แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

อนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๙   

ประวัติพระปุณณชิเถระ

3.png



ท่านพระปุณณชิ เป็นบุตรของเศรษฐีสืบๆ กันมาในเมืองพาราณสี เป็นสหายกับท่านพระยสะ เมื่อได้ทราบข่าวว่ายสกุลบุตรออกบวชแล้ว จึงมาดำริว่า ธรรมวินัยที่ยสกุลบุตรออกบวชนั้น จักไม่เลวเป็นแน่แท้ คงเป็นธรรมวินัยอันประเสริฐ

ครั้นดำริอย่างนี้แล้ว จึงพร้อมด้วยสหายพระยสะอีก ๓ คน คือ วิมละ สุพาหุ ควัมปติ พากันเข้าไปหาพระยสะ พระยสะจึงพาท่านพร้อมทั้งสหายเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลขอให้พระองค์สั่งสอน


พระองค์ก็ทรงรับสั่งสอนตรัสเทศนา “อนุปุพพิกถา” และ อริยสัจ ๔ ในเวลาจบเทศนา ท่านได้ดวงตาเห็นธรรม จึงทูลขออุปสมบทกับพระศาสดา พระองค์ก็ทรงประทานอนุญาตให้เป็นภิกษุโดยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา และเมื่อท่านได้อุปสมบทแล้ว ได้ฟังเทศนาปกิณณกกถาเพิ่มเติมอีก ก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ฯ

ท่านองค์หนึ่งซึ่งได้รับอนุมัติจากสมเด็จพระบรมศาสดา ให้ไปประกาศพระศาสนาในนานาชนบท ได้ทำกิจในหน้าที่อันสามารถจะทำ เมื่อท่านดำรงชนมายุอยู่พอสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๐   

ประวัติพระควัมปติเถระ

3.png



ท่านพระควัมปติ เป็นบุตรเศรษฐีสืบๆ กันมาในพระนครพาราณสี เป็นสหายที่รักใคร่กันกับพระยสะ เมื่อยสกุลบุตรออกบวชแล้ว ท่านได้ทราบข่าว จึงมาดำริว่า ธรรมวินัยที่ยสกุลบุตรออกบวชนั้น จักไม่เลวทรามต่ำช้า คงจะเป็นธรรมวินัยอันดี จึงพร้อมด้วยสหายพระยสะอีก ๓ คน คือ วิมละ สุพาหุ ปุณณชิ พากันเข้าไปหาท่านพระยสะ

พระยสะก็พาท่านพร้อมด้วยสหายเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลขอให้พระองค์ตรัสสั่งสอน พระบรมศาสดาทรงตรัสสั่งสอนด้วยเทศนา อนุปุพพิกถาและ อริยสัจ ๔ ในเวลาที่จบเทศนา ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม คือปัญญาอันเห็นธรรมปราศจากธุลีมลทินได้เกิดขึ้นแล้วแก่ท่านว่า

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา”

เมื่อท่านได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว จึงทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ข้าพระพุทธเจ้าพึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระองค์เถิด” พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา

เมื่อมีอินทรีย์แก่กล้า ได้ฟังธัมมิกถาที่พระองค์ตรัสสอนในภายหลัง จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ท่านได้เป็นพระอรหันต์ที่นับเข้าในจำพวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ฯ

ในคราวที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา ท่านก็ได้ไปประกาศพระศาสนาในนานาชนบท ช่วยสั่งสอนให้กุลบุตรกุลธิดา ให้เกิดความเชื่อความเลื่อมใส เมื่อท่านดำรงชีพอยู่ถึงกาลกำหนดอายุขัยแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๑   

ประวัติพระอุรุเวลกัสสปเถระ

3.png



ท่านพระอุรุเวลกัสสปะ เกิดในสกุลพราหมณ์กัสสปโคตร มีน้องชาย ๒ คน ชื่อว่า กัสสปะตามโคตรทั้งนั้น แต่ผสมนามตามที่อยู่ของท่านเข้าด้วยว่า นทีกัสสปะ และ คยากัสสปะ ฯ เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้ว ได้เรียนจบไตรเพท ฯ ท่านมีมาณพเป็นบริวาร ๕ ร้อยคน


ครั้นต่อมาพิจารณาเห็นลัทธิที่ตนนับถือ ไม่เป็นแก่นสาร จึงได้พาน้องชายทั้ง ๒ คน พร้อมด้วยบริวารออกบวชเป็นชฎิลบำเพ็ญพรตบูชาเพลิง คือ นักบวชจำพวกที่เกล้าผมเชิง เรียกตามโวหารสมัยนั้นว่า ฤาษี ตั้งอาศรมอยู่ตามลำดับกัน ท่านตั้งอาศรมอยู่ที่ตำบลอุรุเวลา แคว้นมคธ จึงได้นามตามที่อยู่ของท่านว่า “อุรุเวลกัสสปะ”

ครั้งเมื่อพระบรมศาสดาทรงส่งสาวกไปประกาศศาสนาในทิศานุทิศนั้นๆ แล้วพระองค์ทรงพิจารณาเห็นความบริบูรณ์แห่งอุปนิสัยของชนชาวมคธเป็นอันมาก มีพุทธประสงค์จะทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาขึ้น ณ แคว้นนั้น และทรงพระพุทธดำริจะพาท่านอุรุเวลกัสสปะผู้มีอายุมาก เป็นที่นับถือของมหาชนมานานตามเสด็จไปด้วย


จึงเสด็จพระพุทธดำเนินไปโดยลำพังพระองค์เดียว มุ่งตรงไปยังอุรุเวลานิคม ในระหว่างทางเสด็จ ได้เทศนาโปรดภัททวัคคีย์กุมาร ๓๐ คน และประทานอุปสมบทให้ แล้วส่งไปประกาศพระศาสนา พระองค์เสด็จพระพุทธดำเนินต่อไป

เมื่อถึงอุรุเวลานิคมแล้ว ตรัสขอพำนักอาศัยกับท่านอุรุเวลกัสสปะ ท่านอุรุเวลกัสสปะมิได้เต็มใจรับ ผลที่สุดเมื่อขัดไม่ได้ ก็ให้พำนักอาศัย พระองค์ได้ทรงทรมานพระอุรุเวลกัสสปะ ด้วยอภินิหารมีประการต่างๆ จนให้ท่านเห็นว่า ลัทธิของตนที่ถืออยู่นั้น หาแก่นสารมิได้ จึงเกิดความสลดใจ แล้วละลัทธิเดิมเสีย พากันลอยบริขารแห่งชฎิลในแม่น้ำ ทูลขออุปสมบท พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา พร้อมด้วยบริวาร ๕ ร้อย ฯ

ครั้นกาลต่อมาเมื่อน้องชายทั้ง ๒ คน พร้อมด้วยบริวารของตนได้เข้ามาอุปสมบทในพระธรรมวินัยเหมือนกับท่านแล้ว ฯ สมเด็จพระบรมศาสดาจึงได้พาภิกษุ ๑ พัน ๓ รูป ออกจากอุรุเวลาเสด็จไปยังตำบลคยาสีสะใกล้แม่น้ำคยา แล้วเสด็จประทับอยู่ ณ ที่นั้น


ครั้นทรงเห็นภิกษุเหล่านั้นอินทรีย์แก่กล้าแล้ว จึงตรัสเทศนา อาทิตตปริยายสูตรโปรด เมื่อพระบรมศาสดาตรัสเทศนาอยู่ จิตของภิกษุเหล่านั้นก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน กล่าวคือภิกษุเหล่านั้นได้บรรลุพระอรหัตผลเป็นพระขีณาสพ ฯ

พระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ ณ ตำบลคยาสีสะ พอสมควรแก่พระพุทธอัธยาศัย แล้วพระองค์พร้อมด้วยภิกษุ ๑ พัน ๓ รูป เสด็จจาริกไปโดยตามลำดับถึงกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ ณ สวนตาลหนุ่มอันชื่อว่า ลัฏฐิวัน ฯ


พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าแผ่นดินแห่งแคว้นมคธทรงทราบข่าว จึงพร้อมด้วยข้าราชบริพารเสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้า พระบรมศาสดาได้ทอดพระเนตรเห็นข้าราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสารมีอาการต่างๆ พระองค์จึงได้ทรงสั่งพระอุรุเวลกัสสปะ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนเหล่านั้น ประกาศให้ทราบว่า ลัทธิเก่านั้นอันหาแก่นสารมิได้ ท่านกระทำตามรับสั่ง ทำให้มหาชนเหล่านั้นสิ้นความเคลือบแคลงสงสัย แล้วตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา

พระองค์ทรงแสดง
อนุปุพพิกถา และ อริยสัจ ๔ ในที่สุดเทศนา พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยข้าราชบริพาร ๑๑ ส่วน ได้ดวงตาเห็นธรรม ส่วน ๑ ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ ครั้งนี้จัดว่าท่านได้ช่วยเป็นกำลังพระศาสดาในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในแคว้นมคธ ฯ

นอกจากนี้ ท่านยังได้ช่วยทำกิจพระศาสนาตามสมควรแก่กำลังความสามารถ และรู้จักเอาใจบริษัท ปรากฏว่ามีบริวารถึง ๕ ร้อย ฯ ด้วยเหตุนี้จึงได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่า “เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีบริวารมาก”

(ความเป็นผู้มีบริวารมาก เป็นผลแห่งความรู้จักเอาใจบริษัท รู้จักสงเคราะห์ด้วยอามิสบ้างด้วยธรรมบ้าง ตามต้องการอย่างไร ฯ ภิกษุผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติอย่างนี้ ย่อมเป็นผู้อันบริษัทรักใคร่นับถือ สามารถควบคุมบริษัทไว้อยู่เป็นผู้อันจะพึงปรารถนาในสาวกมณฑล) ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่พอสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๒   

ประวัติพระนทีกัสสปเถระ

3.png



ท่านพระนทีกัสสปะ เกิดในสกุลพราหมณ์กัสสปโคตร ฯ มีพี่ชายที่ ๑ ชื่อว่า อุรุเวลกัสสปะ มีน้องชายคน ๑ ชื่อ คยากัสสปะ ฯ เมื่อเจริญวัยได้เรียนจบไตรเพทด้วยกันทั้ง ๓ คน ฯ ท่านมีมาณพเป็นบริวาร ๓ ร้อยคน


ครั้นพิจารณาเห็นลัทธิของตนไม่มีแก่นสาร จึงได้พากันออกบวชเป็นชฎิล บำเพ็ญพรตบูชาเพลิงพร้อมกันทั้ง ๓ คนกับด้วยบริวาร ตั้งอาศรมอยู่โดยลำดับกัน ส่วนท่านตั้งอาศรมอยู่ที่ลำน้ำอ้อมหรือคุ้งแห่งแม่น้ำคงคา ถัดอาศรมของพี่ชายลงไปภายใต้ จึงได้นามฉายาว่า “นทีกัสสปะ”

ครั้นเมื่อพระอุรุเวลกัสสปะผู้เป็นพี่ชายพร้อมด้วยบริวาร ถูกพระบรมศาสดาทรงทรมานให้เสื่อมหายคลายจากลัทธินั้นแล้ว จึงพากันลอยตบะบริขารแห่งชฎิลลงมาตามกระแสน้ำ ท่านสำคัญว่าเกิดอันตรายแก่พี่ชายของตน จึงพร้อมด้วยบริวารรีบไป ได้เห็นพระอุรุเวลกัสสปะผู้พี่ชายถือเพศเป็นภิกษุแล้ว


ถามทราบความว่า พรหมจรรย์นี้ประเสริฐ จึงพากันลอยบริขารชฎิลเสียในแม่น้ำ พร้อมด้วยบริวารพากันเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาทูลขออุปสมบท พระองค์ก็ประทานอุปสมบทแก่เธอทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทาเหมือนอย่างท่านพระอุรุเวลกัสสปะผู้พี่ชาย

เมื่อท่านมีอินทรีย์แก่กล้าแล้ว ได้ฟังเทศนา อาทิตตปริยายสูตร ซึ่งพระบรมศาสดาทรงแสดงในเมื่อครั้งประทับอยู่ ณ ตำบลคยาสีสะ ก็ได้สำเร็จพระอรหัตผลเป็นพระอเสขบุคคลพร้อมทั้งบริวาร ฯ

ท่านได้ช่วยทำกิจพระศาสนาตามสมควรแก่หน้าที่ สั่งสอนให้กุลบุตรกุลธิดาให้เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมวินัยเป็นต้น เมื่อท่านดำรงตนอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๓   

ประวัติพระคยากัสสปเถระ

3.png



ท่านพระคยากัสสปะ เกิดในสกุลพราหมณ์กัสสปโคตร เดิมชื่อว่า “กัสสปะ” ตามโคตร มีพี่ชาย ๒ คน ได้แก่ อุรุเวลกัสสปะ ๑ และนทีกัสสปะ ๑ เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้วได้เรียนจบไตรเพทตามลัทธิของพวกพราหมณ์ มีความชำนิชำนาญมีชื่อเสียงปรากฏ มีบริวาร ๒ ร้อยคน ฯ

ครั้นต่อมาพิจารณาเห็นลัทธิของตนไม่มีแก่นสาร จึงพร้อมด้วยพี่ชายทั้ง ๒ และบริวารออกบวชเป็นชฎิลบำเพ็ญพรตบูชาเพลิง ตั้งอาศรมอยู่โดยลำดับกัน ส่วนท่านตั้งอาศรมอยู่ ณ ตำบลคยาสีสะ ถัดอาศรมของพี่ชายที่ ๒ ลงไปภายใต้ จึงได้นามฉายาตามที่อยู่เข้าข้างหน้าว่า “คยากัสสปะ”

เมื่อพี่ชายทั้ง ๒ พร้อมด้วยบริวารลอยบริขารชฎิลเสียในแม่น้ำ แล้วพากันอุปสมบทในพระพุทธศาสนาฯ ท่านได้เห็นบริขารลอยมาตามกระแสน้ำ สำคัญว่าเกิดอันตรายแก่พี่ชายทั้ง ๒ ของตน จึงพร้อมด้วยบริวารพากันมา

ครั้นถึงแล้วเห็นพี่ชายทั้ง ๒ กับด้วยบริวารถือเพศเป็นภิกษุแล้ว ถามทราบความว่า พรหมจรรย์นี้ประเสริฐ จึงพากันลอยบริขารของตนเสียในแม่น้ำพร้อมด้วยบริวาร แล้วเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดาทูลขออุปสมบท พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทาอย่างเช่นเดียวกับพี่ชาย ฯ

เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ ณ ตำบลคยาสีสะ ทรงได้ตรัสเทศนา อาทิตตปริยายสูตรโปรด ในที่สุดเทศนา ท่านพร้อมด้วยพี่ชายทั้ง ๒ และบริวารรวม ๑ พัน ๓ องค์ ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยกันทั้งหมด ฯ


ท่านได้ช่วยทำกิจพระศาสนาตามสติกำลังของท่าน เมื่อท่านดำรงชนมายุอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๔   

