลังท้าทายไฟทั้งโลก


เพราะฉะนั้นก็คิดว่าเพียงแค่ให้ท่านฟังแค่นี้ แล้วก็ให้ท่านไว้วินิจฉัย และการทำงานต้องเข้าใจว่า “ขณะนี้ทุกวินาทีมีค่ามาก” ถ้าท่านคิดว่าท่านจะครองความเป็นเอกราชของไทยและไม่อยากเป็นทาส

(เทศน์เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๙)

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๓

ความยิ่งใหญ่อันแท้จริง



หม่อมเจ้าชุมปกะบุตร ชุมพล ทรงอาราธนาธรรม

หลวงปู่ทวด - เจริญพร การทำงานทุกอย่างนั้น เราต้องทำด้วยหลักแห่งความเมตตาและเสียสละ คือทำด้วยหลักแห่งการไม่มีการยึดมั่นในอัตตา ทุกวันนี้โลกมนุษย์ยุ่งเหยิง ก็เพราะว่าโลกมนุษย์ยึดมั่นในอัตตา คือการทำอะไรก็แล้วแต่ มนุษย์ล้วนแล้วแต่ยึดในตน คือหากเป็นผู้ยิ่งใหญ่ มนุษย์ทุกคนต่างคนต่างมีกรรม ต่างคนต่างมีภาวะ ต่างคนต่างมีวิบาก แต่ทุกคนไม่แลตน แลแต่ความยิ่งใหญ่


ทีนี้ ท่านลองศึกษาลองดูรอบๆ ว่า อะไรเป็นความยิ่งใหญ่อันแท้จริง มนุษย์บางคนทำงานหวังมีทรัพย์ นึกว่าตนมีทรัพย์มากก็เป็นผู้ยิ่งใหญ่ มนุษย์บางคนทำงานหวังมียศสมมติแห่งบัญญัติที่เขาแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการ เป็นเจ้าเมือง เป็นนายทหาร เป็นนายด่าน ก็นึกว่าสิ่งนั้นเป็นความยิ่งใหญ่ มนุษย์ทุกคนบางคนที่ทำงาน ก็นึกว่าตนที่มีอยู่ใหญ่ๆ มีอะไรใหญ่ๆ ก็เรียกว่าใหญ่ มนุษย์บางคนก็ยึดในตนว่า ฉันมีที่ดินมากๆ ก็เป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่

การต่อสู้ในสังคมปัจจุบัน ซึ่งเป็นสังคมมนุษย์แห่งความวุ่นวายนั้น ทุกคนหวังเป็นผู้ยิ่งใหญ่ แต่แล้วไม่มีใครได้ใหญ่จริง ทีนี้ความยิ่งใหญ่อันถาวรจะมีได้อย่างไร อาตมาว่า มี แล้วอาตมาจะค่อยอธิบายให้ท่านฟังต่อไป

ในการฟังเทศน์นั้น ต้องมีความนิ่งของจิตและมีความวินิจฉัยในวาจาแห่งคำพูด แล้วต้องแลด้วยความสงบ ภาษาใต้เขาพูดว่า “แล” เช่น บางคนดิ้นรน ดิ้นรนจะเป็นนู่นเป็นนี่ เป็นโน่น เป็นเสนาบดี เป็นหัวหน้า ก็เป็นใหญ่ในตอนที่อยู่ในตำแหน่งเท่านั้น พอออกจากตำแหน่งก็ไม่ใหญ่ บางคนก็หวังจะขึ้นไปนั่งเมือง ตอนได้นั่งเมืองก็ใหญ่ แต่พอออกจากการนั่งก็ไม่ใหญ่ แล้วก็มีแต่เรื่องตามมา บางคนก็นึกว่า ฉันมีอำนาจแล้วใหญ่ มีเงินแล้วใหญ่ มีปืนแล้วก็ใหญ่


สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ใหญ่ไม่จีรัง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งใหญ่แห่งอนิจจัง ใหญ่อย่างไม่เที่ยง ใหญ่อย่างไม่ถาวร ใหญ่อย่างไม่คงทน และการที่มนุษย์เกิดความวุ่นวายทั่วสรรพธุลีในโลกแห่งสมมติ เพราะต่างคนต่างมาเป็นใหญ่กัน

ที่นี้ ท่านอยากจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่เขาไม่ลืมง่ายไหม การเป็นนักการเมือง การเป็นเสนาบดี การเป็นรัฐบาล การเป็นอะไรก็แล้วแต่ เป็นอธิบดีก็ไม่ใหญ่ถาวร และบางคนใหญ่อย่างเขาจำยอมให้ใหญ่ ใหญ่อย่างไม่ใช่ชนะหัวใจเขา เพราะฉะนั้นท่านจะเห็นว่า บุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่ท่านทั้งหลายกำลังหลง กำลังยึดอยู่ เขาอยู่เพียงชั่วขณะ ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นนักกบฏ เป็นนักปกครอง เป็นนักการเมือง เป็นนักการค้า เป็นเศรษฐี เป็นเสนาบดี เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็ใหญ่แค่เป็นยุคๆ


แต่ใหญ่อีกอย่างหนึ่ง ที่ใหญ่อันแท้จริงและใหญ่ชั่วนิรันดร มีใหญ่เป็นเวลายาวนานจนกว่าโลกสลาย คือการใหญ่อันแท้จริง ต้องใหญ่แห่งการเป็นนักปราชญ์

