แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

ชื่อกระทู้: อนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์ [สั่งพิมพ์]

โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-6 20:19     ชื่อกระทู้: อนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์

IMG_0078.4.JPG


อนุพุทธประวัติ  ๘๐  องค์



ข้าพเจ้าได้คัดลอกเนื้อหาประวัติแห่งอนุพุทธะ ๘๐ องค์ จากหนังสือ “อนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์” ซึ่งเป็นหนังสือที่พรรณนาความเป็นไปแห่งพระสาวกผู้ใหญ่ตั้งแต่ต้นจนนิพพาน เนื้อความไม่ย่อนัก ไม่พิสดารนัก


ข้าพเจ้าได้ตรวจพิจารณาเห็นว่าหนังสืออนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์ ได้อำนวยประโยชน์ให้แก่กุลบุตรผู้จะเป็นศาสนทายาทช่วยกันประกาศพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้แพร่หลาย ซึ่งเป็นทางบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญยิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อสัมมาปฏิบัติของผู้นับถือพระพุทธศาสนา เพราะเมื่อทราบแล้วจะได้พากันประพฤติปฏิบัติแต่ในทางดีงาม อันจะเป็นกุศลผลบุญในปัจจุบันและภายหน้าต่อไป  


L50.png



ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :

          คณะตรีมิตร. อนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เลี่ยงเชียงเจริญ.


(แก้ไขข้อมูลล่าสุด : 31 กรกฎาคม 2566)



รูปภาพที่แนบมา: IMG_0078.4.JPG (2023-6-7 23:58, 646.28 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 3
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzMwMzh8ZjFlN2ZiNmJ8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: L50.png (2023-6-8 00:01, 5.86 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzMwNDB8NDE0Yzc5OWV8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-7 09:58

1365_0.2.jpg


สารบาญ


รายนามพระสาวกผู้ใหญ่  ๘๐  รูป

l10.png


๑.   พระอัญญาโกณฑัญญะ *

๒.   พระวัปปะ

๓.   พระภัททิยะ

๔.   พระมหานามะ
๕.   พระอัสสชิ

๖.   พระยสะ
๗.   พระวิมละ

๘.   พระสุพาหุ

๙.   พระปุณณชิ
๑๐.  พระควัมปติ
๑๑.  พระอุรุเวลกัสสปะ
*

๑๒.  พระนทีกัสสปะ

๑๓.  พระคยากัสสปะ
๑๔.  พระสารีบุตร
*

๑๕.  พระโมคคัลลานะ *

๑๖.  พระมหากัสสปะ *

๑๗.  พระมหากัจจายนะ *

๑๘.  พระอชิตะ
๑๙.  พระติสสเมตเตยยะ
๒๐.  พระปุณณกะ
๒๑.  พระเมตตคู
๒๒.  พระโธตกะ
๒๓.  พระอุปสีวะ
๒๔.  พระนันทะ
๒๕.  พระเหมกะ

๒๖.  พระโตเทยยะ
๒๗.  พระกัปปะ
๒๘.  พระชตุกัณณี

๒๙.  พระภัทราวุธะ
๓๐.  พระอุทยะ

๓๑.  พระโปสาละ
๓๒.  พระโมฆราช
*

๓๓.  พระปิงคิยะ
๓๔.  พระราธะ *

๓๕.  พระปุณณมันตานีบุตร *

๓๖.  พระกาฬุทายี *๑๐

๓๗.  พระนันทะ *๑๑

๓๘.  พระราหุล *๑๒

๓๙.  พระอุบาลี *๑๓

๔๐.  พระภัททิยะ *๑๔

๔๑.  พระอนุรุทธะ *๑๕

๔๒.  พระอานนท์ *๑๖

๔๓.  พระภัคคุ

๔๔.  พระกิมพิละ
๔๕.  พระโสณโกฬิวิสะ *๑๗

๔๖.  พระรัฏฐปาละ *๑๘

๔๗.  พระปิณโฑลภารทวาชะ *๑๙

๔๘.  พระมหาปันถกะ *๒๐

๔๙.  พระจูฬปันถกะ *๒๑

๕๐.  พระโสณกุฏิกัณณะ *๒๒

๕๑.  พระลกุณฏกภัททิยะ *๒๓

๕๒.  พระสุภูติ *๒๔

๕๓.  พระกังขาเรวตะ *๒๕

๕๔.  พระวักกลิ *๒๖

๕๕.  พระกุณฑธานะ *๒๗

๕๖.  พระวังคีสะ *๒๘

๕๗.  พระปิลินทวัจฉะ *๒๙

๕๘.  พระกุมารกัสสปะ *๓๐

๕๙.  พระมหาโกฏฐิตะ *๓๑

๖๐.  พระโสภิตะ *๓๒

๖๑.  พระนันทกะ *๓๓

๖๒.  พระมหากัปปินะ *๓๔

๖๓.  พระสาคตะ *๓๕

๖๔.  พระอุปเสนะ *๓๖

๖๕.  พระขทิรวนิยเรวตะ *๓๗

๖๖.  พระสีวลี *๓๘

๖๗.  พระพาหิยทารุจิริยะ *๓๙

๖๘.  พระพากุละ *๔๐

๖๙.  พระทัพพมัลลบุตร *๔๑

๗๐.  พระอุทายี

๗๑.  พระอุปวาณะ
๗๒.  พระเมฆิยะ
๗๓.  พระนาคิตะ

๗๔.  พระจุนทะ

๗๕.  พระยโสชะ

๗๖.  พระสภิยะ

๗๗.  พระเสละ

๗๘.  พระมหาปรันตปะ

๗๙.  พระนาลกะ

๘๐.  พระองคุลิมาละ


หมายเหตุ: * เลขที่อยู่หลังชื่อ มีตั้งแต่ ๑ ถึง ๔๑ เฉพาะแต่สาวกผู้ดำรงอยู่ในตำแหน่งเอตทัคคะ เพื่อเป็นการสะดวกแก่ผู้ที่ต้องการดูเฉพาะประวัติของพระสาวกผู้ดำรงตำแหน่งเอตทัคคะจะได้ตรวจได้โดยง่าย


IMG_5095.1.png


ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :


ตอนที่ 1 - 8

http://www.dannipparn.com/thread-673-1-1.html


ตอนที่ 9 - 18

http://www.dannipparn.com/thread-673-2-1.html


ตอนที่ 19 - 28

http://www.dannipparn.com/thread-673-3-1.html


ตอนที่ 29 - 38

http://www.dannipparn.com/thread-673-4-1.html


ตอนที่ 39 - 48

http://www.dannipparn.com/thread-673-5-1.html


ตอนที่ 49 - 58

http://www.dannipparn.com/thread-673-6-1.html


ตอนที่ 59 - 68

http://www.dannipparn.com/thread-673-7-1.html


ตอนที่ 69 - 78

http://www.dannipparn.com/thread-673-8-1.html


ตอนที่ 79 - 80

http://www.dannipparn.com/thread-673-9-1.html


l28.png




รูปภาพที่แนบมา: IMG_5095.1.png (2023-6-7 21:29, 28.17 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzMwMjV8OWY5Y2ZjODB8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 1365_0.2.jpg (2023-6-7 23:29, 441.76 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 4
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzMwMzR8NzdhNTUyODF8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: l10.png (2023-6-17 03:37, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 9
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0Mjl8Yjk4NTRlMTZ8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: l28.png (2023-6-17 03:37, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 1
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0MzB8M2I3NzEzMTJ8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-7 10:41

IMG_0290.1.JPG


ตอนที่ ๑   

ประวัติพระอัญญาโกณฑัญญเถระ

3.png



ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลในบ้านพราหมณ์ ชื่อว่า โทณวัตถุ ไม่ห่างไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อว่า “โกณฑัญญะ” เมื่อเจริญวัยขึ้นได้ศึกษาเล่าเรียนจบไตรเพทและรู้ลักษณะมนต์ คือตำราทายลักษณะ ฯ  


คราวเมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาประสูติใหม่ได้ประมาณ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะตรัสให้เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน มาเลี้ยงโภชนาหารในการพิธีทำนายพระลักษณะตามพระราชประเพณี แล้วเลือกพราหมณ์ ๘ คน จากพราหมณ์พวกนั้น ให้เป็นผู้ตรวจและทำนายลักษณะ ฯ


ครั้งนั้น โกณฑัญญพราหมณ์ยังเป็นหนุ่ม ได้รับเชิญในการนี้ด้วย ทั้งนี้ได้รับเลือกเข้าในจำพวกพราหมณ์ ๘ คน แต่เป็นผู้ที่มีอายุกว่าเพื่อน ฯ พราหมณ์ ๗ คน ตรวจลักษณะแล้วทำนายคติแห่งพระมหาบุรุษเป็น ๒ ทางว่า ถ้าอยู่ครองฆราวาส จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าเสด็จออกทรงผนวช จักได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก ฯ


ส่วนโกณฑัญญพราหมณ์เห็นแน่แก่ใจว่า พระองค์จักเสด็จออกผนวช จึงได้ทำนายคติแห่งมหาบุรุษเป็นทางเดียวว่า พระองค์จักเสด็จออกทรงผนวช แล้วจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกของโลกแน่ ฯ ตั้งแต่นั้นมาก็ตั้งใจไว้ว่า ถ้าพระมหาบุรุษออกทรงผนวชเมื่อใด ตนเองยังมีชีวิตอยู่ จักออกบวชตามเมื่อนั้น ฯ


ครั้นมหาบุรุษเสด็จออกทรงผนวชแล้ว และกำลังบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ โกณฑัญญพราหมณ์ได้ทราบข่าว จึงชวนพราหมณ์อีก ๔ คน คือ วัปปะ ๑ ภัททิยะ ๑ มหานามะ ๑ อัสสชิ ๑ รวมเป็น ๕ ซึ่งเรียกว่า ปัญจวัคคีย์ ออกบวชติดตามพระมหาบุรุษ คอยปฏิบัติอยู่ทุกเช้าค่ำ ด้วยหวังว่าถ้าพระองค์ได้บรรลุธรรมใด จักเทศนาสั่งสอนให้บรรลุธรรมนั้นบ้าง ฯ


เมื่อพระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาอย่างเต็ม นับประมาณได้ถึง ๖ ปีแล้ว ทรงสันนิษฐานว่ามิใช่ทางพระโพธิญาณ ทรงใคร่พระทัยจะทำความเพียรในทางจิต จึงทรงเลิกทุกรกิริยานั้นเสีย ฝ่ายปัญจวัคคีย์ซึ่งมีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้าสำคัญว่าพระองค์ทรงคลายความเพียรแล้ว จึงหมดความเลื่อมใส เกิดความเบื่อหน่าย พากันละทิ้งพระองค์เสีย ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ฯ


เมื่อพระมหาบุรุษได้ตรัสรู้แล้ว ทรงดำริหาคนที่จะรับพระธรรมเทศนา นาทีแรกในชั้นต้นทรงระลึกถึงอาฬารดาบสกาลามโคตร และอุททกดาบสรามบุตร ซึ่งพระองค์ได้เคยไปพำนักอาศัยศึกษาในลัทธิของท่าน แต่ท่านทั้ง ๒ ได้สิ้นชีพไปก่อนแล้ว ในลำดับนั้นทรงระลึกถึงพวกปัญจวัคคีย์ภิกษุทั้ง ๕ ที่เคยอุปัฏฐากพระองค์มา ครั้นทรงพระดำริอย่างนี้แล้ว จึงเสด็จพุทธดำเนินไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ฯ


ฝ่ายปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาแต่ไกล เข้าใจว่าพระองค์เสด็จมาเพื่อแสวงหาผู้อุปัฏฐาก จึงได้ทำกติกานัดหมายกันว่า พระสมณโคดมนี้คลายจากความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากแล้ว เสด็จมา ณ บัดนี้ พวกเราทั้งหลายไม่พึงไหว้ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับ และไม่พึงรับบาตรและจีวรของพระองค์เลย ก็แต่ว่าพึงแต่งตั้งอาสนะที่นั่งไว้ ถ้าพระองค์ปรารถนาก็จักประทับนั่ง ฯ


ครั้นพระองค์เสด็จเข้าไปถึงแล้ว อาศัยความเคารพที่เคยประพฤติต่อพระองค์ มาบันดาลให้ลืมกติกาการนัดหมายที่ทำกันไว้เสีย พร้อมกับลุกขึ้นต้อนรับและทำสามีจิกรรมดังที่เคยทำมา แต่ยังแสดงกิริยากระด้างกระเดื่อง พูดกับพระองค์ด้วยถ้อยคำไม่เคารพ พระองค์ตรัสห้ามเสีย และตรัสบอกว่า เราได้ตรัสรู้อมฤตธรรมโดยชอบเองแล้ว ท่านทั้งหลายคอยตั้งใจฟังเถิด เราจะแสดงให้ฟัง เมื่อท่านทั้งหลายตั้งใจประพฤติตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าก็จักบรรลุอมฤตธรรมนั้น ฯ


เธอเหล่านั้นกล่าวคัดค้านพระองค์ถึง ๒ ครั้ง ๓ ครั้งว่า พระองค์คลายจากความเพียรเสียแล้ว ไฉนจะบรรลุอมฤตธรรมได้เล่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนให้เธอทั้งหลายระลึกถึงกาลหนหลังว่า ท่านทั้งหลายได้ยินได้ฟังบ้างหรือว่า วาจาเช่นนี้เราได้เคยพูดแล้วในกาลก่อน ฯ ภิกษุปัญจวัคคีย์ระลึกขึ้นได้ว่า พระวาจาเช่นนี้พระองค์ไม่เคยตรัสเลย จึงพากันตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา ที่พระองค์จะตรัสเทศนาสั่งสอนสืบต่อไป


สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสพระปฐมเทศนา ประกาศพระสัมมาสัมโพธิญาณแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ ซึ่งมีนามว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรฯ ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา ธรรมจักษุ ดวงตาคือปัญญาอันเห็นธรรมได้บังเกิดขึ้นแก่โกณฑัญญะว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา”


ธรรมจักษุในที่นี้ได้แก่ พระโสดาปัตติมรรค เรียกท่านผู้ที่ได้บรรลุว่า พระโสดาบัน ฯ (เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ท่านโกณฑัญญะได้เห็นธรรมแล้ว แต่ยังติดขันธ์ ๕ อยู่ ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ มิได้ถามขันธ์ ๕ ต่อพระองค์ เพราะทราบอยู่แล้ว อาทิ ท่านอัญญาโกณฑัญญะ พระองค์ทรงเปล่งพระอุทานว่า ยังติดขันธ์ ๕ อยู่ ก็หลุดพ้นจากขันธ์ ๕ ในเวลาต่อมา  


และในหนังสือเล่มนี้ไม่ปรากฏเรื่องขันธ์ ๕ จึงมีความประสงค์จะให้ผู้สนใจอ่านศึกษา จึงเอาเรื่องที่พระองค์ตรัสสอนภิกษุสงฆ์ที่มาห้อมล้อมพระองค์ ในเวลากลางคืนวันเพ็ญ ขณะเมื่อพระองค์ประทับอยู่ที่บุพพารามวิหารในเรื่องขันธ์ ๕ มาให้ทราบโดยย่อว่า


ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เพราะฉะนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย เธอควรเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณทั้งสิ้น ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา


นี่แหละภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเมื่อเห็นอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายความยินดี เมื่อคลายความยินดีก็หลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นก็รู้ว่าหลุดพ้น รู้ว่าสิ้นความเกิดแล้ว สำเร็จพรหมจรรย์แล้ว ได้ทำสิ่งที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีสิ่งอื่นที่จะต้องทำอีกแล้ว


ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นก็ชื่นชมยินดี ขณะที่ตรัสอยู่นั้นภิกษุ ๖๐ องค์ ก็ได้สำเร็จพระอรหัต) จึงเปล่งอุทานว่า “อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ” แปลว่า “โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ๆ เพราะอาศัยคำว่า “อญฺญาสิ” จึงได้คำนำหน้านามของท่านว่า “อัญญาโกณฑัญญะ” ตั้งแต่กาลนั้นมา ฯ


อัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว จึงได้ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นพระภิกษุด้วยพระวาจาว่า “ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด” พระวาจานั้นย่อมสำเร็จเป็นอุปสมบทของท่าน


การอุปสมบทอย่างนี้เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา ฯ ผู้ได้รับพระพุทธานุญาตให้เป็นภิกษุด้วยพระวาจาเช่นนี้เรียกว่า เอหิภิกษุ ฯ ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้รับพระพุทธานุญาตเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ด้วยพระวาจาเช่นนั้นเป็นองค์แรก ฯ จำเดิมแต่นั้นมา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนท่านทั้ง ๔ ที่เหลือจากนั้นด้วยปกิณณกเทศนาให้ได้ดวงตาเห็นธรรม และรับให้เป็นพระภิกษุด้วยพระวาจาเช่นเดียวกัน ฯ


ในลำดับนั้น พระองค์จึงตรัสเทศนาเป็นทางอบรมวิปัสสนาเพื่อวิมุตติ อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันมีนามว่า “อนัตตลักขณสูตร” ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา จิตของท่านทั้ง ๕ ก็หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปทาน ท่านได้เป็นพระอรหันตขีณาสพ ประพฤติจบพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัยนี้


ในคราวที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงส่งสาวกไปประกาศศาสนาคราวแรก ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะก็ได้ช่วยเป็นกำลังประกาศพระศาสนาองค์หนึ่ง แต่มิได้ปรากฏว่าไป ณ แว่นแคว้นแดนตำบลใด สันนิษฐานได้ว่า ท่านไปบ้านพราหมณ์ ชื่อว่า โทณวัตถุ แขวงกรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของท่าน เพราะมีหลักฐานที่ท่านพาปุณณมานพผู้เป็นหลาน บุตรนางมันตานีซึ่งเป็นน้องสาวของท่านเข้ามาบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ ฯ (จะพามาบวชในคราวนี้หรือคราวไหน ขอนักธรรมวินัยใคร่ครวญเถิด) ฯ


ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นยอดเยี่ยมกว่าภิกษุทั้งหลายผู้รัตตัญญู แปลว่า “ผู้รู้ราตรี” หมายถึง ท่านเป็นผู้เฒ่าอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้านไม่มีความสบาย จึงได้ถวายบังคมลาสมเด็จพระบรมศาสดาไปอยู่ที่ป่า พระคันถรจนาจารย์กล่าวว่าฉัททันต์ ประมาณได้ ๑๒ ปี ได้ดับขันธปรินิพพาน ณ ที่นั่น ก่อนพุทธปรินิพพาน ฯ


4.png




รูปภาพที่แนบมา: IMG_0290.1.JPG (2023-6-16 17:23, 449.65 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 1
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0Mjd8ZTZhZjVjMmZ8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-17 03:39, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0MzF8ZDE1NDNjN2R8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-17 03:39, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0MzJ8MzQzMDBlYjd8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-7 11:04

ตอนที่ ๒

ประวัติพระวัปปเถระ

3.png



ท่านพระวัปปะ เป็นบุตรพราหมณ์ในกรุงกบิลพัสดุ์ คราวเมื่อพระมหาบุรุษประสูติใหม่ พราหมณ์ผู้บิดาของท่านได้ถูกเชิญเลี้ยงโภชนาหารในพระราชพิธีทำนายพระลักษณะ ได้เห็นพระมหาบุรุษมีลักษณะถูกต้องตามตำราลักษณะพยากรณ์ศาสตร์ จึงมีความเคารพในพระองค์เป็นอันมาก แต่ไม่มีความหวังในการที่จะเห็นพระองค์ ในเมื่อจะถึงคราวเป็นเช่นคำพยากรณ์ จึงได้สั่งบุตรของตนไว้ว่า เมื่อพระมหาบุรุษเสด็จออกทรงผนวชเมื่อใด ให้ออกบวชติดตามเมื่อนั้น

ครั้นเมื่อพระมหาบุรุษเสด็จออกทรงผนวชแล้ว และกำลังบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ ท่านพระวัปปะพร้อมด้วยพราหมณ์ ๔ คน มีโกณฑัญญพราหมณ์เป็นหัวหน้า จึงพากันออกบวชตามเสด็จพระมหาบุรุษ คอยอยู่เฝ้าปฏิบัติทุกเช้าค่ำ ด้วยหวังว่าพระองค์ได้บรรลุธรรมใด จักทรงสั่งสอนให้ตนได้บรรลุธรรมนั้นบ้าง ฯ

เมื่อเห็นพระองค์ทรงละทุกกรกิริยาที่ทรงประพฤติมาแล้วเป็นเวลา ๖ ปี จึงมีความเห็นร่วมกันว่า พระองค์คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากในกามคุณเสียแล้ว คงจะไม่ได้บรรลุธรรมพิเศษอันใดอันหนึ่ง จึงมีความเบื่อหน่ายคลายความเคารพนับถือ พากันไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ฯ

เมื่อพระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญเพียรทางใจได้ตรัสรู้แล้ว จึงเสด็จไปโปรดประทานพระธรรมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นปฐมเทศนาในวันเพ็ญแห่งเดือนอาสาฬหะ ฯ

ในลำดับนั้น ทรงตรัสปกิณณกเทศนา ในเมื่อจบเทศนานั้น ท่านพระวัปปะและภัททิยะ ได้ดวงตาเห็นธรรม* คือได้บรรลุโสดาปัตติผล จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา เมื่อมีอินทรีย์แก่กล้าแล้ว ได้ฟังเทศนา “อนัตตลักขณสูตร” ก็ได้สำเร็จพระอรหัตผลเป็นพระอเสขบุคคล

ท่านได้ช่วยเป็นกำลังพระบรมศาสดาประกาศพระศาสนาคราวแรกองค์หนึ่ง เมื่อท่านดำรงอายุอยู่พอสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

        
* ในอรรถกถาตติยสามนต์ แก้ว่า การได้ดวงตาเห็นธรรมของท่านทั้ง ๔ ต่อไปนี้ ไม่ได้พร้อมกัน ได้คนละวัน คือ วันปาฏิบท วันค่ำหนึ่ง ท่านพระวัปปะได้ดวงตาเห็นธรรม วันที่ ๒ ท่านภัททิยะ วันที่ ๓ ท่านพระมหานามะ วันที่ ๔ ท่านพระอัสสชิ วันที่ ๕ เป็นวันแสดงอนัตตลักขณสูตร ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-17 03:41, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0MzV8OGIyMzI2YTF8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-17 03:41, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0MzZ8YjRjZDNhYjN8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-7 11:39

ตอนที่ ๓   

ประวัติพระภัททิยเถระ

3.png



ท่านพระภัททิยะ มีชาติภูมิอยู่ในเมืองกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นบุตรพราหมณ์คนหนึ่งในจำพวกพราหมณ์ ๑๐๘ คน เมื่อถูกเชิญเลี้ยงโภชนาหารในการพิธีทำนายพระลักษณะพระมหาบุรุษ ท่านได้ยินบิดาบอกเล่าให้ฟังว่า พระมหาบุรุษมีพระลักษณะถูกต้องตามมหาบุรุษลักษณะพยากรณ์ศาสตร์ จึงมีความเคารพนับถือในพระองค์เป็นอันมาก  


เมื่อพระมหาบุรุษเสด็จออกทรงผนวชพร้อมด้วยพราหมณ์ ๔ คน มีโกณฑัญญพราหมณ์เป็นหัวหน้า ดำริเห็นร่วมกันว่า บรรพชาของพระมหาบุรุษจักไม่เลวทรามเสื่อมเสียประโยชน์ คงจะอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นด้วย ดำริอย่างนี้แล้ว จึงพากันออกบวชติดตามเสด็จ คอยเฝ้าอุปัฏฐากทุกเช้าค่ำ ด้วยหวังว่าถ้าพระองค์ได้บรรลุธรรมวิเศษแล้ว จักสั่งสอนตนให้บรรลุธรรมบ้าง ฯ

ครั้นเห็นพระองค์ทรงละทุกกรกิริยาที่ประพฤติมาแล้วเป็นเวลา ๖ ปี จึงมีความเบื่อหน่ายในการที่จะปฏิบัติต่อไป ด้วยเข้าใจว่าพระองค์กลายเป็นผู้มักมากคลายความเพียรเสียแล้ว เห็นจะไม่บรรลุธรรมวิเศษอันใดอันหนึ่ง จึงพากันละพระองค์เสีย ไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ฯ


เมื่อพระมหาบุรุษได้ตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปโปรดประทานพระธรรมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นปฐมเทศนา แต่หาได้สำเร็จมรรคผลอะไรเพราะเทศนานั้นไม่  

ต่อมาได้ฟังปกิณณกเทศนาที่พระองค์ตรัสสอน ท่านพร้อมด้วยพระวัปปะ ได้บรรลุโสดาปัตติผล จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงรับให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา


เมื่อมีอินทรีย์แก่กล้าแล้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนา “อนัตตลักขณสูตร” ในสำนักพระองค์ ในวันที่พระอรรถกถาจารย์กำหนดว่า แรม ๔ ค่ำ แห่งอาสาฬหะ ก็มีจิตพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ได้เป็นพระอรหันตขีณาสพ ประพฤติจบพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัยนี้

ท่านได้ช่วยเป็นกำลังพระบรมศาสดาประกาศพระศาสนาคราวแรกองค์หนึ่ง เมื่อท่านดำรงอายุสังขารอยู่พอสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png



รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-17 03:40, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0MzN8ZmUzMjViZDl8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-17 03:40, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0MzR8ZDRhMGM0OTd8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-7 22:16

ตอนที่ ๔   

ประวัติพระมหานามเถระ

3.png



ท่านพระมหานามะ เกิดในสกุลพราหมณ์ในกรุงกบิลพัสดุ์ ได้ยินพราหมณ์ผู้เป็นบิดาเล่าว่า พระมหาบุรุษมีพระลักษณะถูกต้องตามตำราลักษณะพยากรณ์ศาสตร์ เพราะได้เห็นพระองค์ในครั้งถูกเชิญเลี้ยงโภชนาหารในการพิธีทำนายพระลักษณะ จึงได้มีความเคารพนับถือและเชื่อในพระองค์เป็นอันมาก ฯ

เมื่อพระมหาบุรุษออกทรงผนวชแล้ว ท่านพร้อมด้วยพราหมณ์อีก ๔ คน มีโกณฑัญญพราหมณ์เป็นหัวหน้า พากันออกบรรพชาตามเสด็จ คอยปฏิบัติพระองค์อยู่ ต่อมาพระมหาบุรุษทรงเลิกการบำเพ็ญทุกกรกิริยา หันมาบำเพ็ญเพียรในทางใจ พวกท่านพากันเข้าใจว่าไม่บรรลุธรรมวิเศษเสียแล้ว จึงเกิดความเบื่อหน่าย พากันหลีกหนีพระองค์ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ฯ

ครั้นพระมหาบุรุษได้ตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปตรัสเทศนา
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดเป็นครั้งแรก และทรงตรัสปกิณณกเทศนาในวันเป็นลำดับไป ท่านได้สดับเทศนาทั้ง ๓ นั้น แต่ก็หาได้สำเร็จมรรคผลอันใดไม่

เมื่อได้สดับปกิณณกเทศนาในวาระที่ ๔ ท่านกับพระอัสสชิ ได้ดวงตาเห็นธรรม จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ภายหลังได้ฟังเทศนา “อนัตตลักขณสูตร” ก็ได้สำเร็จพระอรหัตผลเป็นพระอเสขบุคคล

ครั้นเมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาทรงส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนาในตอนปฐมโพธิกาล ท่านองค์หนึ่งซึ่งอยู่ในจำนวนนั้น ได้ช่วยเป็นกำลังพระบรมศาสดาประกาศพระศาสนาในนานาชนบท สั่งสอนกุลบุตรให้เกิดความเชื่อและความเสื่อมใส ได้รับผลตามสมควรแก่อุปนิสัย ท่านดำรงชีวิตอยู่พอสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png



รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-17 03:42, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0Mzd8YTQ3N2E3YWV8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-17 03:42, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0Mzh8MDU3OGJhZDZ8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-7 22:21

ตอนที่ ๕   

ประวัติพระอัสสชิเถระ

3.png



พระอัสสชิ เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลในกรุงกบิลพัสดุ์ พราหมณ์ผู้เป็นบิดา ได้เห็นพระมหาบุรุษมีลักษณะถูกต้องตามตำราลักษณะพยากรณ์ศาสตร์ ในคราวที่ถูกเชิญเลี้ยงโภชนาหารในพิธีทำนายพระลักษณะของพระองค์ จึงได้มาบอกเล่าให้ท่านฟังและสั่งไว้ว่า

บิดาก็เฒ่าชราแล้ว เห็นจะไม่ทันเห็นพระองค์ ถ้าพระมหาบุรุษเสด็จออกทรงผนวชเมื่อใด ให้ออกบวชตามเสด็จเมื่อนั้น ตั้งแต่นั้นมาท่านมีความเคารพนับถือและเชื่อในพระองค์มาก คอยให้ถึงสมัยเช่นนั้นอยู่

เมื่อพระมหาบุรุษเสด็จออกทรงผนวชแล้ว และทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ ท่านได้ทราบข่าวจึงพร้อมด้วยพราหมณ์ ๔ คน มีโกณฑัญญพราหมณ์เป็นหัวหน้า พากันออกบวชตามเสด็จ เฝ้าปฏิบัติอยู่ทุกเช้าค่ำ ตลอดเวลาที่พระองค์ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ถึง ๖ ปี ยังไม่ได้บรรลุธรรมพิเศษอันใด ทรงทราบแน่ในพระทัยว่าไม่ใช่ทางพระโพธิญาณ จึงทรงเลิกทุกรกิริยานั้นเสีย ตั้งพระทัยบำเพ็ญเพียรในทางใจสืบไป ฯ

พวกท่านพากันเข้าใจว่า เห็นจะไม่ได้บรรลุธรรมพิเศษอันใดอันหนึ่งแน่นอน จึงเกิดความเบื่อหน่าย พากันละทิ้งพระองค์เสีย หลีกไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ฯ

ครั้นพระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญเพียรทางใจได้ตรัสรู้แล้ว จึงเสด็จไปตรัสเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดเป็นปฐมเทศนา ในลำดับนั้นทรงตรัสปกิณณกเทศนา ท่านได้สดับเทศนานั้นพอเป็นเครื่องปลูกความเชื่อและความเลื่อมใสแต่หาได้สำเร็จมรรคผลอันใดไม่

ครั้นได้สดับปกิณณกเทศนาที่พระองค์ตรัสในวาระที่ ๒ ท่านกับพระมหานามะ ได้ดวงตาเห็นธรรม จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ทรงรับให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา

ครั้นกาลต่อมา ได้ฟัง “อนัตตลักขณสูตร” ที่พระองค์ทรงแสดงในลำดับปกิณณกเทศนานั้น ท่านพร้อมด้วยพระภิกษุอีก ๔ รูป คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ ได้บรรลุเป็นพระอรหัตผลเป็นพระอเสขบุคคลก่อนพระอริยสาวกทั้งหมด

ครั้นเมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาทรงส่งสาวกออกไปประกาศพระศาสนาในตอนปฐมกาล ท่านองค์หนึ่งซึ่งอยู่ในจำนวนนั้น ได้ช่วยเป็นกำลังพระบรมศาสดาประกาศพระศาสนาในนานาชนบท ปรากฏว่าท่านเป็นผู้เฉลียวฉลาด รู้จักประมาณตน ไม่โอ้อวดหรือเย่อหยิ่ง กิริยามารยาทเป็นที่น่าเลื่อมใส

ในเมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน ในกรุงราชคฤห์ อุปติสสปริพาชก เดินมาแต่สำนักของปริพาชก ได้เห็นท่านเข้าเกิดความเลื่อมใส จึงขอให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง

ท่านกล่าวว่า ผู้มีอายุ เราเป็นคนใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมายังพระธรรมวินัย ไม่อาจแสดงธรรมแก่ท่านโดยกว้างขวาง เราจักกล่าวแก่ท่านโดยย่อพอรู้ความ แล้วท่านก็แสดงธรรมแก่อุปติสสปริพาชก ความว่า

“ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาทรงแสดงเหตุของธรรมนั้น และความดับแห่งธรรมนั้น พระศาสดาทรงสั่งสอนอย่างนี้” ฯ อุปติสสปริพาชกได้ฟังก็ได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วท่านได้ชักนำให้ไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา

ภายหลังปรากฏว่า อุปติสสปริพาชกอุปสมบทในพระพุทธศาสนา มีนามว่า พระสารีบุตร เป็นพระอัครสาวกฝ่ายขวา จัดว่าท่านอัสสชิได้ศิษย์สำคัญองค์หนึ่ง ฯ ท่านดำรงอายุสังขารอยู่พอสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-17 04:37, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0Mzl8M2QzZjE0NjZ8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-17 04:37, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0NDB8OTcyMGU2YjZ8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-7 22:40

ตอนที่ ๖   

ประวัติพระยสเถระ

3.png



ท่านพระยสะ เป็นบุตรเศรษฐีในพระนครพาราณสี ซึ่งมีเรือน ๓ หลัง เป็นที่อยู่ใน ๓ ฤดู สมัยนั้นเป็นฤดูฝน ยสกุลบุตรอยู่ในปราสาทเป็นที่อยู่ในฤดูฝน มีสตรีล้วนประโคมดนตรีบำรุงบำเรออยู่ ไม่มีบุรุษเจือปน


ในคืนวันหนึ่ง ยสกุลบุตรนอนหลับก่อน หมู่ชนที่เป็นบริวารหลับต่อภายหลัง มีแสงไปสว่างอยู่ ยสกุลบุตรเมื่อตื่นขึ้นเห็นหมู่ชนที่เป็นบริวารหลับมีอาการพิกลต่างๆ ไม่เป็นที่น่าเลื่อมใส ปรากฏแก่ยสกุลบุตรดุจซากศพที่ทิ้งอยู่ในป่าช้า

ครั้นยสกุลบุตรได้เห็นแล้วเกิดความสลด คิดเบื่อหน่าย จึงเปล่งอุทานออกมาว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” สวมรองเท้าเดินออกจากประตูเรือนไป แล้วออกจากประตูเมืองเดินตามทางที่จะไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

ในเวลานั้นจวนใกล้รุ่ง พระบรมศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ทรงได้ยินเสียงยสกุลบุตรเปล่งอุทานเดินมายังที่ใกล้ จึงตรัสเรียกว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง เชิญมาที่นี่เถิด เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน” ยสกุลบุตรได้ยินดังนี้ จึงถอดรองเท้าเดินเข้าไปถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง


พระบรมศาสดาตรัสเทศนา อนุปุพพิกถาฟอกจิตยสกุลบุตรให้ห่างไกลจากความยินดีในกามแล้ว และในที่สุดแสดงเทศนา อริยสัจ ๔ ยสกุลบุตรได้เห็นธรรมพิเศษ ณ ที่นั่งนั้น ภายหลังพิจารณาภูมิธรรมที่ตนได้เห็นแล้ว จิตก็พ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ฯ

ฝ่ายมารดาของยสกุลบุตร พอรุ่งเช้าก็ขึ้นไปบนเรือนไม่เห็นลูก จึงบอกแก่เศรษฐีผู้เป็นสามีให้ทราบ เศรษฐีใช้ให้คนไปตามหาในทิศทั้ง ๔ ส่วนตนเองก็เที่ยวออกหาด้วย เผอิญเดินไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้เห็นรองเท้าของลูกตั้งอยู่ ณ ที่นั้น จึงตามเข้าไป


เมื่อเศรษฐีเข้าไปถึงแล้ว พระบรมศาสดาตรัสเทศนาอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ในที่สุดเทศนา เศรษฐีได้ดวงตาเห็นธรรม ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แล้วแสดงตนเป็นอุบาสก ว่า

“ข้าพระพุทธเจ้าถึงพระองค์กับพระธรรมและภิกษุสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก ขอพระองค์จงจำข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่ระลึกตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป” เศรษฐีนั้นได้เป็นอุบาสกอ้างเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะก่อนกว่าชนทั้งปวงในโลก ฯ

เศรษฐีผู้เป็นบิดายังไม่ทราบว่ายสกุลบุตรมีอาสวะสิ้นแล้ว จึงขอให้กลับไปเพื่อให้ชีวิตแก่มารดา เพราะมารดาโศกเศร้าพิไรรำพันนัก ภายหลังทราบว่ายสกุลบุตรมีอาสวะสิ้นแล้ว ไม่ควรกลับไปครอบครองเรือนบริโภคกามคุณเหมือนแต่ก่อน จึงทูลอาราธนาพระบรมศาสดากับพระยสะเป็นปัจฉาสมณะตามเสด็จรับบิณฑบาตในเวลาเช้า พระองค์ทรงรับด้วยพระอาการนิ่งอยู่ เศรษฐีทราบว่าทรงรับแล้ว จึงลุกจากที่นั่งถวายอภิวาทกระทำประทักษิณแล้วหลีกไป