ประวัติพระสารีบุตรเถระ

3.png



ท่านพระสารีบุตร เกิดในตำบลบ้านชื่อว่า นาลกะหรือนาลันทะ ไม่ห่างไกลจากกรุงราชคฤห์ บิดาชื่อว่า วังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อว่า นางสารีพราหมณี บิดาของท่านเป็นนายบ้านตำบลนั้น เดิมท่านชื่อ อุปติสสะ อีกอย่างหนึ่งเขาเรียกชื่อตามความที่เป็นบุตรนางสารีว่า “สารีบุตร”

เมื่อท่านมาอุปสมบทในพระธรรมวินัยแล้ว สพรหมจารีพากันเรียกท่านว่า “พระสารีบุตร” ทั้งนั้น ฯ

ท่านกล่าวว่า สกุลพราหมณ์ผู้เป็นบิดาแห่งอุปติสสมาณพ เป็นสกุลที่มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยโภคสมบัติและบริวาร เมื่ออุปติสสมาณพเจริญวัยแล้ว ได้เล่าเรียนศิลปศาสตร์ มีปัญญาเฉียบแหลมเล่าเรียนได้เร็ว และได้เป็นมิตรชอบพอกันกับโกลิตมาณพโมคคัลลานโคตร ผู้มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เป็นบุตรแห่งสกุลผู้มั่งคั่งเหมือนกัน เพราะว่าตระกูลทั้ง ๒ นั้น เป็นสหายสืบเนื่องกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ฯ

อุปติสสมาณพและโกลิตมาณพ ๒ สหายนั้น ได้เคยไปเที่ยวดูการมหรสพในกรุงราชคฤห์ด้วยกันเสมอ เมื่อดูอยู่นั้นย่อมร่าเริงในที่ควรร่าเริง สลดใจในที่ควรสลดใจ ให้รางวัลในที่ควรให้ วันหนึ่ง ๒ สหาย ชวนกันไปดูการมหรสพเหมือนอย่างแต่ก่อน แต่หาได้ร่าเริงเหมือนวันก่อนๆ ไม่ เพราะพิจารณาเห็นว่าการดูมหรสพไม่เป็นสารประโยชน์อะไร ๒ สหายมีความเห็นร่วมกันอย่างนั้นแล้ว พร้อมกันนำบริวารไปขอบวชอยู่ในสำนักของสัญชัยปริพาชกต่อไป แต่ถ้าใครได้ธรรมพิเศษแล้วจงบอกแก่กัน ฯ

ครั้นพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงธรรมสั่งสอนประชาชน ประกาศพระพุทธศาสนาเสด็จมาถึงกรุงราชคฤห์ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร ฯ วันหนึ่งพระอัสสชิซึ่งนับเข้าในพวกพระปัญจวัคคีย์ ผู้ที่พระบรมศาสดาทรงส่งไปประกาศพระศาสนา ได้กลับมาเข้าเฝ้า ในตอนเช้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ ฯ

อุปติสสปริพาชกได้เห็นท่านแล้ว เกิดความเลื่อมใสอยากทราบลัทธิของท่าน เมื่อได้โอกาสจึงขอให้ท่านแสดงธรรมนั้นให้ฟัง โกลิตปริพาชกได้ดวงตาเห็นธรรมเหมือนกัน ชวนกันจะไปเฝ้าพระบรมศาสดา จึงไปลาสัญชัยผู้เป็นอาจารย์ สัญชัยห้ามไว้ อ้อนวอนให้อยู่หลายครั้งก็ไม่ฟัง พาบริวารไปพระเวฬุวัน เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาทูลขออุปสมบท พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทาด้วยกันทั้งหมด ฯ

สองสหายครั้นเมื่อบวชแล้ว ภิกษุทั้งหลายเรียกท่านทั้งสองว่า “สารีบุตรและโมคคัลลานะ” ฯ ภิกษุที่เป็นบริวารนั้น ครั้นได้ฟังธรรมเทศนานั้นแล้วบรรลุพระอรหัตก่อน ฯ ฝ่ายพระสารีบุตรอุปสมบทแล้ว ๑๕ วัน จึงได้สำเร็จพระอรหัตด้วย ได้ฟังเทศนา เวทนาปริคคหสูตร ที่พระบรมศาสดาตรัสแก่ปริพาชกชื่อ ทีฆนขอัคคิเวสนโคตร

ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ชอบใจหมด ฯ พระบรมศาสดาจึงตรัสตอบว่า ดูก่อนอัคคิเวสนะ ถ้าอย่างนั้นความเห็นอย่างนั้นก็ต้องไม่ควรแก่ท่าน ท่านก็ต้องไม่ชอบใจความเห็นอย่างนั้น ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ก็ทรงแสดงทิฏฐิ ๓ อย่างนั้น ลำดับนั้นได้ทรงแสดงอุบายเครื่องไม่ถือมั่นต่อไป

สมัยนั้นพระสารีบุตรนั่งถวายงานพัดอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์แห่งพระบรมศาสดา ได้ฟังพระธรรมเทศนาที่ตรัสแก่ทีฆนขปริพาชกนั้น แล้วพิจารณาตามพระธรรมเทศนา จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ฯ ส่วนทีฆนขปริพาชกนั้น ได้เพียงดวงตาเห็นธรรม สิ้นความเคลือบแคลงสงสัยในพระพุทธศาสนาแล้ว ทูลแสดงตนเป็นอุบาสก ฯ

พระสารีบุตร เมื่อได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ปรากฏว่าเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด ได้เป็นกำลังสำคัญใหญ่ของพระบรมศาสดาในการประกาศพระศาสนาและเป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระองค์ พระองค์ทรงยกย่องว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางปัญญา


และสามารถจะแสดงพระธรรมจักรและจตุราริยสัจให้กว้างขวางพิสดารเหมือนกับพระองค์ได้ ใช่แต่เท่านั้น ท่านยังมีคุณความดีที่พระองค์ยกย่องอีกเป็นหลายสถาน จะยกมากล่าวแต่ที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้

              ๑. ทรงยกย่องว่า พระสารีบุตรเป็นผู้มีปัญญาอนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิตด้วยกัน เรื่องนี้พึงมีตัวอย่างคือ เมื่อครั้งพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่เมืองเทวหะ ภิกษุพากันเข้าไปเฝ้าพระองค์ ทูลลาจะไปปัจฉาภูมิชนบท พระองค์ตรัสให้ไปลาพระสารีบุตรก่อน เพื่อท่านพระสารีบุตรจะได้แนะนำสั่งสอนในการไปของพวกเธอ จะได้ไม่เกิดความเสียหาย ฯ


             ๒. ทรงยกย่องพระสารีบุตรเป็นคู่กับพระโมคคัลลานะ เช่น
เมื่อครั้งพระบรมศาสดาตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายคบกับสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ให้เกิด และโมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้วนั้น

สารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องบนที่สูงกว่านั้น ฯ ด้วยเหตุนี้จึงได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่า พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกฝ่ายขวา และพระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย

             ๓. มีคำยกย่องพระสารีบุตรอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า “พระธรรมเสนาบดี” ซึ่งเป็นคู่กับพระบรมศาสดาว่า “พระธรรมราชา”
            
             ท่านพระสารีบุตร ยังมีคุณความดีที่ปรากฏตามตำนานอีกมาก ที่สำคัญก็คือ

             ๑. ท่านเป็นผู้มีปฏิภาณในการแสดงพระธรรมเทศนา คือ ชี้แจงแสดงให้ผู้ฟังเข้าใจได้ชัดเจน ฯ พึงสาธกเรื่องพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่า ยมกะมีความเห็นเป็นทิฏฐิว่า พระขีณาสพตายแล้วดับสูญ ฯ ภิกษุทั้งหลายค้านเธอว่า เห็นอย่างนั้นผิด เธอไม่เชื่อ แต่ภิกษุเหล่านั้นไม่อาจเปลื้องเธอจากความเห็นนั้นได้ จึงอาราธนาพระสารีบุตรไปช่วยชี้แจงแสดงให้เธอ จึงได้หายความเคลือบแคลงสงสัย ฯ

