แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

อนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓๙   

ประวัติพระอุบาลีเถระ

3.png



ท่านพระอุบาลี เป็นบุตรแห่งนายช่างกัลบก ในนครกรุงกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อว่า อุบาลี เมื่อเจริญวัฒนาแล้ว ได้เป็นผู้เลื่อมใส เจริญพระหฤทัยแห่งเจ้าในศากยวงศ์ ๕ พระองค์ ได้รับตำแหน่งเป็นนายภูษามาลาแห่งเจ้าศากยวงศ์นั้น ฯ

ครั้นพระบรมศาสดาเสด็จมาโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์แล้ว เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปประทับอยู่ที่อนุปิยนิคมอัมพวนารามของมัลลกษัตริย์ ฯ

ครั้งนั้นศากยกุมาร ๕ พระองค์ คือ ภัททิยะ ๑ อนุรุทธะ ๑ อานันทะ ๑ ภัคคุ ๑ กิมพิละ ๑ เป็น ๖ ทั้งเจ้าในโกลิยวงศ์คือ เทวทัต เสด็จออกจากพระนครด้วยจาตุรงคเสนา เพื่อจะออกบวชในพระพุทธศาสนา อุบาลีผู้เป็นนายภูษามาลาได้ติดตามออกไปด้วย พากันเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่อนุปิยนิคม แคว้นมัลละ ทูลขออุปสมบท

ก่อนแต่จะอุปสมบท พวกเจ้าศากยะเหล่านั้น ได้ทูลขอให้พระองค์บวชอุบาลีผู้เป็นภูษามาลาก่อน พระองค์ก็ได้โปรดให้บวชอุบาลีก่อน เมื่อพระอุบาลีอุปสมบทแล้ว ได้ฟังพระกรรมฐานที่พระบรมศาสดาทรงสั่งสอน ท่านไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญความเพียร ไม่ช้าก็ได้สำเร็จพระอรหัต ฯ

ท่านได้ศึกษาทรงจำพระวินัยปิฎกแม่นยำชำนิชำนาญมาก เป็นผู้สามารถจะนำเรื่องราวอะไรซึ่งเกี่ยวด้วยพระวินัยเป็นอย่างดี ข้อนี้พึงเห็นตัวอย่างที่ท่านได้รับพระพุทธานุญาตให้เป็นผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ ๓ เรื่อง คือ ภารตัจฉกวัตถุ ๑ อัชชุกวัตถุ ๑ กุมารกัสสปวัตถุ ๑ ฯ

ด้วยเหตุนี้ ท่านพระอุบาลีจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทรงไว้ซึ่งพระวินัย ฯ

ภายหลังเมื่อพระบรมศาสดาปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปะกระทำสังคายนาพระธรรมวินัย ท่านได้ถูกสงฆ์สมมติให้เป็นผู้วิสัชนาพระวินัยปิฎกด้วย เพราะท่านเป็นผู้มีความสามารถในเรื่องนี้ เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔๐   

ประวัติพระภัททิยเถระศากยราชา

3.png



ท่านพระภัททิยศากยะ เป็นพระโอรสของพระนางศากิยกัญญาผู้พระนามว่า กาฬีโคธาราชเทวี ในกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระนามว่า ภัททิยราชกุมาร เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้เสวยราชสมบัติสืบศากยวงศ์ ต่อมาภายหลังอนุรุทธกุมารผู้สหายได้มาชักชวนให้ออกบรรพชา ในขั้นต้นภัททิยราชกุมารไม่พอใจจะออกบวชด้วย ผลที่สุดก็จำเป็นต้องยอมบวช จึงได้ไปทูลลาพระมารดาสละราชสมบัติ


เสด็จออกไปเฝ้าพระศาสดาที่อนุปิยนิคม แคว้นมัลละ พร้อมด้วยพระราชกุมาร ๕ องค์ คือ อนุรุทธะ ๑ อานันทะ ๑ ภัคคุ ๑ กิมพิละ ๑ เทวทัต ๑ เป็น ๗ กับทั้งอุบาลีผู้เป็นนายภูษามาลา ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย ฯ  

ครั้นพระภัททิยะได้อุปสมบทแล้ว เป็นผู้ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรสมณธรรม ไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในพรรษาที่บวชนั้น ฯ เมื่อท่านได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใดๆ คือ ในป่าก็ดี อยู่ใต้ร่มไม้ก็ดี อยู่ในที่ว่างจากเรือนแห่งอื่นๆ ก็ดี มักเปล่งอุทานในที่นั้นว่า “สุขหนอๆ” ดังนี้เสมอ ฯ


ภิกษุทั้งหลายได้ยินได้ฟังเช่นนั้นแล้ว จึงนำความไปกราบทูลพระบรมศาสดาว่า ท่านพระภัททิยะเปล่งอุทานอย่างนี้ คงจะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ มัวนึกถึงสุขในราชสมบัติเป็นแน่ ไม่ต้องสงสัย

พระบรมศาสดาจึงรับสั่งให้หาพระภัททิยะมา และตรัสถามว่า ภัททิยะ ได้ยินว่าท่านเปล่งอุทานอย่างนั้นจริงหรือ ? จริงพระเจ้าข้า ฯ ท่านเห็นอำนาจประโยชน์อย่างไร จึงได้เปล่งอุทานอย่างนั้น ฯ


ท่านพระภัททิยะกราบทูลว่า เมื่อก่อนข้าพระพุทธเจ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ต้องจัดการรักษาป้องกันทั้งภายในวังและนอกวัง ทั้งภายในเมืองและนอกเมืองตลอดทั่วราชอาณาเขต ข้าพระพุทธเจ้าแม้มีคนรักษาตัวอย่างนี้แล้วยังต้องหวาดกลัวรังเกียจสะดุ้งอยู่เป็นนิตย์

เดี๋ยวนี้ข้าพระพุทธเจ้าแม้อยู่ในป่าอยู่ในร่มไม้ แม้จะอยู่ในที่ว่างจากเรือนแห่งอื่นๆ ไม่กลัวแล้ว ไม่หวาดแล้ว ไม่รังเกียจแล้ว ไม่สะดุ้งแล้ว ไม่ต้องขวนขวาย มีขนตกเป็นปกติ ไม่ลุกชันเพราะความกลัว อาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้เลี้ยงชีวิต มีใจดุจมฤคอยู่