เมื่อเศรษฐีหลีกไปแล้ว ยสกุลบุตรทูลขออุปสมบท พระบรมศาสดาทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยพระวาจาว่า “ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด” ในที่นี้ไม่ได้ตรัสว่า “เพื่อจะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ” เพราะพระยสะได้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ คือได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วฯ

ครั้นเวลารุ่งเช้าวันนั้น พระบรมศาสดามีพระยสะเป็นปัจฉาสมณะตามเสด็จไปรับบิณฑบาตในเรือนเศรษฐี ได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ แก่สตรีทั้ง ๒ คือ มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะ ให้สตรีทั้ง ๒ นั้นได้เห็นธรรมแล้ว แสดงตนเป็นอุบาสิกาเกิดขึ้นในโลกก่อนกว่าหญิงอื่น ครั้นเสร็จภัตกิจ ได้ตรัสเทศนาสั่งสอนชนทั้ง ๓ แล้ว เสด็จกลับไปป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ฯ

การอุปสมบทของพระยสะ นับว่าอำนวยประโยชน์ให้แก่ชนเป็นอันมาก เพราะท่านอุปสมบทเพียงองค์เดียว ยังเป็นเหตุชักจูงผู้อื่นเข้ามาอุปสมบทด้วย เช่น สหายของท่านอีก ๕๔ คน ที่ได้มาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาก็เพราะอาศัยท่าน ท่านได้ช่วยพระบรมศาสดาประกาศพระศาสนาตอนปฐมโพธิกาลองค์หนึ่ง ท่านดำรงอายุสังขารอยู่พอสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-17 14:48, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0NTl8YzljOWNlYWV8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-17 14:48, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0NjB8MjJkODkwMGF8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-7 22:46

ตอนที่ ๗   

ประวัติพระวิมลเถระ

3.png



ท่านพระวิมละ เป็นบุตรของเศรษฐีในพระนครพาราณสี เป็นสหายที่สนิทและชอบพอของพระยสะ เมื่อพระยสะผู้เป็นสหายออกบวช แล้วท่านได้ทราบข่าว จึงคิดว่าพระธรรมวินัยที่พระยสะออกบวชนี้ จักไม่เลวทรามเป็นเสื่อมเสียจากประโยชน์เป็นแน่ คงจะเป็นธรรมวินัยอันประเสริฐ อำนวยประโยชน์สุขให้แก่ผู้ประพฤติปฏิบัติตาม

ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว จึงไปชักชวนสหายอีก ๓ คน คือ สุพาหุ ปุณณชิ ควัมปติ พากันเข้าไปหาพระยสะบอกความประสงค์ในการมาของตนๆ ให้ท่านทราบ พระยสะจึงพาท่านพร้อมด้วยสหาย ๓ คน ไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา ทูลขอให้พระองค์ทรงสั่งสอนให้ได้บรรลุธรรมพิเศษและประทานอุปสมบทอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา และทรงสั่งสอนให้บรรลุพระอรหัตผลเป็นพระอเสขบุคคล ฯ


คราวเมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาทรงส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนาในตอนปฐมโพธิกาล ท่านก็ได้ช่วยประกาศพระศาสนาในนานาชนบท สั่งสอนกุลบุตรให้เกิดความเชื่อความเลื่อมใส ให้ได้รับผลตามสมควรแก่อุปนิสัย เมื่อท่านดำรงชีพอยู่ถึงกาลกำหนดอายุขัยแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-18 02:22, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0NjJ8OGViYTVhYjd8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-18 02:22, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0NjN8Yzc5MGQzMmR8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-7 22:50

ตอนที่ ๘   

ประวัติพระสุพาหุเถระ

3.png



ท่านพระสุพาหุ เป็นบุตรของเศรษฐีสืบๆ กันมาในเมืองพาราณสี เป็นสหายกับท่านพระยสะ เมื่อได้ทราบข่าวว่ายสกุลบุตรออกบวชแล้ว จึงคิดว่าธรรมวินัยที่ยสกุลบุตรออกบวชนั้น จักไม่เลวทรามแน่แล้ว คงเป็นธรรมวินัยอันประเสริฐ อำนวยประโยชน์สุขให้แก่ผู้ประพฤติปฏิบัติตาม

ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว จึงพร้อมด้วยสหายอีก ๓ คน คือ วิมละ ปุณณชิ ควัมปติ พากันเข้าไปหาท่านพระยสะ ไหว้แล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ครั้งนั้นพระยสะจึงพาสหายเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลขอให้พระองค์ตรัสสั่งสอน

พระองค์ก็ตรัสสั่งสอนด้วยเทศนา อนุปุพพิกถา และ อริยสัจ ๔ ทรงรับให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ลำดับนั้นทรงสั่งสอนปกิณณกเทศนาให้บรรลุพระอรหัตผลเป็นพระอเสขบุคคล

ท่านได้ช่วยเป็นกำลังประกาศพระศาสนาตอนปฐมโพธิกาลองค์หนึ่ง เมื่อท่านดำรงชีพอยู่ถึงกาลกำหนดอายุขัยแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-18 02:51, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0NjR8ZWU3ZDJjMGJ8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-18 02:51, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0NjV8ZDZhYTQ1ZDV8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-7 22:52

ตอนที่ ๙   

ประวัติพระปุณณชิเถระ

3.png



ท่านพระปุณณชิ เป็นบุตรของเศรษฐีสืบๆ กันมาในเมืองพาราณสี เป็นสหายกับท่านพระยสะ เมื่อได้ทราบข่าวว่ายสกุลบุตรออกบวชแล้ว จึงมาดำริว่า ธรรมวินัยที่ยสกุลบุตรออกบวชนั้น จักไม่เลวเป็นแน่แท้ คงเป็นธรรมวินัยอันประเสริฐ

ครั้นดำริอย่างนี้แล้ว จึงพร้อมด้วยสหายพระยสะอีก ๓ คน คือ วิมละ สุพาหุ ควัมปติ พากันเข้าไปหาพระยสะ พระยสะจึงพาท่านพร้อมทั้งสหายเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลขอให้พระองค์สั่งสอน


พระองค์ก็ทรงรับสั่งสอนตรัสเทศนา “อนุปุพพิกถา” และ อริยสัจ ๔ ในเวลาจบเทศนา ท่านได้ดวงตาเห็นธรรม จึงทูลขออุปสมบทกับพระศาสดา พระองค์ก็ทรงประทานอนุญาตให้เป็นภิกษุโดยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา และเมื่อท่านได้อุปสมบทแล้ว ได้ฟังเทศนาปกิณณกกถาเพิ่มเติมอีก ก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ฯ

ท่านองค์หนึ่งซึ่งได้รับอนุมัติจากสมเด็จพระบรมศาสดา ให้ไปประกาศพระศาสนาในนานาชนบท ได้ทำกิจในหน้าที่อันสามารถจะทำ เมื่อท่านดำรงชนมายุอยู่พอสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-18 03:06, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0NjZ8NTEzODIwMDd8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-18 03:06, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0Njd8ZmFjYWI2NjV8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-7 22:56

ตอนที่ ๑๐   

ประวัติพระควัมปติเถระ

3.png



ท่านพระควัมปติ เป็นบุตรเศรษฐีสืบๆ กันมาในพระนครพาราณสี เป็นสหายที่รักใคร่กันกับพระยสะ เมื่อยสกุลบุตรออกบวชแล้ว ท่านได้ทราบข่าว จึงมาดำริว่า ธรรมวินัยที่ยสกุลบุตรออกบวชนั้น จักไม่เลวทรามต่ำช้า คงจะเป็นธรรมวินัยอันดี จึงพร้อมด้วยสหายพระยสะอีก ๓ คน คือ วิมละ สุพาหุ ปุณณชิ พากันเข้าไปหาท่านพระยสะ

พระยสะก็พาท่านพร้อมด้วยสหายเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลขอให้พระองค์ตรัสสั่งสอน พระบรมศาสดาทรงตรัสสั่งสอนด้วยเทศนา อนุปุพพิกถาและ อริยสัจ ๔ ในเวลาที่จบเทศนา ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม คือปัญญาอันเห็นธรรมปราศจากธุลีมลทินได้เกิดขึ้นแล้วแก่ท่านว่า

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา”

เมื่อท่านได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว จึงทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ข้าพระพุทธเจ้าพึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระองค์เถิด” พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา

เมื่อมีอินทรีย์แก่กล้า ได้ฟังธัมมิกถาที่พระองค์ตรัสสอนในภายหลัง จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ท่านได้เป็นพระอรหันต์ที่นับเข้าในจำพวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ฯ

ในคราวที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา ท่านก็ได้ไปประกาศพระศาสนาในนานาชนบท ช่วยสั่งสอนให้กุลบุตรกุลธิดา ให้เกิดความเชื่อความเลื่อมใส เมื่อท่านดำรงชีพอยู่ถึงกาลกำหนดอายุขัยแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-18 05:33, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0Njh8MzYxM2M2NzJ8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-18 05:33, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0Njl8YTdkNmQ3N2V8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-7 23:01

ตอนที่ ๑๑   

ประวัติพระอุรุเวลกัสสปเถระ

3.png



ท่านพระอุรุเวลกัสสปะ เกิดในสกุลพราหมณ์กัสสปโคตร มีน้องชาย ๒ คน ชื่อว่า กัสสปะตามโคตรทั้งนั้น แต่ผสมนามตามที่อยู่ของท่านเข้าด้วยว่า นทีกัสสปะ และ คยากัสสปะ ฯ เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้ว ได้เรียนจบไตรเพท ฯ ท่านมีมาณพเป็นบริวาร ๕ ร้อยคน


ครั้นต่อมาพิจารณาเห็นลัทธิที่ตนนับถือ ไม่เป็นแก่นสาร จึงได้พาน้องชายทั้ง ๒ คน พร้อมด้วยบริวารออกบวชเป็นชฎิลบำเพ็ญพรตบูชาเพลิง คือ นักบวชจำพวกที่เกล้าผมเชิง เรียกตามโวหารสมัยนั้นว่า ฤาษี ตั้งอาศรมอยู่ตามลำดับกัน ท่านตั้งอาศรมอยู่ที่ตำบลอุรุเวลา แคว้นมคธ จึงได้นามตามที่อยู่ของท่านว่า “อุรุเวลกัสสปะ”

ครั้งเมื่อพระบรมศาสดาทรงส่งสาวกไปประกาศศาสนาในทิศานุทิศนั้นๆ แล้วพระองค์ทรงพิจารณาเห็นความบริบูรณ์แห่งอุปนิสัยของชนชาวมคธเป็นอันมาก มีพุทธประสงค์จะทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาขึ้น ณ แคว้นนั้น และทรงพระพุทธดำริจะพาท่านอุรุเวลกัสสปะผู้มีอายุมาก เป็นที่นับถือของมหาชนมานานตามเสด็จไปด้วย


จึงเสด็จพระพุทธดำเนินไปโดยลำพังพระองค์เดียว มุ่งตรงไปยังอุรุเวลานิคม ในระหว่างทางเสด็จ ได้เทศนาโปรดภัททวัคคีย์กุมาร ๓๐ คน และประทานอุปสมบทให้ แล้วส่งไปประกาศพระศาสนา พระองค์เสด็จพระพุทธดำเนินต่อไป

เมื่อถึงอุรุเวลานิคมแล้ว ตรัสขอพำนักอาศัยกับท่านอุรุเวลกัสสปะ ท่านอุรุเวลกัสสปะมิได้เต็มใจรับ ผลที่สุดเมื่อขัดไม่ได้ ก็ให้พำนักอาศัย พระองค์ได้ทรงทรมานพระอุรุเวลกัสสปะ ด้วยอภินิหารมีประการต่างๆ จนให้ท่านเห็นว่า ลัทธิของตนที่ถืออยู่นั้น หาแก่นสารมิได้ จึงเกิดความสลดใจ แล้วละลัทธิเดิมเสีย พากันลอยบริขารแห่งชฎิลในแม่น้ำ ทูลขออุปสมบท พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา พร้อมด้วยบริวาร ๕ ร้อย ฯ

ครั้นกาลต่อมาเมื่อน้องชายทั้ง ๒ คน พร้อมด้วยบริวารของตนได้เข้ามาอุปสมบทในพระธรรมวินัยเหมือนกับท่านแล้ว ฯ สมเด็จพระบรมศาสดาจึงได้พาภิกษุ ๑ พัน ๓ รูป ออกจากอุรุเวลาเสด็จไปยังตำบลคยาสีสะใกล้แม่น้ำคยา แล้วเสด็จประทับอยู่ ณ ที่นั้น


ครั้นทรงเห็นภิกษุเหล่านั้นอินทรีย์แก่กล้าแล้ว จึงตรัสเทศนา อาทิตตปริยายสูตรโปรด เมื่อพระบรมศาสดาตรัสเทศนาอยู่ จิตของภิกษุเหล่านั้นก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน กล่าวคือภิกษุเหล่านั้นได้บรรลุพระอรหัตผลเป็นพระขีณาสพ ฯ

พระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ ณ ตำบลคยาสีสะ พอสมควรแก่พระพุทธอัธยาศัย แล้วพระองค์พร้อมด้วยภิกษุ ๑ พัน ๓ รูป เสด็จจาริกไปโดยตามลำดับถึงกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ ณ สวนตาลหนุ่มอันชื่อว่า ลัฏฐิวัน ฯ


พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าแผ่นดินแห่งแคว้นมคธทรงทราบข่าว จึงพร้อมด้วยข้าราชบริพารเสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้า พระบรมศาสดาได้ทอดพระเนตรเห็นข้าราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสารมีอาการต่างๆ พระองค์จึงได้ทรงสั่งพระอุรุเวลกัสสปะ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนเหล่านั้น ประกาศให้ทราบว่า ลัทธิเก่านั้นอันหาแก่นสารมิได้ ท่านกระทำตามรับสั่ง ทำให้มหาชนเหล่านั้นสิ้นความเคลือบแคลงสงสัย แล้วตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา

พระองค์ทรงแสดง
อนุปุพพิกถา และ อริยสัจ ๔ ในที่สุดเทศนา พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยข้าราชบริพาร ๑๑ ส่วน ได้ดวงตาเห็นธรรม ส่วน ๑ ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ ครั้งนี้จัดว่าท่านได้ช่วยเป็นกำลังพระศาสดาในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในแคว้นมคธ ฯ

นอกจากนี้ ท่านยังได้ช่วยทำกิจพระศาสนาตามสมควรแก่กำลังความสามารถ และรู้จักเอาใจบริษัท ปรากฏว่ามีบริวารถึง ๕ ร้อย ฯ ด้วยเหตุนี้จึงได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่า “เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีบริวารมาก”

(ความเป็นผู้มีบริวารมาก เป็นผลแห่งความรู้จักเอาใจบริษัท รู้จักสงเคราะห์ด้วยอามิสบ้างด้วยธรรมบ้าง ตามต้องการอย่างไร ฯ ภิกษุผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติอย่างนี้ ย่อมเป็นผู้อันบริษัทรักใคร่นับถือ สามารถควบคุมบริษัทไว้อยู่เป็นผู้อันจะพึงปรารถนาในสาวกมณฑล) ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่พอสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-18 06:22, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0NzB8MDE4YjM0NjJ8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-18 06:23, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0NzF8MjA5OWNmZjF8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-7 23:08

ตอนที่ ๑๒   

ประวัติพระนทีกัสสปเถระ

3.png



ท่านพระนทีกัสสปะ เกิดในสกุลพราหมณ์กัสสปโคตร ฯ มีพี่ชายที่ ๑ ชื่อว่า อุรุเวลกัสสปะ มีน้องชายคน ๑ ชื่อ คยากัสสปะ ฯ เมื่อเจริญวัยได้เรียนจบไตรเพทด้วยกันทั้ง ๓ คน ฯ ท่านมีมาณพเป็นบริวาร ๓ ร้อยคน


ครั้นพิจารณาเห็นลัทธิของตนไม่มีแก่นสาร จึงได้พากันออกบวชเป็นชฎิล บำเพ็ญพรตบูชาเพลิงพร้อมกันทั้ง ๓ คนกับด้วยบริวาร ตั้งอาศรมอยู่โดยลำดับกัน ส่วนท่านตั้งอาศรมอยู่ที่ลำน้ำอ้อมหรือคุ้งแห่งแม่น้ำคงคา ถัดอาศรมของพี่ชายลงไปภายใต้ จึงได้นามฉายาว่า “นทีกัสสปะ”

ครั้นเมื่อพระอุรุเวลกัสสปะผู้เป็นพี่ชายพร้อมด้วยบริวาร ถูกพระบรมศาสดาทรงทรมานให้เสื่อมหายคลายจากลัทธินั้นแล้ว จึงพากันลอยตบะบริขารแห่งชฎิลลงมาตามกระแสน้ำ ท่านสำคัญว่าเกิดอันตรายแก่พี่ชายของตน จึงพร้อมด้วยบริวารรีบไป ได้เห็นพระอุรุเวลกัสสปะผู้พี่ชายถือเพศเป็นภิกษุแล้ว


ถามทราบความว่า พรหมจรรย์นี้ประเสริฐ จึงพากันลอยบริขารชฎิลเสียในแม่น้ำ พร้อมด้วยบริวารพากันเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาทูลขออุปสมบท พระองค์ก็ประทานอุปสมบทแก่เธอทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทาเหมือนอย่างท่านพระอุรุเวลกัสสปะผู้พี่ชาย

เมื่อท่านมีอินทรีย์แก่กล้าแล้ว ได้ฟังเทศนา อาทิตตปริยายสูตร ซึ่งพระบรมศาสดาทรงแสดงในเมื่อครั้งประทับอยู่ ณ ตำบลคยาสีสะ ก็ได้สำเร็จพระอรหัตผลเป็นพระอเสขบุคคลพร้อมทั้งบริวาร ฯ

ท่านได้ช่วยทำกิจพระศาสนาตามสมควรแก่หน้าที่ สั่งสอนให้กุลบุตรกุลธิดาให้เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมวินัยเป็นต้น เมื่อท่านดำรงตนอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-18 08:37, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0NzJ8MWU1OTQ2MzF8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-18 08:37, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0NzN8M2JhMWQ5ZjJ8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-8 11:40

ตอนที่ ๑๓   

ประวัติพระคยากัสสปเถระ

3.png



ท่านพระคยากัสสปะ เกิดในสกุลพราหมณ์กัสสปโคตร เดิมชื่อว่า “กัสสปะ” ตามโคตร มีพี่ชาย ๒ คน ได้แก่ อุรุเวลกัสสปะ ๑ และนทีกัสสปะ ๑ เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้วได้เรียนจบไตรเพทตามลัทธิของพวกพราหมณ์ มีความชำนิชำนาญมีชื่อเสียงปรากฏ มีบริวาร ๒ ร้อยคน ฯ

ครั้นต่อมาพิจารณาเห็นลัทธิของตนไม่มีแก่นสาร จึงพร้อมด้วยพี่ชายทั้ง ๒ และบริวารออกบวชเป็นชฎิลบำเพ็ญพรตบูชาเพลิง ตั้งอาศรมอยู่โดยลำดับกัน ส่วนท่านตั้งอาศรมอยู่ ณ ตำบลคยาสีสะ ถัดอาศรมของพี่ชายที่ ๒ ลงไปภายใต้ จึงได้นามฉายาตามที่อยู่เข้าข้างหน้าว่า “คยากัสสปะ”

เมื่อพี่ชายทั้ง ๒ พร้อมด้วยบริวารลอยบริขารชฎิลเสียในแม่น้ำ แล้วพากันอุปสมบทในพระพุทธศาสนาฯ ท่านได้เห็นบริขารลอยมาตามกระแสน้ำ สำคัญว่าเกิดอันตรายแก่พี่ชายทั้ง ๒ ของตน จึงพร้อมด้วยบริวารพากันมา

ครั้นถึงแล้วเห็นพี่ชายทั้ง ๒ กับด้วยบริวารถือเพศเป็นภิกษุแล้ว ถามทราบความว่า พรหมจรรย์นี้ประเสริฐ จึงพากันลอยบริขารของตนเสียในแม่น้ำพร้อมด้วยบริวาร แล้วเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดาทูลขออุปสมบท พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทาอย่างเช่นเดียวกับพี่ชาย ฯ

เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ ณ ตำบลคยาสีสะ ทรงได้ตรัสเทศนา อาทิตตปริยายสูตรโปรด ในที่สุดเทศนา ท่านพร้อมด้วยพี่ชายทั้ง ๒ และบริวารรวม ๑ พัน ๓ องค์ ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยกันทั้งหมด ฯ


ท่านได้ช่วยทำกิจพระศาสนาตามสติกำลังของท่าน เมื่อท่านดำรงชนมายุอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-18 09:15, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0NzR8YjZmYzFkN2J8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-18 09:15, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0NzV8ZDA1MTNhMGJ8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-8 11:43

ตอนที่ ๑๔   

ประวัติพระสารีบุตรเถระ

3.png



ท่านพระสารีบุตร เกิดในตำบลบ้านชื่อว่า นาลกะหรือนาลันทะ ไม่ห่างไกลจากกรุงราชคฤห์ บิดาชื่อว่า วังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อว่า นางสารีพราหมณี บิดาของท่านเป็นนายบ้านตำบลนั้น เดิมท่านชื่อ อุปติสสะ อีกอย่างหนึ่งเขาเรียกชื่อตามความที่เป็นบุตรนางสารีว่า “สารีบุตร”

เมื่อท่านมาอุปสมบทในพระธรรมวินัยแล้ว สพรหมจารีพากันเรียกท่านว่า “พระสารีบุตร” ทั้งนั้น ฯ

ท่านกล่าวว่า สกุลพราหมณ์ผู้เป็นบิดาแห่งอุปติสสมาณพ เป็นสกุลที่มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยโภคสมบัติและบริวาร เมื่ออุปติสสมาณพเจริญวัยแล้ว ได้เล่าเรียนศิลปศาสตร์ มีปัญญาเฉียบแหลมเล่าเรียนได้เร็ว และได้เป็นมิตรชอบพอกันกับโกลิตมาณพโมคคัลลานโคตร ผู้มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เป็นบุตรแห่งสกุลผู้มั่งคั่งเหมือนกัน เพราะว่าตระกูลทั้ง ๒ นั้น เป็นสหายสืบเนื่องกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ฯ

อุปติสสมาณพและโกลิตมาณพ ๒ สหายนั้น ได้เคยไปเที่ยวดูการมหรสพในกรุงราชคฤห์ด้วยกันเสมอ เมื่อดูอยู่นั้นย่อมร่าเริงในที่ควรร่าเริง สลดใจในที่ควรสลดใจ ให้รางวัลในที่ควรให้ วันหนึ่ง ๒ สหาย ชวนกันไปดูการมหรสพเหมือนอย่างแต่ก่อน แต่หาได้ร่าเริงเหมือนวันก่อนๆ ไม่ เพราะพิจารณาเห็นว่าการดูมหรสพไม่เป็นสารประโยชน์อะไร ๒ สหายมีความเห็นร่วมกันอย่างนั้นแล้ว พร้อมกันนำบริวารไปขอบวชอยู่ในสำนักของสัญชัยปริพาชกต่อไป แต่ถ้าใครได้ธรรมพิเศษแล้วจงบอกแก่กัน ฯ

ครั้นพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงธรรมสั่งสอนประชาชน ประกาศพระพุทธศาสนาเสด็จมาถึงกรุงราชคฤห์ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร ฯ วันหนึ่งพระอัสสชิซึ่งนับเข้าในพวกพระปัญจวัคคีย์ ผู้ที่พระบรมศาสดาทรงส่งไปประกาศพระศาสนา ได้กลับมาเข้าเฝ้า ในตอนเช้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ ฯ

อุปติสสปริพาชกได้เห็นท่านแล้ว เกิดความเลื่อมใสอยากทราบลัทธิของท่าน เมื่อได้โอกาสจึงขอให้ท่านแสดงธรรมนั้นให้ฟัง โกลิตปริพาชกได้ดวงตาเห็นธรรมเหมือนกัน ชวนกันจะไปเฝ้าพระบรมศาสดา จึงไปลาสัญชัยผู้เป็นอาจารย์ สัญชัยห้ามไว้ อ้อนวอนให้อยู่หลายครั้งก็ไม่ฟัง พาบริวารไปพระเวฬุวัน เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาทูลขออุปสมบท พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทาด้วยกันทั้งหมด ฯ

สองสหายครั้นเมื่อบวชแล้ว ภิกษุทั้งหลายเรียกท่านทั้งสองว่า “สารีบุตรและโมคคัลลานะ” ฯ ภิกษุที่เป็นบริวารนั้น ครั้นได้ฟังธรรมเทศนานั้นแล้วบรรลุพระอรหัตก่อน ฯ ฝ่ายพระสารีบุตรอุปสมบทแล้ว ๑๕ วัน จึงได้สำเร็จพระอรหัตด้วย ได้ฟังเทศนา เวทนาปริคคหสูตร ที่พระบรมศาสดาตรัสแก่ปริพาชกชื่อ ทีฆนขอัคคิเวสนโคตร

ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ชอบใจหมด ฯ พระบรมศาสดาจึงตรัสตอบว่า ดูก่อนอัคคิเวสนะ ถ้าอย่างนั้นความเห็นอย่างนั้นก็ต้องไม่ควรแก่ท่าน ท่านก็ต้องไม่ชอบใจความเห็นอย่างนั้น ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ก็ทรงแสดงทิฏฐิ ๓ อย่างนั้น ลำดับนั้นได้ทรงแสดงอุบายเครื่องไม่ถือมั่นต่อไป

สมัยนั้นพระสารีบุตรนั่งถวายงานพัดอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์แห่งพระบรมศาสดา ได้ฟังพระธรรมเทศนาที่ตรัสแก่ทีฆนขปริพาชกนั้น แล้วพิจารณาตามพระธรรมเทศนา จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ฯ ส่วนทีฆนขปริพาชกนั้น ได้เพียงดวงตาเห็นธรรม สิ้นความเคลือบแคลงสงสัยในพระพุทธศาสนาแล้ว ทูลแสดงตนเป็นอุบาสก ฯ

พระสารีบุตร เมื่อได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ปรากฏว่าเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด ได้เป็นกำลังสำคัญใหญ่ของพระบรมศาสดาในการประกาศพระศาสนาและเป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระองค์ พระองค์ทรงยกย่องว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางปัญญา


และสามารถจะแสดงพระธรรมจักรและจตุราริยสัจให้กว้างขวางพิสดารเหมือนกับพระองค์ได้ ใช่แต่เท่านั้น ท่านยังมีคุณความดีที่พระองค์ยกย่องอีกเป็นหลายสถาน จะยกมากล่าวแต่ที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้

              ๑. ทรงยกย่องว่า พระสารีบุตรเป็นผู้มีปัญญาอนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิตด้วยกัน เรื่องนี้พึงมีตัวอย่างคือ เมื่อครั้งพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่เมืองเทวหะ ภิกษุพากันเข้าไปเฝ้าพระองค์ ทูลลาจะไปปัจฉาภูมิชนบท พระองค์ตรัสให้ไปลาพระสารีบุตรก่อน เพื่อท่านพระสารีบุตรจะได้แนะนำสั่งสอนในการไปของพวกเธอ จะได้ไม่เกิดความเสียหาย ฯ


             ๒. ทรงยกย่องพระสารีบุตรเป็นคู่กับพระโมคคัลลานะ เช่น
เมื่อครั้งพระบรมศาสดาตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายคบกับสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ให้เกิด และโมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้วนั้น

สารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องบนที่สูงกว่านั้น ฯ ด้วยเหตุนี้จึงได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่า พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกฝ่ายขวา และพระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย

             ๓. มีคำยกย่องพระสารีบุตรอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า “พระธรรมเสนาบดี” ซึ่งเป็นคู่กับพระบรมศาสดาว่า “พระธรรมราชา”
            
             ท่านพระสารีบุตร ยังมีคุณความดีที่ปรากฏตามตำนานอีกมาก ที่สำคัญก็คือ

             ๑. ท่านเป็นผู้มีปฏิภาณในการแสดงพระธรรมเทศนา คือ ชี้แจงแสดงให้ผู้ฟังเข้าใจได้ชัดเจน ฯ พึงสาธกเรื่องพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่า ยมกะมีความเห็นเป็นทิฏฐิว่า พระขีณาสพตายแล้วดับสูญ ฯ ภิกษุทั้งหลายค้านเธอว่า เห็นอย่างนั้นผิด เธอไม่เชื่อ แต่ภิกษุเหล่านั้นไม่อาจเปลื้องเธอจากความเห็นนั้นได้ จึงอาราธนาพระสารีบุตรไปช่วยชี้แจงแสดงให้เธอ จึงได้หายความเคลือบแคลงสงสัย ฯ

             ๒. ท่านเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที ฯ ข้อนี้ตัวอย่างคือ ท่านได้ฟังธรรมเทศนาที่พระอัสสชิแสดง ได้ธรรมจักษุแล้ว เข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่นั้นมาท่านนับถือพระอัสสชิผู้เป็นอาจารย์ ทำการเคารพอยู่เสมอ แม้ได้ยินข่าวว่าพระอัสสชิอยู่ในทิศใด เมื่อท่านจะนอน ท่านจะนมัสการไปทางทิศนั้นก่อน แล้วนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น ฯ


อีกเรื่องหนึ่ง ท่านยังให้ราธพราหมณ์อุปสมบท เพราะรำลึกถึงอุปการคุณที่ราธพราหมณ์ได้ถวายบิณฑบาตแก่ท่านเพียงทัพพีหนึ่ง ในเมื่อท่านเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ (เรื่องนี้จักมีพิสดารในประวัติพระราธเถระ)

ท่านพระสารีบุตร นับได้ว่าเป็นกำลังใหญ่ของพระบรมศาสดาในการประกาศพระศาสนา ธรรมภาษิตของท่านจึงมีเป็นอันมาก เช่น สังคีติสูตร เป็นต้น นอกจากพระพุทธภาษิตแล้ว ภาษิตของพระสารีบุตรมีมากกว่าของพระสาวกอื่นๆ ฯ

พระสารีบุตรนั้นนิพพานก่อนพระบรมศาสดา อยู่มาถึงปัจฉิมโพธิกาลพรรษาที่ ๔๕ ล่วงไปแล้ว ก่อนแต่จะปรินิพพาน ท่านพิจารณาเห็นว่า อายุสังขารจวนสิ้นแล้ว ปรารถนาจะไปโปรดมารดาเป็นครั้งสุดท้าย แล้วปรินิพพานในห้องที่เกิด จึงกราบทูลสมเด็จพระบรมศาสดาไปกับพระจุนทะผู้น้องและบริวาร ไปถึงบ้านเดิมแล้วเกิดปักขันทิกาพาธขึ้นในคืนนั้น


ในเวลาที่ท่านกำลังอาพาธอยู่นั้น ได้เทศนาโปรดมารดาจนสำเร็จ คือได้บรรลุโสดาปัตติผล ฯ พอเวลาปัจจุสมัยวันเพ็ญแห่งกัตติกมาส พระเถระเจ้าก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

รุ่งขึ้น พระจุนทะได้ทำฌาปนกิจสรีระของพระเถระเจ้าเสร็จแล้ว ก็เก็บอัฐิธาตุนำไปถวายพระบรมศาสดา ซึ่งประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี พระองค์โปรดให้ก่อพระเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของพระเถระเจ้าไว้ ณ ที่นั้น ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-18 10:23, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0NzZ8MDI0NDMwYjh8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-18 10:23, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0Nzd8ZjAwMzkzOWJ8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-8 21:05

ตอนที่ ๑๕   

ประวัติพระโมคคัลลานเถระ

3.png



ท่านพระโมคคัลลานะ เป็นบุตรพราหมณ์ ผู้เป็นนายบ้านชื่อว่า โกลิตะตามโคตรแห่งบิดา อีกอย่างหนึ่งเขาเรียกตามความที่เป็นบุตรนางโมคคัลลีว่า
โมคคัลลานะ” ท่านเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว พวกสพรหมจารีก็เรียกท่านว่า โมคคัลลานะ ทั้งนั้น ฯ

ท่านเกิดในตำบลไม่ห่างไกลจากกรุงราชคฤห์ และได้เป็นสหายที่รักใคร่กันกับอุปติสสมาณพ มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เพราะตระกูลทั้ง ๒ นั้น เป็นสหายสืบเนื่องกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษและเป็นตระกูลที่มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์และบริวารเสมอกัน

ครั้นเจริญวัยขึ้นแล้ว ได้เล่าเรียนศิลปศาสตร์ด้วยกัน แม้จะไปไหนหรือทำอะไรก็ไปกระทำด้วยกัน จนกระทั่งเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาก็บวชพร้อมกัน ต่างกันแต่ว่าได้ดวงตาเห็นธรรมครั้งแรกคนละคราว พึงทราบเรื่องราวตามที่กล่าวแล้วในประวัติพระสารีบุตรเถระ ในที่นี้จะกล่าวตั้งแต่อุปสมบทแล้วไป ฯ

จำเดิมแต่ท่านได้มาอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ได้ ๗ วัน ไปทำความเพียรอยู่ที่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แขวงเมืองมคธ อ่อนใจนั่งโงกง่วงอยู่ พระบรมศาสดาเสด็จไปที่นั่น ทรงสั่งสอนแสดงอุบายสำหรับระงับความง่วง มีประการต่างๆ ดังต่อไปนี้

             ๑. โมคคัลลานะ เมื่อท่านมีสัญญาอย่างไร ความง่วงนั้นครอบงำได้ ท่านควรทำในใจถึงสัญญานั้นให้มาก ฯ


             ๒. ท่านควรตริตรองพิจารณาถึงธรรม ที่ตนได้ฟังแล้ว และได้เรียนแล้วอย่างไร ด้วยน้ำใจของตัวเอง ฯ


             ๓. ท่านควรสาธยายธรรมที่ตัวได้ฟังมาแล้ว และได้เรียนแล้วอย่างไรโดยพิสดาร


             ๔. ท่านควรยอนหูทั้งสองข้าง และลูบด้วยฝ่ามือ ฯ


             ๕. ท่านควรลุกขึ้นยืนแล้ว ลูบนัยน์ตาด้วยน้ำ เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตรฤกษ์ ฯ


             ๖. ท่านควรทำในใจถึงอาโลกสัญญา คือ ความสำคัญในแสงสว่าง ตั้งความสำคัญว่ากลางวันไว้ในจิต ให้เหมือนกันทั้งกลางวันกลางคืน มีใจเปิดเผยฉะนี้ ไม่มีอะไรห่อหุ้มทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิด ฯ


             ๗. ท่านควรอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีจิตไม่คิดไปภายนอก ฯ  


             ๘. ท่านควรสำเร็จสีหไสยา คือ นอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้นไว้ในใจ พอท่านตื่นแล้วควรรีบลุกขึ้น ฯ


ครั้นตรัสสอนอุบายสำหรับระงับความง่วงอย่างนี้แล้ว พระองค์ทรงสั่งสอนให้สำเนียกในใจต่อไปอีกว่า เราจักไม่ชูงวง (คือ การถือตัว) เข้าไปสู่ตระกูล ฯ เราจักไม่พูดคำซึ่งที่เป็นเหตุให้เถียงกัน ถือผิดต่อกัน ฯ และตรัสสอนให้คลุกคลียินดีด้วยที่นอนที่นั่งอันเงียบสงัด ควรเป็นที่หลีกออกเร้นสมณวิสัย ฯ


เมื่อตรัสสอนอย่างนี้แล้ว พระโมคคัลลานะกราบทูลถามว่า โดยย่อข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมที่สิ้นตัณหามิความสำเร็จล่วงส่วน เกษมจากโยคธรรมล่วงส่วน มีพรหมจารีบุคคลล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน ประเสริฐสุดกว่าเทวดามนุษย์ทั้งหลาย ฯ

พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า โมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับแล้วว่า บรรดาธรรมทั้งปวงไม่ควรถือมั่น เธอทราบชัดธรรมทั้งปวงเธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นสุขก็ดีเป็นทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี เธอพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาเห็นด้วยปัญญาเป็นเครื่องหน่ายเป็นเครื่องดับ เป็นเครื่องสละคืนในเวทนาทั้งหลายนั้น

เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้น ย่อมไม่ถือมั่นสิ่งอะไรๆ ในโลก ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้จำเพาะตัว และทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำอย่างนี้อีกมิได้มี


ว่าโดยย่อข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล ภิกษุได้ชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา ฯ ท่านพระโมคคัลลานะปฏิบัติตามโอวาทที่พระบรมศาสดาทรงสั่งสอน ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหัตในวันนั้น ฯ

ครั้นพระโมคคัลลานะ ได้สำเร็จพระอรหัตแล้ว ท่านได้เป็นกำลังใหญ่ของพระบรมศาสดา ในอันยังการพระพุทธดำริให้สำเร็จ เพราะท่านมีฤทธานุภาพมาก จึงได้รับการยกย่องจากสมเด็จพระบรมศาสดาว่า ท่านเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางเป็นผู้มีฤทธิ์ ฯ และได้รับการยกย่องว่าเป็นคู่กันกับพระสารีบุตรในอันอุปการะภิกษุเข้ามาบวชในพระธรรมวินัย

ดังกล่าวแล้วในประวัติท่านพระสารีบุตรว่า พระสารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ยังบุตรให้เกิด พระโมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว

พระสารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พระโมคคัลลานะแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องบนที่สูงกว่านั้น ฯ ด้วยเหตุนี้จึงยกย่องว่า พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกฝ่ายขวา พระโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกฝ่ายซ้าย ฯ

พระธรรมเทศนาของพระโมคคัลลานะไม่ค่อยจะมีที่เป็นโอวาทให้แก่พระภิกษุสงฆ์ ก็มีอนุมานสูตร ว่าด้วยธรรมอันทำให้คนเป็นผู้ว่ายากหรือง่าย ที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ร้อยกรองไว้ในในมัชฌิมนิกาย ฯ

พระโมคคัลลานะเข้าใจในนวกรรมด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อนางวิสาขามหาอุบาสิกา ได้สร้างบุพพารามที่กรุงสาวัตถี พระบรมศาสดารับสั่งให้ท่านเป็นนวกัมมาธิฏฐายี คือ ผู้ดูแลนวกรรม ฯ

ท่านพระโมคคัลลานะ ปรินิพพานก่อนพระบรมศาสดา มีเรื่องเล่าว่า ครั้งเมื่อท่านพำนักอาศัยอยู่ ณ ตำบลกาฬศิลา แคว้นมคธ พวกเดียรถีย์ปรึกษากันว่า บรรดาลาภสักการะทั้งหลายที่เกิดขึ้นแก่พระบรมศาสดาในครั้งนี้ ด้วยอาศัยพระโมคคัลลานะ เพราะท่านพระโมคคัลลานะสามารถไปนำข่าวในสวรรค์และนรกมาแจ้งแก่มนุษย์ ชักนำให้เกิดความเลื่อมใส ถ้าพวกเรากำจัดพระโมคคัลลานะเสียได้แล้ว ลัทธิฝ่ายของพวกเราก็จักรุ่งเรืองขึ้น ฯ

เมื่อปรึกษากันดังนั้นแล้ว จึงจ้างโจรผู้ร้ายให้ลอบฆ่าพระโมคคัลลานะ ฯ ตามตำนานท่านกล่าวว่า เมื่อโจรจะมาคิดทำร้ายฆ่าท่านพระโมคคัลลานะแจ้งเหตุนั้น จึงหนีไปเสียถึง ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๓ ท่านพิจารณาเห็นว่ากรรมตามทัน จึงไม่หนี พวกโจรผู้ร้ายทุบตีจนแหลกสำคัญว่าตายแล้ว จึงนำสรีระของท่านไปซ่อนไว้ในพุ่มไม้แห่งหนึ่งแล้วพากันหนีไป ฯ

ท่านพระโมคคัลลานะยังไม่ถึงมรณะ เยียวยาอัตภาพให้หายด้วยกำลังฌานแล้ว เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา ทูลลากลับมาปรินิพพาน ณ ที่เดิม ในวันดับแห่งกัตติกมาส ภายหลังพระสารีบุตรปักษ์หนึ่ง พระศาสดาได้เสด็จไปทำฌาปนกิจแล้วรับสั่งให้เก็บอัฐิธาตุมาก่อพระเจดีย์ที่ซุ้มประตูแห่งเวฬุวนาราม ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-19 12:01, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0OTd8ZjAwZGQ3ZTB8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-19 12:01, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0OTh8MWZlNGNlOTZ8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-8 21:17

ตอนที่ ๑๖   

ประวัติพระมหากัสสปเถระ

3.png



ท่านพระมหากัสสปะ เป็นบุตรกปิลพราหมณ์กัสสปโคตรในบ้านมหาติฏฐะ จังหวัดมคธรัฐ ชื่อ ปิปผลิ อีกอย่างหนึ่งเรียกตามโคตรว่า กัสสปะ
เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ได้ทำการอาวาหมงคลกับนางภัททกาปิลานี ผู้มีอายุได้ ๑๖ ปี บุตรีพราหมณ์โกสิยโคตร ณ สาคลนคร จังหวัดมคธรัฐ เนื้อความในเรื่องนี้มีว่า

เมื่อปิปผลิมาณพมีอายุได้ ๒๐ ปีแล้ว พราหมณ์ผู้เป็นบิดา พร้อมกับนางพราหมณีผู้มารดา ปรึกษากันหาภรรยาให้แก่บุตรของตน จึงมอบสิ่งของมีเงินและทองเป็นต้น ให้แก่พราหมณ์ ๘ คน แล้วส่งไปเพื่อให้แสวงหาหญิงที่มีลักษณะงดงาม มีฐานะเสมอกับด้วยสกุลของตน

พราหมณ์ ๒ คน รับสิ่งของทองหมั้นแล้ว เที่ยวไปได้บรรลุถึงสาคลนคร ในพระนครนั้น มีธิดาของพราหมณ์โกสิยโคตรคนหนึ่ง ชื่อว่า ภัททกาปิลานี อายุ ๑๖ ปี รูปร่างงดงามสมกับเป็นผู้มีบุญ พราหมณ์เหล่านั้นครั้นได้เห็นแล้ว จึงเข้าไปสู่ขอกับบิดามารดาของนาง เมื่อเป็นการตกลงแล้ว มอบสิ่งของทองหมั้น กำหนดวันอาวาหมงคล และส่งข่าวให้แก่กปิลพราหมณ์ทราบ ฯ

ส่วนปิปผลิมาณพเมื่อได้ทราบดังนั้นแล้ว ไม่ได้มีความประสงค์จะแต่งงานเลย จึงเข้าไปในห้องเขียนจดหมายบอกความประสงค์ของตนให้แก่นางทราบว่า “นางผู้เจริญ จงได้สามีที่มีชาติและโคตรโภคสมบัติเสมอกับนาง อยู่ครอบครองเรือนกัน จงเป็นสุขเถิด ฉันจักออกบวช ภายหลังนางอย่าเดือดร้อน"

ครั้นเขียนเสร็จแล้วมอบให้คนใช้นำไปส่งให้ แม้นางภัททกาปิลานีก็มีความประสงค์เช่นเดียวกัน จึงได้เขียนจดหมายมอบให้คนใช้นำมา ฯ คนใช้ทั้ง ๒ มาพบกันในระหว่างทาง ต่างไต่ถามความประสงค์ของกันและกันแล้ว จึงฉีกจดหมายออกอ่านแล้วทิ้งจดหมาย ๒ ฉบับนั้นเสียในป่า เขียนจดหมายมีเนื้อความแสดงความรักใคร่ซึ่งกันและกันใหม่ แล้วนำไปส่งให้แก่คนทั้ง ๒

ครั้นกาลต่อมา การอาวาหมงคลเป็นการสำเร็จเรียบร้อย แต่คนทั้ง ๒ ไม่มีความประสงค์ สักแต่ว่าอยู่ร่วมกันเท่านั้น ไม่ได้ถูกต้องกันเลย แม้เวลาจะขึ้นสู่เตียง คนทั้งสองก็ไม่ได้ขึ้นทางเดียวกัน ปิปผลิมาณพขึ้นข้างขวา และนางภัททกาปิลานีขึ้นข้างซ้าย เมื่อถึงกลางวันก็ไม่ได้มีการหัวเราะยิ้มต่อกันเลย ฯ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีบุตรหรือธิดา

สกุลของสามีภรรยาคู่นี้มั่งคั่งมาก มีการงานที่เป็นบ่อเกิดแห่งทรัพย์ก็มาก มีคนงานและพาหนะสำหรับใช้งานก็มาก ครั้นต่อมาบิดามารดาทำกาลกิริยาแล้ว ปิปผลิมาณพได้ครองสมบัติและดูแลการงานนั้นสืบตระกูล ฯ

สามีภรรยาทั้ง ๒ นี้มีความเห็นร่วมกันว่า ผู้อยู่ครองเรือนต้องคอยนั่งรับบาป เพราะการงานที่ผู้อื่นทำไม่ดี มีใจเบื่อหน่าย พร้อมใจกันจะออกบวช จึงไปแสวงหาผ้ากาสายะและบาตรดินจากร้านตลาด แล้วปลงผมกันและกัน แล้วนุ่งผ้ากาสายะ ถือเพศบรรพชิต ออกบวชอุทิศพระอรหันต์ในโลก สะพายบาตรเดินลงจากปราสาทหลีกหนีไป

ปิปผลิเดินหน้า นางภัททกาปิลานีเดินตามหลัง พอไปถึงทาง ๒ แพร่งแห่งหนึ่ง จึงแยกออกจากกัน ปิปผลิเดินไปทางขวา นางภัททกาปิลานีเดินไปทางซ้าย บรรลุถึงสำนักนางภิกษุณี ภายหลังได้บวชเป็นภิกษุณีและได้บรรลุพระอรหัตผล ฯ

ส่วนปิปผลิ เมื่อเดินไปได้พบสมเด็จพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่ใต้ร่มไทร ซึ่งเรียกว่า พหุปุตตนิโครธ ในระหว่างกรุงราชคฤห์และเมืองนาลันทาต่อกัน มีความเลื่อมใสเปล่งวาจาประกาศว่า พระศาสดาเป็นศาสดาของตน ตนเป็นสาวก พระศาสดาทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ด้วยการประทานโอวาท ๓ ข้อว่า: -

๑. กัสสปะ ท่านพึงศึกษาว่า เราจักเข้าไปตั้งความละอายและความเกรง ไว้ในภิกษุผู้เป็นเฒ่าและปานกลางเป็นอย่างแรงกล้า ฯ

๒. เราจักฟังธรรมอันใดอันหนึ่งประกอบด้วยกุศล เราจักเงี่ยหูลงฟังธรรมนั้น พิจารณาเนื้อความดังนี้ ฯ

๓. เราจักไม่ละสติที่ไปในกาย คือ พิจารณาร่างกายเป็นอารมณ์ ฯ

            
ครั้นประทานโอวาทแก่พระมหากัสสปะอย่างนี้แล้ว เสด็จหลีกไป ท่านได้ฟังพุทธโอวาทที่ทรงสั่งสอนแล้ว บำเพ็ญเพียรไม่ช้านัก ในวันที่ ๘ แต่อุปสมบทก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ฯ

ตามปกติธรรมดาท่านพระมหากัสสปะนั้น ถือธุดงค์ ๓ อย่าง คือ ถือทรงผ้าบังสุกุลจีวรเป็นวัตร ๑ ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ๑ และถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๑ ด้วยเหตุนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทรงธุดงค์ ฯ นอกจากนี้ท่านยังมีความดีที่พระบรมศาสดาทรงยกย่องอีกหลายสถานเช่น: -

๑. ทรงรับผ้าสังฆาฏิของท่านไป ทรงประทานผ้าสังฆาฏิของพระองค์ให้แก่ท่าน ตรัสว่ามีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอด้วยพระองค์และทรงสรรเสริญว่าเป็นผู้มักน้อยสันโดษ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้ถือเอาเป็นตัวอย่าง


๒. กัสสปะเข้าไปใกล้ตระกูลชักกายและใจห่าง ประพฤติเป็นคนใหม่ไม่คุ้นเคยเป็นนิตย์ ไม่คะนองกายวาจาใจในสกุลเป็นนิตย์ จิตไม่ข้องอยู่ในสกุลเหล่านั้น เพิกเฉยแล้วตั้งจิตเป็นกลางว่า ผู้ใคร่ลาภก็จงได้ลาภ ผู้ใคร่บุญก็จงได้บุญ ตนได้ลาภแล้วมีใจฉันใดผู้อื่นก็มีใจฉันนั้น ฯ

๓. กัสสปะมีจิตประกอบไปด้วยเมตตากรุณาแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ฯ

๔. ทรงสั่งสอนภิกษุให้ประพฤติดีประพฤติชอบ
ยกท่านพระมหากัสสปะเป็นตัวอย่าง ฯ


ท่านพระมหากัสสปะนั้นดีแต่ในการปฏิบัติ หาพอใจในการสั่งสอนภิกษุสหธรรมิกไม่ ธรรมเทศนาอันเป็นอนุสาสนีของท่านจึงไม่มี คงมีแต่ธรรมภาษิตเนื่องมาจากธัมมสากัจฉากับเพื่อนสาวกบ้าง กล่าวบริหารพระพุทธดำรัสบ้าง ท่านอยู่มาถึงภายหลังแต่พุทธปรินิพพาน ฯ ในเมื่อพระบรมศาสดายังทรงพระชนม์อยู่ ดูท่านจะไม่ออกหน้านัก เป็นเพียงพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่งเท่านั้น มาปรากฏเป็นพระสาวกองค์สำคัญ เมื่อพระบรมศาสดาทรงปรินิพพานแล้ว ฯ คือ


ในเวลาที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้วได้ ๗ วัน ท่านประชุมสงฆ์เล่าถึงการที่สุภัททวุฑฒบรรพชิต กล่าวคำมิดีมิชอบต่อพระธรรมวินัย ในคราวเมื่อเดินทางมาจากปาวานคร ปรึกษาหารือในทางที่จะทำสังคายนา รวบรวมพระธรรมวินัยตั้งไว้เป็นแบบฉบับ พระสงฆ์ก็ยินยอมเห็นพร้อมด้วย ท่านจึงเลือกภิกษุผู้ทำสังคายนาได้ ๕๐๐ องค์

การทำสังคายนาในครั้งนั้น ทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา แห่งเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์ พระมหากัสสปะเป็นประธาน ได้พระอุบาลีและพระอานนท์เป็นกำลังสำคัญ เป็นผู้วิสัชนาพระวินัยและพระธรรมโดยลำดับกัน ได้พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นศาสนูปถัมภก ทำอยู่ ๗ เดือน จึงได้สำเร็จเรียกว่า ปฐมสังคีติ ฯ


เมื่อท่านทำสังคายนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้สำเร็จการอยู่ที่พระเวฬุวนารามในกรุงราชคฤห์ ปฏิบัติธรรมเป็นนิตย์ ดำรงชนมายุสังขาร ประมาณได้ ๑๒๐ ปี ท่านก็ได้ดับขันธปรินิพพาน ณ ระหว่างกลาง กุกกุฏสัมปาตบรรพตทั้ง ๓ ลูก ในกรุงราชคฤห์มหานคร ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-19 15:09, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM0OTl8ZjQxODFkZTZ8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-19 15:09, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1MDB8YmZmYmJkZGJ8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-9 13:08

ตอนที่ ๑๗   

ประวัติพระมหากัจจายนเถระ
3.png



พระมหากัจจายนะ เป็นบุตรพราหมณ์ปุโรหิต กัจจานโคตรหรือกัจจายนโคตร ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในกรุงอุชเชนี ชื่อว่า กัญจนะ เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้วเรียนจบไตรเพท เมื่อบิดาได้กระทำกาลกิริยาแล้ว ได้รับตำแหน่งปุโรหิตแทนบิดา ฯ


ครั้นกาลต่อมา พระเจ้าจัณฑปัชโชตได้ทรงทราบว่า สมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว เสด็จเที่ยวโปรดสั่งสอนประชาชน ธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนนั้น เป็นธรรมที่แท้จริง และยังประโยชน์ให้สำเร็จแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติตาม จึงมีพระประสงค์จะใคร่เชิญสมเด็จพระบรมศาสดาไปประกาศพระศาสนาที่กรุงอุชเชนี จึงสั่งกัจจายนะปุโรหิต ซึ่งเป็นผู้มีความรู้เรียนจบไตรเพทไปทูลเชิญเสด็จ กัจจายนะปุโรหิตทูลลาจะบวชด้วย


ครั้นได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงออกจากกรุงอุชเชนีพร้อมด้วยบริวาร ๗ คน ครั้นมาถึงที่ประทับพระบรมศาสดาแล้ว พากันเข้าไปเฝ้า พระองค์ตรัสเทศนาสั่งสอน ในที่สุดเทศนา ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมกันทั้ง ๘ คน แล้วจึงทูลขออุปสมบท พระศาสดาก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา


ครั้นได้อุปสมบทแล้ว จึงทูลเชิญอาราธนาพระองค์เสด็จไปที่กรุงอุชเชนี ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต พระบรมศาสดาทรงรับสั่งว่า ท่านไปเองเถิด เมื่อท่านไปแล้วพระเจ้าจัณฑปัชโชตจักทรงเลื่อมใส ท่านพร้อมด้วยบริวาร ๘ องค์ กราบถวายบังคมลาสมเด็จพระบรมศาสดากลับไปสู่กรุงอุชเชนีประกาศพุทธศาสนาให้พระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวพระนครเลื่อมใสแล้ว จึงกลับมาสู่สำนักของพระบรมศาสดาอีก ฯ

ท่านเป็นผู้ฉลาดในการอธิบายความแห่งคำที่ย่อให้พิสดาร เช่น ในครั้งหนึ่งสมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงภัทเทกรัตตสูตรโดยย่อแล้ว เสด็จเข้าวิหารที่ประทับ ภิกษุทั้งหลายไม่ได้ช่องที่จะทูลถามเนื้อความ ที่พระองค์ตรัสโดยย่อให้เข้าใจกว้างขวาง เห็นความสามารถของท่านพระมหากัจจายนะ จึงได้อาราธนาขอให้ท่านอธิบายให้ฟัง


ท่านก็อธิบายให้ฟัง ฯ ท่านอธิบายให้ฟังโดยพิสดารแล้วกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ เราเข้าใจเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงแสดงแล้วโดยย่อความพิสดารอย่างนี้ ถ้าท่านทั้งหลายประสงค์ ก็จงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดากราบทูลถามเนื้อความเถิด พระองค์ทรงแก้อย่างไร จงจำไว้อย่างนั้น กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ


พระองค์ตรัสสรรเสริญพระมหากัจจายนะว่า ภิกษุทั้งหลาย กัจจายนะเป็นผู้มีปัญญา ถ้าพวกเธอถามเนื้อความนั้นกะเรา เราก็แก้เหมือนอย่างที่กัจจายนะแก้แล้วอย่างนั้น เนื้อความแห่งธรรมที่เราแสดงแล้วโดยย่ออย่างนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงจำไว้เถิด ฯ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อธิบายความย่อโดยพิสดาร ฯ

ท่านพระมหากัจจายนะนั้น ได้ทูลขอพระบรมพุทธานุญาตให้พระองค์ทรงแก้ไขพระพุทธบัญญัติบางข้อ ซึ่งขัดต่อภูมิประเทศ เช่น เมื่อครั้งท่านพำนักอาศัยอยู่ ณ ภูเขาชื่อว่า ปวัตตะ แขวงเมืองกุรุรฆระ ในอวันตีทักขิณาปถชนบท อุบาสกผู้เป็นอุปัฏฐากของท่านองค์หนึ่ง ชื่อว่า โสณกุฏิกัณณกะ มีความประสงค์จะบวชในพระธรรมวินัย แต่ก็ได้เพียงบรรพชาเท่านั้น โดยล่วงไป ๓ ปีแล้ว จึงได้อุปสมบท เพราะในอวันตีทักขิณาปถชนบทหาภิกษุสงฆ์เป็นคณปูรกะไม่ได้


เมื่อโสณกุฏิกัณณกะได้อุปสมบทแล้ว มีความปรารถนาจะไปเฝ้าพระบรมศาสดา จึงไปลาท่านพระมหากัจจายนะผู้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านก็อนุญาต และสั่งให้ไปถวายบังคมพระบาทพระบรมศาสดาด้วยเศียรเกล้าตามคำขอของท่าน แล้วให้กราบทูลขอพระบรมพุทธานุญาตให้พระองค์ทรงแก้ไขพระพุทธบัญญัติ ซึ่งขัดต่ออวันตีทักขิณาปถชนบท ๕ ข้อ คือ
            
.....ในอวันตีทักขิณาปถชนบท มีภิกษุน้อย ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตการอุปสมบทด้วยคณะภิกษุน้อยกว่า ๑๐ รูป ฯ ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตการอุปสมบทในปัจจันตชนบท ด้วยคณะมีพระวินัยธรเป็นที่ ๕” (ด้วยคณะสงฆ์ ๕ รูป) ฯ
            
.....มีพื้นที่ขรุขระไม่สม่ำเสมอ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตรองเท้าเป็นชั้นๆ ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรองเท้าเป็นชั้นๆ ในปัจจันตชนบท”
            
.....พวกมนุษย์ต้องอาบน้ำทุกวัน ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตการอาบน้ำเป็นนิตย์ ฯ ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการอาบน้ำได้เป็นนิตย์ในปัจจันตชนบท”
            
.....มีเครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะหนังแกะเป็นต้น บริบูรณ์ดีเหมือนมัชฌิมชนบท ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตเครื่องลาดทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะหนังแกะเป็นต้น ฯ ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะ หนังแกะเป็นต้น” ฯ
            
.....พวกมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมถวายจีวรแก่ภิกษุไปแล้วในภายนอกสีมาด้วยคำว่า “พวกข้าพเจ้าถวายจีวรผืนนี้ แก่ภิกษุชื่อนี้” เมื่อพวกเธอเหล่านั้นกลับมาแล้ว พวกภิกษุในวัดแจ้งความให้พวกเธอทราบ พวกเธอรังเกียจ ไม่ยินดีรับ ด้วยเข้าใจเสียว่าผ้านั้นเป็นนิสสัคคียะ (จำต้องสละ เพราะล่วง ๑๐ ราตรีแล้ว) ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงตรัสบอกการปฏิบัติในจีวรเช่นนั้น ฯ ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเพื่อให้ภิกษุยินดีรับจีวรที่ทายกถวายลับหลังนั้นได้ ผ้ายังไม่ถึงมือภิกษุตราบใด จะนับว่าเธอเป็นผู้มีสิทธิ์ในผ้านั้นเต็มที่ยังไม่ได้ตราบนั้น”
            
ท่านพระมหากัจจายนะนั้น เป็นผู้มีรูปงาม มีผิวเหลืองดุจทอง มีเรื่องเล่าในอรรถกถาธรรมบทว่า บุตรเศรษฐีมีชื่อว่า โสเรยยะ ในโสเรยยนครเห็นท่านแล้วคะนองใจยิ่งนัก ด้วยอำนาจอกุศลจิตเพียงเท่านี้ เพศชายแห่งโสเรยยเศรษฐีบุตรนั้นกลับเป็นเพศสตรี เธอได้รับความอับอายเป็นอย่างยิ่ง จึงหนีไปอยู่นครอื่น จนกระทั่งได้สามีมีบุตรด้วยกัน ๒ คน ภายหลังได้ไปขอขมาให้ท่านอดโทษแล้ว จึงกลับเป็นบุรุษตามเดิม ฯ


ตามความในมธุรสูตรว่า ท่านอยู่มาถึงภายหลังแต่พุทธปรินิพพาน ใจความย่อในสูตรนั้นว่า เมื่อท่านพระมหากัจจายนะอยู่ที่คุนธาวัน แขวงมธุรราชธานี พระเจ้ามธุรราชธานีอวันตีบุตรเสด็จไปหา แล้วทรงตรัสว่า ข้าแต่ท่านพระมหากัจจายนะผู้เจริญ พวกพราหมณ์ถือว่า พวกเขาเป็นผู้ประเสริฐสุด เกิดจากพรหม ท่านเข้าใจว่าอย่างไร ฯ  


ท่านพระมหากัจจายนะทูลตอบ แล้วแสดงวรรณะ ๔ เหล่านี้ไม่ต่างกัน ครั้นพระเจ้ามธุรราชสดับแล้วเกิดความเลื่อมใส แสดงพระองค์เป็นอุบาสก ถึงพระเถระกับพระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ ฯ


พระเถระทูลห้ามว่า อย่าถึงท่านเป็นสรณะเลย จงถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นสรณะของท่านเป็นสรณะเถิด ฯ พระเจ้ามธุรราชจึงตรัสถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ ที่ไหน ได้ทราบความว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานเสียแล้ว


จึงตรัสว่า ถ้าพระองค์ได้ทรงสดับว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จในที่ใด แม้ใกล้ไกลเท่าใด พระองค์ก็คงจะเสด็จไปเฝ้าให้จงได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานเสียแล้ว ข้าพระองค์ขอถือพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ปรินิพพานแล้ว กับพระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง ฯ  


ข้อนี้ย่อมชี้ให้เห็นว่า ท่านพระมหากัจจายนะมีชีวิตอยู่มาภายหลังแต่พระพุทธปรินิพพาน ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ


4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-19 22:14, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1MDF8Mjg0NWZiNzl8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-19 22:14, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1MDJ8YjFjMDdlMGV8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-10 08:35

ตอนที่ ๑๘   

ประวัติพระอชิตเถระ

3.png



ท่านพระอชิตะ เกิดในสกุลพราหมณ์ ณ กรุงสาวัตถี เดิมชื่อว่า อชิตมาณพ เมื่อมีอายุสมควรแก่การศึกษาแล้ว มารดาบิดาได้นำท่านพระอชิตะไปฝากให้เป็นศิษย์เล่าเรียนศิลปวิทยา ในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล

เมื่อพราหมณ์พาวรีคิดเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย ได้ถวายกราบบังคมทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศลออกจากหน้าที่ปุโรหิต ออกบวชเป็นชฎิลประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและอาฬกะต่อกัน เป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ และอชิตมาณพพร้อมกับมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์ ได้ออกบวชติดตามด้วยและอยู่ศึกษาศิลปวิทยาในสำนักของพราหมณ์พาวรีนั้น ฯ

ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า เจ้าชายสิทธัตถราชกุมาร ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าศากยราชเสด็จออกบรรพชา ปฏิญญาพระองค์ว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แสดงสั่งสอนประชุมชนเป็นอันมาก พราหมณ์พาวรีคิดหลากใจใคร่สืบสวนให้ได้ความจริง จึงได้เรียกมาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า ผูกปัญหาให้คนละหมวดๆ ให้ไปกราบทูลถามดู

อชิตมาณพพร้อมด้วยมาณพอีก ๑๕ คน กับทั้งบริวารพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ แล้วพากันไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่ปาสาณเจดีย์ แว่นแคว้นมคธ กราบทูลขอโอกาสถามปัญหาคนละหมวดๆ เมื่อพระบรมศาสดาทรงประทานโอกาสอนุญาตแล้ว อชิตมาณพผู้เป็นหัวหน้า จึงกราบทูลถามปัญหาทีแรก ๔ ข้อ ว่า

อชิตมาณพ. โลกคือ หมู่สัตว์ อันอะไรปิดบังไว้ จึงหลงดุจอยู่ในความมืด ? เพราะอะไรเป็นเหตุจึงไม่มีปัญญาเห็นปรากฏ ? พระองค์ตรัสว่าอะไรเป็นเครื่องฉาบไล้สัตว์โลกนั้นให้ติดอยู่ ? และตรัสว่าอะไรเป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น ?

พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า โลกคือ หมูสัตว์ อันอวิชชา* คือความไม่รู้แจ้งปิดบังแล้ว จึงหลงดุจอยู่ในที่มืด, เพราะความอยากมีประการต่างๆ และความประมาทเลินเล่อ จึงไม่มีปัญญาเห็นปรากฏ เรากล่าวว่า ความอยากเป็นเครื่องฉาบไล้สัตว์โลกให้ติดอยู่, และเรากล่าวว่า ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น ฯ

อ. ขอพระองค์จงตรัสว่า อะไรเป็นเครื่องห้าม เป็นเครื่องกันความอยาก ซึ่งเป็นดุจกระแสน้ำหลั่งไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง ความอยากนั้น จะละได้เพราะธรรมอะไร ?

พ. เรากล่าวว่า สติเป็นเครื่องห้าม เป็นเครื่องกันความอยากนั้น และความอยากนั้น จะละได้เพราะปัญญา ฯ

อ. ปัญญา สติ กับนามรูปนั้น จะดับไป ณ ที่ไหน ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถามแล้ว ขอพระองค์ตรัสบอกข้อนี้แก่ข้าพระพุทธเจ้า ?

พ. เราจะแก้ปัญหาที่ท่านถามถึงที่ดับของนามรูปสิ้นเชิง ไม่มีเหลือแก่เธอ เพราะวิญญาณดับไปก่อน นามรูปจึงดับได้ ณ ที่นั้นเอง ฯ

อ. ชนผู้มีธรรมได้พิจารณาเห็นแล้ว และชนผู้ยังต้องศึกษาอยู่ ๒ พวกนี้ มีอยู่ในโลกเป็นอันมาก ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบทูลถามถึงความประพฤติของชนพวกนั้น พระองค์มีปัญญาแก่กล้า ขอจงตรัสบอกแก่ข้าพระพุทธเจ้า ?

พ. ภิกษุผู้มีธรรมได้พิจารณาเห็นแล้ว และชนผู้ต้องศึกษาอยู่ต้องเป็นคนไม่กำหนัดในกามทั้งหลาย มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง มีสติอยู่ทุกอิริยาบถ ฯ

ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ปัญหาที่อชิตมาณพกราบทูลถามอย่างนี้แล้ว ในที่สุดแห่งการแก้ปัญหา อชิตมาณพก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เมื่อจบโสฬสปัญหาพยากรณ์แล้ว อชิตมาณพพร้อมด้วยมาณพ ๑๕ คน กับทั้งบริวาร กราบทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านพระอชิตะดำรงชนมายุอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

* โสฬสปัญหาทั้งหมด คัดจากพุทธานุภาพพุทธประวัติ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-20 05:08, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1MDN8ZTk4Yjc5YjZ8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-20 05:08, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1MDR8MzI1ZmRhMWF8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-10 08:46

ตอนที่ ๑๙   

ประวัติพระติสสเมตเตยยเถระ

3.png



ท่านพระติสสเมตเตยยะ เป็นบุตรพราหมณ์ ณ กรุงสาวัตถี เดิมชื่อว่า ติสสะ มีนามโดยโคตรว่า เมตเตยยะ รวมเป็นนามเดียวว่า ติสสเมตเตยยะ เมื่อมีอายุสมควรแก่การเล่าเรียนแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์เล่าเรียนศิลปวิทยา ในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ฯ

ครั้นพราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย ได้ถวายกราบบังคมทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศลออกจากหน้าที่ปุโรหิต ออกบวชเป็นชฎิลประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและเมืองอาฬกะต่อกัน เป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ ติสสเมตเตยยมาณพพร้อมกับมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์ ได้ออกบวชติดตามด้วยและอยู่ศึกษาศิลปวิทยาในสำนักของพราหมณ์พาวรีนั้น ฯ

ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า พระโอรสของพระเจ้าศากยราชเสด็จออกบรรพชา ปฏิญญาพระองค์ว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แสดงธรรมสั่งสอนประชุมชน มีคนเชื่อและเลื่อมใส ยอมตนเป็นสาวกปฏิบัติตามคำสั่งสอนเป็นอันมาก พราหมณ์พาวรีคิดหลากใจใคร่สืบสวนให้ได้ความจริง จึงเรียกมาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า ผูกปัญหาให้คนละหมวดๆ ให้ไปกราบทูลถามดู

มาณพทั้ง ๑๖ คน ลาอาจารย์แล้ว พามาณพที่เป็นบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่ปาสาณเจดีย์ แคว้นมคธ ทูลขอโอกาสถามปัญหาคนละหมวดๆ ครั้นพระบรมศาสดาทรงอนุญาตแล้ว อชิตมาณพถามปัญหาเป็นคนแรก ๔ ข้อ เมื่อจบการพยากรณ์ปัญหาของอชิตมาณพแล้ว ติสสเมตเตยยมาณพจึงทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๒ ว่า

ติสสเมตเตยยมาณพ. ใครชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ คือ เต็มความประสงค์ในโลกนี้, ความอยากซึ่งเป็นเหตุทะเยอทะยาน ดิ้นรนของใครไม่มี, ใครรู้ส่วนข้างปลายทั้ง ๒ (คืออดีตกับอนาคต) ด้วยปัญญาแล้ว ไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลาง (คือปัจจุบัน) พระองค์ตรัสว่าใครเป็นมหาบุรุษ ใครล่วงความอยากอันผูกใจสัตว์ไว้ในโลกนี้ ดุจด้ายเป็นเครื่องเย็บให้ติดกันไปได้ ?
            
พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า ภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์สำรวมในกามทั้งหลาย ปราศจากความอยากแล้ว มีสติระลึกได้ทุกเมื่อ พิจารณาเห็นชอบแล้ว ดับเครื่องร้อนกระวนกระวายเสียได้แล้ว ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ คือ

เต็มความประสงค์ในโลกนี้ ความอยากซึ่งเป็นเหตุทะเยอทะยานดิ้นรนของภิกษุนั้นแลไม่มี ภิกษุนั้นแลรู้ส่วนข้างปลายทั้ง ๒ ด้วยปัญญา แล้วไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลาง เรากล่าวว่า ภิกษุนั้นแหละเป็นมหาบุรุษ ภิกษุนั้นแลล่วงความอยากอันผูกใจสัตว์ไว้ในโลกนี้ ดุจด้ายเป็นเครื่องเย็บผ้าให้ติดกันไปได้ ฯ
            

ในที่สุดแห่งการพยากรณ์ปัญหา ติสสเมตเตยยมาณพได้สำเร็จพระอรหัตผล เมื่อมาณพนอกนั้นทูลปัญหาของตนๆ และพระบรมศาสดาทรงพยากรณ์แล้ว ติสสเมตเตยยมาณพพร้อมด้วยมาณพเหล่านั้น ได้ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-20 06:39, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1MDV8YTgyOGQ0YTN8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-20 06:39, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1MDZ8N2UxY2VmOGZ8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-10 15:51

ตอนที่ ๒๐   

ประวัติพระปุณณกเถระ
3.png



ท่านพระปุณณกะ เป็นบุตรพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ฯ


ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย ได้กราบบังคมทูลลาออกจากหน้าที่ปุโรหิต ออกบวชเป็นชฎิลประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและเมืองอาฬกะต่อกัน ฯ ปุณณกมาณพพร้อมกับมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์ ได้ออกบวชติดตามไปศึกษาศิลปวิทยาอยู่ด้วย ฯ

ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว กิตติศัพท์ก็ลือกระฉ่อนไปทั่วทิศานุทิศ จนปรากฏแก่พราหมณ์พาวรีว่า เจ้าชายสิทธัตถราชกุมาร ผู้เป็นพระราชโอรสแห่งศากยราชเสด็จออกบรรพชา ปฏิญญาตนว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แสดงธรรมสั่งสอนแก่ประชาชน มีคนเชื่อและเลื่อมใส ยอมตนเป็นสาวกประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนเป็นอันมาก


พราหมณ์พาวรีคิดหลากใจใคร่สืบสวนให้ได้ความจริง จึงเรียกมาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า ผูกปัญหาให้คนละหมวดๆ ให้ไปกราบทูลถามดู


มาณพทั้ง ๑๖ คน ลาอาจารย์ พามาณพที่เป็นบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่ปาสณเจดีย์ แว่นแคว้นมคธ ทูลถามปัญหาคนละหมวดๆ ครั้นได้รับอนุญาตแล้ว จึงได้ทูลถามปัญหาตามที่พราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ผูกให้ ในมาณพ ๑๖ คนนั้น ปุณณกมาณพคนหนึ่งซึ่งอยู่ในจำนวนนั้น ได้ทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๓ ว่า

บัดนี้มีปัญหามาถึงพระองค์ผู้หาความหวาดหวั่นมิได้ รู้เหตุที่เป็นรากเหง้าของสิ่งทั้งปวง


พระปุณณกมาณพ. ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลถามว่า หมู่มนุษย์ในโลกนี้ คือ ฤๅษี กษัตริย์ พราหมณ์ เป็นอันมาก อาศัยอะไรจึงบูชายัญบวงสรวงเทวดา ขอพระองค์ตรัสบอกความข้อนี้แก่ข้าพระพุทธเจ้า ?

พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า หมู่มนุษย์เหล่านั้น อยากได้ของที่ตนปรารถนา อาศัยของที่มีชราทรุดโทรม จึงบูชายัญบวงสรวงเทวดา ฯ
            
ป. หมู่มนุษย์เหล่านั้น ถ้าไม่ประมาทในยัญของตน จะข้ามพ้นชาติและชราได้บ้างหรือไม่ ?


พ. หมู่มนุษย์เหล่านั้น มุ่งลาภที่ตนหวังจึงพูดสรรเสริญ การบูชายัญรำพันถึงสิ่งที่ตัวใคร่ ดังนั้นก็เพราะอาศัยลาภ เรากล่าวว่า การบูชายัญเหล่านั้น ยังเป็นคนกำหนัดยินดีในภพ ไม่ข้ามพ้นชาติ ชราไปได้ ฯ
            
ป. ถ้าผู้บูชายัญเหล่านั้น ข้ามพ้นชาติชราเพราะยัญของตนไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครเล่าในเทวโลก หรือในมนุษยโลกข้ามพ้นชาติชรานั้นได้แล้ว ?

พ. ความอยากซึ่งเป็นเหตุทะเยอทะยานดิ้นรนในโลกไหนๆ ของผู้ใดไม่มี เพราะได้พิจารณาเห็นธรรมที่ยิ่งและหย่อนในโลก เรากล่าวว่า ผู้นั้นซึ่งสงบระงับแล้ว ไม่มีทุจริตความประพฤติชั่วอันจะทำให้มัวหมอง ดุจควันไฟอันจับเป็นเขม่า ไม่มีกิเลสอันจะกระทบจิต หาความอยากทะเยอทะยานมิได้ ข้ามพ้นชาติชราไปได้แล้ว ฯ

ครั้นพระบรมศาสดาทรงแก้ปัญหา ที่ปุณณกมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว ในที่สุดแห่งการแก้ปัญหา ปุณณกมาณพได้สำเร็จพระอรหัตผล เมื่อพระศาสดาทรงพยากรณ์ปัญหาแห่งมาณพนอกนั้นเสร็จสิ้นแล้ว ปุณณกมาณพพร้อมมาณพอีก ๑๕ คน กับทั้งบริวาร ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-20 08:38, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1MDd8ZDk3YjNmNTR8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-20 08:38, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1MDh8ZmY4OWM5MTJ8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-10 15:56

ตอนที่ ๒๑   

ประวัติพระเมตตคูเถระ

3.png



ท่านพระเมตตคู เป็นบุตรของพราหมณ์ในนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปมอบตัวยอมเป็นศิษย์พราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศลเพื่อศึกษาศิลปวิทยา ฯ

ครั้นกาลต่อมาพราหมณ์พาวรีออกบวชเป็นชฎิล ประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนเมืองอัสสกะกับเมืองอาฬกะต่อกัน ฯ เมตตคูมาณพพร้อมมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์ ได้ออกบวชติดตามไปศึกษาศิลปวิทยาอยู่ด้วย ฯ

ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว กิตติศัพท์ก็ลือกระฉ่อนไปทั่วทุกทิศ พราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า พระโอรสของศากยราชเสด็จทรงผนวช ได้ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว แสดงธรรมสั่งสอนประชุมชน มีผู้ยอมตนเป็นสาวกประพฤติปฏิบัติตามเป็นอันมาก พราหมณ์พาวรีอยากจะสืบสวนให้ได้ความจริง จึงผูกปัญหาให้มาณพ ๑๖ คน มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า ให้ไปกราบทูลถามดู

มาณพ ๑๖ คน ลาอาจารย์ แล้วพามาณพที่เป็นบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่ปาสาณเจดีย์ แว่นแคว้นมคธ ทูลขอโอกาสถามปัญหา เมื่อได้รับพระพุทธานุญาตแล้ว ปุณณกมาณพได้ทูลถามปัญหาครบ ๓ ข้อ พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์แล้ว เมตตคูมาณพจึงทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๔ ว่า

เมตตคูมาณพ. ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลถามว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกข้อความที่จะพูดถามนั้นแก่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าทราบว่า พระองค์ถึงที่สุดจบไตรเพท มีจิตอันได้อบรมดีแล้ว ทุกข์ในโลกหลายประการไม่ใช่แต่อย่างเดียวนี้ มีมาแล้วแต่อะไร ?

พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า ท่านถามเราถึงเหตุเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์เราจะบอกให้แก่ท่านตามรู้เห็น ทุกข์ในโลกนี้มีอุปธิ คือ กรรมและกิเลสเป็นเหตุ ล้วนเกิดมาก่อนแต่อุปธิ ผู้ใดเป็นคนเขลาไม่รู้ แล้วกระทำอุปธินั้นให้เกิดขึ้น ผู้นั้นย่อมถึงทุกข์เนืองๆ เหตุนั้นเมื่อรู้เห็นว่าอุปธินั้นเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ อย่ากระทำให้อุปธินั้นเกิดมี ฯ
            

ม. ข้าพระพุทธเจ้าทูลถามข้อใด ก็ทรงแก้ข้อนั้นประทานแก่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลถามอื่นอีก ขอเชิญพระองค์ทรงแก้ อย่างไรผู้มีปัญญาจึงจะข้ามพ้นห้วงทะเลใหญ่ คือ ชาติ ชรา และโศกพิไรรำพันเสียได้ ขอพระองค์ทรงแก้ข้อนั้นประทานแก่ข้าพระพุทธเจ้า เพราะว่าธรรมนั้นพระองค์คงทราบธรรมแล้ว ?

พ. เราจักแสดงธรรมที่จะพึ่งเห็นแจ้งด้วยตนเอง ในอัตภาพนี้ไม่ต้องพิศวงตามคำผู้อื่น คือ อย่างนี้ๆ ที่บุคคลได้ทราบแล้วจะเป็นผู้มีสติ ดำเนินข้ามความอยากอันทำให้ติดอยู่ในโลกเสียได้แก่ท่าน ฯ

ม. ข้าพระพุทธเจ้ายินดีธรรมที่สูงนั้นเป็นอย่างยิ่ง ?

พ. ท่านรู้อย่างใดอย่างหนึ่งในส่วนเบื้องบน (คืออนาคต) ในส่วนเบื้องต่ำ (คืออดีต) ในส่วนท่ามกลาง (คือปัจจุบัน) จงบรรเทาความเพลิดเพลินความยึดมั่นในส่วนเหล่านั้นเสีย วิญญาณของท่านจะไม่ตั้งอยู่ในภพ ภิกษุผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ มีสติไม่เลินเล่อได้ทราบแล้ว ละความถือมั่นว่าของเราเสียได้แล้ว จะละทุกข์ คือ ชาติ ชรา และโศกพิไรรำพันในโลกนี้ได้ ฯ
            

ม. ข้าพระพุทธเจ้าชอบใจพระวาจาของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง ธรรมอันไม่มีอุปธิ พระองค์ทรงแสดงชอบแล้ว พระองค์คงละทุกข์ได้แน่แล้ว เพราะว่าพระองค์ได้ทรงทราบธรรมข้อนี้แล้ว แม้ท่านผู้รู้ที่พระองค์ทรงสั่งสอนอยู่เป็นนิตย์ไม่หยุดหย่อน คงละทุกข์นั้นได้ด้วยเป็นแน่ ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้มาถวายบังคมพระองค์ ด้วยตั้งใจจะให้สั่งสอนข้าพระพุทธเจ้าเป็นนิตย์ไม่หยุดหย่อน เหมือนอย่างนั้นบ้าง ?
            
พ. ท่านรู้ว่าผู้ใดเป็นพราหมณ์ถึงที่สุดจบไตรเพท ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่ติดข้องอยู่ในกามภพ ผู้นั้นแหละข้ามล่วงเหตุแห่งทุกข์ ดุจห้วงทะเลใหญ่นี้ได้แน่แล้ว

ครั้นข้ามถึงฝั่งแล้ว เป็นคนไม่มีกิเลสอันตรึงจิต สิ้นความสงสัย ผู้นั้นครั้นรู้แล้วถึงที่สุดจบไตรเพทในศาสนานี้ ละธรรมที่เป็นเหตุติดข้องอยู่ในภพน้อยภพใหญ่เสียได้ เป็นคนมีความอยากสิ้นแล้ว ไม่มีกิเลสอันจะมากระทบจิต หาความทะเยอทะยานมิได้ เรากล่าวว่า ผู้นั้นแลข้ามพ้นชาติชราได้แล้ว ฯ
            

ในที่สุดแห่งการแก้ปัญหา เมตตคูมาณพก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เมื่อจบโสฬสปัญหาพยากรณ์แล้ว เมตตคูมาณพพร้อมด้วยมาณพอีก ๑๕ คน กับทั้งบริวาร ทูลขออุปสมบท พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุในพระธรรมวินัย ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-20 09:33, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1MDl8N2I4YzNjYjJ8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-20 09:33, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1MTB8NzA2NGVmYzR8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-11 10:12

ตอนที่ ๒๒   

ประวัติพระโธตกเถระ

3.png



ท่านพระโธตกะ เกิดในสกุลพราหมณ์ ณ กรุงสาวัตถี เมื่อมีอายุพอสมควรแก่การเล่าเรียนแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรีผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อศึกษาศิลปวิทยา ฯ

ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย ได้ทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศลออกจากตำแหน่งปุโรหิต เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงออกบวชเป็นชฎิลประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและเมืองอาฬกะต่อกัน เป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ โธตกมาณพพร้อมกับมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์ ได้ออกบวชตามไปศึกษาอยู่ด้วย ฯ

ในวันหนึ่งพราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า พระโอรสของพระเจ้าศากยราชเสด็จออกบรรพชา ปฏิญญาพระองค์ว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แสดงธรรมสั่งสอนประชุมชน มีคนเชื่อและเลื่อมใส ยอมตนเป็นสาวกประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนเป็นอันมาก พราหมณ์พาวรีคิดหลากใจใคร่สืบสวนให้ได้ความจริง จึงเรียกมาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า ผูกปัญหาให้คนละหมวดๆ ให้ไปกราบทูลถามดู

ในมาณพ ๑๖ คน โธตกมาณพคนหนึ่งซึ่งอยู่ในจำพวกนั้น ได้พากันลาอาจารย์ แล้วพาบริวารเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่ปาสาณเจดีย์ แว่นแคว้นมคธ ทูลขอโอกาสถามปัญหาคนละหมวดๆ ครั้นพระบรมศาสดาทรงอนุญาตแล้ว จึงได้ทูลถามปัญหาทีละคน ส่วนโธตกมาณพทูลถามเป็นคนที่ ๕ ว่า

โธตกมาณพ. ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลถามว่า ขอจงตรัสบอกแก่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าอยากจะฟังพระวาจาของพระองค์ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว จะศึกษาข้อปฏิบัติซึ่งเป็นเครื่องดับกิเลสของตน ?

พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า ถ้าอย่างนั้นท่านจงเป็นคนมีปัญญา มีสติ ทำความเพียรในศาสนานี้เถิด ฯ

ธ. ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นพระองค์ผู้เป็นพราหมณ์ หากังวลมิได้เที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก เหตุนั้นข้าพระพุทธเจ้าขอถวายบังคมพระองค์ ขอพระองค์ทรงเปลื้องข้าพระพุทธเจ้าเสียจากความสงสัยเถิด ?

พ. เราเปลื้องใครๆ ในโลกผู้ยังมีความสงสัยอยู่ไม่ได้ เมื่อท่านรู้ธรรมอันประเสริฐ ก็จะข้ามห้วงทะเลใหญ่ คือ กิเลสอันนี้เสียได้เองๆ

ธ. ขอพระองค์ทรงพระกรุณาแสดงธรรมอันสงัดจากกิเลสที่ข้าพระพุทธเจ้าควรจะรู้ สั่งสอนข้าพระพุทธเจ้าให้เป็นคนโปร่งไม่ขัดข้องดุจอาการสงบระงับกิเลสเสียได้ ไม่อาศัยสิ่งหนึ่งสิ่งใด เที่ยวอยู่ในโลกนี้ ?

พ. เราจะบอกอุบายเครื่องสงบระงับกิเลส ซึ่งจะเห็นเอง ไม่ต้องเชื่อตามตื่นข่าว ที่บุคคลได้ทราบแล้ว จักมีสติข้ามความอยากที่ตรึงใจไว้ในโลกเสียได้แก่ท่าน ฯ

ธ. ข้าพระพุทธเจ้าชอบอุบายเครื่องระงับกิเลสอันสูงสุดเป็นอย่างยิ่ง ฯ

พ. ถ้าท่านรู้ว่าความทะยานอยาก ทั้งเบื้องบนเบื้องต่ำท่ามกลางเป็นเหตุให้ติดข้องอยู่ในโลก ท่านอย่าทำความทะยานอยากเพื่อจะเกิดในภพน้อยใหญ่ ฯ

ในที่สุดแห่งการพยากรณ์ปัญหา โธตกมาณพส่งใจไปตามธรรมเทศนา จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน เมื่อการพยากรณ์ปัญหาเสร็จแล้ว โธตกมาณพพร้อมด้วยมาณพอีก ๑๕ คน กับทั้งบริวาร ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่พอสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-20 10:44, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1MTF8YTc1N2VmZmF8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-20 10:44, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1MTJ8ZTZjMjA5Nzh8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-11 10:17

ตอนที่ ๒๓   

ประวัติพระอุปสีวเถระ

3.png



ท่านพระอุปสีวะ เป็นบุตรพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เมื่อมีอายุสมควรแก่การเล่าเรียนแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อศึกษาวิชาการ


ต่อมาพราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆราวาส จึงออกบวชเป็นชฎิล ประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและเมืองอาฬกะต่อกัน เป็นคณาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ อุปสีวมาณพพร้อมด้วยมาณพผู้อื่นเป็นศิษย์ ได้ออกบวชติดตามไปศึกษาศิลปวิทยาอยู่ด้วย

ครั้นพราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า พระราชโอรสของพระเจ้าศากยราชเสด็จออกบรรพชา ปฏิญญาพระองค์ว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แสดงธรรมสั่งสอนประชุมชน มีคนเชื่อและเลื่อมใส ยอมตนเป็นสาวกประพฤติปฏิบัติตามคำสอนเป็นอันมาก พราหมณ์พาวรีคิดอยากจะสืบสวนให้ได้ความจริง จึงผูกปัญหาให้แก่มาณพ ๑๖ คน ก็มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า คนละหมวดๆ ให้ไปกราบทูลถามดู


อุปสีวมาณพคนหนึ่งอยู่ในจำพวกมาณพ ๑๖ คนนั้น ได้พากันลาอาจารย์ แล้วพาบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่ปาสาณเจดีย์ แว่นแคว้นมคธ ทูลขอโอกาสถามถึงปัญหา ครั้นได้รับพระพุทธานุญาตแล้ว จึงทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๖ ว่า

อุปสีวมาณพ. ลำพังข้าพระองค์ผู้เดียวไม่ได้อาศัยอะไรแล้ว ไม่อาจข้ามห้วงทะเลใหญ่ คือ กิเลสได้ ขอพระองค์ตรัสบอกอารมณ์ที่หน่วงเหนี่ยว ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าควรอาศัยข้ามห้วงนี้ แก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด ?

พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า ท่านจงเป็นผู้มีสติเพ่งอากิญจัญญายตนฌาน อาศัยอารมณ์ว่าไม่มีดังนี้ ข้ามห้วงเสียเถิด ท่านจงละกามทั้งหลายเสีย เว้นจากการสงสัย เห็นธรรมที่สิ้นไปแห่งความทะเยอทะยานอยากให้ปรากฏชัดทั้งกลางคืนกลางวันเถิด ฯ

อุ. ผู้ปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลายทั้งปวง แล้วล่วงกามอื่นได้แล้ว อาศัยอากิญจัญญายตนฌาน (คือ ความเพ่งใจว่า “ไม่มีอะไร” เป็นอารมณ์) น้อมใจแล้วในอากิญจัญญายตนฌานนั้นไม่มีเสื่อมบ้างหรือ

พ. ผู้นั้นจะตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนฌานนั้นไม่มีเสื่อม ฯ

อุ. ถ้าผู้นั้น จะต้องอยู่ในอากิญจัญญายตนฌานนั้น ไม่มีเสื่อมสิ้นเป็นอันมาก เขาจะเป็นยั่งยืนอยู่ในอากิญจัญญายตนฌานนั้น หรือจะดับขันธปรินิพพาน วิญญาณของคนเช่นนั้นจะเป็นฉันใด ?

พ. เปลวไฟอันกำลังลมเป่าแล้วดับไป ไม่ถึงความนับว่าได้ไปแล้วในทิศไหน ฉันใด ท่านผู้รู้พ้นไปแล้วจากกองนามรูป ย่อมดับไม่มีเชื้อเพลิง (คือ ดับพร้อมทั้งกิเลสทั้งขันธ์) ไม่ถึงความนับว่าไม่เกิดเป็นอะไรฉันนั้น

อุ. ท่านผู้นั้นดับไปแล้ว หรือเป็นแต่ไม่มีตัว หรือจะเป็นผู้ตั้งอยู่ยั่งยืน หาอันตรายมิได้ ขอพระองค์ทรงพยากรณ์ความข้อความนั้นแก่ข้าพระพุทธเจ้า เพราะว่าธรรมนั้นทรงทราบแล้ว ?

พ. ประมาณแห่งเบญจขันธ์ของผู้ที่ดับขันธปรินิพพานแล้ว มิได้มีกิเลส ซึ่งเป็นเหตุกล่าวผู้นั้นว่าไปเกิดเป็นอะไรของผู้นั้นก็มิได้มี เมื่อธรรมทั้งหลาย (มีขันธ์เป็นต้น) อันผู้นั้นจักได้หมดแล้ว ก็ตัดทางแห่งถ้อยคำที่จะพูดถึงผู้นั้นว่าเป็นอะไรเสียทั้งหมด ฯ
            
ครั้นพระบรมศาสดาทรงแก้ปัญหา ที่อุปสีวมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว ในที่สุดการแก้ปัญหา อุปสีวมาณพก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เมื่อการพยากรณ์ปัญหาแห่งมาณพนอกนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว อุปสีวมาณพพร้อมด้วยมาณพอีก ๑๕ คน กับทั้งบริวาร ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา

ท่านพระอุปสีวมาณพนั้น เมื่อดำรงเบญจขันธ์อยู่ ได้ช่วยทำกิจพระศาสนาตามสมควรแก่กำลังความสามารถ ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-20 12:41, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1MTN8MWY5ZGViYTZ8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-20 12:41, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1MTR8NGY1OTk4NzR8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-11 10:30

ตอนที่ ๒๔   

ประวัติพระนันทเถระ
3.png

        


พระนันทะ เป็นบุตรพราหมณ์ในนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยเติบใหญ่แล้วสมควรแก่การเล่าเรียนแล้ว ได้ไปศึกษาศิลปวิทยาตามลัทธิของพราหมณ์ อยู่ในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ฯ

ต่อมาพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ ออกไปบวชประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและเมืองอาฬกะต่อกัน เป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ ฯ และนันทมาณพพร้อมด้วยมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์ ได้ออกบวชติดตามไปศึกษาศิลปวิทยาอยู่ด้วย ฯ

วันหนึ่งพราหมณ์พาวรีได้ทราบว่า พระราชโอรสของพระเจ้าศากยราชเสด็จออกบรรพชา ปฏิญญาตนว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แสดงธรรมสั่งสอนแก่ประชาชน มีคนนับถือและเลื่อมใส ยอมตนเป็นสาวกประพฤติปฏิบัติตามเป็นอันมาก อยากจะสืบสวนให้ได้ความจริง จึงผูกปัญหาให้แก่มาณพ ๑๖ คน คนละหมวดๆ ให้ไปกราบทูลถามดู

นันทมาณพคนหนึ่งอยู่ในจำพวกนั้น จึงพากันลาอาจารย์ แล้วพาบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดา ซึ่งประทับอยู่ที่ปาสาณเจดีย์ แว่นแคว้นมคธ ทูลขอโอกาสถามปัญหา เมื่อพระบรมศาสดาอนุญาตแล้ว จึงได้ถามปัญหาของตนๆ ตามลำดับกัน ส่วนนันทมาณพนั้น ทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๗ ว่า

นันทมาณพ. ชนทั้งหลายกล่าวว่ามุนีมีอยู่ในโลกดังนี้ ข้อนี้เป็นอย่างไร เขาเรียกคนถึงพร้อมด้วยญาณหรือถึงพร้อมด้วยการเลี้ยงชีวิตว่าเป็นมุนี ?

พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า ผู้ฉลาดในโลกนี้ ไม่กล่าวว่าเป็นมุนี ด้วยความเห็น ด้วยสดับ หรือด้วยความรู้ เรากล่าวว่า คนใดทำตนให้ปราศจากกองกิเลส เป็นคนหากิเลสมิได้ ไม่มีความหวังทะยานอยากเที่ยวอยู่ คนผู้นั้นแหละชื่อว่ามุนี ฯ

น. สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวความบริสุทธิ์ด้วยความเห็น ด้วยความฟัง ด้วยศีลและพรต และด้วยวิธีเป็นอันมาก สมณพราหมณ์เหล่านั้น ประพฤติในวิธีเหล่านั้น ตามที่ตนเห็นว่าเป็นเครื่องบริสุทธิ์ข้ามพ้นชาติชราได้บ้างหรือไม่ ข้าพระพุทธเจ้าทูลถาม ขอพระองค์ตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด ฯ
        
พ. สมณพราหมณ์เหล่านั้น แม้ถึงประพฤติอย่างนั้น เรากล่าวว่าพ้นชาติชราไม่ได้แล้ว ฯ
        
น. ถ้าพระองค์ตรัสว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้น ข้ามห้วงไม่ได้แล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครเล่าในเทวโลก หรือในมนุษยโลก ข้ามพ้นชาติชราได้แล้ว ?
        
พ. เราไม่ได้กล่าวว่า สมณพราหมณ์ อันชาติชรานั้นครอบงำแล้วหมดทุกคน แต่เรากล่าวว่า สมณพราหมณ์เหล่าใดในโลกนี้ละอารมณ์ที่คนได้เห็นได้ฟังได้รู้ และศีลพรตกับวิธีเป็นอันมากเสียทั้งหมด กำหนดรู้ตัณหาว่าเป็นโทษ ควรละแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้ สมณพราหมณ์เหล่านั้นแลข้ามห้วงได้แล้ว ฯ
        

น. ข้าพระพุทธเจ้าชอบในพระวาจาของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงแสดงธรรมอันไม่มีอุปธิ (กิเลส) ชอบแล้ว แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็เรียกสมณพราหมณ์เหล่านั้นว่า ผู้ข้ามห้วงได้แล้วเหมือนพระองค์ตรัส ฯ

เมื่อจบเทศนาปัญหาพยากรณ์ นันทมาณพพร้อมด้วยศิษย์ที่เป็นบริวาร ได้บรรลุพระอรหัตผล ฯ เมื่อพระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ปัญหามาณพนอกนี้เสร็จแล้ว นันทมาณพพร้อมด้วยมาณพอีก ๑๕ คน กับทั้งบริวาร ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านพระนันทะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-20 21:07, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1MTl8Mzg3OGY5Y2N8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-20 21:07, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1MjB8OGExM2Q4MjZ8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-13 09:13

ตอนที่ ๒๕   

ประวัติพระเหมกเถระ

3.png



ท่านพระเหมกะ เกิดในสกุลพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อศึกษาศิลปวิทยาตามลัทธิของพราหมณ์

ครั้นพราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆราวาส จึงได้ทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศลออกจากตำแหน่งปุโรหิต เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงได้ออกบวชเป็นชฎิล ประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแว่นแคว้นทั้ง ๒ ชื่อว่าอัสสกะและอาฬกะต่อกัน เป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ เหมกมาณพพร้อมกับมาณพเพื่อนผู้เป็นศิษย์ ได้ออกบวชติดตามไปด้วย ฯ

ในวันหนึ่งพราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า พระราชโอรสของพระเจ้าศากยราชเสด็จออกทรงบรรพชา ปฏิญญาพระองค์ว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แสดงธรรมสั่งสอนแก่ประชุมชน มีคนนับถือและเลื่อมใส ยอมตนเป็นสาวกประพฤติและปฏิบัติตามเป็นอันมาก พราหมณ์พาวรีคิดหลากใจใคร่สืบสวนให้ได้ความจริง จึงเรียกมาณพ ๑๖ คน มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า ผูกปัญหาให้คนละหมวดๆ ให้ไปกราบทูลถามดู

เหมกมาณพอยู่ในจำนวนมาณพเหล่านั้นด้วย ลาอาจารย์แล้ว พาบริวารเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่ปาสาณเจดีย์ แว่นแคว้นมคธ กราบทูลขอโอกาสถามปัญหา เมื่อได้รับพระบรมพุทธานุญาตแล้ว เหมกมาณพจึงได้ทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๘ ว่า
            

เหมกมาณพ. ในปางก่อนแต่ศาสนาของพระองค์ อาจารย์ทั้งหลายได้ยืนยันว่าอย่างนั้นได้เคยมีมาแล้ว อย่างนี้จักมีต่อไปข้างหน้า คำนั้นล้วนเป็นแต่ว่าอย่างนี้แลๆ สำหรับแต่จะทำความตรึกฟุ้งให้มากขึ้น ข้าพระพุทธเจ้าไม่พอใจในคำนั้นเลย ขอพระองค์ตรัสบอกธรรมเป็นเหตุถอนตัณหา ที่ข้าพระพุทธเจ้าทราบแล้ว จะพึงเป็นคนมีสติล่วงตัณหา อันให้ติดอยู่ในโลกแก่ข้าพระพุทธเจ้าเถิด ฯ
            
พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า ชนเหล่าใด ได้รู้ว่าพระนิพพานเป็นที่บรรเทาความกำหนัดพอใจในอารมณ์เป็นที่รัก ซึ่งได้เห็นแล้ว ได้ฟังแล้ว ได้ดมแล้ว ได้ชิมแล้ว ได้ถูกต้องแล้ว และได้รู้ด้วยใจ และเป็นธรรมไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นแล้ว เป็นคนมีสติ มีธรรมอันเห็นแล้วดับกิเลสได้แล้ว ชนผู้สงบระงับกิเลสได้นั้น ข้ามล่วงตัณหาอันให้ติดอยู่ในโลก ฯ
            

ในเวลาจบเทศนาปัญหาพยากรณ์ เหมกมาณพพร้อมด้วยศิษย์ที่เป็นบริวารได้บรรลุพระอรหัตผล ฯ เมื่อมาณพนอกนั้นทูลถามปัญหาของตน ฯ และพระพุทธองค์ทรงพยากรณ์เสร็จแล้ว จึงพร้อมกันทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ฯ

ท่านพระเหมกะนั้น เมื่อดำรงเบญจขันธ์อยู่ ได้ช่วยทำกิจพระศาสนาตามหน้าที่ ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-21 02:57, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1MjR8YWVlN2VhNGJ8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-21 02:57, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 1
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1MjV8ODMzYjg0OTd8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-13 09:17

ตอนที่ ๒๖   

ประวัติพระโตเทยยเถระ

3.png



ท่านพระโตเทยยะ เป็นบุตรพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เมื่อมีอายุสมควรแก่การเล่าเรียนแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาในสำนักพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ฯ

ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆราวาส จึงกราบบังคมทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศลออกจากหน้าที่ปุโรหิต เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ได้ออกบวชเป็นชฎิล ประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและอาฬกะต่อกัน เป็นคณาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ โตเทยยมาณพพร้อมกับมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์กับทั้งบริวาร ได้ออกบวชติดตามไปศึกษาศิลปวิทยาอยู่ด้วย ฯ

ในวันหนึ่งพราหมณ์พาวรีได้ทราบว่า พระสมณโคดมผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าศากยราช เสด็จออกบรรพชา กิตติศัพท์ปรากฏไปในทิศานุทิศว่า พระองค์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบประกอบไปด้วยพระมหากรุณา เสด็จเที่ยวเทศนาสั่งสอนประชุมชน มีคนนับถือและเลื่อมใส ยอมตนเป็นสาวกประพฤติตามคำสั่งสอนเป็นอันมาก พราหมณ์พาวรีใคร่จะสืบสวนให้ได้ความจริง จึงเรียกมาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า ผูกปัญหาให้คนละหมวดๆ ให้ไปกราบทูลถามดู

โตเทยยมาณพอยู่ในจำนวนนั้นด้วย มาณพ ๑๖ คน ลาอาจารย์ แล้วพาบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดา ซึ่งประทับอยู่ที่ปาสาณเจดีย์ แคว้นมคธ ทูลขอโอกาสถามปัญหา ครั้นพระบรมศาสดาทรงอนุญาตแล้ว โตเทยยมาณพได้ทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๙ ว่า

โตเทยยมาณพ. กามทั้งหลาย ไม่ตั้งอยู่ในผู้ใด ตัณหาของผู้ใดไม่มี และผู้ใดข้ามล่วงความสงสัยเสียได้ ความพ้นของผู้นั้นเป็นเช่นไร ?

พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า ความพ้นของผู้นั้นที่จะเป็นอย่างอื่นอีกไม่มี (อธิบายว่าผู้พ้นจากกาม จากตัณหา จากความสงสัยแล้ว กามก็ดี ตัณหาก็ดี ความสงสัยก็ดี จะกลับเกิดขึ้น ผู้นั้นจะต้องเพียรพยายาม เพื่อจะทำตนให้พ้นไปอีกหามีไม่ ความพ้นของผู้นั้นเป็นอันคงที่ไม่แปรผันเป็นอย่างอื่น) ฯ

ต. ผู้นั้นเป็นคนมีความหวังทะเยอทะยานหรือไม่มี เป็นคนมีปัญญาแท้หรือเป็นแต่ก่อตัณหาและทิฎฐิให้เกิดขึ้นด้วยปัญญา ข้าพระพุทธเจ้าจะรู้จักท่านผู้มุนีนั้นได้อย่างไร ขอพระองค์ตรัสบอกแก่ข้าพระพุทธเจ้าเถิด ฯ

พ. ผู้นั้นเป็นผู้ที่ไม่มีความหวังทะเยอทะยาน จะเป็นคนมีความหวังทะเยอทะยานก็หาไม่ เป็นคนมีปัญญาแท้ จะเป็นแต่คนก่อตัณหาทิฏฐิให้เกิดด้วยปัญญาก็หาไม่ ท่านจงรู้จักมุนีว่า คนไม่มีกังวลไม่ติดอยู่ในกามภพอย่างนี้เถิด ฯ

ในที่สุดแห่งการพยากรณ์ปัญหา โตเทยยมาณพพร้อมด้วยมาณพอีก ๑๕ คน กับทั้งบริวาร ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ฯ ท่านพระโตเทยยะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ


4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-21 03:13, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1MjZ8MmUwNTU1NjF8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-21 03:13, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1Mjd8ODViYzg4MzR8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-13 09:21

ตอนที่ ๒๗   

ประวัติพระกัปปเถระ

3.png



ท่านพระกัปปะ เกิดในสกุลพราหมณ์ในนครสาวัตถี เดิมชื่อว่า กัปปมาณพ เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปศึกษาศิลปวิทยาอยู่ในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล

ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆราวาส ทูลลาออกจากตำแหน่งปุโรหิต พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงอนุญาตแล้ว ได้ออกบวชเป็นชฎิลประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ เป็นคณาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและเมืองอาฬกะต่อกัน ฯ กัปปมาณพพร้อมด้วยมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์กับทั้งบริวาร ได้ออกบวชติดตามไปศึกษาศิลปวิทยาอยู่ด้วย ฯ

ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรีได้ทราบว่า พระราชโอรสของพระเจ้าศากยราชเสด็จออกบรรพชา ปฏิญญาพระองค์ว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ประกอบไปด้วยพระมหากรุณา เสด็จเที่ยวเทศนาสั่งสอนแก่ประชุมชน มีคนเชื่อและเลื่อมใส ยอมตนเป็นสาวกประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนเป็นอันมาก พาวรีคิดหลากใจ ใคร่สืบสวนให้ได้ความจริง จึงผูกปัญหาให้แก่มาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน มีอชิตมาณพผู้เป็นหัวหน้าให้ไปทูลถามดู เพื่อจะได้รู้ความจริง

กัปปมาณพคนหนึ่งซึ่งอยู่ในจำนวนนั้น ได้ลาอาจารย์ แล้วพร้อมด้วยมาณพ ๑๕ คน กับทั้งบริวารพากันไปเฝ้าพระบรมศาสดา ซึ่งเสด็จประทับอยู่ที่ปาสาณเจดีย์ แคว้นมคธ ทูลขอโอกาสถามปัญหา เมื่อพระบรมศาสดาทรงอนุญาตแล้ว กัปปมาณพจึงทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๑๐ ว่า
            

กัปปมาณพ. ขอพระองค์ตรัสบอกธรรม ซึ่งจะเป็นที่พึ่งพำนักของชนอันชราและมรณะมาถึงรอบข้าง ดุจเกาะอันเป็นที่พึ่งพำนักอาศัยของชนผู้ตั้งอยู่ในท่ามกลางสาครเมื่อเกิดคลื่นใหญ่ที่น่ากลัว แก่ข้าพระพุทธเจ้า อย่าให้ทุกข์นี้มีได้อีก ?
            
พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า เรากล่าวว่า นิพพานอันไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่มีตัณหาเครื่องถือมั่น เป็นที่สิ้นแห่งชราและมรณะนี้แลเป็นดุจเกาะ หาใช่ธรรมอื่นไม่ ชนเหล่าใดรู้นิพพานนี้แล้วเป็นคนมีสติ มีธรรมอันเห็นแล้ว ดับกิเลสได้แล้ว ชนเหล่านั้นไม่ต้องตกอยู่ในอำนาจของมาร ไม่ต้องเดินไปในทางของมารเลย ฯ

ในที่สุดการพยากรณ์ปัญหา กัปปมาณพได้บรรลุพระอรหัตผล เมื่อจบโสฬสปัญหาพยากรณ์แล้ว กัปปมาณพพร้อมด้วยมาณพอีก ๑๕ คน กับทั้งบริวาร ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็อนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านพระกัปปะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-21 03:34, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1Mjh8N2ViNjNjOTJ8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-21 03:34, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1Mjl8NjBlMzEzYjh8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-13 09:46

ตอนที่ ๒๘   

ประวัติพระชตุกัณณีเถระ

3.png



ท่านพระชตุกัณณี เป็นบุตรพราหมณ์ในนครสาวัตถี เมื่อมีอายุพอสมควรแก่การเล่าเรียนแล้ว ได้ไปศึกษาศิลปวิทยาอยู่ในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ฯ

ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆราวาส จึงขอกราบทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศลออกจากหน้าที่ปุโรหิต เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ได้ออกบวชเป็นชฎิล ประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ เป็นคณาจารย์สั่งสอนไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและอาฬกะต่อกัน ฯ ชตุกัณณีมาณพพร้อมด้วยมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์กับทั้งบริวาร ได้ออกบวชติดตามไปศึกษาศิลปวิทยา ฯ

ครั้งหนึ่งพราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า พระราชโอรสของพระเจ้าศากยราชเสด็จออกทรงผนวชได้สำเร็จพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ประทานโอวาทสั่งสอนแก่ประชุมชน มีคนนับถือและเลื่อมใส ยอมตนเป็นสาวกประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนเป็นอันมาก พราหมณ์พาวรีใคร่จะสืบสวนให้ได้ความจริง จึงเรียกมาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า ได้ผูกปัญหาให้คนละหมวดๆ ให้ไปทูลถามลองดู เพื่อจะได้รู้ความจริง ฯ

ชตุกัณณีคนหนึ่งได้อยู่ในจำนวนนั้น จึงพร้อมกันลาอาจารย์ พาบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดา ซึ่งเสด็จประทับอยู่ที่ปาสาณเจดีย์ แว่นแคว้นมคธ ทูลขอโอกาสถามปัญหา ครั้นพระบรมศาสดาทรงอนุญาตแล้ว ชตุกัณณีมาณพทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๑๑ ว่า

ชตุกัณณีมาณพ. ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบว่า พระองค์ไม่ใช่ผู้ใคร่กาม ข้ามล่วงห้วงกิเลสเสียได้แล้ว จึงมาเฝ้าเพื่อจะทูลถามพระองค์ผู้หากิเลสกามมิได้ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีปัญญาดุจดวงตาอันเกิดพร้อมกับตรัสรู้ จงแสดงธรรมอันระงับกิเลสแก่ข้าพระพุทธเจ้าโดยถ่องแท้ เหตุว่าพระองค์ทรงผจญกิเลสกามให้แห้งหาย ดุจพระอาทิตย์อันส่องแผ่นดินให้แห้งด้วยรัศมี ขอพระองค์ผู้มีปัญญากว้างขวางราวกะแผ่นดิน ตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติชราในอัตภาพนี้ ที่ข้าพระพุทธเจ้าควรจะทราบ แก่ข้าพระพุทธเจ้าผู้มีปัญญาน้อยด้วยเถิด ฯ

พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า ท่านจงนำความกำหนัดในกามออกเสียให้สิ้น เห็นความออกไปจากกามโดยความเกษมเถิด กิเลสเครื่องกังวลที่ท่านยึดถือไว้ ตัณหาและทิฏฐิซึ่งควรจะสละเสีย อย่าเสียดแทงใจของท่านได้ กังวลใดได้มีแล้วในปางก่อน ท่านจงให้กังวลนั้นเหือดแห้งเสีย กังวลในภายหลังอย่าได้มีแก่ท่าน ถ้าท่านจักไม่ถือกังวลในท่ามกลาง ท่านจักเป็นคนสงบระงับกังวลได้เที่ยวไปอยู่ อาสวะ (กิเลส) ซึ่งเป็นเหตุถึงอำนาจมัจจุราชของชนผู้ปราศจากความกำหนัดในนามรูปโดยอาการทั้งปวงมิได้มี ฯ

ในที่สุดแห่งการพยากรณ์ปัญหา ชตุกัณณีมาณพได้บรรลุพระอรหัตผล เมื่อจบโสฬสปัญหาพยากรณ์แล้ว ชตุกัณณีมาณพพร้อมด้วยมาณพอีก ๑๕ คน กับทั้งบริวาร ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านพระชตุกัณณีดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-21 03:50, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1MzB8N2Q5YTI1YTJ8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-21 03:50, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1MzF8YTZkZDBlMjZ8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-13 09:49

ตอนที่ ๒๙   

ประวัติพระภัทราวุธเถระ

3.png



ท่านพระภัทราวุธะ เป็นบุตรพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เมื่อมีอายุพอสมควรแก่การเล่าเรียนแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์เล่าเรียนศิลปวิทยาอยู่ในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ฯ

ครั้นพราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆราวาส จึงทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศลออกจากหน้าที่ปุโรหิต เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงออกบวชเป็นชฎิล ประพฤติพรตตามลัทธิพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและอาฬกะต่อกัน เป็นคณาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่ศิษย์ ภัทราวุธมาณพพร้อมด้วยมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์ ได้ติดตามออกบวชด้วย ฯ

ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า พระสิทธัตถราชกุมาร ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าศากยราชเสด็จออกทรงบรรพชา ปฏิญญาพระองค์ว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แสดงธรรมสั่งสอนแก่ประชุมชน มีคนเชื่อและเลื่อมใส ยอมตนเป็นสาวกประพฤติปฏิบัติตามเป็นอันมาก พราหมณ์พาวรีคิดหลากใจ ใคร่จะสืบสวนให้ได้ความจริง จึงเรียกมาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า ได้ผูกปัญหาให้คนละหมวดๆ ให้ไปกราบทูลถามดู

ภัทราวุธมาณพคนหนึ่งซึ่งอยู่ในจำนวนนั้น พร้อมกันลาพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ พาบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดา ซึ่งเสด็จประทับอยู่ที่ปาสาณเจดีย์ แว่นแคว้นมคธ ทูลขอโอกาสถามปัญหา ครั้นได้พุทธานุญาตแล้ว ได้ทูลถามปัญหาทีละคนๆ เมื่อพระบรมศาสดาทรงแก้ปัญหาของชตุกัณณีมาณพจบลงแล้ว ภัทราวุธมาณพจึงได้ทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๑๒ ว่า
            

ภัทราวุธมาณพ. ข้าพระพุทธเจ้าทูลขออาราธนาพระองค์แล้ว ผู้ทรงละอาลัยตัดตัณหาเสียได้ไม่หวั่นไหว (เพราะโลกธรรม) ละความเพลิดเพลินเสียได้ ข้ามห้วงกิเลสพ้นไปได้แล้ว ละความเป็นเครื่องให้ดำริ (ไปต่างๆ) คือ ตัณหาและทิฏฐิได้แล้ว มีพระปรีชาญาณอันดี ชนที่อยู่ในชนบทต่างๆ อยากจะฟังพระวาจาของพระองค์ พร้อมกันมาแล้วจากชนบทนั้นๆ ได้ฟังพระวาจาของพระองค์แล้วจะกลับไปจากที่นี้ ขอพระองค์จงทรงแก้ปัญหาเพื่อชนเหล่านั้น เพราะธรรมนั้นพระองค์ทรงทราบแล้ว ?

พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า หมู่ชนนั้นควรจะนำตัณหาที่เป็นเหตุถือมั่น ในส่วนเบื้องบน เบื้องต่ำ และเบื้องขวา คือท่ามกลางออกทั้งหมดให้สิ้นเชิง เพราะเขาถือมั่นสิ่งใดๆ ในโลก มารย่อมติดตามเขาได้โดยสิ่งนั้นๆ เหตุนั้นภิกษุเมื่อรู้อยู่ เห็นหมู่สัตว์ผู้ติดอยู่ในวัฏฏะ เป็นที่ตั้งแห่งมารนี้ว่าติดอยู่ เพราะความถือมั่นดังนี้ พึงเป็นคนมีสติ ไม่ถือมั่นกังวลในโลกทั้งปวง ฯ
            
ในที่สุดแห่งการแก้ปัญหา ภัทราวุธมาณพได้บรรลุพระอรหัตผล เมื่อจบโสฬสปัญหาพยากรณ์แล้ว ภัทราวุธมาณพพร้อมด้วยมาณพอีก ๑๕ คน กับทั้งบริวาร ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านพระภัทราวุธะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-21 04:09, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1MzJ8NzFhZThmYjZ8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-21 04:09, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1MzN8ZjNiMGNjYTh8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-13 09:51

ตอนที่ ๓๐   

ประวัติพระอุทยเถระ

3.png


ท่านพระอุทยะ เกิดในสกุลพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาอยู่ในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ฯ

ครั้นพราหมณ์พาวรีออกบวชเป็นชฎิลประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและอาฬกะต่อกัน เป็นคณาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ อุทยมาณพพร้อมด้วยมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์ ได้ออกบวชติดตามไปศึกษาศิลปวิทยาอยู่ด้วย ฯ

วันหนึ่งพราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า พระราชโอรสของศากยราชเสด็จออกทรงบรรพชา แล้วปฏิญญาพระองค์ว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แสดงธรรมสั่งสอนแก่ประชุมชน มีคนนับถือและเลื่อมใส ยอมตนเป็นสาวกประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนเป็นอันมาก พราหมณ์พาวรีใคร่อยากทราบความจริง จึงผูกปัญหาให้แก่มาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า ให้ไปกราบทูลถามดู

อุทยมาณพคนหนึ่งซึ่งอยู่ในจำนวนนั้น พร้อมกันลาพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์แล้ว พาบริวารไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาที่ปาสาณเจดีย์ แคว้นมคธ ทูลขอโอกาสถามปัญหาคนละหมวดๆ ครั้นพระบรมศาสดาทรงอนุญาตแล้ว จึงได้ทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๑๓ ว่า

อุทยมาณพ. ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะทูลถามปัญหา จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ทรงนั่งบำเพ็ญฌาน มีสันดานปราศจากกิเลสธุลี หาอาสวะมิได้ ได้ทรงทำกิจที่จำจะต้องทำเสร็จแล้ว บรรลุถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ซึ่งเป็นเครื่องทำลายอวิชชา ความเขลา ไม่รู้แจ้งเสีย ?

พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า เรากล่าวธรรมเป็นเครื่องละความพอใจในกามและโทมนัสเสียทั้ง ๒ อย่าง เป็นเครื่องบรรเทาความง่วงเหงาเป็นเครื่องห้ามความรำคาญ มีอุเบกขากับสติเป็นธรรมบริสุทธิ์ มีความตรึกกอปรด้วยธรรมเป็นเบื้องหน้า ว่าเป็นธรรมเป็นเครื่องพ้น (จากกิเลส) ที่ควรรู้ทั่วถึง ซึ่งเป็นเครื่องทำลายอวิชชาความเขลาไม่รู้แจ้งเสีย

อ. โลกมีอะไรผูกพันไว้ อะไรเป็นเครื่องสัญจรของโลกนั้น ท่านกล่าวว่านิพพานๆ ดังนี้ เพราะละอะไรได้ ?

พ. โลกมีความเพลิดเพลินผูกพันไว้ ความตรึกเป็นเครื่องสัญจรของโลกนั้น ท่านกล่าวว่านิพพานๆ ดังนี้ เพราะละตัณหาเสียได้ ฯ

อ. เมื่อบุคคลมีระลึกอย่างไรอยู่ วิญญาณจึงจะดับ ฯ ข้าพระองค์ทั้งหลายมาเฝ้าแล้ว เพื่อจะทูลถามพระองค์ ขอให้ได้ฟังพระวาจาของพระองค์เถิด ?

พ. เมื่อบุคคลไม่เพลิดเพลินเวทนา ทั้งภายในภายนอก มีสติระลึกอย่างนี้ วิญญาณจึงจะดับ ฯ

ครั้นพระบรมศาสดาทรงแก้ปัญหาที่อุทยมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว ในที่สุดแห่งเทศนาปัญหาพยากรณ์ อุทยมาณพได้บรรลุพระอรหัตผล เมื่อจบโสฬสปัญหาพยากรณ์ อุทยมาณพพร้อมด้วยมาณพอีก ๑๕ คน กับทั้งบริวาร ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านพระอุทยะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-21 04:46, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1MzR8YmM2NDczYmN8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-21 04:46, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1MzV8YmNkYzk1Yjd8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-16 15:52

ตอนที่ ๓๑   

ประวัติพระโปสาลเถระ

3.png



ท่านพระโปสาละ เป็นบุตรพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เมื่อมีอายุพอสมควรแก่การเล่าเรียนแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อศึกษาศิลปวิทยาตามลัทธิของพราหมณ์ ฯ

ครั้นพราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย จึงกราบบังคมทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศลออกจากหน้าที่ปุโรหิต ออกบวชเป็นชฎิลประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและเมืองอาฬกะต่อกัน เป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่ศิษย์ โปสาลมาณพพร้อมกับมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์ ได้ออกบวชติดตามไปอยู่ด้วย ฯ

ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า พระราชโอรสของพระเจ้าศากยราชเสด็จออกบรรพชา ปฏิญญาพระองค์ว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แสดงธรรมสั่งสอนแก่ประชาชน มีคนเชื่อและเลื่อมใส ยอมตนเป็นสาวกประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนเป็นอันมาก พราหมณ์พาวรีคิดหลากใจใคร่จะสืบสวนให้ได้ความจริง จึงเรียกมาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า ผูกปัญหาให้คนละหมวดๆ ให้ไปกราบทูลถามดู

โปสาลมาณพคนหนึ่งซึ่งอยู่ในจำนวนนั้น ได้พร้อมกันลาพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ พาบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่ปาสาณเจดีย์ แคว้นมคธ ทูลขอโอกาสถามปัญหา ครั้นได้รับพระพุทธานุญาตแล้ว จึงได้ทูลถามปัญหาทีละคนๆ เมื่อพระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ปัญหาที่อุทยมาณพถามจบลงแล้ว โปสาลมาณพได้ทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๑๔ ว่า

โปสาลมาณพ. ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะทูลถามปัญหา จึงได้มาเฝ้าพระองค์ผู้ทรงสำแดงพระปรีชาญาณในกาลเป็นอดีต ไม่ทรงหวั่นไหว (เหตุสุขทุกข์มีความสงสัยอันตัดเสียได้แล้ว บรรลุถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง)

ขอทูลถามถึงญาณของบุคคล ผู้มีความกำหนัดหมายในรูปแจ้งชัด (คือได้บรรลุรูปฌานแล้ว) ละรูปารมณ์ทั้งหมดได้แล้ว คือล่วงรูปฌานขึ้นไปแล้ว เห็นอยู่ทั้งภายในภายนอกว่า ไม่มีอะไรสักหน่อยหนึ่ง (คือบรรลุรูปฌานที่เรียกว่า อากิญจัญญายตนะ) บุคคลเช่นนั้นจะควรแนะนำสั่งสอนให้ทำอย่างไรต่อไป ?

พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า พระตถาคตเจ้าทราบภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณทั้งหมด จึงทราบบุคคลผู้เช่นนั้น แม้ยังตั้งอยู่ในโลกนี้ว่า มีอัธยาศัยน้อมไปในอากิญจัญญายตนภพ มีอากิญจัญญายตนภพ เป็นที่ไปเบื้องหน้า บุคคลเช่นนั้นรู้ว่ากรรมอันเป็นเหตุให้เกิดในอากิญจัญญายตนภพ มีความเพลิดเพลินยินดีเป็นเครื่องประกอบดังนี้แล้ว


ลำดับนั้นย่อมพิจารณาเห็นสหชาตธรรมในอากิญจัญญายตนฌาน (คือธรรมที่เกิดพร้อมกันกับฌานนั้น) แจ้งชัดโดยลักษณะ ๓ (คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัว) ข้อนี้เป็นฌานอันถ่องแท้ของพราหมณ์เช่นนั้น ผู้มีพรหมจรรย์ได้ประพฤติจบแล้ว ฯ

ในที่สุดแห่งการแก้ปัญหา โปสาลมาณพได้บรรลุพระอรหัตผล เมื่อจบโสฬสปัญหาพยากรณ์แล้ว โปสาลมาณพพร้อมด้วยมาณพอีก ๑๕ คน กับทั้งบริวาร ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านพระโปสาละดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-21 05:16, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1MzZ8YTg3NmEyMjZ8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-21 05:16, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1Mzd8N2VmMTE2OWR8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-16 15:55

ตอนที่ ๓๒   

ประวัติพระโมฆราชเถระ

3.png


ท่านพระโมฆราช เป็นบุตรพราหมณ์ในนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อศึกษาศิลปวิทยาตามประเพณีพราหมณ์ ฯ


ครั้นพราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย จึงกราบบังคมทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศลออกจากหน้าที่ปุโรหิต ออกบวชเป็นชฎิลประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งแว่นแคว้นทั้ง ๒ คือแว่นแคว้นอัสสกะและเมืองอาฬกะต่อกัน เป็นคณาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ โมฆราชมาณพพร้อมกับมาณพอีก ๑๕ คน ผู้เป็นศิษย์ได้พาบริวารออกบวชติดตามไปอยู่ด้วย ฯ

ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า พระสิทธัตถราชกุมาร ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าศากยราชเสด็จออกบรรพชา ปฏิญญาพระองค์ว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ประกอบด้วยพระมหากรุณา เสด็จเที่ยวเทศนาสั่งสอนแก่ประชุมชน มีคนนับถือและเลื่อมใส ยอมตนเป็นสาวกประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนเป็นอันมาก พราหมณ์พาวรีมีความสนเท่ห์ใจใคร่จะสืบสวนให้ได้ความจริง จึงได้ผูกปัญหาแก่มาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า ให้ไปกราบทูลถามดู   


โมฆราชมาณพคนหนึ่งอยู่ในจำนวนนั้น พร้อมกันลาพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ พาบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่ปาสาณเจดีย์ แว่นแคว้นมคธ ทูลขอโอกาสถามปัญหา เมื่อได้รับพระพุทธานุญาตแล้ว อชิตมาณพทูลถามปัญหาเป็นคนแรก ครั้นพระบรมศาสดาทรงพยากรณ์แล้ว โมฆราชมาณพปรารภจะทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๒ เพราะถือว่าเป็นคนมีปัญญาดีกว่ามาณพทั้ง ๑๕ คน คิดจะทูลถามปัญหาก่อน แต่เห็นว่าอชิตมาณพเป็นผู้ใหญ่กว่าและเป็นหัวหน้า จึงยอมให้ทูลถามก่อน

พระบรมศาสดาจึงตรัสห้ามว่า โมฆราช ท่านรอให้มาณพอื่นถามก่อนเถิด ฯ โมฆราชก็หยุดอยู่ ต่อแต่นั้นมาณพคนอื่นได้ทูลถามปัญหาเป็นลำดับๆ กัน ถึง ๘ คนแล้ว โมฆราชมาณพปรารภจะทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๙ อีก พระบรมศาสดาก็ทรงห้ามไว้ดุจนัยหนหลัง โมฆราชก็ยับยั้งนิ่งอยู่ รอให้มาณพอื่นทูลถามถึง ๑๔ คนแล้ว จึงทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๑๕ ว่า

โมฆราชมาณพ. ข้าพระพุทธเจ้าได้ทูลถามปัญหาถึง ๒ ครั้งแล้ว พระองค์ไม่ทรงแก้ประทานแก่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าได้ยินว่า ถ้าทูลถามถึง ๓ ครั้งแล้ว พระองค์ทรงแก้ ครั้นว่าอย่างนี้แล้ว ทูลถามปัญหาเป็นคำรบ ๑๕ ว่า

โลกนี้ก็ดี โลกอื่นก็ดี พรหมโลกกับเทวโลกก็ดี ย่อมไม่ทราบความเห็นของพระองค์ เหตุฉะนี้ จึงมีปัญหามาถึงพระองค์ผู้ทรงปรีชา เห็นล่วงสามัญชนทั้งปวงอย่างนี้ ข้าพระพุทธเจ้าพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราช (ความตาย) จึงจะไม่แลเห็น คือ จักไม่ตามไม่ทัน ?

พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า ท่านจงเป็นคนมีสติพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความเห็นว่าตัวของเราเสียทุกเมื่อเถิด ท่านจะข้ามล่วงมัจจุราชเสียได้ ด้วยอุบายอย่างนี้ ท่านพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้แล มัจจุราชจะไม่แลเห็น ฯ

ในที่สุดแห่งการแก้ปัญหา โมฆราชมาณพได้บรรลุพระอรหัตผล เมื่อพระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ปัญหา ที่มาณพทั้ง ๑๖ คน ทูลถามจบลงแล้ว โมฆราชมาณพพร้อมมาณพอีก ๑๕ คน กับทั้งบริวาร ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ฯ

ท่านพระโมฆราช เมื่อได้อุปสมบทแล้ว ท่านยินดีในจีวรที่เศร้าหมอง ด้วยเหตุนี้ จึงได้รับการยกย่องจากพระศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง ฯ ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-21 06:12, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1Mzh8MDVmZDgzZjN8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-21 06:12, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1Mzl8ZmRkZGNmMDh8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-16 15:59

ตอนที่ ๓๓   

ประวัติพระปิงคิยเถระ

3.png



ท่านพระปิงคิยะ เกิดในสกุลพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เมื่อมีอายุควรแก่การศึกษาเล่าเรียนแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์เล่าเรียนศิลปวิทยาในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล

ครั้นพราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย จึงกราบบังคมทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศลออกจากตำแหน่งปุโรหิต ออกบวชเป็นชฎิล ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและเมืองอาฬกะต่อกัน เป็นคณาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ ปิงคิยมาณพพร้อมด้วยมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์ ได้ติดตามออกบวชด้วย ฯ

ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า พระราชโอรสของพระเจ้าศากยราชเสด็จออกบรรพชา ปฏิญญาพระองค์ว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แสดงธรรมสั่งสอนแก่ประชุมชน มีคนเชื่อถือเลื่อมใส ยอมตนเป็นสาวกประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนเป็นอันมาก พราหมณ์พาวรีคิดหลากใจใคร่จะสืบสวนให้ได้ความจริง จึงเรียกมาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า ผูกปัญหาให้คนละหมวดๆ ให้ไปกราบทูลถามดู

ปิงคิยมาณพคนหนึ่งซึ่งอยู่ในจำพวกนั้น ได้พร้อมกันลาพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ แล้วพาบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่ปาสาณเจดีย์ แคว้นมคธ ทูลขอโอกาสถามปัญหา ครั้นพระบรมศาสดาทรงอนุญาตแล้ว ได้ทูลถามปัญหาทีละคนๆ ส่วนปิงคิยมาณพได้ทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๑๖ ว่า

ปิงคิยมาณพ. ข้าพระพุทธเจ้าเป็นคนแก่แล้ว ไม่มีกำลัง มีผิวพรรณสิ้นไปแล้ว ดวงตาของข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่เห็นกระจ่าง หูก็ฟังไม่สะดวก ขอข้าพระพุทธเจ้าอย่าเป็นผู้หลงฉิบหายเสียในระหว่างเลย ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่ข้าพระพุทธเจ้าควรรู้ เป็นเครื่องละชาติชราในอัตภาพนี้เสีย ?

พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า ท่านเห็นชนทั้งหลายผู้ประมาทแล้ว ย่อมเดือดร้อนเพราะรูปเป็นเหตุ เพราะฉะนั้นท่านจงเป็นคนไม่ประมาท ละความพอใจในรูปเสีย จะได้ไม่เกิดอีก ฯ

ปิ. ทิศใหญ่ ๔ ทิศน้อย ๔ เป็น ๑๐ ทิศทั้งเบื้องบนเบื้องต่ำที่พระองค์ไม่ได้เห็นแล้ว ไม่ได้ฟังแล้ว ไม่ได้ทราบแล้ว ไม่ได้รู้แล้ว แม้น้อยหนึ่ง มิได้มีในโลก ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่ข้าพระพุทธเจ้าควรรู้ เป็นเครื่องละชาติชราในโลกนี้เสีย ฯ
            
พ. เมื่อท่านเห็นหมู่มนุษย์ อันตัณหาครอบงำแล้ว มีความเดือดร้อนเกิดแล้ว อันชราถึงรอบข้างแล้ว เหตุนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาท ละตัณหาเสีย จะได้ไม่เกิดอีก ฯ
            

ในที่สุดแห่งการแก้ปัญหา ปิงคิยมาณพได้ญาณแห่งธรรม คือ ได้บรรลุเพียงโสดาปัตติผล เพราะเวลาฟังพยากรณ์ปัญหา มีจิตฟุ้งซ่านคิดถึงพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ว่า ลุงของเราหาได้ฟังธรรมเทศนาที่ไพเราะอย่างนี้ไม่ อาศัยโทษที่จิตฟุ้งซ่านเพราะความรักใคร่ในอาจารย์ จึงไม่อาจทำจิตให้สิ้นจากอาสวะได้ ฯ

ในลำดับนั้น ปิงคิยมาณพพร้อมกับมาณพอีก ๑๕ คน กับทั้งบริวาร ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา

ครั้นท่านพระปิงคิยะได้อุปสมบทแล้ว จึงทูลลาพระบรมศาสดากลับไปแจ้งข่าวแก่พราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์แล้ว แสดงธรรมเทศนาปัญหา ๑๖ ข้อนั้นให้ฟัง ภายหลังได้สดับโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสั่งสอน ได้บรรลุพระอรหัตผล*๑

ส่วนพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ ได้บรรลุธรรมาภิสมัยแต่เพียงชั้นเสขภูมิ (อนาคามิผล) ท่านพระปิงคิยะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

*๑ ในโสฬสปัญหา ฉบับหอสมุด ท่านอ้างอรรถกถาว่า ท่านพระปิงคิยะบรรลุธรรม คือ เป็นพระอนาคามี

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-21 08:20, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NDB8YTVhNmU2YWF8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-21 08:20, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NDF8ZDdjM2YzOWF8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-16 16:08

ตอนที่ ๓๔   

ประวัติพระราธเถระ

3.png


ท่านพระราธะ*๑ เกิดในสกุลพราหมณ์ในพระนครราชคฤห์ เดิมชื่อ ราธะ สกุลของพราหมณ์เป็นสกุลที่มั่งคั่งสกุลหนึ่ง เมื่อราธพราหมณ์แก่เฒ่าชราบุตรภรรยาไม่เลี้ยงดู เป็นคนยากจนเข็ญใจ จึงไปอาศัยเลี้ยงชีพอยู่กับพระภิกษุในพระเวฬุวันมหาวิหาร ต่อมาราธพราหมณ์มีความประสงค์อยากจะบวช แต่ไม่มีใครบวชให้ เมื่อไม่ได้บวชสมประสงค์ จึงมีร่างกายอันซูบผอม มีผิวพรรณเศร้าหมองไม่ผ่องใส ฯ

พระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็นราธพราหมณ์ จึงตรัสถาม ทราบความแล้วรับสั่งถามภิกษุทั้งหลายว่า ใครระลึกถึงอุปการคุณของพราหมณ์นี้ได้บ้าง ฯ


พระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าระลึกได้อยู่ วันหนึ่งข้าพระพุทธเจ้าเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ พราหมณ์นี้ให้อาหารแก่ข้าพเจ้าทัพพีหนึ่ง พระบรมศาสดาตรัสว่า ดีละๆ สารีบุตร สัตบุรุษเป็นคนกตัญญูกตเวที

ถ้าอย่างนั้น สารีบุตรให้พราหมณ์นั้นบวชเถิด ครั้นพระองค์ทรงอนุญาตให้พระสารีบุตรบวชราธพราหมณ์อย่างนี้แล้ว จึงตรัสสั่งให้เลิกการอุปสมบทด้วยสรณคมน์ ๓ ที่ได้ทรงอนุญาตไว้แล้วแต่เดิม ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป ทรงอนุญาตให้สงฆ์อุปสมบทกุลบุตรด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ฯ

ท่านพระราธะ เป็นองค์แรกในการอุปสมบทด้วยวิธีนี้ เมื่อท่านอุปสมบทแล้ว วันหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดากราบทูลว่า ขอพระองค์จงแสดงธรรมแก่ข้าพระพุทธเจ้าโดยย่อๆ ที่ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังแล้ว จักหลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว เป็นคนไม่ประมาท มีความเพียร ส่งจิตไปในภาวนา

พระบรมศาสดา ตรัสสอนว่า ราธะสิ่งใดเป็นมาร ท่านจงละความกำหนัดพอใจในสิ่งนั้นเสีย อะไรเล่าชื่อว่ามาร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน มีความสิ้นไปเสื่อมไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา ชื่อว่ามาร ท่านจงละความกำหนัดพอใจในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นเสีย   

พระราธะรับโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสอนอย่างนี้แล้ว เที่ยวจาริกไปกับพระสารีบุตรไม่นาน ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ครั้นเมื่อพระราธะได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว ท่านพระสารีบุตรพามาเฝ้าพระบรมศาสดา ทรงปราศรัยตรัสถามว่า สัทธิวิหาริกของท่านนี้เป็นอย่างไร พระสารีบุตรกราบทูลว่า เป็นคนว่านอนสอนง่าย เมื่อแนะนำสั่งสอนว่า สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนั้นไม่ควรทำ ท่านจงทำอย่างนั้น อย่าทำอย่างนั้นดังนี้ ไม่เคยโกรธ ฯ


พระบรมศาสดาตรัสสอนให้ภิกษุทั้งหลายถือเป็นตัวอย่างว่า ท่านทั้งหลายจงเป็นคนว่าง่ายอย่างราธะเถิด เมื่ออาจารย์ชี้โทษสั่งสอน อย่าถือโกรธ ควรคบแต่บัณฑิตที่ตนเห็นว่าเป็นคนแสดงโทษ กล่าวข่ม ให้เป็นดุจคนชี้บอกขุมทรัพย์ให้ เพราะคบบัณฑิตเช่นนั้น มีคุณประเสริฐ ไม่มีโทษเลย ฯ

และทรงยกย่องสรรเสริญพระราธะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายด้านที่มีปฏิภาณ คือ ญาณแจ่มแจ้งในพระธรรมเทศนา ท่านพระราธะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

*๑ ในธรรมบทภาค ๔ ว่า เมื่อเป็นคฤหัสถ์อยู่ในนครสาวัตถี พระศาสดาทรงปรารภเรื่องนี้ขณะประทับอยู่ในพระเชตวัน ฯ


4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-21 09:10, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NDJ8OGZmNzQ4OWV8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-21 09:10, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NDN8OTQ4NWU0YzZ8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-17 08:42

ตอนที่ ๓๕   

ประวัติพระปุณณมันตานีบุตรเถระ

3.png



ท่านพระปุณณมันตานีบุตร เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลในบ้านพราหมณ์ชื่อว่า โทณวัตถุ ไม่ห่างไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อ “ปุณณะ” เรียกนามตามที่เป็นบุตรของนางมันตานีพราหมณีว่า ปุณณมันตานีบุตร ฯ

ปุณณมาณพเป็นหลานของพระอัญญาโกณฑัญญะ ซึ่งนางมันตานีพราหมณีเป็นน้องสาวของท่าน การที่ปุณณมาณพจะได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ก็เพราะอาศัยพระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้เป็นลุงเป็นผู้ชักนำให้มาบวช

เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์ ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์ ได้ให้ปุณณมาณพผู้เป็นหลานชายบวชในพระพุทธศาสนา ครั้นพระปุณณะบวชแล้ว ไปอยู่ในประเทศชื่อชาติภูมิ ไม่ช้านัก บำเพ็ญเพียรก็ได้สำเร็จพระอรหัต ฯ

ท่านพระปุณณะตั้งอยู่ในคุณธรรม ๑๐ อย่าง คือ มักน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่ชอบเกี่ยวข้องด้วยหมู่ ปรารภความเพียร บริบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ ความรู้เห็นในวิมุตติ แม้เมื่อมีบริษัท ท่านก็สั่งสอนให้ตั้งอยู่ในคุณธรรม ๑๐ ประการนั้น และสั่งสอนให้บริษัทตั้งอยู่ในคุณธรรม ๑๐ ประการนั้นด้วย

ในเวลานั้นที่ท่านพระสารีบุตรนั่งอยู่ ณ ที่นั้น ได้ยินภิกษุเหล่านั้น ทูลพรรณนาคุณของพระปุณณะ มีความประสงค์อยากจะรู้จักและสนทนาด้วย เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาเมืองสาวัตถีแล้ว ท่านพระปุณณะมาเฝ้า พอหลีกไปจากที่เฝ้าแล้ว พระสารีบุตรทราบข่าว จึงเข้าไปสนทนาปราศรัยกัน แล้วไต่ถามถึงวิสุทธิ ๗ ประการ

ท่านพระปุณณะก็วิสัชนาแก้ไข ชักอุปมาอุปมัยเปรียบด้วยรถ ในที่สุดแห่งการปุจฉาวิสัชนาวิสุทธิ ๗ ประการนั้น พระเถระทั้ง ๒ ต่างอนุโมทนาภาษิตของกันและกัน ฯ

ท่านพระปุณณมันตานีบุตรนั้นอาศัยความที่ตนตั้งอยู่ในคุณเช่นไรแล้ว สอนผู้อื่นให้ตั้งอยู่ในคุณเช่นนั้น ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงยกย่องสรรเสริญว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นธรรมกถึก ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-21 10:55, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NDR8MTcyYzc0M2V8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-21 10:55, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NDV8MTcwNTg5MGF8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-17 08:45

ตอนที่ ๓๖   

ประวัติพระกาฬุทายีเถระ

3.png



ท่านพระกาฬุทายี เป็นบุตรมหาอำมาตย์ในกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นสหชาติ*๑ คือ เกิดพร้อมกับมหาบุรุษ เดิมชื่อว่า อุทายี ท่านกล่าวว่าอุทายีกุมารนั้น เป็นคนมีผิวพรรณค่อนข้างดำ เพราะฉะนั้นชนทั้งหลายจึงเรียกว่า กาฬุทายี เมื่อ
กาฬุทายีเจริญวัยแล้ว ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระมหาบุรุษเจ้า เป็นผู้สนิทสนมและคุ้นเคยกับพระมหาบุรุษมาก ฯ

ครั้นเมื่อพระมหาบุรุษเสด็จออกบรรพชา ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จเทศนาสั่งสอนแก่เวไนยสรรพสัตว์ เมื่อเวลาพระองค์ประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์มหานคร พระเจ้าสุทโธทนะผู้เป็นพระพุทธบิดาทรงทราบ มีพระราชประสงค์ใคร่จะทอดพระเนตรพระราชโอรส จึงมีพระราชโองการดำรัสใช้อำมาตย์คนหนึ่ง พร้อมทั้งบริวาร ๑ พัน ให้ไปทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระบรมศาสดา ฯ


อำมาตย์รับพระราชโองการแล้วพาบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดา ได้ฟังพระธรรมเทศนาบรรลุพระอรหัตผลแล้ว พร้อมด้วยบริวารทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย ครั้นได้อุปสมบทแล้ว ไม่ได้ทูลเชิญสมเด็จพระบรมศาสดา และทั้งไม่ได้ส่งข่าวให้พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบ ฯ

ส่วนสมเด็จพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา เมื่อไม่เห็นพระราชโอรสเสด็จมา และทั้งไม่ได้ทราบข่าวด้วย จึงใช้อำมาตย์พร้อมทั้งบริวาร ๑ พัน ไปอีก อำมาตย์ก็ไปบวชเสีย ไม่กลับมาส่งข่าวให้ทราบ โดยนัยนี้ถึง ๙ คนแล้ว ครั้นวาระที่ ๑๐ จึงตรัสสั่งให้กาฬุทายีอำมาตย์ ซึ่งเป็นคนคุ้นเคย และเป็นคนที่โปรดปรานของพระบรมศาสดาให้ไปทูลเชิญเสด็จ


กาฬุทายีอำมาตย์ทูลลาบวชด้วย ครั้นได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว พาบริวาร ๑ พัน ไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่พระเวฬุวัน ได้ฟังพระธรรมเทศนาบรรลุพระอรหัตผลแล้ว พร้อมด้วยบริวารก็ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา  

ครั้นกาฬุทายีอำมาตย์ได้อุปสมบทแล้ว เมื่อถึงเหมันตฤดู ท่านเห็นเป็นกาลอันสมควรที่จะทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระบรมศาสดาให้เสด็จคืนนครด้วยคาถา ๖๐ แล้ว ทูลเชิญเสด็จพระบรมศาสดา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นพุทธบริวาร ไปกรุงกบิลพัสดุ์ ฯ


เมื่อท่านกาฬุทายีทราบว่า พระบรมศาสดาเสด็จกลับคืนพระนครกบิลพัสดุ์ จึงล่วงหน้าไปก่อน และแจ้งข้อความนั้นให้แก่พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบ พระมหากษัตริย์พร้อมด้วยพระประยูรญาติและประชาชนเกิดความเลื่อมใส ได้ถวายอาหารบิณฑบาตแก่ท่านทุกๆ วัน ที่มาแจ้งข่าว

ส่วนสมเด็จพระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ๒ หมื่น เป็นพุทธบริวาร เสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ตามมรรคาวันละโยชน์ ในเมื่อเสด็จตามมรรคา ท่านกาฬุทายีได้มาสู่สำนักของพระเจ้าสุทโธทนะแจ้งระยะทางให้ทรงทราบ พระมหากษัตริย์ได้ถวายอาหารบิณฑบาตแก่ท่านแล้ว จะให้นำไปถวายแด่สมเด็จพระบรมศาสดาทุกๆ วัน


ท่านได้เทศนาสั่งสอนให้มหาชนเกิดความเลื่อมใส ด้วยความสามารถของท่านในเรื่องนี้ ท่านพระกาฬุทายีจึงได้รับยกย่องจากสมเด็จพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ยังสกุลที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ฯ ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

*๑ ผู้ที่บังเกิดพร้อมในวันเดียวกันกับพระมหาบุรุษ เรียกว่า สหชาติ มี ๗ คือ ไม้มหาโพธิ ๑ พระนางยโสธรา (พิมพา) มารดาของราหุล ๑ ขุมทองทั้งสี่ ๑ ช้างพระที่นั่ง ๑ ม้ากัณฐกะอัศวราช ๑ นายฉันนะอำมาตย์ ๑ กาฬุทายีอำมาตย์ ๑ ฯ ทั้ง ๗ นี้บังเกิดพร้อมกันกับมหาบุรุษเจ้า ฯ


