ป้ายวัดถ้ำตับเตา หน้าเชิงเขาถ้ำตับเตา วัดถ้ำตับเตา
ที่มาชื่อของวัดถ้ำตับเตา
ที่เรียกขานกันว่า วัดถ้ำตับเตา เป็นชื่อที่เรียกเพี้ยนมาจากคำว่า ตับเต้า คือหมายถึง ดับขี้เถ้า ที่เกิดจากการเผาไหม้ของป่าด้วยไฟ ทั้งนี้เมื่อเรียกกันนานๆ ก็เพี้ยนไปเป็น ตับเตา
คนในภาคอื่นไม่ทราบความหมายเรียกขานว่า ถ้ำตับเต่า ซึ่งมีความหมายไปอีกอย่างหนึ่ง คือตับของสัตว์ชนิดหนึ่ง ตับเตา เพี้ยนมาจากคำในภาษาพูดของคนในภาคเหนือที่ว่า ดับเต้า คือดับขี้เถ้า
----------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : อินทร์ศวร แย้มแสง ผู้ค้นคว้าเรียบเรียง. ประวัติวัดถ้ำตับเตา, หน้า ๑.)
ถ้ำตับเตา หรือ ถ้ำดับเถ้า
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้กล่าวว่า ถ้ำตับเตาแห่งนี้เป็นสถานที่ที่พระอรหันต์สมัยครั้งพุทธกาล ๒ รูป มาละขันธ์นิพพาน คือ พระภัคคุ และ พระกิมพิละ
ซึ่งทั้ง ๒ พระองค์ เป็นสองในกษัตริย์ ๖ พระองค์ คือเจ้าศากยราชกุมารที่ออกบวชพร้อมกัน ๖ พระองค์ ได้แก่ พระอนุรุทธะ พระอานนท์ พระภัคคุ พระกิมพิละ พระภัททิยะ พระเทวทัต -ภิเนษกรมณ์)
แม้กระนั้น หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ก็เคยจำพรรษาพิจารณาพระอภิธรรมปิฎกอยู่ที่ถ้ำตับเตา ๑ พรรษา และหลวงปู่จาม มหาปุญโญ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม ก็เคยภาวนาที่ถ้ำตับเตาแห่งนี้
----------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล...เกร็ดประวัติ และปกิณกธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ๔ จากหนังสือ "รำลึกวันวาน" หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก : http://www.dharma-gateway.com/mo ... mun-hist-06-04.htm. และธรรมะประวัติหลวงปู่จาม มหาปุญโญ : กลับเหนือเครือคร่าววัยธรรม ๔ ตอนที่ ๒๖๖. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก : http://www.dhammasavana.or.th/article.php?a=543. (วันที่ค้นข้อมูล : ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙))
ติดตามประวัติ พระภัคคุและพระกิมพิละ ได้ที่
http://www.dannipparn.com/thread-673-5-1.html
ประวัติวัดถ้ำตับเตา
ถ้ำตับเตา เป็นศาสนสถานโบราณนานนับเวลาหลายร้อยปีมานานแล้ว ตั้งอยู่ในเขตบ้านถ้ำตับเตา หมู่ที่ ๑๓ ตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณวัดมีเนื้อที่ดินประมาณ ๓๕ ไร่ มี ลำธารน้ำใสสะอาดไหลผ่านกลางบริเวณวัด ไหลจากหนองน้ำเล็กๆ ที่เกิดจากตาน้ำผุห่างไปทางด้านหลังถ้ำ ประมาณ ๑ กิโลเมตรเศษ