ข้าพระพุทธเจ้าเห็นอำนาจประโยชน์อย่างนี้ จึงเปล่งอุทานอย่างนั้น ฯ พระบรมศาสดาทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทาน ชมเชยขึ้นในเวลานั้น ฯ ท่านพระภัททิยะนั้นเกิดในตระกูลกษัตริย์ จัดว่าอยู่ในตระกูลสูง ทั้งท่านก็ได้เป็นกษัตริย์เสวยราชสมบัติแล้วด้วย ถึงอย่างนั้นก็ยังสละราชสมบัติออกบวช

ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้รับความสรรเสริญจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เกิดในตระกูลสูง เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔๑   

ประวัติพระอนุรุทธเถระ

3.png



ท่านพระอนุรุทธะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ ประสูติร่วมพระมารดาเดียวกัน ๓ พระองค์ คือ พระเชษ
ฐา (พี่ชาย) พระนามว่า เจ้ามหานาม ๑ พระขนิษฐภคินี (น้องสาว) พระนามว่า โรหิณี ๑ รวมเป็น ๓ กับอนุรุทธกุมาร ถ้านับตามลำดับพระวงศ์ เป็นพระอนุชาของสมเด็จพระบรมศาสดา ฯ

อนุรุทธกุมารเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ มีปราสาท ๓ หลัง เป็นที่อยู่ในฤดูทั้ง ๓ สมบูรณ์ด้วยศฤงคารและบริวารยศ แม้ที่สุดคำว่าไม่มี ก็ไม่รู้และไม่เคยได้สดับเลย ฯ

ครั้งหนึ่งพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่อนุปิยนิคมของมัลลกษัตริย์ ในเวลานั้นศากยกุมารซึ่งเป็นคนมีชื่อเสียง มีคนรู้จักมาก ได้ออกบวชตามพระบรมศาสดา วันหนึ่งเจ้ามหานามผู้เป็นพระเชษฐา ผู้เป็น
พี่ชายมาปรารภเรื่องนี้แล้ว จึงปรึกษาอนุรุทธะผู้น้องว่า พ่ออนุรุทธะ ในตระกูลเราไม่มีใครออกบวชตามพระบรมศาสดาเลย เจ้าหรือพี่คนใดคนหนึ่งควรจะออกบวชบ้าง ฯ

อนุรุทธะตอบว่า น้องเคยเป็นคนที่ตั้งอยู่ในความสุข ไม่สามารถออกบวชได้ พี่บวชเองเถิด เจ้ามหานามจึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นเจ้าจงเรียนให้รู้จักการงานของผู้ครองเรือนเสียก่อน พี่จะสอนให้เจ้า จงตั้งใจฟัง ครั้นกล่าวดังนั้นแล้ว เจ้ามหานามจึงสั่งสอนการงานของผู้อยู่ครองเรือน ยกการทำนาเป็นต้นขึ้นสอน

เมื่ออนุรุทธะได้ฟังแล้ว ก็เห็นว่าการงานไม่มีที่สิ้นสุด ที่สุดของงานไม่มีปรากฏ จึงคิดเบื่อหน่ายในการงาน พูดกับพี่ชายว่า ถ้าอย่างนั้นพี่อยู่ครองเรือนเถิด น้องบวชละ

ครั้นอนุรุทธะกล่าวอย่างนั้นจึงเข้าไปหาพระมารดา ทูลว่า แม่ หม่อมฉันอยากจะบวช ขอพระแม่เจ้าอนุญาตให้หม่อมฉันบวชเถิด พระมารดาตรัสห้ามไม่ยอมให้บวช อนุรุทธะก็ยังอ้อนวอนขออนุญาตให้บวชเป็นหลายครั้ง พระมารดาเห็นเช่นนั้น จึงคิดอุบายที่จะไม่ให้อนุรุทธะบวช มาดำริถึงพระเจ้าภัททิยะผู้เป็นพระสหายของอนุรุทธะ ท่านคงไม่ออกบวชเป็นแน่ จึงพูดว่า พ่ออนุรุทธะ ถ้าพระเจ้าภัททิยะบวชด้วย จงบวชเถิด


อนุรุทธะได้ฟังอย่างนั้นแล้ว จึงไปเฝ้าพระเจ้าภัททิยะ แล้วทูลตามโวหารของผู้คุ้นเคยกันว่า เพื่อนเอ๋ย บรรพชาของเราเนื่องด้วยบรรพชาของท่าน ในชั้นต้นพระเจ้าภัททิยะทรงปฏิเสธไม่ยอมบวช แต่ทนอ้อนวอนไม่ได้ ผลที่สุดตกลงใจยอมบวชด้วย อนุรุทธะจึงชวนศากยะอื่นได้อีก ๓ คน คือ อานันทะ, ภัคคุ, กิมพิละ, โกลิยวงศ์ คือ เทวทัต เป็น ๗ กับทั้งอุบาลีซึ่งเป็นภูษามาลาพร้อมใจกันออกจากเมืองไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่อนุปิยนิคม ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย ฯ

อนุรุทธะเมื่อได้อุปสมบทแล้ว เรียนพระกรรมฐานในสำนักของพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแล้ว เข้าไปอยู่ในป่าปาจีนวังสมฤคทายวัน เมื่อเจริญสมณธรรมอยู่ ได้ตรึกถึงมหาปุริสวิตก ๗ ประการ ว่า

๑. ธรรมนี้ของผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่ใช่ของผู้มีความปรารถนาใหญ่ ฯ