4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-25 10:34, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NDd8MWUzM2M5MDh8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-25 10:34, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NDh8NmFkMWI3ZTl8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-17 08:51

ตอนที่ ๓๗   

ประวัติพระนันทเถระศากยะ

3.png



ท่านพระนันทศากยะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางมหาปชาบดีโคตมี ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่ออยู่ในครรภ์พระมารดาทำให้บรรดาประยูรญาติทั้งหลายมีความยินดีร่าเริงใจใคร่จะเห็น ด้วยเหตุนั้นเมื่อพระราชกุมารประสูติแล้ว บรรดาประยูรญาติทั้งหลาย ได้ถือเอานิมิตนั้นถวายพระนามว่า นันทกุมาร ฯ
            

เมื่อพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว เสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์ประทับอยู่ที่นิโครธาราม ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระราชบิดาและพระนางมหาปชาบดีโคตมีพระน้านาง ประกาศสุจริตธรรมให้ได้ความเชื่อความเลื่อมใส

ในวันหนึ่งมีการอาวาหมังคลาภิเษก ระหว่างนันทกุมารและพระนางชนปทกัลยาณี พระองค์เสด็จไปเสวยที่พระตำหนักของนันทกุมารเสร็จแล้ว ทรงส่งบาตรให้นันทกุมารถือไว้ แล้วตรัสอวยชัยให้พรเพื่อเป็นมงคลแล้ว แล้วเสด็จกลับ

ส่วนนันทกุมารถือบาตรตามเสด็จไป นึกรำพึงในใจว่า ถ้าพระองค์ทรงรับบาตรในที่แห่งใดก็จะรีบกลับมา แต่ไม่สามารถจะทูลเตือนได้ เพราะมีความเคารพในพระองค์ ส่วนนางชนปทกัลยาณีที่จะเป็นเทวีของนันทกุมาร ได้เห็นอาการอย่างนั้นจึงร้องสั่งว่า “ขอพระลูกเจ้าจงรีบเสด็จกลับมา”

ครั้นพระบรมศาสดาเสด็จถึงที่ประทับแล้ว จึงตรัสถามนันทกุมารว่า “นันทะ เธอจักบวชหรือ” นันทกุมารแม้มีใจไม่สมัครจะบวชแต่ไม่อาจขัด เพราะมีความเคารพมาก จึงทูลยอมรับด้วยความไม่พอใจว่า จะบวช

ครั้นบวชแล้วหวนระลึกถึงแต่คำพูดที่นางชนปทกัลยาณีที่ร้องสั่งไว้เมื่อมาอยู่เสมอ มีความเบื่อหน่ายไม่ผาสุกในอันจะประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป คิดจะสึกออกมา ฯ

พระบรมศาสดาทรงทราบเรื่อง จึงได้พาเที่ยวจาริกไปในที่ต่างๆ ให้ได้เห็นหญิงที่มีรูปร่างสวยงามกว่านางชนปทกัลยาณี ให้พระนันทะละความรักรูปนางชนปทกัลยาณีเสีย มุ่งหมายอยากได้รูปหญิงสาวสวยๆ งามๆ ยิ่งไปกว่านั้นต่อไป ความจริงก็ได้เป็นเช่นนั้น

จนผลที่สุดพระบรมศาสดาต้องเป็นผู้รับประกันว่า ถ้าพระนันทะตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์แล้ว พระองค์ทรงรับรองที่จะหาหญิงสาวที่สวยๆ งามๆ ให้ ต่อแต่นั้น พระนันทะก็ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์เพื่อจะได้หญิงสาวที่รูปสวยๆ งามๆ จนข้อความรู้กันทั่วไปในหมู่ภิกษุพากันล้อเลียนท่านว่า พระนันทะเป็นลูกจ้าง

ท่านพระนันทะเกิดความละอายหลีกไปอยู่แต่ผู้เดียว เกิดความดำริขึ้นในใจว่า ความรักไม่มีที่สิ้นสุด เกิดความสลดใจบรรเทาความรักเสียได้ เป็นผู้ไม่ประมาทบำเพ็ญเพียรก็ได้บรรลุพระอรหัตผล ฯ

เมื่อท่านได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว ปรากฏว่าท่านเป็นผู้ที่สำรวมระวังอินทรีย์ ด้วยเหตุนี้ จึงได้รับยกย่องจากสมเด็จพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างสำรวมระวังอินทรีย์ ๖ ไม่ให้เกิดความยินดียินร้ายด้วยอำนาจของโลกธรรม และเป็นผู้มีความเกื้อกูลในปฏิภาณ ฯ ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-25 13:25, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NDl8MmMxMzUxOWZ8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-25 13:25, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NTB8ZWFmZTU0OGN8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-18 09:37

ตอนที่ ๓๘

ประวัติพระราหุลเถระ

3.png



ท่านพระราหุล เป็นพุทธโอรสกับพระนางยโสธรา (พิมพา) พระราชนัดดาของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์ เมื่อพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว เสด็จมาเทศนาโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ที่นิโครธาราม

วันหนึ่งพระองค์เสด็จไปที่พระราชนิเวศน์ของพระนางยโสธรา ซึ่งเป็นพระราชเทวีเก่าของพระองค์ พระราชเทวีได้ส่งราหุลกุมารผู้เป็นพระโอรสออกมาทูลขอพระราชสมบัติที่ตนควรจะได้ ราหุลกุมารออกไปเฝ้าเจรจาปราศรัยแสดงความรักใคร่มีประการต่างๆ

ครั้นเห็นพระบรมศาสดาจะเสด็จกลับ จึงร้องทูลขอราชสมบัติและเสด็จตามไปด้วย พระบรมศาสดาทรงดำริว่า ก็บรรดาทรัพย์สมบัติทั้งหลายที่จะถาวรมั่นคง และประเสริฐกว่าอริยทรัพย์มิได้มี ควรที่เราจะให้อริยทรัพย์แก่ราหุลเถิด

เมื่อทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงตรัสสั่งพระสารีบุตรว่า ถ้าอย่างนั้นพระสารีบุตรจงบวชให้ราหุลเถิด ครั้งนั้นราหุลกุมารยังเยาว์อยู่ มีอายุยังไม่ครบอุปสมบท พระสารีบุตรจึงทูลถามว่า จะโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชราหุลกุมารอย่างไร พระบรมศาสดาทรงปรารภเรื่องนี้ให้เป็นอุบัติเหตุ จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุบวชกุลบุตร ที่มีอายุยังไม่ครบอุปสมบทให้เป็นสามเณรด้วยให้สรณคมน์ ๓ ฯ

เมื่อราหุลกุมารบวชเป็นสามเณรแล้วตามเสด็จพระบรมศาสดา และพระอุปัชฌายะของตนไป ครั้นเมื่อมีอายุครบแล้วก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ วันหนึ่งท่านพระราหุลอยู่ที่สวนมะม่วงแห่งหนึ่งในกรุงราชคฤห์ พระบรมศาสดาเสด็จไปที่นั่นทรงแสดงเทศนาราหุโลวาทสูตรเป็นต้น ตรัสสอนให้พระราหุลสำเหนียกตามเทศนานั้น แล้วเสด็จกลับไป ฯ

วันหนึ่งพระราหุลเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาทรงสั่งสอนเทศนามหาราหุโลวาทสูตร*๑ ซึ่งว่าด้วยรูปกรรมฐาน ยกธาตุ ๕ อย่างคือ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน ๑ อาโปธาตุ ธาตุน้ำ ๑ เตโชธาตุ ธาตุไฟ ๑ วาโยธาตุ ธาตุลม ๑ อากาศธาตุ ช่องว่าง ๑ ขึ้นแสดง ให้พิจารณาด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างไรว่า สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ส่วนนั้นไม่เป็นเรา ส่วนนั้นไม่ใช่ของเราเป็นต้น ฯ

ในที่สุดตรัสสอนในกรรมฐานอื่นให้เจริญภาวนา คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อสุภสัญญา อนิจจสัญญา ครั้นทรงสอนจบแล้ว พระราหุลมีจิตยินดีในคำสอนของพระบรมศาสดา

ภายหลังพระราหุลได้ฟังพระโอวาทที่พระบรมศาสดาทรงสั่งสอนในทางวิปัสสนา คล้ายกับโอวาทที่ตรัสสอนภิกษุปัญจวัคคีย์ เป็นแต่ที่นี้ยกอายตนะภายในภายนอกเป็นต้นขึ้นแสดงแทนขันธ์ ๕ ท่านส่งจิตไปตามพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล ฯ

ท่านพระราหุลเป็นผู้ใคร่ศึกษาธรรมวินัย ตามตำนานท่านกล่าวไว้ว่า ท่านพระราหุลนั้นครั้นลุกขึ้นแต่เช้าแล้ว จึงไปกอบทรายให้เต็มฝ่าพระหัตถ์แล้ว ตั้งความปรารถนาว่า ในเวลานี้ข้าพเจ้าพึงได้รับซึ่งโอวาทคำสั่งสอนแต่สำนักพระบรมศาสดา หรือแต่สำนักพระอุปัชฌาย์อาจารย์ทั้งหลายให้ได้ประมาณเท่าเม็ดทรายในกำมือแห่งข้าพเจ้านี้ ฯ

ด้วยเหตุนั้น ท่านพระราหุลจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ในการศึกษา ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

* พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ร.ศ.๑๑๒ หน้า ๑๒๗-๑๒๘ ฯ ๒-หน้า ๑๓๕-๑๔๑ ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-25 13:49, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NTF8ZjI0ZTQ5NTJ8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-25 13:49, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NTJ8MTQzMDc4M2V8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-18 09:41

ตอนที่ ๓๙   

ประวัติพระอุบาลีเถระ

3.png



ท่านพระอุบาลี เป็นบุตรแห่งนายช่างกัลบก ในนครกรุงกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อว่า อุบาลี เมื่อเจริญวัฒนาแล้ว ได้เป็นผู้เลื่อมใส เจริญพระหฤทัยแห่งเจ้าในศากยวงศ์ ๕ พระองค์ ได้รับตำแหน่งเป็นนายภูษามาลาแห่งเจ้าศากยวงศ์นั้น ฯ

ครั้นพระบรมศาสดาเสด็จมาโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์แล้ว เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปประทับอยู่ที่อนุปิยนิคมอัมพวนารามของมัลลกษัตริย์ ฯ

ครั้งนั้นศากยกุมาร ๕ พระองค์ คือ ภัททิยะ ๑ อนุรุทธะ ๑ อานันทะ ๑ ภัคคุ ๑ กิมพิละ ๑ เป็น ๖ ทั้งเจ้าในโกลิยวงศ์คือ เทวทัต เสด็จออกจากพระนครด้วยจาตุรงคเสนา เพื่อจะออกบวชในพระพุทธศาสนา อุบาลีผู้เป็นนายภูษามาลาได้ติดตามออกไปด้วย พากันเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่อนุปิยนิคม แคว้นมัลละ ทูลขออุปสมบท

ก่อนแต่จะอุปสมบท พวกเจ้าศากยะเหล่านั้น ได้ทูลขอให้พระองค์บวชอุบาลีผู้เป็นภูษามาลาก่อน พระองค์ก็ได้โปรดให้บวชอุบาลีก่อน เมื่อพระอุบาลีอุปสมบทแล้ว ได้ฟังพระกรรมฐานที่พระบรมศาสดาทรงสั่งสอน ท่านไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญความเพียร ไม่ช้าก็ได้สำเร็จพระอรหัต ฯ

ท่านได้ศึกษาทรงจำพระวินัยปิฎกแม่นยำชำนิชำนาญมาก เป็นผู้สามารถจะนำเรื่องราวอะไรซึ่งเกี่ยวด้วยพระวินัยเป็นอย่างดี ข้อนี้พึงเห็นตัวอย่างที่ท่านได้รับพระพุทธานุญาตให้เป็นผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ ๓ เรื่อง คือ ภารตัจฉกวัตถุ ๑ อัชชุกวัตถุ ๑ กุมารกัสสปวัตถุ ๑ ฯ

ด้วยเหตุนี้ ท่านพระอุบาลีจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทรงไว้ซึ่งพระวินัย ฯ

ภายหลังเมื่อพระบรมศาสดาปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปะกระทำสังคายนาพระธรรมวินัย ท่านได้ถูกสงฆ์สมมติให้เป็นผู้วิสัชนาพระวินัยปิฎกด้วย เพราะท่านเป็นผู้มีความสามารถในเรื่องนี้ เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-25 14:18, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NTN8M2IwYjBkNTR8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-25 14:18, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NTR8NmI3MGRjZmV8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-19 20:08

ตอนที่ ๔๐   

ประวัติพระภัททิยเถระศากยราชา

3.png



ท่านพระภัททิยศากยะ เป็นพระโอรสของพระนางศากิยกัญญาผู้พระนามว่า กาฬีโคธาราชเทวี ในกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระนามว่า ภัททิยราชกุมาร เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้เสวยราชสมบัติสืบศากยวงศ์ ต่อมาภายหลังอนุรุทธกุมารผู้สหายได้มาชักชวนให้ออกบรรพชา ในขั้นต้นภัททิยราชกุมารไม่พอใจจะออกบวชด้วย ผลที่สุดก็จำเป็นต้องยอมบวช จึงได้ไปทูลลาพระมารดาสละราชสมบัติ


เสด็จออกไปเฝ้าพระศาสดาที่อนุปิยนิคม แคว้นมัลละ พร้อมด้วยพระราชกุมาร ๕ องค์ คือ อนุรุทธะ ๑ อานันทะ ๑ ภัคคุ ๑ กิมพิละ ๑ เทวทัต ๑ เป็น ๗ กับทั้งอุบาลีผู้เป็นนายภูษามาลา ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย ฯ  

ครั้นพระภัททิยะได้อุปสมบทแล้ว เป็นผู้ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรสมณธรรม ไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในพรรษาที่บวชนั้น ฯ เมื่อท่านได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใดๆ คือ ในป่าก็ดี อยู่ใต้ร่มไม้ก็ดี อยู่ในที่ว่างจากเรือนแห่งอื่นๆ ก็ดี มักเปล่งอุทานในที่นั้นว่า “สุขหนอๆ” ดังนี้เสมอ ฯ


ภิกษุทั้งหลายได้ยินได้ฟังเช่นนั้นแล้ว จึงนำความไปกราบทูลพระบรมศาสดาว่า ท่านพระภัททิยะเปล่งอุทานอย่างนี้ คงจะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ มัวนึกถึงสุขในราชสมบัติเป็นแน่ ไม่ต้องสงสัย

พระบรมศาสดาจึงรับสั่งให้หาพระภัททิยะมา และตรัสถามว่า ภัททิยะ ได้ยินว่าท่านเปล่งอุทานอย่างนั้นจริงหรือ ? จริงพระเจ้าข้า ฯ ท่านเห็นอำนาจประโยชน์อย่างไร จึงได้เปล่งอุทานอย่างนั้น ฯ


ท่านพระภัททิยะกราบทูลว่า เมื่อก่อนข้าพระพุทธเจ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ต้องจัดการรักษาป้องกันทั้งภายในวังและนอกวัง ทั้งภายในเมืองและนอกเมืองตลอดทั่วราชอาณาเขต ข้าพระพุทธเจ้าแม้มีคนรักษาตัวอย่างนี้แล้วยังต้องหวาดกลัวรังเกียจสะดุ้งอยู่เป็นนิตย์

เดี๋ยวนี้ข้าพระพุทธเจ้าแม้อยู่ในป่าอยู่ในร่มไม้ แม้จะอยู่ในที่ว่างจากเรือนแห่งอื่นๆ ไม่กลัวแล้ว ไม่หวาดแล้ว ไม่รังเกียจแล้ว ไม่สะดุ้งแล้ว ไม่ต้องขวนขวาย มีขนตกเป็นปกติ ไม่ลุกชันเพราะความกลัว อาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้เลี้ยงชีวิต มีใจดุจมฤคอยู่

ข้าพระพุทธเจ้าเห็นอำนาจประโยชน์อย่างนี้ จึงเปล่งอุทานอย่างนั้น ฯ พระบรมศาสดาทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทาน ชมเชยขึ้นในเวลานั้น ฯ ท่านพระภัททิยะนั้นเกิดในตระกูลกษัตริย์ จัดว่าอยู่ในตระกูลสูง ทั้งท่านก็ได้เป็นกษัตริย์เสวยราชสมบัติแล้วด้วย ถึงอย่างนั้นก็ยังสละราชสมบัติออกบวช

ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้รับความสรรเสริญจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เกิดในตระกูลสูง เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-25 14:22, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NTV8MWQ0YjY0ZDR8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-25 14:22, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NTZ8MjlmMGNmMWZ8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-19 20:12

ตอนที่ ๔๑   

ประวัติพระอนุรุทธเถระ

3.png



ท่านพระอนุรุทธะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ ประสูติร่วมพระมารดาเดียวกัน ๓ พระองค์ คือ พระเชษ
ฐา (พี่ชาย) พระนามว่า เจ้ามหานาม ๑ พระขนิษฐภคินี (น้องสาว) พระนามว่า โรหิณี ๑ รวมเป็น ๓ กับอนุรุทธกุมาร ถ้านับตามลำดับพระวงศ์ เป็นพระอนุชาของสมเด็จพระบรมศาสดา ฯ

อนุรุทธกุมารเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ มีปราสาท ๓ หลัง เป็นที่อยู่ในฤดูทั้ง ๓ สมบูรณ์ด้วยศฤงคารและบริวารยศ แม้ที่สุดคำว่าไม่มี ก็ไม่รู้และไม่เคยได้สดับเลย ฯ

ครั้งหนึ่งพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่อนุปิยนิคมของมัลลกษัตริย์ ในเวลานั้นศากยกุมารซึ่งเป็นคนมีชื่อเสียง มีคนรู้จักมาก ได้ออกบวชตามพระบรมศาสดา วันหนึ่งเจ้ามหานามผู้เป็นพระเชษฐา ผู้เป็น
พี่ชายมาปรารภเรื่องนี้แล้ว จึงปรึกษาอนุรุทธะผู้น้องว่า พ่ออนุรุทธะ ในตระกูลเราไม่มีใครออกบวชตามพระบรมศาสดาเลย เจ้าหรือพี่คนใดคนหนึ่งควรจะออกบวชบ้าง ฯ

อนุรุทธะตอบว่า น้องเคยเป็นคนที่ตั้งอยู่ในความสุข ไม่สามารถออกบวชได้ พี่บวชเองเถิด เจ้ามหานามจึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นเจ้าจงเรียนให้รู้จักการงานของผู้ครองเรือนเสียก่อน พี่จะสอนให้เจ้า จงตั้งใจฟัง ครั้นกล่าวดังนั้นแล้ว เจ้ามหานามจึงสั่งสอนการงานของผู้อยู่ครองเรือน ยกการทำนาเป็นต้นขึ้นสอน

เมื่ออนุรุทธะได้ฟังแล้ว ก็เห็นว่าการงานไม่มีที่สิ้นสุด ที่สุดของงานไม่มีปรากฏ จึงคิดเบื่อหน่ายในการงาน พูดกับพี่ชายว่า ถ้าอย่างนั้นพี่อยู่ครองเรือนเถิด น้องบวชละ

ครั้นอนุรุทธะกล่าวอย่างนั้นจึงเข้าไปหาพระมารดา ทูลว่า แม่ หม่อมฉันอยากจะบวช ขอพระแม่เจ้าอนุญาตให้หม่อมฉันบวชเถิด พระมารดาตรัสห้ามไม่ยอมให้บวช อนุรุทธะก็ยังอ้อนวอนขออนุญาตให้บวชเป็นหลายครั้ง พระมารดาเห็นเช่นนั้น จึงคิดอุบายที่จะไม่ให้อนุรุทธะบวช มาดำริถึงพระเจ้าภัททิยะผู้เป็นพระสหายของอนุรุทธะ ท่านคงไม่ออกบวชเป็นแน่ จึงพูดว่า พ่ออนุรุทธะ ถ้าพระเจ้าภัททิยะบวชด้วย จงบวชเถิด


อนุรุทธะได้ฟังอย่างนั้นแล้ว จึงไปเฝ้าพระเจ้าภัททิยะ แล้วทูลตามโวหารของผู้คุ้นเคยกันว่า เพื่อนเอ๋ย บรรพชาของเราเนื่องด้วยบรรพชาของท่าน ในชั้นต้นพระเจ้าภัททิยะทรงปฏิเสธไม่ยอมบวช แต่ทนอ้อนวอนไม่ได้ ผลที่สุดตกลงใจยอมบวชด้วย อนุรุทธะจึงชวนศากยะอื่นได้อีก ๓ คน คือ อานันทะ, ภัคคุ, กิมพิละ, โกลิยวงศ์ คือ เทวทัต เป็น ๗ กับทั้งอุบาลีซึ่งเป็นภูษามาลาพร้อมใจกันออกจากเมืองไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่อนุปิยนิคม ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย ฯ

อนุรุทธะเมื่อได้อุปสมบทแล้ว เรียนพระกรรมฐานในสำนักของพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแล้ว เข้าไปอยู่ในป่าปาจีนวังสมฤคทายวัน เมื่อเจริญสมณธรรมอยู่ ได้ตรึกถึงมหาปุริสวิตก ๗ ประการ ว่า

๑. ธรรมนี้ของผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่ใช่ของผู้มีความปรารถนาใหญ่ ฯ

๒. ธรรมนี้ของผู้สันโดษโดยยินดีด้วยของที่มีอยู่ ไม่ใช่ของผู้ไม่สันโดษ ฯ

๓. ธรรมนี้ของผู้สงัดแล้ว ไม่ใช่ของผู้ยินดีในหมู่ ฯ

๔. ธรรมนี้ของผู้ปรารภความเพียร ไม่ใช่ของผู้เกียจคร้าน ฯ

๕. ธรรมนี้ของผู้มีสติมั่นคง ไม่ใช่ของผู้มีสติหลง ฯ

๖. ธรรมนี้ของผู้มีใจตั้งมั่น ไม่ใช่ของผู้มีใจไม่ตั้งมั่น ฯ

๗. ธรรมนี้ของผู้มีปัญญา ไม่ใช่ของผู้มีปัญญาทราม ฯ

เมื่อพระอนุรุทธะตรึกอยู่อย่างนั้น พระบรมศาสดาเสด็จไปถึงทรงทราบว่า พระอนุรุทธะตรึกอย่างนั้น ทรงอนุโมทนาว่า ชอบละๆ อนุรุทธะท่านตรึกธรรมที่พระมหาบุรุษตรึกชอบละ ถ้าอย่างนั้นท่านจงตรึกธรรมที่พระมหาบุรุษตรึกเป็นที่ ๘ นี้ว่า

๘. ธรรมนี้ของผู้ยินดีในธรรมที่ไม่ให้เนิ่นช้า ไม่ใช่ของผู้ยินดีในธรรมที่ให้เนิ่นช้า ฯ

ครั้นตรัสสอนพระอนุรุทธะอย่างนี้แล้ว เสด็จมาที่ประทับ ส่วนพระอนุรุทธะบำเพ็ญเพียรไปก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ตั้งต้นแต่นั้นมาท่านก็เล็งแลสัตว์โลกด้วยทิพยจักษุเสมอ ดังได้ยินมาว่า ยกเสียแต่กาลที่ฉันเท่านั้น กาลอันเหลือนอกนั้น ท่านย่อมพิจารณาแลดูซึ่งหมู่สัตว์ทั้งปวงด้วยทิพยจักษุ


ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสยกย่องสรรเสริญท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างผู้มีทิพยจักษุญาณ ท่านพระอนุรุทธะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-25 16:57, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NTd8MTVjMmU1NzB8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-25 16:57, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NTh8ODI4YTdlNTJ8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-19 20:16

ตอนที่ ๔๒   

ประวัติพระอานนทเถระ

3.png



ท่านพระอานนท์ เป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้เป็นพระกนิษฐภาดาของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองพระนครกบิลพัสดุ์ พระมารดาพระนามว่า พระนางกีสาโคตมี เมื่อนับตามลำดับศากยวงศ์แล้ว ท่านก็เป็นพระอนุชาของสมเด็จพระบรมศาสดา

ครั้งนั้นพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่อนุปิยนิคม แคว้นมัลละ ท่านได้ออกบวชพร้อมด้วยเจ้าในศากยวงศ์ ๔ พระองค์ คือ ภัททิยะ อนุรุทธะ ภัคคุ กิมพิละ และโกลิยวงศ์ ๑ พระองค์ คือ เทวทัต รวมทั้งอุบาลี ผู้เป็นภูษามาลา รวมพระอานนท์เป็น ๗ พระองค์

เมื่อพระอานนท์ได้อุปสมบทแล้ว ได้ฟังโอวาทที่พระปุณณมันตานีบุตรกล่าวสอน ได้บรรลุโสดาปัตติผล ฯ ในวันหนึ่ง พระบรมศาสดาตรัสขอให้สงฆ์เลือกหาภิกษุผู้จะอุปัฏฐากพระองค์เป็นนิตย์ ด้วยว่าเมื่อก่อนแต่กาลนี้ ภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากของพระองค์ไม่คงตัวผลัดเปลี่ยนกันไป เวลาที่ผลัดเปลี่ยนยังไม่มีผู้รับต่อ ต้องเสด็จอยู่พระองค์เดียวได้รับความลำบาก สงฆ์จึงได้เลือกพระอานนท์ถวาย แต่ก่อนที่ท่านจะได้รับเป็นพุทธอุปัฏฐาก ท่านพระอานนท์ได้ทูลขอพร ๘ ประการ ว่า

๑. อย่าประทานจีวรอันประณีตแก่ข้าพระพุทธเจ้า ฯ

๒. อย่าประทานบิณฑบาตอันประณีตแก่ข้าพระพุทธเจ้า ฯ

๓. อย่าโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าอยู่ในที่ประทับของพระองค์ ฯ

๔. อย่าทรงพาข้าพระพุทธเจ้าไปในที่นิมนต์ ฯ

๕. ขอพระองค์จงเสด็จไปสู่ที่นิมนต์ที่ข้าพระพุทธเจ้ารับไว้ ฯ

๖. ให้ข้าพระพุทธเจ้าพาบริษัทซึ่งมาเฝ้าพระองค์แต่ไกล เข้าเฝ้าในขณะที่มาแล้ว

๗. ถ้าความสงสัยของข้าพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นเมื่อใด ขอให้เข้าเฝ้าทูลถามเมื่อนั้น ฯ  
         
๘. ถ้าพระองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาเรื่องใด ในที่ลับหลังข้าพระพุทธเจ้า ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมเทศนาเรื่องนั้นแก่ข้าพระพุทธเจ้า ฯ


พระบรมศาสดาจึงตรัสถามว่า ดูก่อนอานนท์ เธอเห็นคุณและโทษอย่างไรจึงได้ขออย่างนั้น พระอานนท์กราบทูลว่า ถ้าข้าพระองค์จักไม่ได้พร ๔ อย่างข้างต้น ก็จะมีคนพูดครหานินทาได้ว่า พระอานนท์ได้ลาภอย่างนั้นๆ จึงจะบำรุงพระบรมศาสดา การบำรุงอย่างนี้จะหนักหนาอะไร


ถ้าข้าพระองค์จักไม่ได้พร ๓ ข้อเบื้องปลาย คนทั้งหลายก็จะพูดได้ว่า พระอานนท์บำรุงพระบรมศาสดาทำอะไร เพราะพระองค์ไม่ทรงอนุเคราะห์แม้ด้วยกิจเพียงเท่านี้

ถ้าข้าพระองค์ไม่ได้พรข้อที่สุด จักมีผู้ถามข้าพระพุทธเจ้าในที่ลับหลังพระองค์ว่า ธรรมนี้พระองค์ทรงแสดงที่ไหน ถ้าข้าพระพุทธเจ้าบอกไม่ได้ เขาจะพูดติเตียนได้ว่า ท่านไม่รู้แม้แต่เรื่องเท่านี้ ไม่ละพระบรมศาสดาเที่ยวตามเสด็จอยู่ ดุจเงาตามตัวสิ้นกาลนาน เพราะเหตุอะไร

ครั้นพระอานนท์กราบทูลคุณและโทษของพร ๘ ประการ อย่างนี้แล้ว พระบรมศาสดาก็ทรงอนุญาตให้ตามขอ

ตั้งแต่กาลนั้นมา พระอานนท์ก็อุปัฏฐากพระบรมศาสดาโดยเอื้อเฟื้อ และมีความจงรักภักดีในพระองค์เป็นอย่างยิ่ง แม้ถึงชีวิตก็อาจสละแทนพระองค์ได้ พึงเห็นตัวอย่างเมื่อครั้งพระเจ้าอชาตศัตรูปล่อยช้างนาฬาคีรี เพื่อให้ทำอันตรายแก่พระองค์ พระอานนท์ออกยืนขวางหน้าช้างนาฬาคิรีเสีย มิให้ทำอันตรายแก่พระองค์ได้


ด้วยเหตุที่ท่านอยู่ในที่ใกล้ชิดพระศาสดา ได้ฟังธรรมที่ทรงแสดงแก่ตนเองและผู้อื่น มีสติทรงจำไว้ได้มาก มีความเพียรเอาใจใส่ในการเล่าเรียนสาธยายทรงจำ จึงเป็นผู้ฉลาดในการแสดงธรรมมาก

พระศาสดาจึงทรงยกย่องสรรเสริญว่า เป็นยอดแห่งภิกษุทั้งหลาย ๕ สถาน คือ เป็นพหูสูต ๑ มีสติ ๑ มีธิติ ๑ มีความเพียร ๑ เป็นพุทธอุปัฏฐาก ๑ อนึ่งอาศัยคุณความดีที่ท่านเป็นพหูสูต
เมื่อพระบรมศาสดานิพพานแล้ว พระมหากัสสปะทำการสังคายนาพระธรรมวินัย สงฆ์ได้เลือกท่านให้เป็นผู้วิสัชนาในส่วนพระสุตตันตปิฎก ฯ

ท่านได้บรรลุมรรคผลเบื้องสูงก่อนแต่วันที่จะทำสังคายนา ในปฐมสังคีติกถาเล่าว่า ก่อนวันที่จะทำสังคายนาวันหนึ่ง เมื่อท่านได้รับคำเตือนจากพระมหากัสสปเถระ ครั้นถึงเวลาเย็นอุตส่าห์บำเพ็ญสมณธรรม ก็ได้สำเร็จพระอรหัตผลในระหว่างอิริยาบถทั้ง ๔

ครั้นกาลต่อมาท่านพิจารณาถึงอายุสังขาร เห็นสมควรจะนิพพานแล้ว จึงไปสู่แม่น้ำโรหิณี ซึ่งมีอยู่ในระหว่างศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ต่อกัน ครั้นท่านจะนิพพานได้เหาะขึ้นสู่อากาศ แล้วแสดงธรรมสั่งสอนแก่เทวดาและมนุษย์ ในที่สุดแห่งเทศนาได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์มีประการต่างๆ ด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงตั้งสัตยาธิษฐานว่า


เมื่ออาตมานิพพานแล้ว ขอให้ร่างกายของอาตมานี้ จงแตกออกเป็น ๒ ภาค จงตกลงฝั่งข้างฝ่ายพระญาติศากยวงศ์ภาคหนึ่ง จงตกลงฝั่งข้างฝ่ายพระญาติโกลิยวงศ์ภาคหนึ่ง เพื่อจะป้องกันมิให้ชนทั้งสองฝ่ายนี้เกิดทะเลาะวิวาทกัน เพราะเหตุแห่งอัฐิ

ครั้นอธิษฐานเสร็จแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน* ณ เบื้องบนอากาศในท่ามกลางแห่งแม่น้ำโรหิณี สรีระร่างกายของท่านก็แตกออกเป็น ๒ ภาค แล้วตกลงมายังภาคพื้นสมดังท่านอธิษฐานทุกประการ ฯ

* พระอานฺนทเถระ เมื่อพิจารณาตามตำนานแล้ว แปลกจากสาวกรูปอื่น โดยกิเลสนิพพานบ้าง ขันธปรินิพพานบ้าง พระสาวกรูปอื่นบรรลุพระอรหัตแล้ว นิพพานในอิริยาบถ ๔ คือ ยืน, เดิน, นั่ง, นอน อิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง ส่วนท่านพระอานนท์บรรลุพระอรหัตในระหว่างอริยาบถ ๔ ชื่อว่าต่างจากพระสาวกรูปอื่นโดยกิเลสนิพพาน และดับขันธปรินิพพานบนอากาศ ชื่อว่าต่างจากพระสาวกรูปอื่นโดยขันธปรินิพพาน


4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-25 16:58, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NTl8NWJmZTY3MDR8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-25 16:58, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NjB8MmJhMTljMTR8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-21 19:30

ตอนที่ ๔๓   

ประวัติพระภัคคุเถระ
3.png



ท่านพระภัคคุ เกิดในศากยราชตระกูล ในกรุงกบิลพัสดุ์ มีชื่อว่า ภัคคุกุมาร เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จมาโปรดพระประยูรญาติแล้ว เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปประทับอยู่ที่อนุปิยนิคมอัมพวนารามของมัลลกษัตริย์ ในเวลานั้นพวกศากยกุมารซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียง มีคนรู้จักมาก ได้ออกบวชตามพระบรมศาสดาเป็นอันมาก

วันหนึ่งอนุรุทธศากยกุมาร มีความประสงค์จะออกบวชตามเสด็จพระบรมศาสดาบ้าง จึงได้มาชักชวนภัคคุศากยกุมารให้ออกบวชด้วย ภัคคุศากยกุมารมีความพอใจในการที่จะอุปสมบทตามคำชักชวน จึงได้พากันเสด็จออกจากพระนครกบิลพัสดุ์ พร้อมด้วยเจ้าศากยราชกุมาร ๔ พระองค์ คือ ภัททิยะ อนุรุทธะ อานันทะ กิมพิละ โกลิยวงศ์อีก ๑ พระองค์ คือ เทวทัต เป็น ๗ กับทั้งอุบาลี ผู้เป็นนายภูษามาลา

ไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดาซึ่งเสด็จประทับอยู่ที่อนุปิยนิคม แว่นแคว้นมัลละ ทูลขออุปสมบทในธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา

พระภัคคุศากยะเมื่อได้อุปสมบทแล้ว เป็นผู้ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลนับหนึ่งในพระสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ รูป ท่านพระภัคคุนั้น เมื่อดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่อายุขัยแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-25 19:28, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NjF8OGRjM2ExOWJ8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-25 19:28, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NjJ8NjBlMWEzZDR8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-22 08:32

ตอนที่ ๔๔   

ประวัติพระกิมพิลเถระ

3.png



ท่านพระกิมพิละ เกิดในศากยราชตระกูล ในกรุงกบิลพัสดุ์ มีชื่อว่า กิมพิลกุมาร เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้ว อนุรุทธศากยกุมารได้มาชวนบวชในพระพุทธศาสนา กิมพิลศากยกุมารมีความพอใจตกลงจะออกบวชด้วย จึงพร้อมด้วยศากยกุมาร ๔ พระองค์ คือ ภัททิยะ อนุรุทธะ อานันทะ ภัคคุ และโกลิยวงศ์* คือ เทวทัต พากันเสด็จออกจากพระนครพร้อมด้วยจตุรงคเสนา

เมื่อเสด็จถึงปลายพระนครแล้ว จึงให้พวกจตุรงคเสนากลับคืนพระนคร และเปลื้องเครื่องประดับสำหรับทรงมอบให้แก่อุบาลีภูษา แล้วสั่งให้กลับคืนพระนครจำหน่ายขายเครื่องประดับนั้นเลี้ยงชีพ แต่อุบาลีหาพอใจไม่ ใคร่จะออกบวชในศาสนาพระพุทธเจ้าด้วย จึงแขวนเครื่องประดับสำหรับทรงนั้นไว้ที่ต้นไม้ แล้วทูลความประสงค์ของตนให้แก่ศากยกุมารเหล่านั้นทรงทราบ กิมพิลศากยกุมารพร้อมด้วยศากยกุมารเหล่านั้น ได้พาอุบาลีติดตามเสด็จไปด้วย