ทำไมอาตมาจึงบอกว่า ต้องใหญ่แห่งการเป็นนักปราชญ์เล่า? ท่านจะเห็นว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ก็เป็นนักปราชญ์และเป็นบรมศาสดา พระองค์ได้สิ้นจากโลกมนุษย์ก็เป็นเวลา ๒,๐๐๐ กว่าปี ชื่อเสียงเกียรติคุณของพระองค์อันยิ่งใหญ่และใหญ่อย่างไม่ต้องมีคนบังคับให้นับถือ ใหญ่อย่างที่มีผู้นับถือด้วยหัวใจ ด้วยใจจริง รองมาก็คือ พระเยซูคริสต์ ถัดลงมาก็พระมะหะหมัด เล่าจื๊อ เต้าจื๊อ เหล่านี้ ต่อมาก็พระอริยสงฆ์และพวกที่เป็นพระเกจิอาจารย์ พวกนี้เขาเรียกว่า “ใหญ่ที่แท้จริง”

เพราะอะไรอาตมาจึงเรียกมนุษย์พวกนี้ว่าใหญ่ที่แท้จริงเล่า นักปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ นักเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ยิ่งใหญ่ พอสิ้นจากโลกมนุษย์ไม่นาน มนุษย์รุ่นอนุชนต่อๆ มา ที่มาใช้กรรมในโลกมนุษย์ก็ลืมไป แล้วก็มีเพียงส่วนน้อยที่จะศึกษาประวัติ แต่ว่า นักวิชาการ นักปราชญ์ นักลัทธิที่ตั้งขึ้นมาในศาสนา ในด้านนามธรรม ถึงแม้ว่ามนุษย์ในยุคที่มีนักปราชญ์และบรมศาสดายังคงมีสังขารอยู่ สิ้นจากโลกมนุษย์เป็นพันๆ ปี อนุชนรุ่นหลังเกิดมาก็ยังนับถือนักปราชญ์และบรมศาสดาอยู่

ท่านจะเห็นว่า ผู้ที่เข้ามาเป็นพุทธสาวกก็ดี ผู้ที่เป็นชาวคริสต์สาวกก็ดี ผู้เข้ามาเป็นอิสลามมิกชนก็ดี หรือว่าผู้ที่เข้ามาเป็นในลัทธิใดลัทธิหนึ่งแห่งศาสนาก็ดี เขาเรียกว่า นามธรรมแห่งการนับถือนักปราชญ์นั้นๆ เขาเหล่านั้นเข้ามาด้วยศรัทธา เข้ามาด้วยความอยากรู้อยากเห็นถึงอัจฉริยะถึงความเป็นอยู่ของบรมศาสดาที่ตนศรัทธาจากนามธรรม


และใหญ่อีกอย่างหนึ่งคือ ใหญ่ในการสร้างสิ่งสมมติแห่งวัตถุในโลกมนุษย์ให้ยืนยาว แต่ก็ไม่จีรังเท่าความยิ่งใหญ่แห่งการอยู่เหนือหัวใจมนุษย์ที่เกิดมา

ฉะนั้นท่านทั้งหลายในการเป็นมนุษย์นั้น ที่วุ่นวายที่ยุ่งเหยิงทั่วสรรพธุลีในโลกมนุษย์ เกิดจากความอยากเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ ทีนี้การอยากเป็นผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายที่ไม่ถ่องแท้นั้น เพราะไม่รู้จักทางเลือก ก็เป็นผู้ยิ่งใหญ่แบบร้อนๆ ใหญ่แบบใจเต้นไม่ปรกติ ใหญ่อย่างที่เรียกว่า ไม่มีความจีรังถาวร

ฉะนั้นตามทัศนะอาตมาแล้ว อยากให้ท่านทั้งหลายหาทางใหญ่อย่างใจไม่เต้น หาทางใหญ่อย่างจีรัง หาทางใหญ่อย่างมั่นคง คือใหญ่แห่งการศึกษาเข้าถึงธรรมชาติ เข้าถึงอมตธรรม เข้าถึงสัจจะถึงโลก และเรียนตนเป็นนักปราชญ์ ที่สืบต่อศาสนา ความยิ่งใหญ่อันแท้จริงอยู่ที่ “ต้องชนะใจของมนุษย์” ที่เราปกครองและเขายอมให้เราปกครองโดยศรัทธาเราอย่างจริงใจจากภายในออกสู่ภายนอก ไม่ศรัทธาเราแต่ปาก ใจไม่นับถือ

ฉะนั้นท่านทั้งหลายที่ได้มีโอกาสมาศึกษาและมาฟังธรรมเตือนสติแห่งการเป็นผู้ยิ่งใหญ่ อาตมารู้ว่า ขณะนี้ท่านโตกำลังวางแผนงานใหญ่ แต่ใหญ่ด้วยการสร้าง “ธรรมาวุธ” ขึ้นในประเทศสยาม ใหญ่อย่างที่กระตุ้นมนุษย์ให้เข้าสู่คุณธรรม ใหญ่อย่างให้มนุษย์มีอุดมการณ์และมีจุดแห่งความยึดในการดำรงชีวิต


ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จะสัมฤทธิ์ผล ก็อาศัยท่านทั้งหลายที่รับตนเป็นกรรมการหรือเป็นอะไรนั้น ก็เรียกว่า เป็นทหารธรรมที่จะไปขยายไปดำเนินงานให้ลุล่วงให้ผลงานเป็นอมตะชั่วนิรันดร์

ขอยุติเพียงแค่นี้ อาตมภาพไม่มีอะไรจะเทศน์มากกว่านี้ เพราะอาตมามีคติยึดมั่นอยู่แล้วว่า “พูดมากเสียมาก พูดน้อยเสียน้อย ไม่พูดไม่เสีย นิ่งเสียโพธิสัตว์” และใคร่ขออำนวยพรให้ท่านทั้งหลาย จงสัมฤทธิ์ผลในชีวิตแห่งการเป็นมนุษย์ และขอให้ท่านทั้งหลาย จงละจากกิเลสเข้ามาสู่ธรรมะและมีจุดแห่งการไปถึงนิพพานเถิด