๒. ธรรมนี้ของผู้สันโดษโดยยินดีด้วยของที่มีอยู่ ไม่ใช่ของผู้ไม่สันโดษ ฯ

๓. ธรรมนี้ของผู้สงัดแล้ว ไม่ใช่ของผู้ยินดีในหมู่ ฯ

๔. ธรรมนี้ของผู้ปรารภความเพียร ไม่ใช่ของผู้เกียจคร้าน ฯ

๕. ธรรมนี้ของผู้มีสติมั่นคง ไม่ใช่ของผู้มีสติหลง ฯ

๖. ธรรมนี้ของผู้มีใจตั้งมั่น ไม่ใช่ของผู้มีใจไม่ตั้งมั่น ฯ

๗. ธรรมนี้ของผู้มีปัญญา ไม่ใช่ของผู้มีปัญญาทราม ฯ

เมื่อพระอนุรุทธะตรึกอยู่อย่างนั้น พระบรมศาสดาเสด็จไปถึงทรงทราบว่า พระอนุรุทธะตรึกอย่างนั้น ทรงอนุโมทนาว่า ชอบละๆ อนุรุทธะท่านตรึกธรรมที่พระมหาบุรุษตรึกชอบละ ถ้าอย่างนั้นท่านจงตรึกธรรมที่พระมหาบุรุษตรึกเป็นที่ ๘ นี้ว่า

๘. ธรรมนี้ของผู้ยินดีในธรรมที่ไม่ให้เนิ่นช้า ไม่ใช่ของผู้ยินดีในธรรมที่ให้เนิ่นช้า ฯ

ครั้นตรัสสอนพระอนุรุทธะอย่างนี้แล้ว เสด็จมาที่ประทับ ส่วนพระอนุรุทธะบำเพ็ญเพียรไปก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ตั้งต้นแต่นั้นมาท่านก็เล็งแลสัตว์โลกด้วยทิพยจักษุเสมอ ดังได้ยินมาว่า ยกเสียแต่กาลที่ฉันเท่านั้น กาลอันเหลือนอกนั้น ท่านย่อมพิจารณาแลดูซึ่งหมู่สัตว์ทั้งปวงด้วยทิพยจักษุ


ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสยกย่องสรรเสริญท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างผู้มีทิพยจักษุญาณ ท่านพระอนุรุทธะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔๒   

ประวัติพระอานนทเถระ

3.png



ท่านพระอานนท์ เป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้เป็นพระกนิษฐภาดาของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองพระนครกบิลพัสดุ์ พระมารดาพระนามว่า พระนางกีสาโคตมี เมื่อนับตามลำดับศากยวงศ์แล้ว ท่านก็เป็นพระอนุชาของสมเด็จพระบรมศาสดา

ครั้งนั้นพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่อนุปิยนิคม แคว้นมัลละ ท่านได้ออกบวชพร้อมด้วยเจ้าในศากยวงศ์ ๔ พระองค์ คือ ภัททิยะ อนุรุทธะ ภัคคุ กิมพิละ และโกลิยวงศ์ ๑ พระองค์ คือ เทวทัต รวมทั้งอุบาลี ผู้เป็นภูษามาลา รวมพระอานนท์เป็น ๗ พระองค์

เมื่อพระอานนท์ได้อุปสมบทแล้ว ได้ฟังโอวาทที่พระปุณณมันตานีบุตรกล่าวสอน ได้บรรลุโสดาปัตติผล ฯ ในวันหนึ่ง พระบรมศาสดาตรัสขอให้สงฆ์เลือกหาภิกษุผู้จะอุปัฏฐากพระองค์เป็นนิตย์ ด้วยว่าเมื่อก่อนแต่กาลนี้ ภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากของพระองค์ไม่คงตัวผลัดเปลี่ยนกันไป เวลาที่ผลัดเปลี่ยนยังไม่มีผู้รับต่อ ต้องเสด็จอยู่พระองค์เดียวได้รับความลำบาก สงฆ์จึงได้เลือกพระอานนท์ถวาย แต่ก่อนที่ท่านจะได้รับเป็นพุทธอุปัฏฐาก ท่านพระอานนท์ได้ทูลขอพร ๘ ประการ ว่า

๑. อย่าประทานจีวรอันประณีตแก่ข้าพระพุทธเจ้า ฯ

๒. อย่าประทานบิณฑบาตอันประณีตแก่ข้าพระพุทธเจ้า ฯ

๓. อย่าโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าอยู่ในที่ประทับของพระองค์ ฯ

๔. อย่าทรงพาข้าพระพุทธเจ้าไปในที่นิมนต์ ฯ

๕. ขอพระองค์จงเสด็จไปสู่ที่นิมนต์ที่ข้าพระพุทธเจ้ารับไว้ ฯ

๖. ให้ข้าพระพุทธเจ้าพาบริษัทซึ่งมาเฝ้าพระองค์แต่ไกล เข้าเฝ้าในขณะที่มาแล้ว

๗. ถ้าความสงสัยของข้าพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นเมื่อใด ขอให้เข้าเฝ้าทูลถามเมื่อนั้น ฯ  
         
๘. ถ้าพระองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาเรื่องใด ในที่ลับหลังข้าพระพุทธเจ้า ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมเทศนาเรื่องนั้นแก่ข้าพระพุทธเจ้า ฯ


พระบรมศาสดาจึงตรัสถามว่า ดูก่อนอานนท์ เธอเห็นคุณและโทษอย่างไรจึงได้ขออย่างนั้น พระอานนท์กราบทูลว่า ถ้าข้าพระองค์จักไม่ได้พร ๔ อย่างข้างต้น ก็จะมีคนพูดครหานินทาได้ว่า พระอานนท์ได้ลาภอย่างนั้นๆ จึงจะบำรุงพระบรมศาสดา การบำรุงอย่างนี้จะหนักหนาอะไร


ถ้าข้าพระองค์จักไม่ได้พร ๓ ข้อเบื้องปลาย คนทั้งหลายก็จะพูดได้ว่า พระอานนท์บำรุงพระบรมศาสดาทำอะไร เพราะพระองค์ไม่ทรงอนุเคราะห์แม้ด้วยกิจเพียงเท่านี้

ถ้าข้าพระองค์ไม่ได้พรข้อที่สุด จักมีผู้ถามข้าพระพุทธเจ้าในที่ลับหลังพระองค์ว่า ธรรมนี้พระองค์ทรงแสดงที่ไหน ถ้าข้าพระพุทธเจ้าบอกไม่ได้ เขาจะพูดติเตียนได้ว่า ท่านไม่รู้แม้แต่เรื่องเท่านี้ ไม่ละพระบรมศาสดาเที่ยวตามเสด็จอยู่ ดุจเงาตามตัวสิ้นกาลนาน เพราะเหตุอะไร