ตาน้ำผุและสระน้ำเล็กๆ นี้เกี่ยวพันกับตำนานของวัดถ้ำตับเตา วัดนี้ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาถ้ำตับเตา และเป็นภูเขาลูกหนึ่งในเทือกเขาที่กั้นเขตอำเภอไชยปราการกับอำเภอเชียงดาวทางทิศใต้และเป็นเทือกเขาหลายลูกสลับซับซ้อนกันกั้นเขตแดนไทยกับพม่าทางทิศตะวันตก
วัดถ้ำตับเตาจะสร้างในสมัยใด และใครเป็นผู้สร้างไม่ปรากฏแน่ชัด เพียงแต่สันนิษฐานเอาตามหลักฐานที่เป็นสิ่งก่อสร้างในวัด คือพระพุทธรูปไสยาสน์องค์ใหญ่ ขนาดความยาวไม่น้อยกว่า ๙ เมตร สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูนพอกด้วยยางไม้รักปิดทองในแบบศิลปะอยุธยา
ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ท่านสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ คราวเมื่อพระองค์ยกกองทัพเพื่อจะเข้าตีพม่าและตีเมืองตองอู ประมาณปี พ.ศ.๒๑๓๕ และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยกกองทัพหลวงไปทางเชียงดาวพักพลที่เมืองหาง ซึ่งในขณะนั้นเป็นเมืองในราชอาณาจักรไทย
และทราบจากปลัดอำเภออาวุโสคุณปลายมาศ พิรดาภา ว่า มีผู้เฒ่าอายุมากท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ก่อนนี้ถ้ำนี้มีป้ายเขียนบอกไว้ว่า ณ ถ้ำนี้เคยเป็นที่ประทับพักกองทัพของสมเด็จพระเอกาทศรถ
ท่านเจ้าอาวาสวัดถ้ำตับเตาสันนิษฐานเช่นนี้ว่า ด้วยเหตุผลที่พระพุทธรูปไสยาสน์องค์นี้เก่าแก่โบราณ ซึ่งคนโบราณแต่ละถิ่นแคว้นจะมีลักษณะศิลปะการก่อสร้างเป็นของตนเอง ถ้าสร้างโดยช่างฝีมือล้านนาไทย คงจะต้องมีลักษณะแบบล้านนา ถ้าสร้างแล้วก็คงมอบให้เจ้าเมืองฝางเป็นผู้อุปัฏฐากดูแลวัดแห่งนี้ และจะต้องเป็นวัดร้างมาหลายครั้งเพราะภัยสงคราม
จนกระทั่งมาถึงยุคสมัยรัตนโกสินทร์จึงได้มีการบูรณะสร้างใหม่ขึ้นอีกครั้งในสมัยเจ้าหลวงมหาวงศ์ เจ้าหลวงเมืองฝางคนที่ ๒ ยุคฝางคนล่าสุดนี้ประมาณปี พ.ศ.๒๔๓๔-๒๔๓๕ เพราะมีปรากฏในตำนานโยนกเชียงแสน เมืองฝาง ไชยปราการฯ ของคุณสงวน โชติสุขรัตน์ กล่าวว่า
เจ้าหลวงมหาวงศ์ ได้เดินทางมารับหน้าที่และมาพักที่ถ้ำแห่งนี้ (คงจะต้องบูชาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในถ้ำด้วย) และต่อมาก็ได้สั่งให้มีการบูรณะศาสนสถาน คือสร้างวัดพระบาทอุดมและวัดถ้ำตับเตา ทั้งสองแห่งเป็นแห่งแรกหลังจากร้างไปนาน
ก่อนที่เจ้าหลวงมหาวงศ์จะสั่งให้บูรณปฎิสังขรณ์สร้างวัดถ้ำตับเตาขึ้น ได้มีฝรั่งชาวนอร์เวย์ ชื่อ มร.คาร์ลบ็อก มาสำรวจธรรมชาติในล้านนาไทยเข้ามาพักที่เมืองฝาง สมัยเจ้าหลวงสุริโยยศ เจ้าหลวงที่มาแผ้วถางก่อสร้างเมืองฝาง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๒๔-๒๔๓๔