เจริญพร

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๔

ธรรมะเพื่อสันติสุข



เจริญพร

สานุศิษย์ทั้งหลาย วันนี้ก็เป็นวันนิมิตดีวันหนึ่งของโลกมนุษย์ ซึ่งท่านทั้งหลายตอนบ่ายก็ได้ฟังเหตุการณ์เรื่องราวของมนุษย์โลก และในขณะนี้เทวโลกก็กำลังประชุมเรื่อง เมืองเขมรแตกแล้วไทยจะเป็นอย่างไร คิดว่าทุกคนที่ฟังในตอนบ่ายนั้น ก็ให้เข้าใจว่า ขณะนี้สยามประเทศของเราตกอยู่ในฐานะอะไร เหตุการณ์เป็นอย่างไร
คิดว่าทุกคนฟังแล้ว คงจะไม่ใช่ปล่อยทิ้ง หรือว่าแลไปแล้วก็ไม่แลต่อ

ปัญหาอย่างทางปักษ์ใต้ ทางปักษ์ใต้มันเป็นปัญหาเรื้อรังมานานตั้งแต่สมัยที่อาตมาอยู่ที่วัดช้างให้ เริ่มสร้างวัดช้างให้ คือทางนั้นเขาเรียกว่ามณฑลอยู่ทางใต้ จึงเป็นการที่เมืองหลวงแลไม่ถึง ดูแลไม่ถึงทั้งน้ำทั้งทะเล ทางนั้นก็ติดไปทางมลายู เมื่อมลายูเข้ามา ก็มาสอนในคัมภีร์อัลกูรอาน เขาก็พยายามสอนว่า ดินแดนแห่งนี้มันของมลายู

ถ้าจะพูดว่าเป็นดินแดนของใครนั้น มันก็เป็นเรื่องที่น่าคิด เมื่อยุคสุโขทัยเรืองอำนาจ พ่อขุนรามคำแหงได้ตีตลอดแหลมมลายูถึงสิงคโปร์ ถ้าเราจะพูดเรื่องที่ดิน มันก็เป็นเรื่องที่จะต้องต่อสู้จะต้องแย่งกัน ปัญหาเหล่านี้มันเกิดขึ้นเรื้อรังมานานหลายศตวรรษ

ทีนี้ ในปัญหาปัจจุบัน เราจะทำอย่างไรให้มนุษย์มีกระแสจิตในการวาง ในการหยุดก่อเรื่องก่อราว หันมารวมกัน เพื่อพาจุดยุติให้เกิดสันติสุขในโลกมนุษย์ ปัญหาเรื่องคน คนย่อมจะมีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นกิเลสเข้าออกในด้านมนุษย์

ปัญหาเรื่องโลภะ โทสะ โมหะ ของมนุษย์ เรานั้นจะทำอย่างไร เพียงแต่ให้เบาบาง อย่าพูดคำว่าหมดกิเลส ตราบใดที่ยังเป็นมนุษย์ ตราบนั้นกิเลสตัณหายังต้องมีอยู่ในสังขาร ในสังสารวัฏ เพียงแต่อย่าให้ประมาท อย่ายึดในตน ให้รู้จักสังวรหนึ่ง ให้รู้จักสันโดษเพียงพอในตนที่มีอยู่หนึ่ง ถ้ามนุษย์ทั้งโลกยึดหลักแห่งการรู้สึกสังวรตน รู้จักสันโดษตนในขอบเขต ก็คิดว่าสันติสุขจะเกิดขึ้นได้

ภาวะขณะนี้ในโลกมนุษย์นั้นเป็นภาวะ “กลางกลียุค” ภาวะที่อยู่ในกลางกลียุคเช่นนี้ การที่จะรวมฝ่ายธรรมะให้อยู่อย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อนก็เป็นเรื่องที่ยาก แต่ปัญหาที่ว่ายากน่ะ ทุกอย่างในโลกมนุษย์มันไม่ยากเกินความสามารถของมนุษย์ที่มีความจริงใจในการที่จะประกอบความดี
คือ เราจะทำความดี เราควรจะยึดในคติที่ว่า

ทำความดีเพื่อความดี
ทำความดีเพื่อคนอื่น
ทำความดีเพื่อความสุขของส่วนรวม


สิ่งเหล่านี้
ถ้าทุกคนมีกระแสจิตเข้ามาอยู่ในกระแสนี้ ก็ย่อมจะทำให้เกิดสันติสุขได้ การที่จะเข้าสู่กระแสนี้ได้ อยู่ที่การเผยแพร่ การพูด การอ่าน ซึ่งเราจะเป็นการที่จะออกไปสู่มนุษย์โลก เป็นกระแส “ประชาชนพลังธรรม”

เมื่อทุกคนรู้ว่า ขณะนี้สยามประเทศอยู่ในภาวะที่อันตราย เมื่อท่านรู้ว่าอันตราย แต่ถ้าทุกคนมาท่องแต่อันตราย แต่ไม่รวมกันทางสันติ มันก็ไม่มีทางพ้น เช่นในการที่ท่านเป็นชาวพุทธ ท่านท่องแต่ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา ท่องแค่นี้ ถ้าท่านไม่ปฏิบัติในศีล ไม่ทำสมาธิ ปัญญานี้ก็ย่อมจะเกิดไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น

ท่านจะต้องแข่งกับอันตราย ด้วยการสละความสุขของตน เพื่อขจัดอันตรายให้เป็นไม่อันตราย นั่นเป็นหลักที่ท่านควรที่สังวร อย่าฟังแล้วก็ผ่าน แลครั้งเดียวก็ไม่แล นี่ก็เป็นการที่ไม่ดี ฉะนั้นอาตมาก็หวังว่า คงจะเป็นคติให้ท่านคิด แล้วมีอะไรอีกไหม