             ๒. ท่านเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที ฯ ข้อนี้ตัวอย่างคือ ท่านได้ฟังธรรมเทศนาที่พระอัสสชิแสดง ได้ธรรมจักษุแล้ว เข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่นั้นมาท่านนับถือพระอัสสชิผู้เป็นอาจารย์ ทำการเคารพอยู่เสมอ แม้ได้ยินข่าวว่าพระอัสสชิอยู่ในทิศใด เมื่อท่านจะนอน ท่านจะนมัสการไปทางทิศนั้นก่อน แล้วนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น ฯ


อีกเรื่องหนึ่ง ท่านยังให้ราธพราหมณ์อุปสมบท เพราะรำลึกถึงอุปการคุณที่ราธพราหมณ์ได้ถวายบิณฑบาตแก่ท่านเพียงทัพพีหนึ่ง ในเมื่อท่านเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ (เรื่องนี้จักมีพิสดารในประวัติพระราธเถระ)

ท่านพระสารีบุตร นับได้ว่าเป็นกำลังใหญ่ของพระบรมศาสดาในการประกาศพระศาสนา ธรรมภาษิตของท่านจึงมีเป็นอันมาก เช่น สังคีติสูตร เป็นต้น นอกจากพระพุทธภาษิตแล้ว ภาษิตของพระสารีบุตรมีมากกว่าของพระสาวกอื่นๆ ฯ

พระสารีบุตรนั้นนิพพานก่อนพระบรมศาสดา อยู่มาถึงปัจฉิมโพธิกาลพรรษาที่ ๔๕ ล่วงไปแล้ว ก่อนแต่จะปรินิพพาน ท่านพิจารณาเห็นว่า อายุสังขารจวนสิ้นแล้ว ปรารถนาจะไปโปรดมารดาเป็นครั้งสุดท้าย แล้วปรินิพพานในห้องที่เกิด จึงกราบทูลสมเด็จพระบรมศาสดาไปกับพระจุนทะผู้น้องและบริวาร ไปถึงบ้านเดิมแล้วเกิดปักขันทิกาพาธขึ้นในคืนนั้น


ในเวลาที่ท่านกำลังอาพาธอยู่นั้น ได้เทศนาโปรดมารดาจนสำเร็จ คือได้บรรลุโสดาปัตติผล ฯ พอเวลาปัจจุสมัยวันเพ็ญแห่งกัตติกมาส พระเถระเจ้าก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

รุ่งขึ้น พระจุนทะได้ทำฌาปนกิจสรีระของพระเถระเจ้าเสร็จแล้ว ก็เก็บอัฐิธาตุนำไปถวายพระบรมศาสดา ซึ่งประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี พระองค์โปรดให้ก่อพระเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของพระเถระเจ้าไว้ ณ ที่นั้น ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๕   

ประวัติพระโมคคัลลานเถระ

3.png



ท่านพระโมคคัลลานะ เป็นบุตรพราหมณ์ ผู้เป็นนายบ้านชื่อว่า โกลิตะตามโคตรแห่งบิดา อีกอย่างหนึ่งเขาเรียกตามความที่เป็นบุตรนางโมคคัลลีว่า
โมคคัลลานะ” ท่านเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว พวกสพรหมจารีก็เรียกท่านว่า โมคคัลลานะ ทั้งนั้น ฯ

ท่านเกิดในตำบลไม่ห่างไกลจากกรุงราชคฤห์ และได้เป็นสหายที่รักใคร่กันกับอุปติสสมาณพ มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เพราะตระกูลทั้ง ๒ นั้น เป็นสหายสืบเนื่องกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษและเป็นตระกูลที่มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์และบริวารเสมอกัน

ครั้นเจริญวัยขึ้นแล้ว ได้เล่าเรียนศิลปศาสตร์ด้วยกัน แม้จะไปไหนหรือทำอะไรก็ไปกระทำด้วยกัน จนกระทั่งเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาก็บวชพร้อมกัน ต่างกันแต่ว่าได้ดวงตาเห็นธรรมครั้งแรกคนละคราว พึงทราบเรื่องราวตามที่กล่าวแล้วในประวัติพระสารีบุตรเถระ ในที่นี้จะกล่าวตั้งแต่อุปสมบทแล้วไป ฯ

จำเดิมแต่ท่านได้มาอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ได้ ๗ วัน ไปทำความเพียรอยู่ที่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แขวงเมืองมคธ อ่อนใจนั่งโงกง่วงอยู่ พระบรมศาสดาเสด็จไปที่นั่น ทรงสั่งสอนแสดงอุบายสำหรับระงับความง่วง มีประการต่างๆ ดังต่อไปนี้

             ๑. โมคคัลลานะ เมื่อท่านมีสัญญาอย่างไร ความง่วงนั้นครอบงำได้ ท่านควรทำในใจถึงสัญญานั้นให้มาก ฯ


             ๒. ท่านควรตริตรองพิจารณาถึงธรรม ที่ตนได้ฟังแล้ว และได้เรียนแล้วอย่างไร ด้วยน้ำใจของตัวเอง ฯ


             ๓. ท่านควรสาธยายธรรมที่ตัวได้ฟังมาแล้ว และได้เรียนแล้วอย่างไรโดยพิสดาร


             ๔. ท่านควรยอนหูทั้งสองข้าง และลูบด้วยฝ่ามือ ฯ


             ๕. ท่านควรลุกขึ้นยืนแล้ว ลูบนัยน์ตาด้วยน้ำ เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตรฤกษ์ ฯ


             ๖. ท่านควรทำในใจถึงอาโลกสัญญา คือ ความสำคัญในแสงสว่าง ตั้งความสำคัญว่ากลางวันไว้ในจิต ให้เหมือนกันทั้งกลางวันกลางคืน มีใจเปิดเผยฉะนี้ ไม่มีอะไรห่อหุ้มทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิด ฯ


             ๗. ท่านควรอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีจิตไม่คิดไปภายนอก ฯ  


             ๘. ท่านควรสำเร็จสีหไสยา คือ นอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้นไว้ในใจ พอท่านตื่นแล้วควรรีบลุกขึ้น ฯ


ครั้นตรัสสอนอุบายสำหรับระงับความง่วงอย่างนี้แล้ว พระองค์ทรงสั่งสอนให้สำเนียกในใจต่อไปอีกว่า เราจักไม่ชูงวง (คือ การถือตัว) เข้าไปสู่ตระกูล ฯ เราจักไม่พูดคำซึ่งที่เป็นเหตุให้เถียงกัน ถือผิดต่อกัน ฯ และตรัสสอนให้คลุกคลียินดีด้วยที่นอนที่นั่งอันเงียบสงัด ควรเป็นที่หลีกออกเร้นสมณวิสัย ฯ


เมื่อตรัสสอนอย่างนี้แล้ว พระโมคคัลลานะกราบทูลถามว่า โดยย่อข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมที่สิ้นตัณหามิความสำเร็จล่วงส่วน เกษมจากโยคธรรมล่วงส่วน มีพรหมจารีบุคคลล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน ประเสริฐสุดกว่าเทวดามนุษย์ทั้งหลาย ฯ

พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า โมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับแล้วว่า บรรดาธรรมทั้งปวงไม่ควรถือมั่น เธอทราบชัดธรรมทั้งปวงเธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นสุขก็ดีเป็นทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี เธอพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาเห็นด้วยปัญญาเป็นเครื่องหน่ายเป็นเครื่องดับ เป็นเครื่องสละคืนในเวทนาทั้งหลายนั้น

เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้น ย่อมไม่ถือมั่นสิ่งอะไรๆ ในโลก ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้จำเพาะตัว และทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำอย่างนี้อีกมิได้มี


ว่าโดยย่อข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล ภิกษุได้ชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา ฯ ท่านพระโมคคัลลานะปฏิบัติตามโอวาทที่พระบรมศาสดาทรงสั่งสอน ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหัตในวันนั้น ฯ

ครั้นพระโมคคัลลานะ ได้สำเร็จพระอรหัตแล้ว ท่านได้เป็นกำลังใหญ่ของพระบรมศาสดา ในอันยังการพระพุทธดำริให้สำเร็จ เพราะท่านมีฤทธานุภาพมาก จึงได้รับการยกย่องจากสมเด็จพระบรมศาสดาว่า ท่านเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางเป็นผู้มีฤทธิ์ ฯ และได้รับการยกย่องว่าเป็นคู่กันกับพระสารีบุตรในอันอุปการะภิกษุเข้ามาบวชในพระธรรมวินัย

ดังกล่าวแล้วในประวัติท่านพระสารีบุตรว่า พระสารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ยังบุตรให้เกิด พระโมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว

พระสารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พระโมคคัลลานะแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องบนที่สูงกว่านั้น ฯ ด้วยเหตุนี้จึงยกย่องว่า พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกฝ่ายขวา พระโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกฝ่ายซ้าย ฯ

พระธรรมเทศนาของพระโมคคัลลานะไม่ค่อยจะมีที่เป็นโอวาทให้แก่พระภิกษุสงฆ์ ก็มีอนุมานสูตร ว่าด้วยธรรมอันทำให้คนเป็นผู้ว่ายากหรือง่าย ที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ร้อยกรองไว้ในในมัชฌิมนิกาย ฯ

พระโมคคัลลานะเข้าใจในนวกรรมด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อนางวิสาขามหาอุบาสิกา ได้สร้างบุพพารามที่กรุงสาวัตถี พระบรมศาสดารับสั่งให้ท่านเป็นนวกัมมาธิฏฐายี คือ ผู้ดูแลนวกรรม ฯ

ท่านพระโมคคัลลานะ ปรินิพพานก่อนพระบรมศาสดา มีเรื่องเล่าว่า ครั้งเมื่อท่านพำนักอาศัยอยู่ ณ ตำบลกาฬศิลา แคว้นมคธ พวกเดียรถีย์ปรึกษากันว่า บรรดาลาภสักการะทั้งหลายที่เกิดขึ้นแก่พระบรมศาสดาในครั้งนี้ ด้วยอาศัยพระโมคคัลลานะ เพราะท่านพระโมคคัลลานะสามารถไปนำข่าวในสวรรค์และนรกมาแจ้งแก่มนุษย์ ชักนำให้เกิดความเลื่อมใส ถ้าพวกเรากำจัดพระโมคคัลลานะเสียได้แล้ว ลัทธิฝ่ายของพวกเราก็จักรุ่งเรืองขึ้น ฯ

เมื่อปรึกษากันดังนั้นแล้ว จึงจ้างโจรผู้ร้ายให้ลอบฆ่าพระโมคคัลลานะ ฯ ตามตำนานท่านกล่าวว่า เมื่อโจรจะมาคิดทำร้ายฆ่าท่านพระโมคคัลลานะแจ้งเหตุนั้น จึงหนีไปเสียถึง ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๓ ท่านพิจารณาเห็นว่ากรรมตามทัน จึงไม่หนี พวกโจรผู้ร้ายทุบตีจนแหลกสำคัญว่าตายแล้ว จึงนำสรีระของท่านไปซ่อนไว้ในพุ่มไม้แห่งหนึ่งแล้วพากันหนีไป ฯ

ท่านพระโมคคัลลานะยังไม่ถึงมรณะ เยียวยาอัตภาพให้หายด้วยกำลังฌานแล้ว เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา ทูลลากลับมาปรินิพพาน ณ ที่เดิม ในวันดับแห่งกัตติกมาส ภายหลังพระสารีบุตรปักษ์หนึ่ง พระศาสดาได้เสด็จไปทำฌาปนกิจแล้วรับสั่งให้เก็บอัฐิธาตุมาก่อพระเจดีย์ที่ซุ้มประตูแห่งเวฬุวนาราม ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๖   

ประวัติพระมหากัสสปเถระ

3.png



ท่านพระมหากัสสปะ เป็นบุตรกปิลพราหมณ์กัสสปโคตรในบ้านมหาติฏฐะ จังหวัดมคธรัฐ ชื่อ ปิปผลิ อีกอย่างหนึ่งเรียกตามโคตรว่า กัสสปะ
เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ได้ทำการอาวาหมงคลกับนางภัททกาปิลานี ผู้มีอายุได้ ๑๖ ปี บุตรีพราหมณ์โกสิยโคตร ณ สาคลนคร จังหวัดมคธรัฐ เนื้อความในเรื่องนี้มีว่า

เมื่อปิปผลิมาณพมีอายุได้ ๒๐ ปีแล้ว พราหมณ์ผู้เป็นบิดา พร้อมกับนางพราหมณีผู้มารดา ปรึกษากันหาภรรยาให้แก่บุตรของตน จึงมอบสิ่งของมีเงินและทองเป็นต้น ให้แก่พราหมณ์ ๘ คน แล้วส่งไปเพื่อให้แสวงหาหญิงที่มีลักษณะงดงาม มีฐานะเสมอกับด้วยสกุลของตน

พราหมณ์ ๒ คน รับสิ่งของทองหมั้นแล้ว เที่ยวไปได้บรรลุถึงสาคลนคร ในพระนครนั้น มีธิดาของพราหมณ์โกสิยโคตรคนหนึ่ง ชื่อว่า ภัททกาปิลานี อายุ ๑๖ ปี รูปร่างงดงามสมกับเป็นผู้มีบุญ พราหมณ์เหล่านั้นครั้นได้เห็นแล้ว จึงเข้าไปสู่ขอกับบิดามารดาของนาง เมื่อเป็นการตกลงแล้ว มอบสิ่งของทองหมั้น กำหนดวันอาวาหมงคล และส่งข่าวให้แก่กปิลพราหมณ์ทราบ ฯ

ส่วนปิปผลิมาณพเมื่อได้ทราบดังนั้นแล้ว ไม่ได้มีความประสงค์จะแต่งงานเลย จึงเข้าไปในห้องเขียนจดหมายบอกความประสงค์ของตนให้แก่นางทราบว่า “นางผู้เจริญ จงได้สามีที่มีชาติและโคตรโภคสมบัติเสมอกับนาง อยู่ครอบครองเรือนกัน จงเป็นสุขเถิด ฉันจักออกบวช ภายหลังนางอย่าเดือดร้อน"

ครั้นเขียนเสร็จแล้วมอบให้คนใช้นำไปส่งให้ แม้นางภัททกาปิลานีก็มีความประสงค์เช่นเดียวกัน จึงได้เขียนจดหมายมอบให้คนใช้นำมา ฯ คนใช้ทั้ง ๒ มาพบกันในระหว่างทาง ต่างไต่ถามความประสงค์ของกันและกันแล้ว จึงฉีกจดหมายออกอ่านแล้วทิ้งจดหมาย ๒ ฉบับนั้นเสียในป่า เขียนจดหมายมีเนื้อความแสดงความรักใคร่ซึ่งกันและกันใหม่ แล้วนำไปส่งให้แก่คนทั้ง ๒