ครั้นพระอานนท์กราบทูลคุณและโทษของพร ๘ ประการ อย่างนี้แล้ว พระบรมศาสดาก็ทรงอนุญาตให้ตามขอ

ตั้งแต่กาลนั้นมา พระอานนท์ก็อุปัฏฐากพระบรมศาสดาโดยเอื้อเฟื้อ และมีความจงรักภักดีในพระองค์เป็นอย่างยิ่ง แม้ถึงชีวิตก็อาจสละแทนพระองค์ได้ พึงเห็นตัวอย่างเมื่อครั้งพระเจ้าอชาตศัตรูปล่อยช้างนาฬาคีรี เพื่อให้ทำอันตรายแก่พระองค์ พระอานนท์ออกยืนขวางหน้าช้างนาฬาคิรีเสีย มิให้ทำอันตรายแก่พระองค์ได้


ด้วยเหตุที่ท่านอยู่ในที่ใกล้ชิดพระศาสดา ได้ฟังธรรมที่ทรงแสดงแก่ตนเองและผู้อื่น มีสติทรงจำไว้ได้มาก มีความเพียรเอาใจใส่ในการเล่าเรียนสาธยายทรงจำ จึงเป็นผู้ฉลาดในการแสดงธรรมมาก

พระศาสดาจึงทรงยกย่องสรรเสริญว่า เป็นยอดแห่งภิกษุทั้งหลาย ๕ สถาน คือ เป็นพหูสูต ๑ มีสติ ๑ มีธิติ ๑ มีความเพียร ๑ เป็นพุทธอุปัฏฐาก ๑ อนึ่งอาศัยคุณความดีที่ท่านเป็นพหูสูต
เมื่อพระบรมศาสดานิพพานแล้ว พระมหากัสสปะทำการสังคายนาพระธรรมวินัย สงฆ์ได้เลือกท่านให้เป็นผู้วิสัชนาในส่วนพระสุตตันตปิฎก ฯ

ท่านได้บรรลุมรรคผลเบื้องสูงก่อนแต่วันที่จะทำสังคายนา ในปฐมสังคีติกถาเล่าว่า ก่อนวันที่จะทำสังคายนาวันหนึ่ง เมื่อท่านได้รับคำเตือนจากพระมหากัสสปเถระ ครั้นถึงเวลาเย็นอุตส่าห์บำเพ็ญสมณธรรม ก็ได้สำเร็จพระอรหัตผลในระหว่างอิริยาบถทั้ง ๔

ครั้นกาลต่อมาท่านพิจารณาถึงอายุสังขาร เห็นสมควรจะนิพพานแล้ว จึงไปสู่แม่น้ำโรหิณี ซึ่งมีอยู่ในระหว่างศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ต่อกัน ครั้นท่านจะนิพพานได้เหาะขึ้นสู่อากาศ แล้วแสดงธรรมสั่งสอนแก่เทวดาและมนุษย์ ในที่สุดแห่งเทศนาได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์มีประการต่างๆ ด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงตั้งสัตยาธิษฐานว่า


เมื่ออาตมานิพพานแล้ว ขอให้ร่างกายของอาตมานี้ จงแตกออกเป็น ๒ ภาค จงตกลงฝั่งข้างฝ่ายพระญาติศากยวงศ์ภาคหนึ่ง จงตกลงฝั่งข้างฝ่ายพระญาติโกลิยวงศ์ภาคหนึ่ง เพื่อจะป้องกันมิให้ชนทั้งสองฝ่ายนี้เกิดทะเลาะวิวาทกัน เพราะเหตุแห่งอัฐิ

ครั้นอธิษฐานเสร็จแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน* ณ เบื้องบนอากาศในท่ามกลางแห่งแม่น้ำโรหิณี สรีระร่างกายของท่านก็แตกออกเป็น ๒ ภาค แล้วตกลงมายังภาคพื้นสมดังท่านอธิษฐานทุกประการ ฯ

* พระอานฺนทเถระ เมื่อพิจารณาตามตำนานแล้ว แปลกจากสาวกรูปอื่น โดยกิเลสนิพพานบ้าง ขันธปรินิพพานบ้าง พระสาวกรูปอื่นบรรลุพระอรหัตแล้ว นิพพานในอิริยาบถ ๔ คือ ยืน, เดิน, นั่ง, นอน อิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง ส่วนท่านพระอานนท์บรรลุพระอรหัตในระหว่างอริยาบถ ๔ ชื่อว่าต่างจากพระสาวกรูปอื่นโดยกิเลสนิพพาน และดับขันธปรินิพพานบนอากาศ ชื่อว่าต่างจากพระสาวกรูปอื่นโดยขันธปรินิพพาน


4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔๓   

ประวัติพระภัคคุเถระ
3.png



ท่านพระภัคคุ เกิดในศากยราชตระกูล ในกรุงกบิลพัสดุ์ มีชื่อว่า ภัคคุกุมาร เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จมาโปรดพระประยูรญาติแล้ว เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปประทับอยู่ที่อนุปิยนิคมอัมพวนารามของมัลลกษัตริย์ ในเวลานั้นพวกศากยกุมารซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียง มีคนรู้จักมาก ได้ออกบวชตามพระบรมศาสดาเป็นอันมาก

วันหนึ่งอนุรุทธศากยกุมาร มีความประสงค์จะออกบวชตามเสด็จพระบรมศาสดาบ้าง จึงได้มาชักชวนภัคคุศากยกุมารให้ออกบวชด้วย ภัคคุศากยกุมารมีความพอใจในการที่จะอุปสมบทตามคำชักชวน จึงได้พากันเสด็จออกจากพระนครกบิลพัสดุ์ พร้อมด้วยเจ้าศากยราชกุมาร ๔ พระองค์ คือ ภัททิยะ อนุรุทธะ อานันทะ กิมพิละ โกลิยวงศ์อีก ๑ พระองค์ คือ เทวทัต เป็น ๗ กับทั้งอุบาลี ผู้เป็นนายภูษามาลา

ไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดาซึ่งเสด็จประทับอยู่ที่อนุปิยนิคม แว่นแคว้นมัลละ ทูลขออุปสมบทในธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา

พระภัคคุศากยะเมื่อได้อุปสมบทแล้ว เป็นผู้ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลนับหนึ่งในพระสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ รูป ท่านพระภัคคุนั้น เมื่อดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่อายุขัยแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔๔   

ประวัติพระกิมพิลเถระ

3.png



ท่านพระกิมพิละ เกิดในศากยราชตระกูล ในกรุงกบิลพัสดุ์ มีชื่อว่า กิมพิลกุมาร เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้ว อนุรุทธศากยกุมารได้มาชวนบวชในพระพุทธศาสนา กิมพิลศากยกุมารมีความพอใจตกลงจะออกบวชด้วย จึงพร้อมด้วยศากยกุมาร ๔ พระองค์ คือ ภัททิยะ อนุรุทธะ อานันทะ ภัคคุ และโกลิยวงศ์* คือ เทวทัต พากันเสด็จออกจากพระนครพร้อมด้วยจตุรงคเสนา

เมื่อเสด็จถึงปลายพระนครแล้ว จึงให้พวกจตุรงคเสนากลับคืนพระนคร และเปลื้องเครื่องประดับสำหรับทรงมอบให้แก่อุบาลีภูษา แล้วสั่งให้กลับคืนพระนครจำหน่ายขายเครื่องประดับนั้นเลี้ยงชีพ แต่อุบาลีหาพอใจไม่ ใคร่จะออกบวชในศาสนาพระพุทธเจ้าด้วย จึงแขวนเครื่องประดับสำหรับทรงนั้นไว้ที่ต้นไม้ แล้วทูลความประสงค์ของตนให้แก่ศากยกุมารเหล่านั้นทรงทราบ กิมพิลศากยกุมารพร้อมด้วยศากยกุมารเหล่านั้น ได้พาอุบาลีติดตามเสด็จไปด้วย

ครั้นถึงที่เฝ้าพระบรมศาสดาซึ่งประทับอยู่ที่อนุปิยนิคม แว่นแคว้นมัลลกษัตริย์แล้ว พากันทูลขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุ
ในพระพุทธศาสนา

เมื่อพระกิมพิลศากยะได้อุปสมบทแล้ว เป็นผู้ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา ท่านพระกิมพิละนั้น ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

* พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่มที่ ๒ จัมมขันธกะ ๑ หน้า ๑

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔๕   

ประวัติพระโสณโกฬิวิสเถระ

3.png



ท่านพระโสณโกฬิวิสะ เป็นบุตรของอสุภเศรษฐี ในจัมปานคร เมื่ออยู่ในครรภ์มารดาจนคลอด ตลอดพวกชนชาวพระนครนำเครื่องบรรณาการมามอบให้แก่เศรษฐีเป็นอันมาก เมื่อคลอดแล้วมีสีผิวพรรณผุดผ่องงดงาม มารดาบิดาจึงได้ขนานนามว่า “โสณ” โกฬิวิสะเป็นชื่อแห่งโคตร


โสณเศรษฐีบุตรนั้น เป็นคนสุขุมาลชาติ มีโลมาที่ละเอียดอ่อนบังเกิดขึ้นที่ฝ่าเท้าทั้ง ๒ ได้รับการบำเรอจากมารดาบิดาเป็นอย่างดี เพราะบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่เขาคิชฌกูฏ แขวงกรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าแผ่นดินมคธ ใคร่จะทอดพระเนตรโลมาที่ฝ่าเท้าของโสณเศรษฐีบุตร จึงรับสั่งให้ไปเฝ้าพระบรมศาสดา

โสณเศรษฐีบุตรพร้อมด้วยชาวบ้านประมาณ ๘ หมื่น ก็เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาตามคำสั่ง ได้ฟังเทศนาอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ที่พระองค์ตรัส ชาวบ้านประมาณ ๘ หมื่น เกิดความเลื่อมใส ได้แสดงตนเป็นอุบาสกแล้วหลีกไป

ส่วนโสณเศรษฐีบุตรเข้าไปกราบทูลแด่พระบรมศาสดาว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เห็นว่าผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์สมบูรณ์สิ้นเชิง ดุจสังข์ที่ขัดแล้ว ไม่ทำได้ง่ายดายเลย ข้าพระพุทธองค์อยากจะบวช ขอพระองค์ทรงโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชเถิด

พระบรมศาสดาก็ทรงโปรดให้บวชตามประสงค์ ครั้นโสณโกฬิวิสะบวชแล้วไปทำความเพียรอยู่ที่สีตะวัน ทำความเพียรเกินขนาด เดินจงกรมไม่หยุดจนเท้าแตก ก็ไม่ได้บรรลุธรรมพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง


จึงมาดำริในใจว่า บรรดาสาวกของพระบรมศาสดาที่ปรารภความเพียรแล้ว เราก็เป็นคนหนึ่ง ถึงอย่างนี้จิตของเราก็ยังไม่พ้นจากอาสวะทั้งปวงได้ สมบัติในตระกูลของเราก็ยังมีอยู่ ถ้ากระไรเราจะสึกออกไปบริโภคสมบัติและบำเพ็ญกุศลเถิด จะเป็นการดีกว่า

ฝ่ายพระบรมศาสดาได้ทรงทราบว่าพระโสณโกฬิวิสะปรารภความเพียรเดินจงกรมจนเท้าแตกแล้ว ดำริเช่นนั้นจึงเสด็จไปถึงที่อยู่แห่งพระโสณโกฬิวิสะตรัสสอนให้ปรารภความเพียรแต่พอปานกลาง ไม่ยิ่งนัก ไม่หย่อนนัก ยกธรรมขึ้นเปรียบเทียบด้วยสายพิณ ๓ สาย ครั้นตรัสสอนแล้ว เสด็จกลับไปที่ประทับ