เลขาธิการ –
ภาวการณ์ของเขมรจะแตกนี้ จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไรบ้างครับ หลวงปู่ครับ

หลวงปู่ทวด –
คือ ผู้นำ ถ้าเขานำทัพเข้ามา ภาษาชาวบ้านก็ว่า เป็นผู้ที่มีความแค้นต่อผู้นำฝ่ายไทยในอดีต และก็เป็นการที่เขาใช้เครื่องมือของฝ่ายที่โลกมนุษย์เรียกว่า ฝ่ายคอมมิวนิสต์ ปัญหานี้เป็นปัญหาที่น่าคิด ถ้าเขาทำสำเร็จ ท่านก็ต้องใช้สมองคิดว่า มันมีอะไรเกิดขึ้นในแผนงานที่เขาทำอยู่ มันมีมือที่จะมาเสริมของเขา มีทหารเข้าไปมาก ทหารต่างชาติ

(เทศน์เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๘)

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๕

การบูชาครู



อาตมาในฐานะเป็นประธานรับผิดชอบสำนักปู่สวรรค์ ขออนุโมทนาในกุศลที่ท่านทั้งหลายได้จัดขึ้น คือ การบูชาครูบูรพาจารย์


การบูชาครูนั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกรูปทุกนามควรปฏิบัติ เพราะครูบาอาจารย์เป็นพ่อแม่คนที่สอง รองจากพ่อแม่ที่ให้กำเนิดแก่เรา ซึ่งสอนเราแค่การอยู่การกินการเดิน เรียกว่า เลี้ยงกายเนื้อและคอยดูแลเรา เมื่อเราเป็นเด็ก แต่พ่อแม่ที่ให้ปัญญา ให้ความรู้ ให้สมอง ให้เราเป็นคนนั้น เป็นพ่อแม่คนที่สองก็คือ ครู

เพราะฉะนั้น คนที่รู้จักบูชาครู รู้จักเคารพครู คนนั้นย่อมที่จะมีทางเจริญ ตามหลักของธรรมะถือว่า บูรพาจารย์เป็นผู้เลิศ เป็นผู้สร้างสรรค์ เป็นผู้ทำงานให้โลกเจริญ

ทีนี้ คนที่มาที่นี่มาจากปักษ์ใต้ก็มีมาก และบางคนถามว่า เหตุใดอาตมาจึงมาโลกมนุษย์ มนุษย์เรานี้การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ เมื่อเราเป็นโรคทั้งกายและใจด้วยแล้ว จะทำให้สมองไม่ดี


ทีนี้ การที่จะทำให้โรคภัยไข้เจ็บหายนี่ ตัวเราก็ต้องรู้จักรักษาตัวเรา อย่าให้อารมณ์ ๓ อย่างเข้าสิง อารมณ์ ๓ อย่างนี้ จะทำให้เราเป็นทั้งไข้กายไข้ใจและไข้อะไรๆ อีก ฉะนั้นเราต้องรักษาอารมณ์ของเรา คือ

อารมณ์ที่ ๑  อย่าให้มีตัวโทสะเกิดขึ้น
อารมณ์ที่ ๒  อย่าให้มีตัวโลภะเข้าแทรก
อารมณ์ที่ ๓  อย่าให้ตัวโมหะต้องกาย


ถ้าท่านรักษาอารมณ์ได้ โรคจะเข้ากายเราน้อยที่สุด ท่านก็จะมีสุขภาพที่ดีที่สุด และ
ขอให้ทุกคนอภัยซึ่งกันและกันในหมู่มนุษย์ และก็จะต้องมีความสามัคคีในหมู่มนุษย์ โดยคิดว่า ที่เราเกิดมานี้เท่ากับเรามาแลโลกที่เต็มไปด้วยความยุ่งยาก ให้มาใช้กรรม

ฉะนั้นวันนี้ผู้ที่มาด้วยใจและกายก็ดี ที่มาดูเล่นก็ดี ที่มาสังเกตการณ์ก็ดี ที่ไม่สามารถมาก็ดี ส่งกระแสจิตมาที่นี่ ทั้งเทพพรหมที่มาร่วมในพิธีนี้ อาตมภาพในนามประธานใหญ่สำนักปู่สวรรค์ขออนุโมทนา


ให้ท่านทั้งหลาย จงมีความสุขความเจริญ เทพพรหมที่อยากได้ฌานญาณสูงก็ให้ได้ฌานญาณนั้น มนุษย์ที่จะปฏิบัติให้ถึงธรรมก็ให้ได้ถึงธรรม ผู้ที่คิดว่าอดกินก็ให้มีกินจนเหลือกิน ขอให้สมปรารถนา แต่ไม่ใช่คิดในสิ่งไม่ดี คือให้ปรารถนาแต่สิ่งดี

เจริญพร

(เทศน์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๖)

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๖

โลกนี้ไม่มีใครยิ่งใหญ่กว่าใคร



ว่าตามความจริงของธรรมชาติของธรรมะแล้ว ไม่มีใครใหญ่ ต้องผลัดกันใหญ่ จึงจะเป็นส่วนรวมได้ และจะต้องรู้จักคำว่า “ใหญ่ที่ใด” เรียกว่ารู้จักในกาลเทศะ อย่างเช่น เราจะไปเรือ ในนั้นใครใหญ่ที่สุดในเรือท่านรู้ไหม นายท้ายเรือใหญ่ที่สุด เพราะชีวิตเราอาศัยอยู่กับเขา เขาเป็นคนขับเรือ เพราะฉะนั้นการที่วางตัวเป็นใหญ่ในสังคมก็ดี ในการเป็นใหญ่ในโลกมนุษย์ก็ดี ต้องรู้จักกาลเทศะ