ครั้นกาลต่อมา การอาวาหมงคลเป็นการสำเร็จเรียบร้อย แต่คนทั้ง ๒ ไม่มีความประสงค์ สักแต่ว่าอยู่ร่วมกันเท่านั้น ไม่ได้ถูกต้องกันเลย แม้เวลาจะขึ้นสู่เตียง คนทั้งสองก็ไม่ได้ขึ้นทางเดียวกัน ปิปผลิมาณพขึ้นข้างขวา และนางภัททกาปิลานีขึ้นข้างซ้าย เมื่อถึงกลางวันก็ไม่ได้มีการหัวเราะยิ้มต่อกันเลย ฯ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีบุตรหรือธิดา

สกุลของสามีภรรยาคู่นี้มั่งคั่งมาก มีการงานที่เป็นบ่อเกิดแห่งทรัพย์ก็มาก มีคนงานและพาหนะสำหรับใช้งานก็มาก ครั้นต่อมาบิดามารดาทำกาลกิริยาแล้ว ปิปผลิมาณพได้ครองสมบัติและดูแลการงานนั้นสืบตระกูล ฯ

สามีภรรยาทั้ง ๒ นี้มีความเห็นร่วมกันว่า ผู้อยู่ครองเรือนต้องคอยนั่งรับบาป เพราะการงานที่ผู้อื่นทำไม่ดี มีใจเบื่อหน่าย พร้อมใจกันจะออกบวช จึงไปแสวงหาผ้ากาสายะและบาตรดินจากร้านตลาด แล้วปลงผมกันและกัน แล้วนุ่งผ้ากาสายะ ถือเพศบรรพชิต ออกบวชอุทิศพระอรหันต์ในโลก สะพายบาตรเดินลงจากปราสาทหลีกหนีไป

ปิปผลิเดินหน้า นางภัททกาปิลานีเดินตามหลัง พอไปถึงทาง ๒ แพร่งแห่งหนึ่ง จึงแยกออกจากกัน ปิปผลิเดินไปทางขวา นางภัททกาปิลานีเดินไปทางซ้าย บรรลุถึงสำนักนางภิกษุณี ภายหลังได้บวชเป็นภิกษุณีและได้บรรลุพระอรหัตผล ฯ

ส่วนปิปผลิ เมื่อเดินไปได้พบสมเด็จพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่ใต้ร่มไทร ซึ่งเรียกว่า พหุปุตตนิโครธ ในระหว่างกรุงราชคฤห์และเมืองนาลันทาต่อกัน มีความเลื่อมใสเปล่งวาจาประกาศว่า พระศาสดาเป็นศาสดาของตน ตนเป็นสาวก พระศาสดาทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ด้วยการประทานโอวาท ๓ ข้อว่า: -

๑. กัสสปะ ท่านพึงศึกษาว่า เราจักเข้าไปตั้งความละอายและความเกรง ไว้ในภิกษุผู้เป็นเฒ่าและปานกลางเป็นอย่างแรงกล้า ฯ

๒. เราจักฟังธรรมอันใดอันหนึ่งประกอบด้วยกุศล เราจักเงี่ยหูลงฟังธรรมนั้น พิจารณาเนื้อความดังนี้ ฯ

๓. เราจักไม่ละสติที่ไปในกาย คือ พิจารณาร่างกายเป็นอารมณ์ ฯ

            
ครั้นประทานโอวาทแก่พระมหากัสสปะอย่างนี้แล้ว เสด็จหลีกไป ท่านได้ฟังพุทธโอวาทที่ทรงสั่งสอนแล้ว บำเพ็ญเพียรไม่ช้านัก ในวันที่ ๘ แต่อุปสมบทก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ฯ

ตามปกติธรรมดาท่านพระมหากัสสปะนั้น ถือธุดงค์ ๓ อย่าง คือ ถือทรงผ้าบังสุกุลจีวรเป็นวัตร ๑ ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ๑ และถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๑ ด้วยเหตุนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทรงธุดงค์ ฯ นอกจากนี้ท่านยังมีความดีที่พระบรมศาสดาทรงยกย่องอีกหลายสถานเช่น: -

๑. ทรงรับผ้าสังฆาฏิของท่านไป ทรงประทานผ้าสังฆาฏิของพระองค์ให้แก่ท่าน ตรัสว่ามีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอด้วยพระองค์และทรงสรรเสริญว่าเป็นผู้มักน้อยสันโดษ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้ถือเอาเป็นตัวอย่าง


๒. กัสสปะเข้าไปใกล้ตระกูลชักกายและใจห่าง ประพฤติเป็นคนใหม่ไม่คุ้นเคยเป็นนิตย์ ไม่คะนองกายวาจาใจในสกุลเป็นนิตย์ จิตไม่ข้องอยู่ในสกุลเหล่านั้น เพิกเฉยแล้วตั้งจิตเป็นกลางว่า ผู้ใคร่ลาภก็จงได้ลาภ ผู้ใคร่บุญก็จงได้บุญ ตนได้ลาภแล้วมีใจฉันใดผู้อื่นก็มีใจฉันนั้น ฯ

๓. กัสสปะมีจิตประกอบไปด้วยเมตตากรุณาแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ฯ

๔. ทรงสั่งสอนภิกษุให้ประพฤติดีประพฤติชอบ
ยกท่านพระมหากัสสปะเป็นตัวอย่าง ฯ


ท่านพระมหากัสสปะนั้นดีแต่ในการปฏิบัติ หาพอใจในการสั่งสอนภิกษุสหธรรมิกไม่ ธรรมเทศนาอันเป็นอนุสาสนีของท่านจึงไม่มี คงมีแต่ธรรมภาษิตเนื่องมาจากธัมมสากัจฉากับเพื่อนสาวกบ้าง กล่าวบริหารพระพุทธดำรัสบ้าง ท่านอยู่มาถึงภายหลังแต่พุทธปรินิพพาน ฯ ในเมื่อพระบรมศาสดายังทรงพระชนม์อยู่ ดูท่านจะไม่ออกหน้านัก เป็นเพียงพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่งเท่านั้น มาปรากฏเป็นพระสาวกองค์สำคัญ เมื่อพระบรมศาสดาทรงปรินิพพานแล้ว ฯ คือ


ในเวลาที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้วได้ ๗ วัน ท่านประชุมสงฆ์เล่าถึงการที่สุภัททวุฑฒบรรพชิต กล่าวคำมิดีมิชอบต่อพระธรรมวินัย ในคราวเมื่อเดินทางมาจากปาวานคร ปรึกษาหารือในทางที่จะทำสังคายนา รวบรวมพระธรรมวินัยตั้งไว้เป็นแบบฉบับ พระสงฆ์ก็ยินยอมเห็นพร้อมด้วย ท่านจึงเลือกภิกษุผู้ทำสังคายนาได้ ๕๐๐ องค์

การทำสังคายนาในครั้งนั้น ทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา แห่งเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์ พระมหากัสสปะเป็นประธาน ได้พระอุบาลีและพระอานนท์เป็นกำลังสำคัญ เป็นผู้วิสัชนาพระวินัยและพระธรรมโดยลำดับกัน ได้พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นศาสนูปถัมภก ทำอยู่ ๗ เดือน จึงได้สำเร็จเรียกว่า ปฐมสังคีติ ฯ


เมื่อท่านทำสังคายนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้สำเร็จการอยู่ที่พระเวฬุวนารามในกรุงราชคฤห์ ปฏิบัติธรรมเป็นนิตย์ ดำรงชนมายุสังขาร ประมาณได้ ๑๒๐ ปี ท่านก็ได้ดับขันธปรินิพพาน ณ ระหว่างกลาง กุกกุฏสัมปาตบรรพตทั้ง ๓ ลูก ในกรุงราชคฤห์มหานคร ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๗   