เขาบันทึกถึงความสำคัญของสถานที่นี้ไว้ว่า ถ้ำแห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญทางศาสนามามากกว่าร้อยปีขึ้นไป มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นพระนอน ก่อด้วยอิฐโบกปูนทาด้วยยางไม้และปิดทอง ชำรุดทรุดโทรมมาก ยางไม้และทองหลุดร่อนลงเป็นแห่งๆ รอบๆ พระนอนองค์ใหญ่นี้มีพระสาวกนั่งมากมายประนมมือฟังคำสวด (คงหมายถึงคำสอนเทศนามากกว่า)
ตรงมุมสุดของโถงถ้ำ มีพระพุทธรูปนั่งองค์ขนาดย่อมๆ ปางประทานพร ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงสุดของถ้ำใกล้ๆ มีบันไดไม้โทรมๆ พาดเพื่อให้คนเดินขึ้นไปถ้ำเล็กชั้นบนได้ นอกนั้นมีพระหินแกะขนาดต่างๆ ที่มีพระธุดงค์และพวกพ่อค้าเดินทางนำมาจากเขตไทยใหญ่นำมาถวายที่ถ้ำแห่งนี้
ตามบริเวณพื้นถ้ำมีเศษจีวรเก่าๆ หมอน เสื่อเก่า คนโทน้ำ ธูปเทียน และอื่นๆ ที่มีผู้นำมาบูชาสักการะ ตรงทางเข้าปากถ้ำมีคนมาสร้างตกแต่งไว้อย่างหยาบๆ ดูเก่าและนานใช้อิฐและปูนขาวสร้างเป็นประตูทางเข้าถ้ำตรงเหนือประตูมีหินแกะเป็นรูปนกยูง
มร.คาร์ลบ็อก กล่าวว่า ก่อนๆ นี้ คงเป็นพวกชาวไทใหญ่มาสร้างเป็นศาสนสถาน เพราะการที่สลักรูปนกยูงนั้น เป็นสัญลักษณ์ที่ชาวไทใหญ่และพม่าใช้ในพิธีสำคัญ เขาเล่าว่า คนเมืองฝางได้บอกว่าพวกชาวเงี้ยวนับถือถ้ำนี้มาก พวกพ่อค้ามาจากต่างแดนในเขตไทใหญ่มาค้าขายในล้านนาก็ดี พวกพ่อค้าชาวล้านนาไทยเดินทางไปค้าขายในเขตไทใหญ่ก็ดี ล้วนแต่ต้องเดินทางผ่านมาทางนี้ และจะเข้าแวะนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในถ้ำนี้
จากคำบอกเล่าของเขาทำให้เราทราบว่า วัดถ้ำตับเตาคงสร้างมานานเป็นร้อยๆ ปี และเป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา และถือกันว่าเป็นสถานที่เจ้าเมืองที่เดินทางมาปกครองเมืองฝาง หรือเดินทางไปราชการยังเมืองเชียงใหม่ต้องเดินทางผ่านมาทางนี้ พักที่นี้ต้องสักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในถ้ำเสมอ
บรรดาพระพุทธรูปทั้งใหญ่และเล็กในถ้ำตับเตาตามที่บรรยายมาแล้ว ยังมีพระพุทธรูปไม้แกะองค์สูงประมาณเมตรเศษอีกจำนวนมาก ที่สำคัญคือยังมีสถูปเจดีย์องค์ขนาดย่อมๆ มีลวดลายปูนสวยงามมาก แต่มีรอยถูกเจาะเอาปูนสมัยใหม่มาโบกปิดตรงรอยเจาะ สังเกตปูนที่มาปิดทับนั้นเก่าประมาณ ๓๐ ปีเศษ
สิ่งที่ขาดหายไปจากถ้ำตับเตา คือพระปางประทานพรที่มร.คาร์ลบ็อกกล่าวถึง หินแกะสลักรูปหนุมานและรูปนกยูง ตลอดจนหินจารึกด้วยอักษรโบราณที่ยังไม่มีใครอ่านออกได้เป็นที่น่าเสียดายยิ่งนัก ตลอดจนรูปปั้นพระสาวกรอบๆ องค์พระนอนก็ถูกทำลาย ที่เห็นเดี๋ยวนี้ก็ทราบจากเจ้าอาวาสว่าปั้นขึ้นใหม่แทนองค์เดิม วัดถ้ำตับเตาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๒