เราอยู่ในบ้านใครใหญ่ บิดามารดาใหญ่ เราอยู่ในที่ทำงาน ผู้ร่วมงานเหนือเราใหญ่ เราอยู่ในโรงเรียน เราเป็นครูย่อมใหญ่กว่านักเรียน แต่ถ้าท่านดูให้ทั่วแล้ว ไม่มีใครใหญ่ ผลัดกันใหญ่ต่างที่ คือเทศะ ประเทศ ผลัดกันใหญ่ต่างกรรม คือการงานที่ทำ ต่างวาระ คือกาลเวลา ถ้าคนเรารู้จักใช้ความพิจารณา ก็ไม่เกิดการทะเลาะและอิจฉากัน

ทุกวันนี้โลกมนุษย์ยุ่งเหยิง ก็เพราะว่ามนุษย์ไม่พิจารณาในตัวตน ไม่คิดถึงการ “เป็นใหญ่” ว่าเป็นอย่างไร

ใหญ่ถูกที่ คือ ใหญ่ให้เหมาะกับสถานที่
ใหญ่ถูกกาลเทศะ คือ ใหญ่ให้เหมาะสมกับเวลา
วางตนถูกเทศะ คือ ให้เหมาะสมกับสถานที่
คำพูดต้องถูกกาลเทศะ คือ ให้เหมาะสมแก่เวลา


เพราะว่ามนุษย์เรานี่ คนพูดมีทัศนะอย่างหนึ่ง คนฟังก็มีทัศนะอีกอย่างหนึ่ง ย่อมไม่เหมือนกัน นานาจิตตัง คือ คนพูดมีเจตนาดี แต่คนฟังเข้าใจในทางเจตนาร้ายก็ได้ เพราะว่าคนฟังมีอกุศลและกิเลสติดอยู่ในตน คือ มีอกุศลอารมณ์เกลียดคนๆ นั้นอยู่ ก็ย่อมปรุงใจไปสู่ทางที่ไม่ดี ในทางที่ผิด แต่ถ้า
คนฟังมีเจตนารมณ์รักใคร่คนพูด มีเจตนาบริสุทธิ์ต่อคนที่พูด คำพูดของคนนั้น ถึงแม้จะเป็นคำพูดที่ไม่ดี ก็แปรเจตนานั้นไปในทางที่ดีก็ได้ นี่คือเรื่องของอารมณ์มนุษย์

ในการที่เราจะทำงานใหญ่ เราจะต้องวางตนให้ใหญ่ถูกที่ถูกกาลเทศะ คนเราถ้าพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว โลกนี้ไม่มีอะไรใหญ่ เพราะสรรพสัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นผู้มีกรรมพัวพันกันในอดีต แผ่นดินนี้ไม่มีขอบเขตกั้น ถ้ามนุษย์ไม่แบ่งกัน ทุกคนที่เกิดเป็นมนุษย์ก็ไม่มีขอบเขต ไม่แบ่งเป็นประเทศ ทุกคนเป็นสัตวโลกที่เกิดมาใช้กรรม ถ้าทุกคนพิจารณาให้ซึ้งถึงธรรมะอันแท้จริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธโคดมแล้ว ความสันติสุขย่อมเกิดขึ้นในโลกมนุษย์

แต่ทุกวันนี้ ความสันติสุขในโลกมนุษย์ไม่มี เพราะว่าทุกคนไม่ยอมพิจารณาให้ถ่องแท้ในธรรมะว่า ความจริงนั้นสัตวโลกทุกคนมีกรรมพัวพันกันมา ไม่ว่าจะเกิดเป็นฝรั่งเป็นจีนหรือเป็นพวกแขก หรือชาติอะไรก็แล้วแต่ ก็ล้วนแต่เกิดเป็นคนเพื่อมาใช้กรรมทั้งสิ้น ขอบฟ้านี้ไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก ยิ่งยุคนี้เป็นยุคก้าวหน้า มีนกเหล็กบินได้ บินประเดี๋ยวเดียวก็ถึงประเทศโน้นประเทศนี้ ไม่เห็นมีอะไรมากั้นเขตแดนว่าเป็นประเทศใด เพียงแต่มาสมมุติกัน มาแบ่งกัน มาถือกัน มาอวดทิฐิกัน จึงเกิดความยุ่งยากขึ้นในโลกมนุษย์

เพราะฉะนั้นการเป็นคน ท่านจะต้องรู้จักการพิจารณาตน ท่านต้องรู้จักจับอารมณ์ แล้วจะไม่มีอะไรที่น่าติดน่ายึด ที่คนอื่นเขาว่าเรา ถ้าคนฟังมีสมอง เขาก็จะต้องคิดว่า คนที่ว่าคนนี้ใช้ไม่ได้เพราะอะไร เพราะว่าคนดีเขาไม่เที่ยวด่าคน นี่เป็นหลักความจริง และคนที่มีสมองมีความคิด เขาจะต้องมีความรู้สึกนึกคิดว่า คนๆ นี้พอลับหลังก็ว่าคนนี้คนนั้นได้ ถ้าเราฟังเขาว่า เราเชื่อเขา หลังจากที่เขาจากเราไป เขาไปเจออีกคนหนึ่ง เขาจะไม่ด่าเราหรือ นี่สำหรับคนที่มีปัญญา ปัญญาของการเป็นคน แต่ถ้า “ปัญญาที่ไม่ได้เป็นคนแล้ว” ก็ถือคำด่า ถือคำชม เป็นหลัก