ประวัติพระมหากัจจายนเถระ
3.png



พระมหากัจจายนะ เป็นบุตรพราหมณ์ปุโรหิต กัจจานโคตรหรือกัจจายนโคตร ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในกรุงอุชเชนี ชื่อว่า กัญจนะ เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้วเรียนจบไตรเพท เมื่อบิดาได้กระทำกาลกิริยาแล้ว ได้รับตำแหน่งปุโรหิตแทนบิดา ฯ


ครั้นกาลต่อมา พระเจ้าจัณฑปัชโชตได้ทรงทราบว่า สมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว เสด็จเที่ยวโปรดสั่งสอนประชาชน ธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนนั้น เป็นธรรมที่แท้จริง และยังประโยชน์ให้สำเร็จแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติตาม จึงมีพระประสงค์จะใคร่เชิญสมเด็จพระบรมศาสดาไปประกาศพระศาสนาที่กรุงอุชเชนี จึงสั่งกัจจายนะปุโรหิต ซึ่งเป็นผู้มีความรู้เรียนจบไตรเพทไปทูลเชิญเสด็จ กัจจายนะปุโรหิตทูลลาจะบวชด้วย


ครั้นได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงออกจากกรุงอุชเชนีพร้อมด้วยบริวาร ๗ คน ครั้นมาถึงที่ประทับพระบรมศาสดาแล้ว พากันเข้าไปเฝ้า พระองค์ตรัสเทศนาสั่งสอน ในที่สุดเทศนา ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมกันทั้ง ๘ คน แล้วจึงทูลขออุปสมบท พระศาสดาก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา


ครั้นได้อุปสมบทแล้ว จึงทูลเชิญอาราธนาพระองค์เสด็จไปที่กรุงอุชเชนี ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต พระบรมศาสดาทรงรับสั่งว่า ท่านไปเองเถิด เมื่อท่านไปแล้วพระเจ้าจัณฑปัชโชตจักทรงเลื่อมใส ท่านพร้อมด้วยบริวาร ๘ องค์ กราบถวายบังคมลาสมเด็จพระบรมศาสดากลับไปสู่กรุงอุชเชนีประกาศพุทธศาสนาให้พระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวพระนครเลื่อมใสแล้ว จึงกลับมาสู่สำนักของพระบรมศาสดาอีก ฯ

ท่านเป็นผู้ฉลาดในการอธิบายความแห่งคำที่ย่อให้พิสดาร เช่น ในครั้งหนึ่งสมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงภัทเทกรัตตสูตรโดยย่อแล้ว เสด็จเข้าวิหารที่ประทับ ภิกษุทั้งหลายไม่ได้ช่องที่จะทูลถามเนื้อความ ที่พระองค์ตรัสโดยย่อให้เข้าใจกว้างขวาง เห็นความสามารถของท่านพระมหากัจจายนะ จึงได้อาราธนาขอให้ท่านอธิบายให้ฟัง


ท่านก็อธิบายให้ฟัง ฯ ท่านอธิบายให้ฟังโดยพิสดารแล้วกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ เราเข้าใจเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงแสดงแล้วโดยย่อความพิสดารอย่างนี้ ถ้าท่านทั้งหลายประสงค์ ก็จงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดากราบทูลถามเนื้อความเถิด พระองค์ทรงแก้อย่างไร จงจำไว้อย่างนั้น กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ


พระองค์ตรัสสรรเสริญพระมหากัจจายนะว่า ภิกษุทั้งหลาย กัจจายนะเป็นผู้มีปัญญา ถ้าพวกเธอถามเนื้อความนั้นกะเรา เราก็แก้เหมือนอย่างที่กัจจายนะแก้แล้วอย่างนั้น เนื้อความแห่งธรรมที่เราแสดงแล้วโดยย่ออย่างนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงจำไว้เถิด ฯ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อธิบายความย่อโดยพิสดาร ฯ

ท่านพระมหากัจจายนะนั้น ได้ทูลขอพระบรมพุทธานุญาตให้พระองค์ทรงแก้ไขพระพุทธบัญญัติบางข้อ ซึ่งขัดต่อภูมิประเทศ เช่น เมื่อครั้งท่านพำนักอาศัยอยู่ ณ ภูเขาชื่อว่า ปวัตตะ แขวงเมืองกุรุรฆระ ในอวันตีทักขิณาปถชนบท อุบาสกผู้เป็นอุปัฏฐากของท่านองค์หนึ่ง ชื่อว่า โสณกุฏิกัณณกะ มีความประสงค์จะบวชในพระธรรมวินัย แต่ก็ได้เพียงบรรพชาเท่านั้น โดยล่วงไป ๓ ปีแล้ว จึงได้อุปสมบท เพราะในอวันตีทักขิณาปถชนบทหาภิกษุสงฆ์เป็นคณปูรกะไม่ได้


เมื่อโสณกุฏิกัณณกะได้อุปสมบทแล้ว มีความปรารถนาจะไปเฝ้าพระบรมศาสดา จึงไปลาท่านพระมหากัจจายนะผู้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านก็อนุญาต และสั่งให้ไปถวายบังคมพระบาทพระบรมศาสดาด้วยเศียรเกล้าตามคำขอของท่าน แล้วให้กราบทูลขอพระบรมพุทธานุญาตให้พระองค์ทรงแก้ไขพระพุทธบัญญัติ ซึ่งขัดต่ออวันตีทักขิณาปถชนบท ๕ ข้อ คือ
            
.....ในอวันตีทักขิณาปถชนบท มีภิกษุน้อย ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตการอุปสมบทด้วยคณะภิกษุน้อยกว่า ๑๐ รูป ฯ ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตการอุปสมบทในปัจจันตชนบท ด้วยคณะมีพระวินัยธรเป็นที่ ๕” (ด้วยคณะสงฆ์ ๕ รูป) ฯ
            
.....มีพื้นที่ขรุขระไม่สม่ำเสมอ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตรองเท้าเป็นชั้นๆ ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรองเท้าเป็นชั้นๆ ในปัจจันตชนบท”
            
.....พวกมนุษย์ต้องอาบน้ำทุกวัน ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตการอาบน้ำเป็นนิตย์ ฯ ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการอาบน้ำได้เป็นนิตย์ในปัจจันตชนบท”
            
.....มีเครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะหนังแกะเป็นต้น บริบูรณ์ดีเหมือนมัชฌิมชนบท ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตเครื่องลาดทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะหนังแกะเป็นต้น ฯ ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะ หนังแกะเป็นต้น” ฯ
            
.....พวกมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมถวายจีวรแก่ภิกษุไปแล้วในภายนอกสีมาด้วยคำว่า “พวกข้าพเจ้าถวายจีวรผืนนี้ แก่ภิกษุชื่อนี้” เมื่อพวกเธอเหล่านั้นกลับมาแล้ว พวกภิกษุในวัดแจ้งความให้พวกเธอทราบ พวกเธอรังเกียจ ไม่ยินดีรับ ด้วยเข้าใจเสียว่าผ้านั้นเป็นนิสสัคคียะ (จำต้องสละ เพราะล่วง ๑๐ ราตรีแล้ว) ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงตรัสบอกการปฏิบัติในจีวรเช่นนั้น ฯ ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเพื่อให้ภิกษุยินดีรับจีวรที่ทายกถวายลับหลังนั้นได้ ผ้ายังไม่ถึงมือภิกษุตราบใด จะนับว่าเธอเป็นผู้มีสิทธิ์ในผ้านั้นเต็มที่ยังไม่ได้ตราบนั้น”
            