สิ่งสำคัญในถ้ำตับเตา
สิ่งสำคัญในถ้ำที่ยังคงเหลือจากมนุษย์ใจบาปที่ลักขโมยไป ได้แก่ พระไสยาสน์ พระเจ้าตนหลวง พระเจ้าทันใจ สถูปเจดีย์เก่าแก่สวยงาม พระพุทธรูปหินอ่อนขนาดกลางๆ ไม่กี่องค์ พระพุทธรูปไม้แกะขนาดเมตรเศษ
ในส่วนลึกของถ้ำมีเจดีย์องค์หนึ่ง ลึกเข้าไปในถ้ำมืดประมาณ ๕๐๐ เมตร เป็นเจดีย์เปียกชุ่มและนิ่ม ผู้เข้าไปสักการะมักเอาเหรียญเงินแถบ (รูปี) เหรียญบาทสตางค์แดง เหรียญโบราณต่างๆ ติดองค์เจดีย์มีแอ่งน้ำตื้นๆ ถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ชำระบาปได้
ลักษณะของถ้ำตับเตา
วัดถ้ำตับเตา แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ดังนี้
๑. ถ้ำแจ้ง เป็นห้องโถงถ้ำกว้างใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ พระเจ้าตนหลวง สถูปเจดีย์ และพระพุทธรูปไม้แกะสลัก พระหินแกะ พระพุทธรูปองค์เล็กองค์น้อย มีโพรงที่ลอดไปยังถ้ำขนาดเล็กที่เรียกว่า ถ้ำเสบียง ซึ่งอยู่ติดไปทางทิศตะวันออกติดกัน
๒. ถ้ำมืด อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตก มีลานหินแคบๆ เป็นทางเดินจากหน้าถ้ำแจ้งไปยังถ้ำมืดได้ ถ้ำมืดนี้มีลักษณะเป็นโพรงชอนลึกเข้าไปในภูเขา ภายในมีหินงอกหินย้อยสองข้างทางเหมือนฉากท้องพระโรงงดงามมาก มีความลึกเข้าไปประมาณ ๕๐๐ เมตร
ก้นถ้ำมีเจดีย์เปียกดังกล่าวมานานแล้ว ถ้ำมืดนั้นสมัยก่อนต้องอาศัยคบเพลิงหรือตะเกียงเจ้าพายุส่องให้แสงสว่าง เพราะไม่มีแสงอาทิตย์ส่องถึง ปัจจุบันทางวัดได้เดินสายไฟโยงไปตามที่ต่างๆ ในถ้ำแล้ว (ติดต่อขอเข้าชมถ้ำมืด ทำบุญค่าเปิดไฟฟ้า ๑๐๐ บาท ต่อคณะ)
รายนามลำดับเจ้าอาวาสวัดถ้ำตับเตา
วัดถ้ำตับเตาได้มีเจ้าอาวาสปกครองดูแลพัฒนาปรับปรุงต่อเนื่องกันมาหลายรูป เท่าที่ทราบชัดเจนในยุคหลังดังนี้
๑. หลวงพ่อประภา พ.ศ.๒๔๕๐
ท่านมีเชื้อเจ้าลาว เรียกว่า สมเด็จประภา ขณะที่ท่านมาอยู่เป็นเจ้าอาวาสนั้น มีลูกศิษย์ตามมาด้วยรูปหนึ่งเป็นภิกขุ ชื่อ แก้ว ซึ่งได้เป็นกำลังช่วยเหลือในการบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างพระตนหลวง ซึ่งมีศิลปะแบบล้านนา
ต่อมาพระลูกศิษย์รูปนี้คือ หลวงปู่แก้ว สุทโธ ต่อมาท่านได้ย้ายไปอยู่ที่วัดพระธาตุดอยโมคคัลลานะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ (ติดตามประวัติวัดพระธาตุดอยโมคคัลลานะ ได้ที่ http://www.dannipparn.com/thread-873-1-2.html)
๒. พระครูวรเวทย์วิสิฐ (ครูบาธรรมชัย ธมฺมชโย) พ.ศ.๒๔๙๒