พระโสณโกฬิวิสะตั้งอยู่ในโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสอน ปรารภความเพียรแต่พอประมาณ ไม่ยิ่งนัก ไม่หย่อนนัก เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

ครั้นต่อมา ท่านเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดากราบทูลว่า พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่จำจะต้องทำได้ทำสำเร็จแล้ว มีภาระของหนักอันวางแล้ว มีประโยชน์ของตนได้ถึงแล้ว มีธรรมที่ประกอบไว้ในภพสิ้นรอบแล้ว รู้ชอบแล้ว จึงพ้นแล้วจากอาสวะ


ภิกษุผู้อรหันต์นั้นน้อมเข้าไปแล้วในคุณ ๖ สถาน คือ น้อมไปแล้วในบรรพชา ๑ ในที่สงัด ๑ ในความสำรวมไม่เบียดเบียน ๑ ในความสิ้นแห่งความถือมั่น ๑ ในความสิ้นแห่งความอยาก ๑ ในความไม่หลง ๑ ดังนี้เป็นต้น

พระบรมศาสดาได้ทรงฟังแล้วสรรเสริญว่า พระโสณโกฬิวิสะพยากรณ์พระอรหันต์กล่าวแต่เนื้อความ ไม่นำตนเข้าไปเปรียบ เพราะท่านได้ปรารภความเพียรด้วยความอุตสาหะอย่างแรงกล้า แต่ครั้งยังไม่บรรลุอรหัตผล

พระบรมศาสดาจึงตรัสยกย่องว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ปรารภความเพียรในพระพุทธศาสนา ท่านพระโสณโกฬิวิสะนั้น เมื่อดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔๖   

ประวัติพระรัฏฐปาลเถระ

3.png


ท่านพระรัฏฐปาละ* เป็นบุตรของรัฏฐปาลเศรษฐีผู้เป็นหัวหน้าในหมู่ชนชาวถุลลโกฏฐิตนิคม แว่นแคว้นกุรุ สมัยหนึ่งพระบรมศาสดาเสด็จจาริกไปในแว่นแคว้นกุรุ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ บรรลุถึงถุลลโกฏฐิตนิคม ชาวบ้านถุลลโกฏฐิตนิคมได้ทราบข่าวว่า พระบรมศาสดาเสด็จมาจึงพากันไปเฝ้า


บางพวกถวายบังคม บางพวกเป็นแต่พูดจาปราศรัย บางพวกเป็นแต่ประนมมือ บางพวกร้องประกาศชื่อและโคตรของตน บางพวกนิ่งอยู่ ทุกหมู่นั้นพากันนิ่งอยู่ ณ ที่อันควรส่วนข้างหนึ่ง พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้เกิดความเชื่อ ความเลื่อมใสแล้ว ทุกคนก็ทูลลากลับไป ฯ

ส่วนรัฏฐปาลกุลบุตรครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว เกิดความเลื่อมใส ใคร่จะขอบวช พอพวกชาวนิคมนั้นกลับไปแล้ว จึงได้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลขอบรรพชา ครั้นได้ทราบว่าพระบรมศาสดาไม่ทรงบวชกุลบุตรที่มารดาบิดาไม่อนุญาต จึงทูลลากลับไปบ้าน


รัฏฐปาละเข้าไปลามารดาบิดาจะออกบวช มารดาบิดาก็ไม่ยอม รัฏฐปาละก็พูดอ้อนวอนเป็นหลายครั้ง มารดาบิดาก็ไม่ยอม รัฏฐปาละเสียใจลงนอนไม่ลุกขึ้น อดอาหารเสียไม่กิน คิดว่าจักตายเสียในที่นี้ หรือจักบวชเท่านั้น มารดาบิดาจึงไปหาสหายรัฏฐปาละ ขอให้ช่วยห้ามปราม สหายเหล่านั้นก็ไปช่วยห้าม เมื่อเห็นว่ารัฏฐปาละไม่ยอม จึงคิดว่าถ้ารัฏฐปาละไม่บวชจักตาย หาเป็นคุณอย่างหนึ่งอย่างใดไม่

ถ้ารัฏฐปาละได้บวช มารดาบิดาเราจักได้เห็นรัฏฐปาละตามเวลาที่สมควร เมื่อรัฏฐปาละบวชแล้ว หากเบื่อหน่ายในการประพฤติเช่นนั้นก็กลับมาที่นี่อีก ครั้นคิดอย่างนี้แล้ว จึงเข้าไปหามารดาบิดาของรัฏฐปาละชี้แจ้งเหตุผลให้ฟัง มารดาบิดาของรัฏฐปาละก็เห็นด้วยเลยยอมตาม แต่เมื่อบวชแล้ว ขอให้มาเยี่ยมบ้าง


สหายเหล่านั้นก็กลับไปบอกความนั้นแก่รัฏฐปาละ รัฏฐปาละทราบว่ามารดาบิดาอนุญาตแล้ว ดีใจลุกขึ้นเช็ดตัว แล้วอยู่บริโภคอาหารพอร่างกายมีกำลัง ไม่กี่วันแล้วไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลว่ามารดาบิดาอนุญาตแล้ว พระองค์ก็โปรดให้บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา

ครั้นพระรัฏฐปาละบวชแล้วไม่นานประมาณสักครึ่งเดือน พระบรมศาสดาเสด็จจากถุลลโกฏฐิตนิคมไปประทับที่เมืองสาวัตถี ส่วนพระรัฏฐปาละตามเสด็จไป ท่านตั้งอยู่ในความไม่ประมาท บำเพ็ญสมณธรรม เจริญวิปัสสนา ได้สำเร็จพระอรหัตผลถึงที่สุดของพรหมจรรย์แล้ว ถวายบังคมลาออกจากสาวัตถี เที่ยวจาริกไปถึงถุลลโกฏฐิตนิคม พักอยู่ที่มิคจิรวันพระราชอุทยานของพระเจ้าโกรัพยะ ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินกุรุ


ในเวลาเช้าท่านเข้าไปบิณฑบาตในนิคมนั้น จนถึงที่ใกล้เรือนของท่าน นางทาสีเห็นท่านแล้วก็จำได้ จึงบอกเนื้อความนั้นให้แก่มารดาบิดาของท่านทราบ จึงได้นิมนต์ท่านไปฉันในเรือนในวันรุ่งขึ้น และอ้อนวอนให้ท่านกลับมาครอบครองสมบัติก็ไม่สมประสงค์ เมื่อพระรัฏฐปาละฉันเสร็จแล้วก็กล่าวคาถาอนุโมทนาพอเป็นทางให้สังเวชในร่างกาย แล้วจึงกลับมิคจิรวัน ฯ

ส่วนพระเจ้าโกรัพยะ เสด็จประพาสพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นพระรัฏฐปาละทรงจำได้ เพราะรู้จักมาแต่เดิม เสด็จเข้าไปตรัสปราศรัยแล้วประทับ ณ ราชอาสน์ ตรัสถามว่า รัฏฐปาละผู้เจริญ ความเสื่อมมีสี่อย่างที่คนบางจำพวกต้องเข้าแล้วจึงออกบวช คือ แก่ชรา ๑ เจ็บป่วย ๑ สิ้นโภคทรัพย์ ๑ สิ้นญาติ ๑ ฯ ความเสื่อม ๔ อย่างนี้ไม่มีแก่ท่าน ท่านรู้เห็นหรือได้ฟังอย่างไรจึงได้ออกบวช  


มหาบพิตร มีอยู่ ธรรมุทเทศ (ธรรมที่แสดงขึ้นเป็นหัวข้อ) ๔ ข้อ ที่พระบรมศาสดาซึ่งเป็นผู้รู้เห็น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงแสดงขึ้นแล้ว ซึ่งอาตมภาพได้รู้เห็นแล้วจึงออกบวช ธรรมุทเทศ ๔ ข้อนั้น คือ

ข้อ ๑ ว่า โลก คือหมู่สัตว์ อันชราเป็นผู้นำๆ เข้าไปใกล้ไม่ยั่งยืน ฯ

ข้อ ๒ ว่า โลก คือหมู่สัตว์ ไม่มีผู้ป้องกันไม่เป็นใหญ่จำเพาะตน ฯ

ข้อ ๓ ว่า โลก คือหมู่สัตว์ ไม่มีอะไรเป็นของๆ ตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป ฯ

ข้อ ๔ ว่า โลก คือหมู่สัตว์ พร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา ดังนี้ ฯ


ครั้นท่านพระรัฏฐปาละ ทูลเหตุที่ตนออกบวชแก่พระเจ้าโกรัพยะอย่างนี้แล้ว พระมหากษัตริย์ก็ทรงเลื่อมใส ตรัสอนุโมทนาธรรมกถา แล้วเสด็จกลับไป ฯ ส่วนท่านพระรัฏฐปาละ เมื่อพำนักอาศัยอยู่ในนิคมนั้นพอควรแล้ว ก็กลับมาอยู่ในสำนักของพระบรมศาสดา


อาศัยคุณที่ท่านเป็นผู้บวชด้วยศรัทธาแต่เดิม และกว่าจะบวชได้ก็แสนยากลำบากนัก ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บวชด้วยศรัทธา ฯ ท่านพระรัฏฐปาละนั้น ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

* รัฏฐปาลสูตร ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ หน้า ๓๙๓

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔๗   

ประวัติพระปิณโฑลภารทวาชเถระ

3.png



ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลภารทวาชโคตร ได้ศึกษาเล่าเรียนจบไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์ มีความชำนิชำนาญได้เป็นคณาจารย์บอกศิลปวิทยาแก่มาณพประมาณห้าร้อย ฯ


ได้ยินว่า ภารทวาชมาณพนั้น มีความโลภในอาหาร เที่ยวไปแสวงหาอาหารกับด้วยพวกมาณพผู้เป็นศิษย์ในที่ต่างๆ คือ ในที่ตนควรได้บ้างไม่ควรได้บ้าง เหตุนี้จึงมีนามปรากฏว่า “ปิณโฑลภารทวาชมาณพ”

เมื่อพระบรมศาสดาประกาศพระศาสนามาโดยลำดับ บรรลุถึงพระนครราชคฤห์ ปิณโฑลภารทวาชมาณพ ได้ทราบข่าวจึงเข้าไปเฝ้าพระองค์ ได้ฟังธรรมเทศนาแล้วเกิดความเลื่อมใส ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ฯ

ครั้นพระปิณโฑลภารทวาชะได้อุปสมบทแล้ว เป็นผู้ไม่ประมาท อุตส่าห์เจริญสมณธรรม บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ฯ ท่านเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอินทรีย์ ๓ ประการ คือ สตินทรีย์ ๑ สมาธินทรีย์ ๑ ปัญญินทรีย์ ๑ ฯ

ในวันที่ท่านได้บรรลุพระอรหัตผลนั้น ท่านถือเอาอาสนะเครื่องลาดไปสู่บริเวณวิหาร ปูลาดแล้ว เที่ยวบันลือออกซึ่งสีหนาทด้วยวาจาอันองอาจว่า “ยสฺส มคฺเค วา ผเล วา กงฺขา อตฺถิ โส มํ ปุจฺฉตุ” ดังนี้ แปลว่า ผู้ใดมีความสงสัยในมรรคหรือผล ผู้นั้นจงถามเราเถิด ฯ ท่านก็บันลือสีหนาทเช่นนั้น


อาศัยด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บันลือสีหนาท ฯ ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะนั้น ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔๘   

ประวัติพระมหาปันถกเถระ

3.png


ท่านพระมหาปันถกะ เป็นบุตรของธิดาแห่งเศรษฐี ในพระนครราชคฤห์ เดิมชื่อว่า ปันถกะ เพราะเหตุที่เกิดในหนทาง มีน้องชายคนหนึ่งชื่อปันถกะ เพราะเหตุที่เกิดในหนทางเหมือนกัน เพราะท่านเป็นพี่ชายจึงเติมเครื่องหมายว่า “มหา” เข้าข้างหน้า จึงเป็นมหาปันถกะ ส่วนน้องชายเติม “จูฬ” เข้าข้างหน้า เป็นจูฬปันถกะ ฯ