ท่านพระมหากัจจายนะนั้น เป็นผู้มีรูปงาม มีผิวเหลืองดุจทอง มีเรื่องเล่าในอรรถกถาธรรมบทว่า บุตรเศรษฐีมีชื่อว่า โสเรยยะ ในโสเรยยนครเห็นท่านแล้วคะนองใจยิ่งนัก ด้วยอำนาจอกุศลจิตเพียงเท่านี้ เพศชายแห่งโสเรยยเศรษฐีบุตรนั้นกลับเป็นเพศสตรี เธอได้รับความอับอายเป็นอย่างยิ่ง จึงหนีไปอยู่นครอื่น จนกระทั่งได้สามีมีบุตรด้วยกัน ๒ คน ภายหลังได้ไปขอขมาให้ท่านอดโทษแล้ว จึงกลับเป็นบุรุษตามเดิม ฯ


ตามความในมธุรสูตรว่า ท่านอยู่มาถึงภายหลังแต่พุทธปรินิพพาน ใจความย่อในสูตรนั้นว่า เมื่อท่านพระมหากัจจายนะอยู่ที่คุนธาวัน แขวงมธุรราชธานี พระเจ้ามธุรราชธานีอวันตีบุตรเสด็จไปหา แล้วทรงตรัสว่า ข้าแต่ท่านพระมหากัจจายนะผู้เจริญ พวกพราหมณ์ถือว่า พวกเขาเป็นผู้ประเสริฐสุด เกิดจากพรหม ท่านเข้าใจว่าอย่างไร ฯ  


ท่านพระมหากัจจายนะทูลตอบ แล้วแสดงวรรณะ ๔ เหล่านี้ไม่ต่างกัน ครั้นพระเจ้ามธุรราชสดับแล้วเกิดความเลื่อมใส แสดงพระองค์เป็นอุบาสก ถึงพระเถระกับพระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ ฯ


พระเถระทูลห้ามว่า อย่าถึงท่านเป็นสรณะเลย จงถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นสรณะของท่านเป็นสรณะเถิด ฯ พระเจ้ามธุรราชจึงตรัสถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ ที่ไหน ได้ทราบความว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานเสียแล้ว


จึงตรัสว่า ถ้าพระองค์ได้ทรงสดับว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จในที่ใด แม้ใกล้ไกลเท่าใด พระองค์ก็คงจะเสด็จไปเฝ้าให้จงได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานเสียแล้ว ข้าพระองค์ขอถือพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ปรินิพพานแล้ว กับพระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง ฯ  


ข้อนี้ย่อมชี้ให้เห็นว่า ท่านพระมหากัจจายนะมีชีวิตอยู่มาภายหลังแต่พระพุทธปรินิพพาน ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ


4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๘   

ประวัติพระอชิตเถระ

3.png



ท่านพระอชิตะ เกิดในสกุลพราหมณ์ ณ กรุงสาวัตถี เดิมชื่อว่า อชิตมาณพ เมื่อมีอายุสมควรแก่การศึกษาแล้ว มารดาบิดาได้นำท่านพระอชิตะไปฝากให้เป็นศิษย์เล่าเรียนศิลปวิทยา ในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล

เมื่อพราหมณ์พาวรีคิดเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย ได้ถวายกราบบังคมทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศลออกจากหน้าที่ปุโรหิต ออกบวชเป็นชฎิลประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและอาฬกะต่อกัน เป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ และอชิตมาณพพร้อมกับมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์ ได้ออกบวชติดตามด้วยและอยู่ศึกษาศิลปวิทยาในสำนักของพราหมณ์พาวรีนั้น ฯ

ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า เจ้าชายสิทธัตถราชกุมาร ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าศากยราชเสด็จออกบรรพชา ปฏิญญาพระองค์ว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แสดงสั่งสอนประชุมชนเป็นอันมาก พราหมณ์พาวรีคิดหลากใจใคร่สืบสวนให้ได้ความจริง จึงได้เรียกมาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า ผูกปัญหาให้คนละหมวดๆ ให้ไปกราบทูลถามดู

อชิตมาณพพร้อมด้วยมาณพอีก ๑๕ คน กับทั้งบริวารพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ แล้วพากันไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่ปาสาณเจดีย์ แว่นแคว้นมคธ กราบทูลขอโอกาสถามปัญหาคนละหมวดๆ เมื่อพระบรมศาสดาทรงประทานโอกาสอนุญาตแล้ว อชิตมาณพผู้เป็นหัวหน้า จึงกราบทูลถามปัญหาทีแรก ๔ ข้อ ว่า

อชิตมาณพ. โลกคือ หมู่สัตว์ อันอะไรปิดบังไว้ จึงหลงดุจอยู่ในความมืด ? เพราะอะไรเป็นเหตุจึงไม่มีปัญญาเห็นปรากฏ ? พระองค์ตรัสว่าอะไรเป็นเครื่องฉาบไล้สัตว์โลกนั้นให้ติดอยู่ ? และตรัสว่าอะไรเป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น ?

พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า โลกคือ หมูสัตว์ อันอวิชชา* คือความไม่รู้แจ้งปิดบังแล้ว จึงหลงดุจอยู่ในที่มืด, เพราะความอยากมีประการต่างๆ และความประมาทเลินเล่อ จึงไม่มีปัญญาเห็นปรากฏ เรากล่าวว่า ความอยากเป็นเครื่องฉาบไล้สัตว์โลกให้ติดอยู่, และเรากล่าวว่า ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น ฯ

อ. ขอพระองค์จงตรัสว่า อะไรเป็นเครื่องห้าม เป็นเครื่องกันความอยาก ซึ่งเป็นดุจกระแสน้ำหลั่งไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง ความอยากนั้น จะละได้เพราะธรรมอะไร ?

พ. เรากล่าวว่า สติเป็นเครื่องห้าม เป็นเครื่องกันความอยากนั้น และความอยากนั้น จะละได้เพราะปัญญา ฯ

อ. ปัญญา สติ กับนามรูปนั้น จะดับไป ณ ที่ไหน ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถามแล้ว ขอพระองค์ตรัสบอกข้อนี้แก่ข้าพระพุทธเจ้า ?

พ. เราจะแก้ปัญหาที่ท่านถามถึงที่ดับของนามรูปสิ้นเชิง ไม่มีเหลือแก่เธอ เพราะวิญญาณดับไปก่อน นามรูปจึงดับได้ ณ ที่นั้นเอง ฯ

อ. ชนผู้มีธรรมได้พิจารณาเห็นแล้ว และชนผู้ยังต้องศึกษาอยู่ ๒ พวกนี้ มีอยู่ในโลกเป็นอันมาก ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบทูลถามถึงความประพฤติของชนพวกนั้น พระองค์มีปัญญาแก่กล้า ขอจงตรัสบอกแก่ข้าพระพุทธเจ้า ?

พ. ภิกษุผู้มีธรรมได้พิจารณาเห็นแล้ว และชนผู้ต้องศึกษาอยู่ต้องเป็นคนไม่กำหนัดในกามทั้งหลาย มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง มีสติอยู่ทุกอิริยาบถ ฯ

ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ปัญหาที่อชิตมาณพกราบทูลถามอย่างนี้แล้ว ในที่สุดแห่งการแก้ปัญหา อชิตมาณพก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เมื่อจบโสฬสปัญหาพยากรณ์แล้ว อชิตมาณพพร้อมด้วยมาณพ ๑๕ คน กับทั้งบริวาร กราบทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านพระอชิตะดำรงชนมายุอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

* โสฬสปัญหาทั้งหมด คัดจากพุทธานุภาพพุทธประวัติ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-4-20 01:44 , Processed in 0.152101 second(s), 16 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.