ครั้นถึงที่เฝ้าพระบรมศาสดาซึ่งประทับอยู่ที่อนุปิยนิคม แว่นแคว้นมัลลกษัตริย์แล้ว พากันทูลขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุ
ในพระพุทธศาสนา

เมื่อพระกิมพิลศากยะได้อุปสมบทแล้ว เป็นผู้ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา ท่านพระกิมพิละนั้น ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

* พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่มที่ ๒ จัมมขันธกะ ๑ หน้า ๑

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-25 20:01, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NjN8MGY1YzdjOWR8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-25 20:01, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NjR8MTY4MDg4NDV8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-22 08:35

ตอนที่ ๔๕   

ประวัติพระโสณโกฬิวิสเถระ

3.png



ท่านพระโสณโกฬิวิสะ เป็นบุตรของอสุภเศรษฐี ในจัมปานคร เมื่ออยู่ในครรภ์มารดาจนคลอด ตลอดพวกชนชาวพระนครนำเครื่องบรรณาการมามอบให้แก่เศรษฐีเป็นอันมาก เมื่อคลอดแล้วมีสีผิวพรรณผุดผ่องงดงาม มารดาบิดาจึงได้ขนานนามว่า “โสณ” โกฬิวิสะเป็นชื่อแห่งโคตร


โสณเศรษฐีบุตรนั้น เป็นคนสุขุมาลชาติ มีโลมาที่ละเอียดอ่อนบังเกิดขึ้นที่ฝ่าเท้าทั้ง ๒ ได้รับการบำเรอจากมารดาบิดาเป็นอย่างดี เพราะบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่เขาคิชฌกูฏ แขวงกรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าแผ่นดินมคธ ใคร่จะทอดพระเนตรโลมาที่ฝ่าเท้าของโสณเศรษฐีบุตร จึงรับสั่งให้ไปเฝ้าพระบรมศาสดา

โสณเศรษฐีบุตรพร้อมด้วยชาวบ้านประมาณ ๘ หมื่น ก็เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาตามคำสั่ง ได้ฟังเทศนาอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ที่พระองค์ตรัส ชาวบ้านประมาณ ๘ หมื่น เกิดความเลื่อมใส ได้แสดงตนเป็นอุบาสกแล้วหลีกไป

ส่วนโสณเศรษฐีบุตรเข้าไปกราบทูลแด่พระบรมศาสดาว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เห็นว่าผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์สมบูรณ์สิ้นเชิง ดุจสังข์ที่ขัดแล้ว ไม่ทำได้ง่ายดายเลย ข้าพระพุทธองค์อยากจะบวช ขอพระองค์ทรงโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชเถิด

พระบรมศาสดาก็ทรงโปรดให้บวชตามประสงค์ ครั้นโสณโกฬิวิสะบวชแล้วไปทำความเพียรอยู่ที่สีตะวัน ทำความเพียรเกินขนาด เดินจงกรมไม่หยุดจนเท้าแตก ก็ไม่ได้บรรลุธรรมพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง


จึงมาดำริในใจว่า บรรดาสาวกของพระบรมศาสดาที่ปรารภความเพียรแล้ว เราก็เป็นคนหนึ่ง ถึงอย่างนี้จิตของเราก็ยังไม่พ้นจากอาสวะทั้งปวงได้ สมบัติในตระกูลของเราก็ยังมีอยู่ ถ้ากระไรเราจะสึกออกไปบริโภคสมบัติและบำเพ็ญกุศลเถิด จะเป็นการดีกว่า

ฝ่ายพระบรมศาสดาได้ทรงทราบว่าพระโสณโกฬิวิสะปรารภความเพียรเดินจงกรมจนเท้าแตกแล้ว ดำริเช่นนั้นจึงเสด็จไปถึงที่อยู่แห่งพระโสณโกฬิวิสะตรัสสอนให้ปรารภความเพียรแต่พอปานกลาง ไม่ยิ่งนัก ไม่หย่อนนัก ยกธรรมขึ้นเปรียบเทียบด้วยสายพิณ ๓ สาย ครั้นตรัสสอนแล้ว เสด็จกลับไปที่ประทับ

พระโสณโกฬิวิสะตั้งอยู่ในโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสอน ปรารภความเพียรแต่พอประมาณ ไม่ยิ่งนัก ไม่หย่อนนัก เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

ครั้นต่อมา ท่านเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดากราบทูลว่า พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่จำจะต้องทำได้ทำสำเร็จแล้ว มีภาระของหนักอันวางแล้ว มีประโยชน์ของตนได้ถึงแล้ว มีธรรมที่ประกอบไว้ในภพสิ้นรอบแล้ว รู้ชอบแล้ว จึงพ้นแล้วจากอาสวะ


ภิกษุผู้อรหันต์นั้นน้อมเข้าไปแล้วในคุณ ๖ สถาน คือ น้อมไปแล้วในบรรพชา ๑ ในที่สงัด ๑ ในความสำรวมไม่เบียดเบียน ๑ ในความสิ้นแห่งความถือมั่น ๑ ในความสิ้นแห่งความอยาก ๑ ในความไม่หลง ๑ ดังนี้เป็นต้น

พระบรมศาสดาได้ทรงฟังแล้วสรรเสริญว่า พระโสณโกฬิวิสะพยากรณ์พระอรหันต์กล่าวแต่เนื้อความ ไม่นำตนเข้าไปเปรียบ เพราะท่านได้ปรารภความเพียรด้วยความอุตสาหะอย่างแรงกล้า แต่ครั้งยังไม่บรรลุอรหัตผล

พระบรมศาสดาจึงตรัสยกย่องว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ปรารภความเพียรในพระพุทธศาสนา ท่านพระโสณโกฬิวิสะนั้น เมื่อดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-26 11:14, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1Njd8MTQ4Nzk5ZDN8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-26 11:14, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1Njh8ZjBiNTEwMmV8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-22 15:54

ตอนที่ ๔๖   

ประวัติพระรัฏฐปาลเถระ

3.png


ท่านพระรัฏฐปาละ* เป็นบุตรของรัฏฐปาลเศรษฐีผู้เป็นหัวหน้าในหมู่ชนชาวถุลลโกฏฐิตนิคม แว่นแคว้นกุรุ สมัยหนึ่งพระบรมศาสดาเสด็จจาริกไปในแว่นแคว้นกุรุ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ บรรลุถึงถุลลโกฏฐิตนิคม ชาวบ้านถุลลโกฏฐิตนิคมได้ทราบข่าวว่า พระบรมศาสดาเสด็จมาจึงพากันไปเฝ้า


บางพวกถวายบังคม บางพวกเป็นแต่พูดจาปราศรัย บางพวกเป็นแต่ประนมมือ บางพวกร้องประกาศชื่อและโคตรของตน บางพวกนิ่งอยู่ ทุกหมู่นั้นพากันนิ่งอยู่ ณ ที่อันควรส่วนข้างหนึ่ง พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้เกิดความเชื่อ ความเลื่อมใสแล้ว ทุกคนก็ทูลลากลับไป ฯ

ส่วนรัฏฐปาลกุลบุตรครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว เกิดความเลื่อมใส ใคร่จะขอบวช พอพวกชาวนิคมนั้นกลับไปแล้ว จึงได้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลขอบรรพชา ครั้นได้ทราบว่าพระบรมศาสดาไม่ทรงบวชกุลบุตรที่มารดาบิดาไม่อนุญาต จึงทูลลากลับไปบ้าน


รัฏฐปาละเข้าไปลามารดาบิดาจะออกบวช มารดาบิดาก็ไม่ยอม รัฏฐปาละก็พูดอ้อนวอนเป็นหลายครั้ง มารดาบิดาก็ไม่ยอม รัฏฐปาละเสียใจลงนอนไม่ลุกขึ้น อดอาหารเสียไม่กิน คิดว่าจักตายเสียในที่นี้ หรือจักบวชเท่านั้น มารดาบิดาจึงไปหาสหายรัฏฐปาละ ขอให้ช่วยห้ามปราม สหายเหล่านั้นก็ไปช่วยห้าม เมื่อเห็นว่ารัฏฐปาละไม่ยอม จึงคิดว่าถ้ารัฏฐปาละไม่บวชจักตาย หาเป็นคุณอย่างหนึ่งอย่างใดไม่

ถ้ารัฏฐปาละได้บวช มารดาบิดาเราจักได้เห็นรัฏฐปาละตามเวลาที่สมควร เมื่อรัฏฐปาละบวชแล้ว หากเบื่อหน่ายในการประพฤติเช่นนั้นก็กลับมาที่นี่อีก ครั้นคิดอย่างนี้แล้ว จึงเข้าไปหามารดาบิดาของรัฏฐปาละชี้แจ้งเหตุผลให้ฟัง มารดาบิดาของรัฏฐปาละก็เห็นด้วยเลยยอมตาม แต่เมื่อบวชแล้ว ขอให้มาเยี่ยมบ้าง


สหายเหล่านั้นก็กลับไปบอกความนั้นแก่รัฏฐปาละ รัฏฐปาละทราบว่ามารดาบิดาอนุญาตแล้ว ดีใจลุกขึ้นเช็ดตัว แล้วอยู่บริโภคอาหารพอร่างกายมีกำลัง ไม่กี่วันแล้วไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลว่ามารดาบิดาอนุญาตแล้ว พระองค์ก็โปรดให้บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา

ครั้นพระรัฏฐปาละบวชแล้วไม่นานประมาณสักครึ่งเดือน พระบรมศาสดาเสด็จจากถุลลโกฏฐิตนิคมไปประทับที่เมืองสาวัตถี ส่วนพระรัฏฐปาละตามเสด็จไป ท่านตั้งอยู่ในความไม่ประมาท บำเพ็ญสมณธรรม เจริญวิปัสสนา ได้สำเร็จพระอรหัตผลถึงที่สุดของพรหมจรรย์แล้ว ถวายบังคมลาออกจากสาวัตถี เที่ยวจาริกไปถึงถุลลโกฏฐิตนิคม พักอยู่ที่มิคจิรวันพระราชอุทยานของพระเจ้าโกรัพยะ ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินกุรุ


ในเวลาเช้าท่านเข้าไปบิณฑบาตในนิคมนั้น จนถึงที่ใกล้เรือนของท่าน นางทาสีเห็นท่านแล้วก็จำได้ จึงบอกเนื้อความนั้นให้แก่มารดาบิดาของท่านทราบ จึงได้นิมนต์ท่านไปฉันในเรือนในวันรุ่งขึ้น และอ้อนวอนให้ท่านกลับมาครอบครองสมบัติก็ไม่สมประสงค์ เมื่อพระรัฏฐปาละฉันเสร็จแล้วก็กล่าวคาถาอนุโมทนาพอเป็นทางให้สังเวชในร่างกาย แล้วจึงกลับมิคจิรวัน ฯ

ส่วนพระเจ้าโกรัพยะ เสด็จประพาสพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นพระรัฏฐปาละทรงจำได้ เพราะรู้จักมาแต่เดิม เสด็จเข้าไปตรัสปราศรัยแล้วประทับ ณ ราชอาสน์ ตรัสถามว่า รัฏฐปาละผู้เจริญ ความเสื่อมมีสี่อย่างที่คนบางจำพวกต้องเข้าแล้วจึงออกบวช คือ แก่ชรา ๑ เจ็บป่วย ๑ สิ้นโภคทรัพย์ ๑ สิ้นญาติ ๑ ฯ ความเสื่อม ๔ อย่างนี้ไม่มีแก่ท่าน ท่านรู้เห็นหรือได้ฟังอย่างไรจึงได้ออกบวช  


มหาบพิตร มีอยู่ ธรรมุทเทศ (ธรรมที่แสดงขึ้นเป็นหัวข้อ) ๔ ข้อ ที่พระบรมศาสดาซึ่งเป็นผู้รู้เห็น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงแสดงขึ้นแล้ว ซึ่งอาตมภาพได้รู้เห็นแล้วจึงออกบวช ธรรมุทเทศ ๔ ข้อนั้น คือ

ข้อ ๑ ว่า โลก คือหมู่สัตว์ อันชราเป็นผู้นำๆ เข้าไปใกล้ไม่ยั่งยืน ฯ

ข้อ ๒ ว่า โลก คือหมู่สัตว์ ไม่มีผู้ป้องกันไม่เป็นใหญ่จำเพาะตน ฯ

ข้อ ๓ ว่า โลก คือหมู่สัตว์ ไม่มีอะไรเป็นของๆ ตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป ฯ

ข้อ ๔ ว่า โลก คือหมู่สัตว์ พร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา ดังนี้ ฯ


ครั้นท่านพระรัฏฐปาละ ทูลเหตุที่ตนออกบวชแก่พระเจ้าโกรัพยะอย่างนี้แล้ว พระมหากษัตริย์ก็ทรงเลื่อมใส ตรัสอนุโมทนาธรรมกถา แล้วเสด็จกลับไป ฯ ส่วนท่านพระรัฏฐปาละ เมื่อพำนักอาศัยอยู่ในนิคมนั้นพอควรแล้ว ก็กลับมาอยู่ในสำนักของพระบรมศาสดา


อาศัยคุณที่ท่านเป็นผู้บวชด้วยศรัทธาแต่เดิม และกว่าจะบวชได้ก็แสนยากลำบากนัก ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บวชด้วยศรัทธา ฯ ท่านพระรัฏฐปาละนั้น ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

* รัฏฐปาลสูตร ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ หน้า ๓๙๓

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-26 11:20, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1Njl8MzI5YzA0Y2V8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-26 11:20, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NzB8ODFmYzgyOTV8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-22 16:00

ตอนที่ ๔๗   

ประวัติพระปิณโฑลภารทวาชเถระ

3.png



ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลภารทวาชโคตร ได้ศึกษาเล่าเรียนจบไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์ มีความชำนิชำนาญได้เป็นคณาจารย์บอกศิลปวิทยาแก่มาณพประมาณห้าร้อย ฯ


ได้ยินว่า ภารทวาชมาณพนั้น มีความโลภในอาหาร เที่ยวไปแสวงหาอาหารกับด้วยพวกมาณพผู้เป็นศิษย์ในที่ต่างๆ คือ ในที่ตนควรได้บ้างไม่ควรได้บ้าง เหตุนี้จึงมีนามปรากฏว่า “ปิณโฑลภารทวาชมาณพ”

เมื่อพระบรมศาสดาประกาศพระศาสนามาโดยลำดับ บรรลุถึงพระนครราชคฤห์ ปิณโฑลภารทวาชมาณพ ได้ทราบข่าวจึงเข้าไปเฝ้าพระองค์ ได้ฟังธรรมเทศนาแล้วเกิดความเลื่อมใส ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ฯ

ครั้นพระปิณโฑลภารทวาชะได้อุปสมบทแล้ว เป็นผู้ไม่ประมาท อุตส่าห์เจริญสมณธรรม บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ฯ ท่านเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอินทรีย์ ๓ ประการ คือ สตินทรีย์ ๑ สมาธินทรีย์ ๑ ปัญญินทรีย์ ๑ ฯ

ในวันที่ท่านได้บรรลุพระอรหัตผลนั้น ท่านถือเอาอาสนะเครื่องลาดไปสู่บริเวณวิหาร ปูลาดแล้ว เที่ยวบันลือออกซึ่งสีหนาทด้วยวาจาอันองอาจว่า “ยสฺส มคฺเค วา ผเล วา กงฺขา อตฺถิ โส มํ ปุจฺฉตุ” ดังนี้ แปลว่า ผู้ใดมีความสงสัยในมรรคหรือผล ผู้นั้นจงถามเราเถิด ฯ ท่านก็บันลือสีหนาทเช่นนั้น


อาศัยด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บันลือสีหนาท ฯ ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะนั้น ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-26 11:26, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NzF8OWE5YjFmYjd8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-26 11:26, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NzJ8YzM1ZjVkZjZ8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-22 18:27

ตอนที่ ๔๘   

ประวัติพระมหาปันถกเถระ

3.png


ท่านพระมหาปันถกะ เป็นบุตรของธิดาแห่งเศรษฐี ในพระนครราชคฤห์ เดิมชื่อว่า ปันถกะ เพราะเหตุที่เกิดในหนทาง มีน้องชายคนหนึ่งชื่อปันถกะ เพราะเหตุที่เกิดในหนทางเหมือนกัน เพราะท่านเป็นพี่ชายจึงเติมเครื่องหมายว่า “มหา” เข้าข้างหน้า จึงเป็นมหาปันถกะ ส่วนน้องชายเติม “จูฬ” เข้าข้างหน้า เป็นจูฬปันถกะ ฯ

มีเรื่องเล่าว่าในกรุงราชคฤห์ มีธิดาของเศรษฐีผู้มีทรัพย์คนหนึ่ง เมื่อเจริญวัยแล้ว มารดาบิดาป้องกันรักษาอย่างเหลือเกิน ให้อยู่บนปราสาทชั้นที่ ๗ แต่ธิดานั้นเป็นหญิงโลเลในบุรุษ จึงได้เสียกับคนรับใช้ของตน ภายหลังกลัวคนอื่นจะล่วงรู้ จึงพากันหนีออกจากเรือนไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่เขาไม่รู้จัก


ต่อมาภรรยามีครรภ์ เมื่อครรภ์แก่แล้ว จึงปรึกษากับสามีว่าไปคลอดบุตรที่บ้านเดิม ส่วนสามีกลัวบิดาจะทำโทษแต่ขัดภรรยาไม่ได้ จึงรับรองว่าจะพาไป แต่แกล้งทำเป็นผลัดวันอยู่ว่าวันพรุ่งก่อนๆ จนล่วงเลยไปหลายวัน ภรรยาเห็นอาการดังนั้น ก็หยั่งรู้ความประสงค์ของสามี ฯ

ครั้นวันหนึ่ง สามีออกไปทำงานนอกบ้าน เห็นเป็นโอกาสดี จึงสั่งผู้คุ้นเคยกันที่อยู่เรือนใกล้เคียงกัน เพื่อบอกแก่สามี แล้วหนีออกจากเรือนเดินไปตามทาง พอถึงระหว่างทางก็คลอดบุตรเป็นชาย ฯ ส่วนสามีเมื่อกลับมาบ้านไม่เห็นภรรยา สืบถามทราบว่าหนีกลับไปบ้านเดิม จึงออกติดตามไปทัน ในระหว่างทางได้เห็นภรรยาคลอดบุตรแล้ว จึงพากันกลับมาอยู่ที่บ้านนั้นอีก และได้ตั้งชื่อทารกนั้นว่า “มหาปันถกะ” เพราะว่าเกิดก่อน ฯ

เมื่อมหาปันถกะเจริญวัยแล้ว ไปเล่นกับเด็กเพื่อนบ้านด้วยกัน ได้ยินเด็กเหล่าอื่นเรียก ปู่ ย่า ตา ยาย ส่วนตนไม่มีคนเช่นนั้นจะเรียกกับเขาบ้าง จึงไปถามมารดาว่า แม่ เด็กๆ พวกอื่นเรียกคนสูงอายุว่าตาบ้างยายบ้าง ก็ญาติของเราในที่นี้ไม่มีบ้างหรือ หนู ญาติของเราในที่นี้ไม่มี แต่ตาของหนูชื่อว่า ธนเศรษฐี อยู่ในเมืองราชคฤห์ ในที่นั้นญาติเรามีมาก ก็ทำไมแม่ไม่ไปอยู่ที่นั้น ฯ


ส่วนมารดาไม่บอกความจริงแก่ลูกชาย ลูกชายจึงรบกวนถามอยู่บ่อยๆ เกิดความรำคาญ จึงปรึกษากับสามีว่า พวกหนูเหล่านี้ รบกวนเหลือเกิน ขึ้นชื่อว่าบิดามารดาเห็นเข้าแล้ว จะฆ่ากินเนื้อเทียวหรือ อย่ากระนั้นเลย เราจงพาหนูนี้ไปเยี่ยมตาสักทีเถอะ

ครั้นปรึกษากันดังนั้นแล้ว สองสามีภรรยาก็พาลูกชายทั้ง ๒ ไปเมืองราชคฤห์ เมื่อถึงแล้วจึงพักอยู่ที่ศาลาหลังหนึ่งใกล้ประตูเมือง ให้คนไปบอกแก่เศรษฐีผู้เป็นบิดา บิดาทราบว่า ลูกสาวพาหลาน ๒ คนมาเยี่ยม เศรษฐีมีความแค้นยังไม่หาย จึงบอกกับคนที่มาส่งข่าวว่า สองผัวเมียเขาอย่าเข้ามาให้ฉันเห็นหน้าเลย เมื่อต้องการอะไรก็เอาไปเลี้ยงชีวิตเถิด แต่ส่งหลานทั้งสองมาให้ฉัน


สองสามีภรรยาก็ถือเอาทรัพย์พอแก่ความต้องการแล้ว กลับไปอยู่ที่เดิม ฯ ส่วนเด็กทั้ง ๒ ก็อาศัยอยู่ในสำนักของตาจนเจริญวัยโตขึ้น ส่วนมหาปันถกะเมื่อเจริญวัยขึ้นแล้ว ได้ไปฟังเทศน์กับเศรษฐีผู้เป็นตา ในสำนักของพระบรมศาสดาที่พระเวฬุวันมหาวิหารเสมอ  

ครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว เกิดความเลื่อมใสศรัทธา ใคร่จะบวชในพระพุทธศาสนา จึงได้ลาตา ตาก็อนุญาตให้บวช และนำไปเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลว่าเด็กนี้มีความศรัทธา ใคร่จะบวชในพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดารับสั่งภิกษุรูปหนึ่งให้จัดการบรรพชาเป็นสามเณร ครั้นเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีแล้ว ก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ


เมื่ออุปสมบทแล้ว เล่าเรียนพระพุทธวจนะได้มาก เป็นผู้ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ฯ

เมื่อท่านพระมหาปันถกะสำเร็จกิจแห่งพรหมจรรย์แล้ว จึงคิดว่าสมควรจะรับภารธุระสงฆ์ จึงเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาทูลอาสาจะรับหน้าที่เป็นภัตตุเทศก์ พระองค์ก็ทรงอนุมัติตาม แล้วประทานตำแหน่งให้แก่ท่าน ท่านได้ทำงานในหน้าที่นั้นเรียบร้อยเป็นอย่างดี ฯ

และท่านมหาปันถกะนั้น เป็นผู้อันพระบรมศาสดาทรงยกย่องว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เจริญวิปัสสนา เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-26 11:30, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NzN8NTA1NGZiZjd8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-26 11:30, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NzR8YTdmYjUyZjd8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-22 18:31

ตอนที่ ๔๙   

ประวัติพระจูฬปันถกเถระ

3.png


ท่านพระจูฬปันถกะ เป็นบุตรของธิดาแห่งเศรษฐี ในพระนครราชคฤห์ เดิมชื่อว่า ปันถกะ เพราะเกิดในระหว่างทาง ด้วยเหตุที่เป็นน้องชายมหาปันถกะ จึงเติมเครื่องหมาย “จูฬ” เข้าข้างหน้าว่า จูฬปันถกะ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเรื่องราวของพระมหาปันถกะนั้น ฯ ประวัติของท่านในตอนต้น ก็พึงทราบความตามนัยที่กล่าวแล้วในประวัติของพระมหาปันถกะนั้นเถิด


ในที่นี้จักกล่าวแต่ตอนที่เข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาไป ซึ่งมีความว่า เมื่อพระมหาปันถกะผู้เป็นพี่ชายได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว และเสวยวิมุตติสุข ใคร่จะให้ความสุขเช่นนั้นแก่จูฬปันถกะผู้เป็นน้องชายบ้าง จึงไปขออนุญาตจากตา เพื่อขอให้จูฬปันถกะบวช เศรษฐีผู้เป็นตาก็อนุญาตให้ตามประสงค์ พระมหาปันถกะจึงให้จูฬปันถกะบวช  


ครั้นจูฬปันถกะบวชแล้ว ปรากฏว่าเป็นคนทึบมาก พี่ชายสอนให้เรียนคาถาพรรณนาพระพุทธคุณเพียงคาถาเดียว เรียนอยู่ถึง ๔ เดือน ก็ยังจำไม่ได้ คาถานั้นว่า


   
“  ปทฺทมํ  ยถา  โกกนุทํ  สุคนฺธํ
     ปาโต  สิยา  ผุลฺลมวีตคนฺธํ
     องฺคีรสํ  ปสฺส  วิโรจมานํ
     ตปนฺตมาทิจฺจมิวนฺตลิกฺเข ”

        

แปลว่า “เธอจงดูพระศากยมุนีอังคีรสผู้มีพระรัศมีแผ่ซ่าน ออกจากพระวรกาย มีพระบวรพักตร์อันเบิกบาน ปานหนึ่งว่าดอกปทุมชาติชื่อว่าโกกนุท มีกลิ่นหอมย่อมขยายกลีบแย้มบานในกาลเช้า มีกลิ่นเรณูมิได้หายระเหยหอม ท่านย่อมรุ่งเรืองไพโรจน์ดุจดวงทิวากรอันส่องแสงแผดแสงอยู่บนอากาศฉะนั้น”


ท่านพระมหาปันถกะทราบว่า จูฬปันถกะน้องชายโง่เขลามาก จึงประณามขับไล่ออกเสียจากสำนักของท่าน ทั้งในเวลานั้น ท่านเป็นภัตตุเทศก์


หมอชีวกโกมารภัจจ์มานิมนต์ภิกษุฉันในวันรุ่งขึ้น ท่านก็ไม่นับจูฬปันถกะเข้าด้วย พระจูฬปันถกะเกิดความน้อยใจคิดจะสึกเสีย จึงออกไปแต่เช้าตรู่ ได้พบพระบรมศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ที่ซุ้มประตู พระองค์จึงตรัสถามว่า จูฬปันถกะ เธอจะไปไหน ในเวลาเช่นนี้


พระจูฬปันถกะกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะไปสึก เพราะพี่ชายขับไล่ข้าพระพุทธเจ้า จูฬปันถกะเธอบวชเฉพาะพี่ชายของเธอเมื่อไร บวชเฉพาะฉันต่างหาก ก็เมื่อพี่ชายขับไล่แล้ว ทำไมไม่มาหาฉัน มานี่ เป็นฆราวาสจะได้ประโยชน์อะไร มาอยู่กับฉันดีกว่า


จูฬปันถกะเข้าไปเฝ้าที่ใกล้แล้ว พระองค์ทรงลูบศีรษะด้วยฝ่าพระหัตถ์ แล้วพาไปนั่งที่หน้ามุขพระคันธกุฎี ทรงประทานผ้าขาวอันบริสุทธิ์ ตรัสสั่งให้ลูบคลำทำบริกรรมไป ไม่นานผ้านั้นก็เศร้าหมองเหมือนผ้าเช็ดมือ จึงคิดว่าผ้านี้เป็นของขาวบริสุทธิ์อย่างเหลือเกิน แต่อาศัยได้มาถูกต้องอัตภาพนี้ จึงละภาวะเดิมเสีย กลายเป็นผ้าที่เศร้าหมองไปอย่างนี้


สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอดังนี้แล้ว เจริญวิปัสสนา พระบรมศาสดาทรงทราบ จึงตรัสสอนด้วยพระคาถา ๓ พระคาถา ในเวลาจบพระคาถา ท่านพระจูฬปันถกะได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ฯ


ในเวลาที่พระจูฬปันถกะลูบคลำทำบริกรรมอยู่นั้น พระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุประมาณ ๕๐๐ หย่อนอยู่องค์หนึ่ง เสด็จไปสู่เรือนหมอชีวกโกมารภัจจ์ ครั้นท่านได้สำเร็จพระอรหัตแล้ว ก็พอมาถึงเวลาฉัน หมอชีวกโกมารภัจจ์น้อมภัตเข้าไปถวาย


พระองค์ทรงปิดบาตรเสียตรัสว่า ภิกษุยังมาไม่หมด ยังเหลืออยู่ที่วิหารอีกองค์หนึ่ง หมอชีวกโกมารภัจจ์จึงใช้ให้คนไปตาม ในครั้งนั้นพระจูฬปันถกะนิรมิตพระภิกษุให้เต็มวิหารพันรูป เมื่อคนใช้ไปถึงเห็นพระมีมากตั้งพันรูป จึงกลับไปบอกหมอชีวกโกมารภัจจ์


ครั้งนั้นพระบรมศาสดาตรัสกะบุรุษนั้นว่า เจ้าจงไปแล้วบอกว่า “พระบรมศาสดาตรัสเรียกพระจูฬปันถกะ” บุรุษนั้นก็กลับไปบอกเหมือนอย่างนั้น ภิกษุตั้งพันพูดว่า ฉันชื่อจูฬปันถกะ บุรุษนั้นกลับมาอีก กราบทูลว่า ภิกษุเหล่านั้นชื่อจูฬปันถกะทั้งนั้นพระเจ้าข้า


พระบรมศาสดาตรัสว่า ภิกษุรูปใดพูดขึ้นก่อน จงจับมือภิกษุรูปนั้นไว้ ภิกษุที่เหลือนอกนั้น จักอันตรธานหายไป บุรุษนั้นทำเหมือนอย่างพระบรมศาสดาตรัสนั้น จึงได้พาพระจูฬปันถกะไปในที่นิมนต์ ในที่สุดแห่งภัตกิจ ท่านพระจูฬปันถกะได้ทำภัตตานุโมทนา ฯ


อาศัยที่ท่านประกอบด้วยมโนมยิทธิเช่นนั้น จึงได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ชำนาญในมโนมยิทธิ ฯ ครั้นเมื่อท่านพระจูฬปันถกะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ


4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-26 14:48, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NzV8MjQxYjkwZmZ8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-26 14:48, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1NzZ8NzZhZGZkNjJ8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-24 09:40

ตอนที่ ๕๐   

ประวัติพระโสณกุฏิกัณณเถระ*

3.png


ท่านพระโสณกุฏิกัณณะ เป็นบุตรของอุบาสิกาชื่อว่า กาฬีผู้โสดาบัน ในกรุงราชคฤห์ เดิมชื่อว่า โสณะ เพราะเหตุว่าท่านประดับเครื่องประดับที่หูควรค่าถึงโกฏิหนึ่ง จึงได้คำว่า “กุฏิกัณณะ” ตามหลังชื่อของท่านว่า “โสณกุฏิกัณณะ” ฯ  

เมื่อพระมหากัจจายนะอาศัยอยู่ที่ภูเขาชื่อว่า ปวัตตะ แขวงเมืองกุรรฆระ ในอวันตีชนบท ฯ มารดาของโสณกุฏิกัณณะได้เป็นอุปัฏฐายิกาของท่าน เมื่อโสณกุฏิกัณณะเจริญวัยแล้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนาของท่าน เกิดความศรัทธาเลื่อมใส ได้แสดงตนเป็นอุบาสกและเป็นผู้อุปัฏฐากท่านด้วย

ครั้นต่อมาโสณกุฏิกัณณะมีความปรารถนาจะบวช จึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะ บอกความประสงค์ของตนให้ท่านทราบ ท่านได้ชี้แจงแก่โสณอุบาสกถึงการประพฤติพรหมจรรย์ว่า ลำบากอย่างไร แนะนำให้บำเพ็ญศาสนปฏิบัติในทางฆราวาส แต่โสณอุบาสกมีศรัทธาแก่กล้า ถึงแม้จะได้รับความลำบากอย่างไร ก็ยังปรารถนาเพื่อจะบวชอยู่ จึงได้อ้อนวอนขอให้ท่านสงเคราะห์อยู่เนืองๆ

ในที่สุดพระมหากัจจายนะก็ให้บวชเป็นสามเณรเท่านั้น เพราะในอวันตีชนบท มีภิกษุน้อย จะหาพระสงฆ์มีจำนวน ๑๐ รูป ที่เรียกว่าทสวรรค ให้อุปสมบทได้ยาก ฯ โดยล่วงไป ๓ ปี โสณสามเณรนั้น จึงได้อุปสมบท แล้วก็ศึกษาเล่าเรียนกรรมฐานอยู่ในสำนักอุปัชฌาย์

ท่านไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา

เมื่อออกพรรษาแล้ว มีความประสงค์อยากจะไปเฝ้าพระบรมศาสดา เพราะยังไม่เคยเห็นพระบรมศาสดาเลย จึงได้ลาพระมหากัจจายนเถระ ท่านก็อนุญาตและสั่งให้ไปถวายบังคมพระบรมศาสดาด้วยเศียรเกล้าตามคำของท่าน และให้กราบทูลถึงการปฏิบัติพระวินัยบางอย่างอันไม่สะดวกแก่ภิกษุผู้อยู่ในชนบทนั้น มีการอุปสมบทเป็นต้น เพื่อได้รับพระพุทธดำริแห่งพระบรมศาสดา ฯ

ครั้นลาพระอุปัชฌาย์แล้ว* จัดแจงเก็บเสนาสนะ ถือเอาบาตรและจีวรออกจากอวันตีชนบทไปเฝ้าพระบรมศาสดา ซึ่งประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ในพระนครสาวัตถี ครั้นถึงที่ประทับแล้วเข้าเฝ้า กราบถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระองค์ตรัสปฏิสันถารตามสมควร แล้วตรัสสั่งพระอานนท์จัดแจงที่พักให้ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระองค์

ในเพลาราตรีจวนจะสว่าง พระบรมศาสดาทรงรับสั่งให้ท่านถวายเทศนา ท่านได้แสดงพระสูตรอันแสดงวัตถุ ๘ ประการ ด้วยเสียงอันไพเราะ พระองค์ทรงสดับแล้วตรัสสาธุการชมเชยว่า ดีละๆ ภิกษุ แล้วตรัสถามถึงอายุพรรษาของท่านต่อไป ท่านได้กราบทูลให้ทรงทราบทุกประการ

ครั้นกาลต่อมา ท่านพระโสณกุฏิกัณณะได้โอกาสอันดีแล้ว จึงกราบทูลข้อความที่พระอุปัชฌาย์สั่งมา พระองค์ทรงทราบแล้วได้ทรงอนุญาตผ่อนผันให้ตามความประสงค์ (เรื่องนี้มีพิสดารในประวัติของพระมหากัจจายนะ) เมื่อท่านอยู่ในที่ประทับของพระบรมศาสดาพอสมควรแก่กาลแล้ว ได้กราบถวายบังคมลากลับมายังสำนักพระมหากัจจายนะตามเดิม

ครั้นกลับมาแล้ว ได้แสดงธรรมเทศนาที่ได้ถวายแก่พระบรมศาสดาให้มารดาของท่านฟังโดยทำนองนั้นๆ อีก ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้แสดงธรรมด้วยถ้อยคำอันไพเราะ เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

* พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่มที่ ๓ จัมมขันธกะ หน้า ๒๙-๓๐ ฯ อุทาน หน้า ๑๒๑-๑๒๕ ฯ


* ในอสีติมหาสาวกนิพพานกล่าวว่า เมื่อท่านลาพระมหากัจจายนะแล้ว และไปลามารดาอีก มารดาจึงได้ฝากผ้ากัมพลผืนหนึ่งให้เอาไปปูลาดพระคันธกุฎี ที่ประทับพระบรมศาสดา ฯ


4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-26 14:49, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1Nzd8YThmMzVlMTd8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-26 14:49, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1Nzh8YmIxNGNjZDN8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-24 16:30

ตอนที่ ๕๑   

ประวัติพระลกุณฏกภัททิยเถระ

3.png


ท่านพระลกุณฏกภัททิยะ* เกิดในตระกูลมั่งคั่ง ในพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพร้อมด้วยอุบาสกชาวนครนั้นเป็นอันมากไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่พระเชตวันมหาวิหาร ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์แล้ว เกิดความศรัทธาเลื่อมใส อยากจะบวชในพระธรรมวินัย

ครั้นได้บวชสมความประสงค์แล้ว อุตส่าห์เล่าเรียนพระกัมมัฏฐานในสำนักของพระบรมศาสดา บำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล ท่านยังเป็นเสขบุคคลอยู่

ครั้นกาลต่อมา ท่านเข้าไปหาพระสารีบุตรได้นั่งสนทนาธรรมิกถากับท่านโดยอเนกปริยาย เมื่อสนทนาอยู่ จิตท่านก็หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ท่านได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา ฯ

ท่านพระลกุณฏกภัททิยะนั้นปรากฏว่าเป็นคนมีรูปร่างเล็กและต่ำเตี้ย ถ้าใครไม่เคยรู้จักและเคยเห็นท่านเลย หารู้ไม่ว่าเป็นพระ สำคัญเป็นสามเณรไป ดังมีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งท่านมาเฝ้าพระบรมศาสดาแล้วหลีกไป ในเวลานั้นภิกษุผู้อยู่ในป่าประมาณ ๓๐ รูป เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ได้เห็นท่านหลีกไปเหมือนกัน