เพราะฉะนั้นผู้ที่มาในสถานที่นี้ควรทราบว่า อาตมาเป็นประธานที่เขาเรียกว่า “เป็นประมุขของสำนักปู่สวรรค์” อาตมาใช้คำว่า “นิ่งเสียพระโพธิสัตว์” เป็นตัวอย่าง เมื่อเราจะมาเป็นศิษย์พระโพธิสัตว์กันแล้ว ก็ควรจะมี “จิตแห่งความนิ่ง” เสียบ้าง คือไม่มีการถืออารมณ์ใดๆ เป็นหลัก อารมณ์ของการชมไม่ใช่เป็นสิ่งที่ดี คำชมหรือคำด่าก็จับออกมาดูไม่ได้ เพียงแต่เป็นอารมณ์ของอายตนะที่ผ่านไป ว่าเป็นคำชมหรือคำด่า


เพราะฉะนั้นคำสรรเสริญหรือคำนินทา ถ้าเราไม่ยึดคำสรรเสริญหรือคำนินทาเป็นหลัก เราก็มีความสงบของจิตได้ เมื่อจิตสงบได้ดีก็เกิดประภัสสร เมื่อเกิดประภัสสรก็เกิดปัญญา ปัญญาที่ดีก็ทำให้จิตอิ่มเอิบ ก็ทำให้ร่างกายผ่องใส ไม่มีทุกข์ไม่มีร้อน

ดังที่ทุกวันนี้เกิดความทุกข์ความร้อน ก็เพราะมนุษย์ไปยึดโน่นยึดนี่ ยึดพวกยึดพ้อง ยึดหมู่ยึดคณะ ยึดประเทศเป็นสรณะ โดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรม ถ้าเป็นอาตมาแล้วมีความเห็นว่า สากลจักรวาลโลกมนุษย์นี้ ทุกคนมีกรรม จึงมาเกิดเป็นสัตวโลก สัตวโลกทุกคนจะต้องใช้กรรมตามวาระตามกรรม ถ้าทุกคนจะถืออารมณ์ ก็เกิดจากการเข่นฆ่า เกิดการฆ่าฟันกัน เพราะอารมณ์แห่งการยึดอายตนะ

สิ่งเหล่านี้แหล่ มนุษย์ไม่สอนไม่พูดไม่พิจารณากัน จึงทำให้เกิดความฟุ้งซ่านขึ้นในโลกมนุษย์มากขึ้น ฉะนั้นท่านที่จะมาเป็นสาวกของอาตมา เป็นสานุศิษย์สำนักปู่สวรรค์ซึ่งอาตมาเป็นประธานอยู่นี้ ท่านจะต้องมีอารมณ์นิ่งเสียบ้าง แล้วจะดี ถ้าท่านไปติดในคำนินทา ติดพรรคพวก ติดหมู่คณะ ติดอะไรต่างๆ จะมีความสำเร็จความสามัคคีของงานไม่ได้ ในโลกนี้ ถ้าไม่มีการพูดกัน ก็ยิ่งแคลงใจกันมาก นี่เป็นธรรมดาของโลก

แม้แต่ศัตรูของเราก็ดี ถ้าเราเข้าไปคุยกับศัตรูด้วยการยิ้มแย้มแจ่มใสและด้วยความบริสุทธิ์ของจิต ศัตรูคู่อริก็จะกลายเป็นมิตรได้ นี่เป็นธรรมดาของธรรมชาติที่คนติดอารมณ์ แต่ถ้าท่านถือหลักแห่งความจริงของธรรมชาติแห่งธรรมะแล้ว ย่อมไม่ติดอารมณ์ เมื่อท่านไม่มีอารมณ์ยึดคำว่า “สรรเสริญ นินทา” ก็ไม่เห็นมันโผล่ออกมาให้ดูว่า “นี่เป็นคำสรรเสริญ นี่เป็นคำนินทา” เพียงแต่เป็นอารมณ์ที่มากระทบอายตนะหูเท่านั้น

อารมณ์อันนี้เกิดจากอารมณ์ฝ่ายตรงข้ามที่อยู่ภายในแสดงออกทางปาก มากระทบหูของเราให้เราฟัง เมื่อเราฟังแล้วเก็บมาปรุงก็เกิดความฮึกเหิม ถ้าเราไม่ปรุงก็จะสบายใจ เพราะฉะนั้น ถ้าอยากเป็นคนที่มีอายุวรรณะ ผิวพรรณผ่องใส ก็อย่าไปถืออารมณ์ของคนอื่นมาปรุง จะต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า สิ่งใดทำไปแล้วสัตวโลกมีความสุข สิ่งนั้นควรทำ นี่คือหลักความจริงของธรรมะ

อาตมาไม่อยากเทศน์ เพราะว่าเทศน์ไปแล้วก็เสีย เพราะเทศน์ไปแล้วก็อย่างนั้น มนุษย์ยังยึดกันมาก


“แม่น้ำ ทะเล มหาสมุทร ไม่มีที่สิ้นสุดของน้ำฉันใด กิเลสตัณหาของมนุษย์ ก็ย่อมไม่มีที่สิ้นสุดฉันนั้น”


“ภูเขาถูกมนุษย์ทำลายลงมาได้ แต่สันดานของคนเราที่นอนนิ่งอยู่ในก้นบึ้ง ซึ่งไม่เหมือนกัน ย่อมขัดเกลาให้ดีเหมือนกันได้ยาก”


เพราะฉะนั้นเมื่อพระพุทธองค์ทรงสอนธรรมะในชมพูทวีป พระองค์ตรัสว่า พระองค์กลัวคนที่มีอนุสัยสันดานเดิมที่นอนนิ่งเกาะกินอยู่มาเป็นกัปกัลป์แห่งชาติ ซึ่งสัตวโลกย่อมไม่เหมือนกัน ย่อมมีกรรม ย่อมมีภาวะ ย่อมมีอะไรต่างๆ เฉพาะตน เพียงแต่ว่าเขายอมพิจารณาตัวเอง ขัดเกลาสันดานของตัวเองหรือไม่