ท่านได้สร้างวิหารพระนอนในถ้ำ ตลอดจนพัฒนาบูรณปฏิสังขรณ์สิ่งปลูกสร้างวัตถุต่างๆ เช่น รูปปั้นพระสาวกล้อมรอบพระพุทธไสยาสน์หลายสิบองค์ สร้างที่พักสงฆ์ สร้างศาลา สร้างสถานที่พักสำหรับประชาชน พัฒนาซ่อมแซมถนนเข้าสู่ถ้ำระยะทาง ๔ กิโลเมตร เป็นระยะเวลา ๕ ปี สิ้นเงินไปถึง ๑๔๓,๙๐๐ บาท ต่อมาท่านได้ย้ายไปอยู่ที่วัดทุ่งหลวง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
๓. พระครูมงคลรัตน์ (ครูบาสิทธิ อภิวัณโณ) พ.ศ.๒๔๙๗
ท่านมาอยู่จำพรรษาที่วัดถ้ำตับเตาไม่นานนัก ต่อมาท่านได้ย้ายไปอยู่ที่วัดปางต้นเดื่อ (ดอยลาง) อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
๔. พระครูโสภณเจติยาราม (เจ้าคณะอำเภอฝางในขณะนั้น) พ.ศ.๒๕๐๐
ท่านเป็นเจ้าอาวาสเพื่อดำเนินการบูรณะวัดถ้ำตับเตาแห่งนี้ โดยสร้างบันไดขึ้นถ้ำจากพื้นราบขึ้นไป เพราะเดิมไม่มีบันได ใครจะเข้าถ้ำต้องปีนเขาขึ้นไป
๕. พระครูวิทิตธรรมรส (อดีตเจ้าอาวาสวัดพระบาทอุดม) เป็นเจ้าอาวาสวัดถ้ำตับเตา พ.ศ.๒๕๑๒
ท่านได้สร้างกุฏิสงฆ์ในบริเวณด้านหน้าวัด
๖. พระครูประดิษฐ์พรหมคุณ (หลวงปู่บุญเย็น ฐานธมฺโม) (อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าไม้แดง (พระเจ้าพรหมมหาราช))
ท่านเป็นเจ้าอาวาสได้สร้างกำแพงด้านหน้าวัดและสร้างซุ้มประตู
๗. พระอาจารย์บุญช่วย ฐิตสาโร พ.ศ.๒๕๒๔-๒๕๔๐
ท่านเป็นเจ้าอาวาสได้สร้างบันไดขึ้นถ้ำใหม่แทนบันไดเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม และทำการบูรณะในถ้ำด้วยการเทปูนปูพื้นที่ด้วยกระเบื้อง สร้างศาลาอเนกประสงค์และเสนาสนะสงฆ์อื่นๆ
๘. พระอาจารย์ศิลปะชัย ญาณโว พ.ศ.๒๕๔๑-ปัจจุบัน
ท่านเป็นเจ้าอาวาสได้เริ่มทำการสร้างบูรณะกุฏิสงฆ์ด้านฝั่งตะวันออกของลำธารและด้านหลังถ้ำ พัฒนาสถานที่ให้น่าดูและสวยงาม
----------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : อินทร์ศวร แย้มแสง ผู้ค้นคว้าเรียบเรียง. ประวัติวัดถ้ำตับเตา, หน้า ๑-๘.)
ภาพวาดพระครูประดิษฐ์พรหมคุณ (หลวงปู่บุญเย็น ฐานธมฺโม) (อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าไม้แดง (พระเจ้าพรหมมหาราช)) อดีตเจ้าอาวาสวัดถ้ำตับเตา
พระภิกษุสงฆ์ผู้ที่ถือกำเนิดมาเพื่อพัฒนาสร้างสรรค์คุณประโยชน์อย่างมากมายต่อมวลมนุษย์โดยยึดถือคติธรรมที่ว่า “เมตตาค้ำจุนโลก”
ภาพถ่ายพระอาจารย์บุญช่วย ฐิตสาโร อดีตเจ้าอาวาสวัดถ้ำตับเตา (พ.ศ.๒๕๒๔-๒๕๔๐)
ภาพถ่ายพระอาจารย์บุญช่วย ฐิตสาโร อดีตเจ้าอาวาสวัดถ้ำตับเตา (พ.ศ.๒๕๒๔-๒๕๔๐)
ถวายภาพโดย ร.ต.ต.นเรศ ฉุยฉาย พร้อมครอบครัว
|