มีเรื่องเล่าว่าในกรุงราชคฤห์ มีธิดาของเศรษฐีผู้มีทรัพย์คนหนึ่ง เมื่อเจริญวัยแล้ว มารดาบิดาป้องกันรักษาอย่างเหลือเกิน ให้อยู่บนปราสาทชั้นที่ ๗ แต่ธิดานั้นเป็นหญิงโลเลในบุรุษ จึงได้เสียกับคนรับใช้ของตน ภายหลังกลัวคนอื่นจะล่วงรู้ จึงพากันหนีออกจากเรือนไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่เขาไม่รู้จัก


ต่อมาภรรยามีครรภ์ เมื่อครรภ์แก่แล้ว จึงปรึกษากับสามีว่าไปคลอดบุตรที่บ้านเดิม ส่วนสามีกลัวบิดาจะทำโทษแต่ขัดภรรยาไม่ได้ จึงรับรองว่าจะพาไป แต่แกล้งทำเป็นผลัดวันอยู่ว่าวันพรุ่งก่อนๆ จนล่วงเลยไปหลายวัน ภรรยาเห็นอาการดังนั้น ก็หยั่งรู้ความประสงค์ของสามี ฯ

ครั้นวันหนึ่ง สามีออกไปทำงานนอกบ้าน เห็นเป็นโอกาสดี จึงสั่งผู้คุ้นเคยกันที่อยู่เรือนใกล้เคียงกัน เพื่อบอกแก่สามี แล้วหนีออกจากเรือนเดินไปตามทาง พอถึงระหว่างทางก็คลอดบุตรเป็นชาย ฯ ส่วนสามีเมื่อกลับมาบ้านไม่เห็นภรรยา สืบถามทราบว่าหนีกลับไปบ้านเดิม จึงออกติดตามไปทัน ในระหว่างทางได้เห็นภรรยาคลอดบุตรแล้ว จึงพากันกลับมาอยู่ที่บ้านนั้นอีก และได้ตั้งชื่อทารกนั้นว่า “มหาปันถกะ” เพราะว่าเกิดก่อน ฯ

เมื่อมหาปันถกะเจริญวัยแล้ว ไปเล่นกับเด็กเพื่อนบ้านด้วยกัน ได้ยินเด็กเหล่าอื่นเรียก ปู่ ย่า ตา ยาย ส่วนตนไม่มีคนเช่นนั้นจะเรียกกับเขาบ้าง จึงไปถามมารดาว่า แม่ เด็กๆ พวกอื่นเรียกคนสูงอายุว่าตาบ้างยายบ้าง ก็ญาติของเราในที่นี้ไม่มีบ้างหรือ หนู ญาติของเราในที่นี้ไม่มี แต่ตาของหนูชื่อว่า ธนเศรษฐี อยู่ในเมืองราชคฤห์ ในที่นั้นญาติเรามีมาก ก็ทำไมแม่ไม่ไปอยู่ที่นั้น ฯ


ส่วนมารดาไม่บอกความจริงแก่ลูกชาย ลูกชายจึงรบกวนถามอยู่บ่อยๆ เกิดความรำคาญ จึงปรึกษากับสามีว่า พวกหนูเหล่านี้ รบกวนเหลือเกิน ขึ้นชื่อว่าบิดามารดาเห็นเข้าแล้ว จะฆ่ากินเนื้อเทียวหรือ อย่ากระนั้นเลย เราจงพาหนูนี้ไปเยี่ยมตาสักทีเถอะ

ครั้นปรึกษากันดังนั้นแล้ว สองสามีภรรยาก็พาลูกชายทั้ง ๒ ไปเมืองราชคฤห์ เมื่อถึงแล้วจึงพักอยู่ที่ศาลาหลังหนึ่งใกล้ประตูเมือง ให้คนไปบอกแก่เศรษฐีผู้เป็นบิดา บิดาทราบว่า ลูกสาวพาหลาน ๒ คนมาเยี่ยม เศรษฐีมีความแค้นยังไม่หาย จึงบอกกับคนที่มาส่งข่าวว่า สองผัวเมียเขาอย่าเข้ามาให้ฉันเห็นหน้าเลย เมื่อต้องการอะไรก็เอาไปเลี้ยงชีวิตเถิด แต่ส่งหลานทั้งสองมาให้ฉัน


สองสามีภรรยาก็ถือเอาทรัพย์พอแก่ความต้องการแล้ว กลับไปอยู่ที่เดิม ฯ ส่วนเด็กทั้ง ๒ ก็อาศัยอยู่ในสำนักของตาจนเจริญวัยโตขึ้น ส่วนมหาปันถกะเมื่อเจริญวัยขึ้นแล้ว ได้ไปฟังเทศน์กับเศรษฐีผู้เป็นตา ในสำนักของพระบรมศาสดาที่พระเวฬุวันมหาวิหารเสมอ  

ครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว เกิดความเลื่อมใสศรัทธา ใคร่จะบวชในพระพุทธศาสนา จึงได้ลาตา ตาก็อนุญาตให้บวช และนำไปเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลว่าเด็กนี้มีความศรัทธา ใคร่จะบวชในพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดารับสั่งภิกษุรูปหนึ่งให้จัดการบรรพชาเป็นสามเณร ครั้นเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีแล้ว ก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ


เมื่ออุปสมบทแล้ว เล่าเรียนพระพุทธวจนะได้มาก เป็นผู้ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ฯ

เมื่อท่านพระมหาปันถกะสำเร็จกิจแห่งพรหมจรรย์แล้ว จึงคิดว่าสมควรจะรับภารธุระสงฆ์ จึงเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาทูลอาสาจะรับหน้าที่เป็นภัตตุเทศก์ พระองค์ก็ทรงอนุมัติตาม แล้วประทานตำแหน่งให้แก่ท่าน ท่านได้ทำงานในหน้าที่นั้นเรียบร้อยเป็นอย่างดี ฯ

และท่านมหาปันถกะนั้น เป็นผู้อันพระบรมศาสดาทรงยกย่องว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เจริญวิปัสสนา เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-4-25 23:05 , Processed in 0.095755 second(s), 16 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.