เพราะว่าสันดานนี่นะ ให้ใครขัดเกลาไม่ได้ เปรียบเสมือนหนึ่งคนที่ท้องหิว ไม่มีใครรู้ว่าท่านหิว ต้องตัวท่านเองจึงจะรู้ว่าหิว เมื่อตัวท่านรู้ว่าท่านหิว แต่ท่านไม่อ้าปาก เขาใส่ข้าวไปในปากของท่านได้ไหม ฉันใดก็ฉันนั้น

เพราะฉะนั้นเรื่องสันดานของคน จึงเป็นเรื่องที่แก้ยาก ตามพุทธพจน์ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่า พระองค์ไม่กลัวสัตว์ดุร้าย พระองค์ไม่กลัวมหาโจร พระองค์ไม่กลัวคนเคยชิน พระองค์ไม่กลัวสตรี แต่พระองค์กลัวคนที่มีสันดานเดิมที่นอนนิ่งเกาะกินอยู่มาเป็นกัปกัลป์แห่งชาติ

เพราะฉะนั้นผู้ที่จะดัดสันดานเดิมของตนที่ไม่ดี จะต้องหมั่นพิจารณาตนเอง จึงจะได้ผลและดัดสันดานที่ไม่ดีได้


เจริญพร

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๗

การเป็นผู้ใหญ่กับกรรมตามสนอง



วันนี้อาตมาขอเทศน์เรื่องการเป็นผู้ใหญ่กับกรรมตามสนอง ผู้ใหญ่ไม่ใช่อยู่ที่เกิดก่อน ผู้ดีไม่ใช่อยู่ที่เรียนสูง มารยาทจรรยาของการเป็นผู้ใหญ่ก็คือ ต้องสุขุมรอบคอบและจะต้องไม่ยึดติด “เสียง” เป็นหลัก

“เสียง” นี่ไม่มีตัวตน แต่เสียงสามารถทำให้มนุษย์ฆ่ากันได้ เสียงสามารถทำให้มนุษย์รักกันได้ ถ้ามนุษย์ผู้ใดคิดจะทำงานเพื่อส่วนรวมก็ดี จะอวดตนเป็นผู้ใหญ่ก็ดี ควรจะต้องไม่ติด “เสียง” เป็นจุดแรกก่อน

การเป็นผู้ดีจะต้องมีสัจจะ ไม่กล่าวร้ายบุคคลที่สามลับหลัง เช่น นาย ก. เป็นผู้ใหญ่ ได้ยินนาย ข. มาพูดเรื่องนาย ค. ให้ฟัง นาย ก. จะต้องคิดทันทีว่า นาย ข. นี้ เป็นบุคคลเช่นไร นาย ก. จะต้องมีความสำนึกว่าหากนาย ข. เป็นผู้ดี เขาควรจะต่อว่านาย ค. โดยที่คนๆ นั้นอยู่ต่อหน้า ไม่ใช่คนๆ นั้น
ไม่มีโอกาสพูด ไม่มีโอกาสแก้ตัว

โลกทุกวันนี้ยุ่งยาก ก็เพราะมนุษย์ที่อวดตนหรือยกตน ยังไม่มีจรรยาในการ “พิจารณาตน” ถ้าสัตวโลกอยู่กันอย่างไม่ยึดสิ่งใดเลย โลกนี้ย่อมสงบ ท่านต้องเข้าใจว่า “การให้ทุกข์เขานั้น ทุกข์นั้นถึงตัวท่านเองแน่นอน” นี่เป็นหลักความจริง

สมัยเมื่ออาตมามีสังขารอยู่ปัตตานี ในระยะเริ่มแรกสร้างวัดช้างให้ มีแขกมลายูคนหนึ่งมาบวชอยู่ในวัดของอาตมา แขกมลายูคนนี้ไม่รู้ภาษาสยาม รู้แต่ภาษามลายู ทีนี้เมื่อรู้แต่ภาษามลายู จะสอนให้สวดมนต์ก็ดี จะสอนการอ่านก็ดี ย่อมทำไม่ได้


อาตมาจึงบอกเขาว่า ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ต้องสวดมนต์ละ ท่องเพียงสองคำก็พอ คือ “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว” แขกคนนั้นที่อยู่ในปกครองของอาตมา ตื่นเช้าขึ้นมาก็ออกบิณฑบาตตามปกติ กลับมาก็นั่งท่องแต่คำว่า “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว” “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว”

มีแขกมลายูด้วยกันเป็นพวกเลี้ยงแพะ เลี้ยงแกะ มาเที่ยวที่วัดบอกว่า พระองค์นี้มันพูดอะไรของมันไม่ทราบ ท่องแต่ “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว” “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว” แขกคนนี้ไม่นับถือศาสนาพุทธ แต่รู้ภาษาไทยดี ก็บอกว่าไม่จริง “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นไม่ถึงตัวหรอก” จึงตั้งใจพิสูจน์คำว่า “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว” จริงหรือไม่


วันหนึ่งได้ไปทำโรตีแบบที่ทางปักษ์ใต้เขาชอบกินกันสมัยนั้น คือโรตีแบบแขก แล้วใส่ยาพิษลงไปด้วย นำไปใส่บาตร พระมลายูที่ท่อง “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว” บังเอิญเจ้ากรรมวันนั้น พระมลายูองค์นี้บิณฑบาตได้อาหารมามาก แล้วก็ฉันอิ่ม จึงนำโรตีสองชิ้นที่แขกนั้นใส่บาตรไปเก็บเอาไว้


ส่วนคนที่ต้องการพิสูจน์คำว่า “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว” มีลูกอยู่สองคน พอเที่ยงก็หิ้วข้าวมาส่งให้พ่อซึ่งเลี้ยงวัวอยู่ในแถบวัดนั้นกิน แถวนั้นมันเป็นโคกโพธิ์ ด้านขวามีภูเขาน้อยๆ เด็กทั้งสองเดินเที่ยวไปถึงกุฏิของพระที่ท่อง “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว”  

พระองค์นี้เห็นว่า เด็กทั้งสองนี้น่ารัก บัดนี้มันก็เลยเพลแล้ว โรตีที่เก็บไว้ก็จะเสียเปล่า จึงนำเอาโรตี ๒ แผ่น ที่พ่อเด็กเขาใส่ยาพิษที่จะให้พระนี้ฉัน ให้เด็กทั้งสองคนนั้นกิน เด็กสองคนนั้นกินแล้วก็กลับไปถึงบ้านก็ป่วยทันที ครั้นใกล้จะตาย พ่อถามว่า “เมื่อเจ้าเอาข้าวไปส่งให้พ่อน่ะ เจ้าไปกินอะไรหรือเปล่า” ลูกสองคนนั้นบอกว่า ไปที่กุฏิพระองค์หนึ่งที่เป็นชาวมลายูด้วยกัน เห็นท่องแต่ “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว” เห็นว่าแปลก ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ท่องแต่คำคำนี้คำเดียว พระนั้นสงสารลูกได้ให้โรตีสองอันกิน

ในที่สุดผลแห่งการพิสูจน์ว่า “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว” ก็ปรากฏขึ้น เขาต้องการฆ่าพระองค์นั้น แต่กลับกลายเป็นฆ่าลูกสุดที่รักของเขาเอง เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องกลัว เรามีความบริสุทธิ์ เรามีความเที่ยงธรรม เรามีหลักขันติ สัจจะ บริสุทธิ์ เมตตา คุณธรรมเหล่านี้จะรักษาให้เราปลอดภัยทุกอย่าง

ทีนี้การเป็นคน ท่านยึดเสียงหรือไม่ ท่านยึดคำพูดดีหรือไม่ ถ้าท่านยังยึดสิ่งเหล่านี้แล้ว ท่านจะเป็นนักพรตที่ดีไม่ได้ ท่านจะเป็นนักบุญที่ดีไม่ได้ ท่านจะเป็นนักปกครองคนที่ดีไม่ได้ มนุษย์เราถ้ายังติดเสียง ติดคำชมและด่า มนุษย์นั้นยังมีใจไม่ถึงธรรม “สัจธรรมเป็นธรรมอันประเสริฐ”


ทำไมสำนักปู่สวรรค์ถึงยึดจุดนี้ เพราะว่าความจริงย่อมเป็นความจริง สิ่งที่เลวก็เป็นความจริงแห่งความเลว สิ่งที่ดีก็เป็นความจริงของความดี ที่จะกล่าวต่อไปในยุคต่างๆ ของมันเอง โดยไม่มีอะไรแปรเปลี่ยนไปได้ ธรรมชาติของโลกียะและโลกุตระมันเดินของมันเอง เราจะชนะความเลวด้วยความดี เราต้องมีอุเบกขา หมายถึง คิดว่าสิ่งนี้เราต้องทำ ไม่ใช่ทำเพื่อชื่อ ไม่ใช่ทำเพื่อความมีอำนาจ เมื่อท่านทำใจได้เช่นนี้ ท่านก็จะเป็นคนที่ดีได้และจะเป็นนักเสียสละที่ดีได้

ทีนี้ การที่เราจะให้คนอื่นเหมือนเราหมดย่อมไม่ได้ มนุษย์ต่างคนต่างเกิดมาในโลกนี้ มีกรรมวิบากของคนไม่เหมือนกัน เมื่อมีกรรมวิบากของคนไม่เหมือนกัน สิ่งแวดล้อมไม่เหมือนกัน มีคุณธรรมไม่เท่ากัน เราจะเอาใจของเราเป็นสรณะ ว่าที่เราทำนี้ถูก ทุกคนจะต้องว่าถูก เหมือนเรานั้นไม่ได้


ท่านเข้าใจคำว่า “นานาจิตตัง” คือ แต่ละคนมีความคิดของตนเป็นหลัก เราจะทำอะไร ควรมีความสุขุมรอบคอบ เราต้องคิดถึงคนอื่นว่า ทุกคนไม่เก่งเหมือนเรา ทุกคนไม่เหมือนเรา

ดังนั้นจำเป็นต้องมีอภัยทานเป็นสรณะ ถ้าไม่มีการให้อภัยเป็นหลัก เมื่อมนุษย์ผู้นั้นตายไป ก็จะมีแต่กิเลสตัณหาแห่งความยึดมั่นในตน จะมีแต่ความพยาบาทอาฆาตจองเวร เมื่อจิตไม่บริสุทธิ์ ย่อมเป็นทางนำไปสู่อบายภูมิ นี่คือหลักความจริงของโลกวิญญาณ

เพราะฉะนั้นอาตมาจึงไม่อยากจะเทศน์อะไรมาก เพียงแค่ขอให้เข้าใจว่า จงมีขันติ สัจจะ บริสุทธิ์ เมตตา จงตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมทุกๆ ประการ อย่าติดเสียง ไม่ว่าเสียงดีหรือเสียงไม่ดี อันตรายใดๆ จะทำอะไรท่านไม่ได้เลย

เจริญพร

(เทศน์เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๔ เวลา ๑๔.๔๕ น.)

‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-4-26 21:13 , Processed in 0.055646 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.