พระบรมศาสดา ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า พวกเธอเห็นพระเถระรูปหนึ่งเดินไปจากที่นี่บ้างไหม

พวกภิกษุ กราบทูลว่า ไม่เห็นพระพุทธเจ้าข้า

พ. เห็นมิใช่หรือ  

ภ. เห็นแต่สามเณรองค์หนึ่งพระพุทธเจ้าข้า

พ. นั่นแหละพระเถระ ไม่ใช่สามเณร

ภ. เล็กเหลือเกินพระพุทธเจ้าข้า ดังนี้ ฯ

ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงถูกภิกษุหนุ่มและสามเณรเป็นต้น ที่เป็นปุถุชนเห็นท่านแล้วจับศีรษะท่านบ้าง ที่หูบ้าง ที่จมูกบ้าง แล้วพูดว่า “อา ! ยังไม่อยากสึกบ้างหรือ ยังยินดีประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนาหรือ” ดังนี้ แต่ท่านหาได้โกรธเคืองในภิกษุหนุ่มและสามเณรเหล่านั้นไม่ เพราะท่านเป็นขีณาสพ

ท่านพระลกุณฏกภัททิยะนี้ ปรากฏว่าเป็นผู้พูดไพเราะเสนาะโสดแก่ผู้ฟัง ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องสรรเสริญท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างมีเสียงไพเราะ ฯ เมื่อท่านพระลกุณฏกภัททิยะนั้น ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

* ลกุณฏกภัททิยเถระ ในธรรมบทแปลว่า พระเถระที่อยู่ในนครภัททิยะ ชื่อว่าลกุณฏกะ โดยนัยนี้ ได้ความว่า เดิมท่านชื่อว่า ลกุณฏกะ แต่อาศัยท่านอยู่ ภัททิยนคร ฯ มหาชนจึงเรียกชื่อท่านประสมกับชื่อนครเข้าด้วยกัน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-28 09:42, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1Nzl8ZGM5NWRiMGF8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-28 09:42, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1ODB8MTAwNWYzNjl8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-24 21:46

ตอนที่ ๕๒   

ประวัติพระสุภูติเถระ

3.png


ท่านพระสุภูติ เป็นบุตรของสุมนเศรษฐี ในพระนครสาวัตถี ในวันหนึ่งเมื่ออนาถบิณฑิกเศรษฐีทำการฉลองพระเชตวันมหาวิหาร สุภูติกุฎุมพีได้ไปสู่พระเชตวันมหาวิหารพร้อมกับด้วยท่านมหาเศรษฐี เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดาแล้ว เกิดความศรัทธาเลื่อมใส อยากจะบวชในพระธรรมวินัย จึงทูลขออุปสมบทในสำนักของสมเด็จพระบรมศาสดา

ครั้นได้อุปสมบทสมความประสงค์แล้ว ได้ศึกษาเล่าเรียนพระวินัยปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก จนชำนิชำนาญคล่องแคล่วแล้ว เรียนเอาพระกัมมัฏฐานอยู่ในป่า ไม่ช้าไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา

ท่านพระสุภูติประกอบด้วยคุณสมบัติ ๒ ประการ คือ อรณวิหาร ชำนาญด้วยโลกุตตรธรรม สำราญอยู่ด้วยหากิเลสมิได้ ๑ และเป็นทักขิเณยยบุคคล ผู้ควรรับซึ่งทักษิณาทาน ๑

ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางอรณวิหารแลทักขิเณยยบุคคล ฯ ท่านพระสุภูติเถรนั้น ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-28 09:48, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1ODF8NWQ5OGE0NDB8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-28 09:48, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1ODJ8YzhmZDgzZmV8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-24 21:49

ตอนที่ ๕๓   

ประวัติพระกังขาเรวตเถระ

3.png



ท่านพระกังขาเรวตะ บังเกิดในตระกูลอันบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก ในพระนครสาวัตถี เป็นคนมีศรัทธา วันหนึ่งเป็นเวลาปัจฉาภัต
มหาชนชักชวนกันไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร เพื่อจะสดับพระธรรมเทศนา

เรวตะนั้นก็ได้ไปกับมหาชน ครั้นถึงที่พระเชตวันมหาวิหารแล้ว นั่งอยู่ในที่สุดบริษัท พระบรมศาสดาตรัสเทศนา เรวตะเกิดความศรัทธาเลื่อมใส มีความปรารถนาจะบวชในพระธรรมวินัย

ครั้นได้อุปสมบทเป็นภิกษุสมดังปรารถนาแล้ว ท่านอุตส่าห์เรียนเอาซึ่งพระกัมมัฏฐานในสำนักของพระบรมศาสดาจารย์ ท่านไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรในกัมมัฏฐานจนได้สำเร็จโลกิยฌาน กระทำฌานที่ตนได้แล้วนั้นให้เป็นที่ตั้ง เจริญวิปัสสนากรรมฐานสืบไป ได้สำเร็จพระอรหัตผล ฯ

ท่านพระเรวตะนั้นมักเกิดความสงสัยในกัปปิยวัตถุ คือสิ่งของที่ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ เป็นของควรแก่บรรพชิตจะพึงบริโภคใช้สอย เมื่อท่านได้กัปปิยวัตถุอันใดมาแล้ว ก็ให้คิดสงสัยอยู่ ต่อเมื่อพิจารณาเห็นว่าเป็นกัปปิยวัตถุโดยถ่องแท้แล้ว จึงบริโภคใช้สอยกัปปิยวัตถุนั้น


ด้วยเหตุนี้คำว่า “กังขา” ซึ่งแปลว่า “ความสงสัย” จึงได้นำหน้าชื่อของท่านว่า “กังขาเรวตะ”

พระกังขาเรวตะนี้ เป็นผู้ชำนาญในฌานสมาบัติอันเป็นโลกิยะและโลกุตตระเข้าสู่ฌานสมาบัติอันเป็นพุทธวิสัยได้โดยมาก ฌานสมาบัติอันเป็นพุทธวิสัยนั้น ท่านละเว้นโดยกำหนดมีน้อยยิ่งนัก


ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องสรรเสริญท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ยินดีในฌานสมาบัติ ฯ เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-28 10:58, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1ODN8NWQzNGNlZmZ8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-28 10:58, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1ODR8ZGYzMGI2ZDl8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-24 21:53

ตอนที่ ๕๔   

ประวัติพระวักกลิเถระ

3.png



ท่านพระวักกลิ เกิดในตระกูลพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง ในพระนครสาวัตถี ชื่อว่า วักกลิมาณพ เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาตามลัทธิของพราหมณ์จนจบไตรเพท


ครั้งหนึ่งพระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์แวดล้อมเป็นบริวาร เสด็จเที่ยวไปในนครสาวัตถี วักกลิมาณพได้ทัศนาการเห็นพระองค์ ก็บังเกิดความเลื่อมใสในพระรูปพระโฉมของพระองค์ไม่อิ่มไม่เบื่อหน่ายในการดู อยากจะดูอยู่ทุกเมื่อ จึงคิดว่า ถ้าเราบรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้ว จักได้เห็นพระองค์อยู่เป็นนิตย์ ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว จึงออกบวชในพระพุทธศาสนา

ครั้นบวชแล้วแทนที่จะท่องบ่นสาธยายธรรม และบำเพ็ญเพียรกัมมัฏฐาน แต่ก็หาได้ทำเช่นนั้นไม่ มัวเมาแต่เที่ยวดูพระรูปโฉมของพระบรมศาสดาอยู่เท่านั้น พระองค์ก็มิได้ตรัสว่าอะไรๆ กะท่าน ท่านก็เที่ยวตามชมเชยอยู่เช่นนั้น


ครั้นต่อมาพระบรมศาสดาตรัสสอนว่า ดูก่อนวักกลิ เธอต้องการดูกายที่เปื่อยเน่านี้เพื่อประโยชน์อะไร ดูก่อนวักกลิ ผู้ใดแลเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม แม้พระองค์ทรงตรัสสอนอย่างนี้แล้ว ท่านพระวักกลิก็ยังไม่ละซึ่งการดูพระองค์แล้วหลีกหนีไปที่อื่น พระบรมศาสดาจึงทรงดำริว่าภิกษุนี้ ถ้าไม่ได้ความสลดใจเสียบ้างแล้ว ก็จักไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไร

ครั้นทรงดำริในพระทัยอย่างนี้แล้ว เมื่อจวนจะถึงวันเข้าพรรษา พระองค์จึงเสด็จไปสู่กรุงราชคฤห์นครในวันเข้าพรรษา พระองค์จึงมีพระพุทธฎีกาประณามขับไล่พระวักกลิเสียจากสำนักของพระองค์ว่า “อเปหิ วกฺกลิ” ดูก่อนวักกลิภิกษุ เธอจงหลีกไปให้พ้นจากสำนักของเราเถิด ฯ


ท่านพระวักกลิเกิดความน้อยใจว่า พระบรมศาสดาจะไม่ทักทายปราศรัยกะเราอีกแล้ว เราก็ไม่อาจจะอยู่ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ตลอดไตรมาส มีความเสียใจที่จะไม่ได้เห็นพระองค์ จึงหลีกออกจากพุทธสำนัก แล้วคิดว่าเรามีชีวิตอยู่จะมีประโยชน์อะไร เราจักกระโดดภูเขาตายเสีย ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว จึงลุกขึ้นไปยอดเขาคิชฌกูฏ ฯ

พระบรมศาสดาทรงทราบถึงความลำบากของท่าน จึงแสดงพระองค์ให้ปรากฏในที่เฉพาะหน้า และตรัสปลอบด้วยธรรมีกถา มีประการต่างๆ ท่านเกิดปีติและปราโมทย์อย่างแรงกล้า มาเฝ้าพระบรมศาสดาโดยทางอากาศ นึกถึงพระโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสอน ข่มปีติบนอากาศเสียได้แล้ว ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ลงมาถวายบังคมพระบรมศาสดาที่เฉพาะพระพักตร์ ฯ  

ครั้นกาลต่อมา พระบรมศาสดาทรงตั้งพระวักกลิไว้ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างสัทธาวิมุตติ พ้นจากกิเลสด้วยศรัทธา ท่านพระวักกลิดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-28 11:20, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1ODV8NGVhMWI2ZDR8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-28 11:20, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1ODZ8YzcwYjlkMTJ8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-24 21:56

ตอนที่ ๕๕   

ประวัติพระกุณฑธานเถระ

3.png



ท่านพระกุณฑธานะ
เกิดในตระกูลพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง ในพระนครสาวัตถี ชื่อว่า ธานมาณพ เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ศึกษาศิลปวิทยาของพราหมณ์จบไตรเพท ภายหลังได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา

ตั้งแต่วันที่ได้อุปสมบทปรากฏว่า มีรูปหญิงรูปหนึ่งเที่ยวติดตามไปข้างหลังของท่าน แต่ท่านไม่เห็นรูปนั้น เห็นแต่พวกมหาชนเท่านั้น ครั้นท่านเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน พวกมนุษย์ได้ถวายภิกษาแก่ท่าน ๒ ส่วน แล้วพูดว่า นี้ส่วนของท่าน นี้ส่วนของหญิงสหายของท่าน ฯ ตั้งแต่นั้นมา พวกมนุษย์จึงพากันเรียกท่านว่า กุณฑธานะ ฯ

ส่วนภิกษุผู้ไม่รู้ความจริง เห็นอาการเช่นนั้นเกิดความรังเกียจกลัวว่าจะเกิดโทษกับพวกตนด้วย จึงบอกให้อนาถบิณฑิกเศรษฐีขับไล่ท่านออกเสียจากวิหาร อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ไม่ขับ จึงบอกแก่นางวิสาขามหาอุบาสิกา นางวิสาขาก็ไม่ขับไล่เหมือนกัน


พวกภิกษุเหล่านั้นจึงถวายพระพรทูลแด่พระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปสู่พระวิหารด้วยพระองค์เอง ทรงพิสูจน์ให้ได้ความจริงแล้ว ก็เกิดความเลื่อมใส รับสั่งให้เข้าไปบิณฑบาตในพระราชวัง และบำรุงด้วยปัจจัย ๔ พวกภิกษุเห็นดังนั้นก็กลับซ้ำติเตียนว่า เป็นคนชั่วช้า ทั้งพระราชาทั้งพระกุณฑธานะ

พระกุณฑธานะโกรธ กล่าวโต้เหมือนอย่างนั้นบ้าง ครั้นพระบรมศาสดาทราบ กลับติเตียนแล้วทรงห้าม และทรงแสดงเรื่องรูปหญิงสาวนั้นให้พวกภิกษุทราบความจริง แล้วได้แสดงธรรมเทศนาด้วยพระคาถา ๒ คาถา

ในเวลาจบเทศนา ท่านพระกุณฑธานะตั้งอยู่ในโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสอน ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา

ภายหลัง พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้จับสลากเป็นปฐม เมื่อท่านพระกุณฑธานะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-28 11:22, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1ODd8OGIzMjdjYTZ8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-28 11:22, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1ODh8YzgwMDJmYmN8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-24 22:01

ตอนที่ ๕๖   

ประวัติพระวังคีสเถระ

3.png


ท่านพระวังคีสะ บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ศึกษาเล่าเรียนตามคัมภีร์ในลัทธิของพราหมณ์จนจบไตรเพท และได้เรียนมนต์พิเศษอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ฉวสีสมนต์ เป็นมนต์เครื่องพิสูจน์ซึ่งศีรษะแห่งซากศพแม้ตายแล้วตั้งสามปี ให้รู้ว่าไปเกิดเป็นอะไร ณ ที่ไหน

และวังคีสพราหมณ์ได้อาศัยมนต์นั่นเป็นเครื่องเลี้ยงชีพ คือในขั้นต้นได้แสดงศิลปะนั้น ให้ปรากฏโดยความจริงแก่พวกชนในพระนครนั้นก่อน พวกพราหมณ์นี้เลี้ยงชีพได้ จึงได้พาเที่ยวไปสู่ชนบทน้อยใหญ่ประกาศแก่มนุษย์ทั้งเหล่าว่า วังคีสพราหมณ์นี้รู้มนต์วิเศษ ร่ายมนต์แล้วเอาเล็บเคาะที่ศีรษะแห่งสัตว์ผู้ตายแล้ว ย่อมรู้ได้ว่าผู้นี้ไปบังเกิดในนรก ผู้นี้ไปบังเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ผู้นี้ไปเกิดในเปรตวิสัย ผู้นี้ไปบังเกิดในมนุษยโลก ผู้นี้ไปเกิดในเทวโลกดังนี้ ฯ

พวกมนุษย์ทั้งหลายได้ยินประกาศดังนั้น ก็มีความประสงค์อยากจะถามถึงพวกญาติของตนๆ บ้าง จึงให้ทรัพย์ตามกำลังของตนมากบ้างน้อยบ้าง แล้วถามถึงที่เกิดของพวกญาติของตนๆ พวกพราหมณ์เหล่านั้น พาวังคีสพราหมณ์เที่ยวไปในนิคมชนบทอย่างนี้แล้ว กลับมายังพระนครสาวัตถีพักอยู่ใกล้พระเชตวันมหาวิหาร

วันหนึ่งในเวลาเช้า พวกพราหมณ์เหล่านั้นได้เห็นพวกมนุษย์เป็นอันมาก ถือดอกไม้ธูปเทียนเพื่อจะไปฟังพระเทศน์ในพระเชตวันมหาวิหาร จึงว่าพวกท่านจะไปที่นั่นทำไม ก็คนที่จะดีวิเศษเช่นกับวังคีสพราหมณ์ของพวกเราไม่มี เธอรู้มาก พวกมนุษย์เถียงว่า วังคีสพราหมณ์จะรู้อะไร คนที่จะเหมือนกับด้วยพระบรมศาสดาของพวกเราไม่มี เมื่อต่างพวกต่างเถียงกันไม่ตกลง จึงได้พร้อมกันไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร

พระบรมศาสดาทรงทราบว่า พวกวังคีสพราหมณ์มาสู่ที่เฝ้า พระองค์จึงรับสั่งให้นำศีรษะคนตายมาแล้ว ๕ ศีรษะ คือศีรษะของสัตว์ที่เกิดในนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน มนุษยโลก เทวโลก ๔ ศีรษะ ศีรษะพระขีณาสพศีรษะ ๑ ตั้งไว้ลำดับกัน เมื่อวังคีสพราหมณ์เข้าเฝ้าแล้ว

พระองค์ตรัสถามว่า ฉันได้ทราบว่า ท่านร่ายมนต์แล้วเคาะศีรษะมนุษย์ที่ตายแล้ว ย่อมรู้ที่เกิดของเขาหรือ ?

พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้ารู้ พระบรมศาสดาจึงตรัสถามศีรษะของสัตว์ ๔ ศีรษะ ที่เกิดในที่ทั้ง ๔ วังคีสพราหมณ์ก็ทายถูกต้องหมด

พระองค์จึงตรัส สาธุการว่า ดีละๆ ถูกต้องแล้ว ลำดับนั้นพระองค์จึงตรัสถามศีรษะที่ ๕ ว่า ผู้นี้ไปเกิดที่ไหน ?

วังคีสพราหมณ์ ร่ายมนต์แล้วเคาะศีรษะ ก็ไม่รู้จักที่เกิด เพราะเป็นศีรษะพระอรหันต์ จึงนิ่งเฉยอยู่

พระบรมศาสดา ตรัสถามว่า เธอไม่รู้หรือวังคีสะ ฯ

พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าไม่รู้

พ. ฉันรู้

ว. พระองค์ รู้ด้วยอะไร ?

พ. รู้ด้วยกำลังมนต์ของฉัน ฯ

ครั้งนั้นวังคีสพราหมณ์จึงกราบทูลขอเรียนมนต์นั้น พระองค์ตรัสว่า คนที่ไม่บวชฉันให้ไม่ได้ วังคีสพราหมณ์นั้นจึงคิดว่า ถ้าเราเรียนมนต์นี้ได้แล้ว เราก็จักเป็นใหญ่ในชมพูทวีปทั้งสิ้น ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว จึงส่งพราหมณ์นั้นไป และสั่งว่าพวกท่านจงรอเราอยู่นั่นแหละสัก ๒-๓ วัน เราจักบวชในสำนักของพระบรมศาสดา

ครั้นวังคีสะได้อุปสมบทแล้ว พระบรมศาสดาจึงประทานกรรมฐานมีอาการ ๓๒ เป็นอารมณ์ ตรัสสั่งให้ท่องบ่นบริกรรมซึ่งมนต์นั้น ครั้นท่านสาธยายมนต์นั้นอยู่อย่างนี้ พวกพราหมณ์ก็คอยมาถามอยู่ว่า เรียนมนต์ได้แล้วหรือยัง ? ท่านตอบว่า รอก่อนกำลังเรียน โดยร่วงไป ๒-๓ วันเท่านั้น พระวังคีสะก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา

ครั้นท่านได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว ไปเฝ้าพระบรมศาสดาในที่ใดๆ ณ กาลใดๆ ย่อมกล่าวคาถาสรรเสริญพระคุณของพระองค์บทหนึ่งก่อนเสมอ ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างปัญญาปฏิภาณในการผูกบทบาทคาถา ครั้นท่านพระวังคีสะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-28 13:37, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1ODl8NjI5NmE0Njh8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-28 13:37, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1OTB8MzEyZmY3MjN8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-24 22:07

ตอนที่ ๕๗   

ประวัติพระปิลินทวัจฉเถระ

3.png


ท่านพระปิลินทวัจฉะ บังเกิดในตระกูลพราหมณ์วัจฉโคตร ชื่อว่า “ปิลินทะ” เรียกชื่อรวมกับโคตรด้วยว่า ปิลินทวัจฉะ เมื่อเจริญวัยวัฒนาการแล้ว บังเกิดศรัทธาแก่กล้า ได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา


ครั้นได้อุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา

เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร อันเป็นกลันทกนิวาปสถานในกรุงราชคฤห์ ฯ ครั้งนั้นท่านพระปิลินทวัจฉะร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่า “วสละ” ซึ่งแปลว่า “เป็นคนถ่อย” อันเป็นคำหยาบคาย พวกภิกษุทั้งหลายเป็นอันมาก จึงเข้าไปกราบทูลเนื้อความนั้นแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงรับสั่งให้ภิกษุรูปหนึ่งไปเรียกตัวเข้ามาเฝ้า

ครั้นท่านพระปิลินทวัจฉะเข้ามาเฝ้าแล้ว ทรงรับสั่งถามว่า ดูกรปิลินทวัจฉะ ฉันได้ทราบว่า เธอร้องเรียกพวกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่า “วสละ” จริงหรือ ? จึงกราบทูลว่า จริงอย่างนั้นพระพุทธเจ้าข้า ฯ


ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนึกถึงบุพกรรมของท่านพระปิลินทวัจฉะได้ พระองค์จึงทรงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่ากล่าวลงโทษปิลินทวัจฉภิกษุเลย เธอมิได้ถือโทษโกรธแค้นร้องเรียกพวกเธอด้วยวาทะว่า “วสละ” ดอก

ปิลินทวัจฉภิกษุเคยถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์มาแล้ว ๕ ร้อยชาติ เธอเคยมีวาทะว่า “วสละ” มาแล้วสิ้นกาลช้านาน เพราะเหตุนั้น เธอจึงร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะเช่นนั้น ฯ

ครั้นกาลต่อมา ท่านพระปิลินทวัจฉะนั้น ได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่รักใคร่เจริญใจของเทพยดา เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-28 14:40, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1OTF8ZDY4ODM2MGR8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-28 14:40, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1OTJ8NWYzMTZiYmF8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-24 22:10

ตอนที่ ๕๘   

ประวัติพระกุมารกัสสปเถระ

3.png


ท่านพระกุมารกัสสปะ เป็นบุตรของธิดาแห่งเศรษฐี ในพระนครราชคฤห์ เดิมชื่อว่า กัสสปะ ภายหลังชนทั้งหลายเรียกว่า กุมารกัสสปะ เพราะเจริญวัยขึ้นด้วยเครื่องบำรุงเลี้ยงอย่างราชกุมาร ฯ


ได้ยินว่ามารดาของท่านมีความปรารถนาอยากจะบวชตั้งแต่ยังแรกรุ่นสาว ได้อ้อนวอนขออนุญาตจากมารดาอยู่บ่อยๆ มารดาบิดาไม่ยอมอนุญาต ครั้นต่อมานางมีสามี ตั้งครรภ์ขึ้นยังมิทันรู้ตัว นางอุตส่าห์ปฏิบัติสามีให้มีความยินดีแล้ว ก็อ้อนวอนขอบรรพชา

ครั้นเมื่อสามีอนุญาตแล้ว ได้ไปบวชอยู่ในสำนักนางภิกษุณีซึ่งเป็นฝักฝ่ายของพระเทวทัต ภายหลังนางมีครรภ์แก่ปรากฏขึ้น พวกนางภิกษุณีเห็นแล้วเกิดความรังเกียจ จึงได้นำตัวไปให้พระเทวทัตตัดสินชำระอธิกรณ์


พระเทวทัตตัดสินว่า ภิกษุณีนี้ไม่เป็นสมณะให้สึกเสีย เมื่อนางได้ฟังคำของพระเทวทัตแล้วเกิดความเสียใจ จึงพูดว่าพวกท่านอย่าให้ฉันฉิบหายเลย ดิฉันไม่ได้บวชเฉพาะพระเทวทัต ขอพวกท่านจงพาดิฉันไปส่งสำนักพระบรมศาสดาที่พระเชตวันมหาวิหารเถิด

พวกนางภิกษุณีจึงได้พานางไปสู่สำนักของพระบรมศาสดา และกราบทูลเนื้อความให้ทรงทราบ แม้พระบรมศาสดาก็ทรงทราบว่า ภิกษุณีนี้ตั้งครรภ์แต่เมื่อยังไม่บวช แต่เพื่อจะเปลื้องความสงสัยของชนเหล่าอื่น จึงรับสั่งให้พระอุบาลีชำระอธิกรณ์ในเรื่องนั้นและให้ไปเชิญตระกูลใหญ่ๆ ในพระนครสาวัตถี มีนางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นต้น มาพร้อมกัน

แล้วพากันพิสูจน์ก็รู้ชัดว่า นางมีครรภ์ตั้งแต่ครั้งยังไม่ได้บวช จึงได้ตัดสินในท่ามกล่างแห่งบริษัท ๔ ว่า นางภิกษุณีนี้ยังมีศีลบริสุทธิ์อยู่ พระบรมศาสดาตรัสอนุโมทนาสาธุการว่า อุบาลีตัดสินอธิกรณ์ถูกต้องแล้ว

ครั้นกาลต่อมา เมื่อนางภิกษุณีนั้นมีครรภ์ครบกำหนดแล้ว ก็คลอดบุตรออกมาเป็นชาย เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบ ได้ทรงรับเอาไปเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม และให้นามสามัญว่า “กัสสปะ” ทารกนั้นเจริญวัยขึ้นด้วยเครื่องบำรุงเลี้ยงอย่างราชกุมาร ชนทั้งหลายจึงได้ชื่อว่า “กุมารกัสสปะ”


วันหนึ่งกุมารกัสสปะลงไปเล่นกับเพื่อนเด็กๆ ด้วยกันที่สนาม ได้ตีเด็กที่เล่นด้วยกันถูกเขาด่าเอาว่า เด็กไม่มีแม่มีพ่อตีเอาพวกเราเข้าแล้ว กุมารกัสสปะได้ฟังดังนั้น จึงเข้าไปกราบทูลพระราชา

ชั้นแรกพระองค์ตรัสบอกว่า แม่นมเป็นมารดา กุมารกัสสปะไม่เชื่อ อ้อนวอนถามอยู่บ่อยๆ พระองค์จึงตรัสบอกความจริง กุมารกัสสปะเกิดความสลดใจ จึงขอพระบรมราชานุญาตออกผนวช พระองค์ก็ทรงอนุญาต ได้พาไปบวชในสำนักของพระบรมศาสดา ฯ

ครั้นเมื่อมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ตามวินัยแล้วก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุในพุทธศาสนา อุตส่าห์เรียนเอาพระกรรมฐานในสำนักของพระบรมศาสดา เข้าไปสู่ป่า เพียรพยายามอยู่ก็ยังไม่ได้บรรลุคุณวิเศษ จึงกลับมาเรียนพระกรรมฐานให้วิเศษขึ้นอีก แล้วไปอยู่ที่อันธวัน ฯ


ครั้งนั้นสหายท่านซึ่งเป็นภิกษุเคยบำเพ็ญสมณธรรมร่วมกัน ในพระศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้บรรลุอนาคามิผลไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส ได้ลงมาหาท่าน แล้วผูกปัญหาให้ ๑๕ ข้อ สั่งว่า คนอื่นนอกจากพระบรมศาสดา ชื่อว่าสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้เถิด ดังนี้แล้วส่งไป

ท่านพระกุมารกัสสปะก็ไปทำเหมือนอย่างนั้น ครั้นท่านได้ฟังปัญหาพยากรณ์ ๑๕ ข้อแล้ว ในที่สุดแห่งการพยากรณ์ ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา


ท่านมีความสามารถแสดงธรรมแก่บริษัท ๔ ได้อย่างวิจิตรพิสดาร มีข้ออุปไมยพร้อมทั้งเหตุผล ให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย ฉลาดในอุบายสั่งสอนบริษัท

อาศัยคุณสมบัติเช่นนี้ ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในจิตรกถา คือแสดงธรรมเทศนาได้อย่างวิจิตร ครั้นท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-28 14:40, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1OTN8NzY4Y2ViM2Z8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-28 14:40, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1OTR8MGE5YmZjMWJ8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-24 22:14

ตอนที่ ๕๙   

ประวัติพระมหาโกฏฐิตเถระ

3.png


ท่านพระมหาโกฏฐิตะ เป็นบุตรของอัสสลายพราหมณ์ กับนางจันทวดีพราหมณี ในพระนครสาวัตถี ตระกูลของท่านเป็นตระกูลที่มีทรัพย์มาก เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ศึกษาศิลปวิทยาตามลัทธิของพราหมณ์จนจบไตรเพท


สมัยหนึ่งพระบรมศาสดาประกาศพระศาสนาในนานาชนบท ได้ทรงทรมานอัสสลายพราหมณ์ผู้เป็นบิดาของท่าน ให้ละทิฏฐิมานะ ยอมตนเป็นอุบาสกแล้ว โกฏฐิตมาณพผู้บุตรก็เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

วันหนึ่งได้สดับฟังพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดา เกิดศรัทธาเลื่อมใสใคร่จะบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย จึงได้ออกบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา มีท่านพระสารีบุตรเป็นอุปัชฌายะ ท่านพระโมคคัลลานะเป็นอาจารย์

ตามตำนานท่านกล่าวว่า เมื่อเวลาปลงผม ท่านพิจารณาในวิปัสสนากรรมฐาน พอผลัดผ้าสาฎกสำหรับคฤหัสถ์นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ๔ วิชชา ๓ และวิโมกข์ ๓ ฯ


ท่านพระมหาโกฏฐิตะนั้น เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา เมื่อเข้าไปหาพระเถระผู้ใหญ่ก็ดี แม้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาก็ดี ชอบถามปัญหาในปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ นั้นเนืองๆ

ครั้นกาลต่อมา พระบรมศาสดาทรงทำซึ่งมหาเวทัลลสูตรให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุแล้ว ทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคฐานว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างแตกฉานในปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ฯ เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-28 14:40, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1OTV8OWEzZTA1ZDd8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-28 14:40, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1OTZ8ODBlNDI5MGZ8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-24 22:16

ตอนที่ ๖๐   

ประวัติพระโสภิตเถระ

3.png


ท่านพระโสภิตะ เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในนครสาวัตถี ชื่อว่า โสภิตมาณพ เมื่อเจริญวัยขึ้นได้ไปศึกษาอักขรสมัยในลัทธิของพราหมณ์ วันหนึ่งได้ไปสู่สำนักพระบรมศาสดา ได้สดับฟังธรรมีกถาที่พระองค์ทรงแสดง บังเกิดความศรัทธาเลื่อมใสออกบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย

ครั้นได้อุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญสมณธรรมเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ เป็นพระขีณาสพอันประเสริฐ และเป็นผู้มีปกติสั่งสมซึ่งวสี ๕ ประการ ชำนาญคล่องแคล่วปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือญาณเป็นเครื่องระลึกชาติในหนหลังได้

อาศัยคุณสมบัติเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคฐานว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างระลึกซึ่ง
ปุพเพนิวาสานุสสติญาณนั้น ฯ ท่านพระโสภิตะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-29 15:06, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1OTd8MGY0MzMzMzZ8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-29 15:06, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1OTh8NzQ4MmJiYzl8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-24 22:18

ตอนที่ ๖๑   

ประวัติพระนันทกเถระ

3.png


ท่านพระนันทกะ เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในนครสาวัตถี
มารดาบิดาให้ชื่อว่า นันทกมาณพ เมื่อเจริญวัยวัฒนาการแล้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนาในสำนักของพระบรมศาสดา บังเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท

ครั้นได้อุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว ตั้งใจเจริญสมณธรรมบำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้านานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา


ท่านเป็นผู้มีความชำนิชำนาญในการระลึกซึ่งปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ที่ท่านและสัตว์อื่นเคยอาศัยและบังเกิดในชาติก่อน (เป็นผู้ชำนาญการระลึกชาติหนหลังได้) และท่านเป็นผู้ฉลาดในการแสดงธรรมแก่บริษัท ๔ ชี้แจ้งให้เป็นที่พอใจและเข้าใจได้โดยง่าย

ในตำนานปรากฏว่า ท่านได้แสดงพระธรรมเทศนาว่าด้วยเรื่องอายตนะ ๖ ประการ แก่นางภิกษุณีประมาณห้าร้อย ในที่เทศนา นางภิกษุณีเหล่านั้นได้บรรลุโสดาปัตติผล และพากันชื่นชมยินดีในพระธรรมเทศนาของท่าน


พระบรมศาสดาทรงทราบ ในวันรุ่งขึ้นรับสั่งให้ไปแสดงธรรมสั่งสอนภิกษุณีอีก ท่านก็ได้ไปแสดงธรรมสั่งสอนภิกษุณีตามพระพุทธประสงค์ ยังนางภิกษุณีนั้นให้ดำรงอยู่ในพระอรหัตผล พร้อมกันทั้ง ๕๐๐ องค์

เพราะอาศัยคุณสมบัติเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคฐาน คือตำแหน่งแห่งภิกษุผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างให้โอวาทแก่นางภิกษุณี ท่านพระนันทกะดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-29 15:08, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM1OTl8YjVhYzI4YTB8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-29 15:08, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MDB8OTExMDFiMzJ8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-24 22:59

ตอนที่ ๖๒   

ประวัติพระมหากัปปินเถระ

3.png


ท่านพระมหากัปปินะ เป็นพระโอรสของกษัตริย์ ในพระนครกุกกุฏวดี เมื่อพระราชบิดาทิวงคตแล้ว ได้เสวยราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อมา มีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่า อโนชาเทวี ซึ่งเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์ในสากลนคร แว่นแคว้นมัททรัฐ


พระเจ้ามหากัปปินะนั้น มีม้าเป็นราชพาหนะ ๕ ตัว คือ ม้าชื่อว่า พละ ๑ พลวาหนะ ๑ ปุปผะ ๑ ปุปผวาหนะ ๑ สุปัตตะ ๑ เมื่อพระองค์ทรงม้าตัวใดแล้ว พระราชทานม้า ๔ ตัว นอกนั้นให้แก่พวกอำมาตย์เพื่อเที่ยวไปสืบข่าว

ต่อมาวันหนึ่ง พระองค์ทรงม้าชื่อ สุปัตตะ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และอำมาตย์ราชบริพารเสด็จประพาสพระราชอุทยาน พบพ่อค้าประมาณ ๕๐๐ คน ซึ่งมาจากพระนครสาวัตถี*๑ ตรัสถามทราบความว่า พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า บังเกิดขึ้นแล้วในโลก


พระองค์ทรงมีปีติโสมนัสบังเกิดศรัทธาแก่กล้าจนกระทั่งถึงลืมพระองค์ไป และได้ทรงพระราชทานรางวัลให้พวกพ่อค้าเหล่านั้นประมาณ ๓ แสน และพระองค์ทรงรับสั่งให้ไปรับเอากับพระอัครมเหสี และได้ทรงพระราชอักษรมอบราชสมบัติให้แก่พระอัครมเหสีฝากไปด้วย

ครั้นแล้วพระองค์พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และอำมาตย์ราชบริพารประมาณ ๑ พัน ก็เสด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดา ในระหว่างทางเสด็จไปพบแม่น้ำ ๓ แห่ง คือ แม่น้ำชื่อว่า อารวปัจฉา ๑ แม่น้ำชื่อ นีลวาหนา ๑ แม่น้ำชื่อ จันทภาคา ๑ ในแม่น้ำเหล่านั้น หาได้มีเรือแพที่บุคคลจะขี่ข้ามไปไม่


ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระเจ้ามหากัปปินะประสบแม่น้ำสายที่ ๑ จึงได้ทรงระลึกถึงพระพุทธคุณ แม่น้ำสายที่ ๒ ระลึกถึงพระธรรมคุณ แม่น้ำสายที่ ๓ ระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยเดชะคุณพระรัตนตรัย แม่น้ำนั้นบังเกิดเป็นน้ำแข็ง ม้าเดินไปได้โดยสะดวก ฯ

ส่วนพระบรมศาสดาทรงทราบว่า พระเจ้ามหากัปปินะทรงสละราชสมบัติพร้อมด้วยข้าราชบริวารเสด็จมา มีพระราชประสงค์จะทรงบรรพชาอุปสมบทเฉพาะพระองค์ จึงได้เสด็จออกไปรับสิ้นหนทางประมาณ ๑๒๐ โยชน์ ประทับอยู่ใต้ร่มไทรใกล้ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา ทรงเปล่งพระรัศมีให้ปรากฏ


พระเจ้ามหากัปปินะพร้อมด้วยบริวาร เสด็จถึงที่นั่นแล้วเสด็จลงจากหลังม้าพระที่นั่ง ทรงพระดำเนินเข้าไปเฝ้าตามแสงรัศมีถวายบังคมพระบรมศาสดาแล้ว ประทับนั่งอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง

พระบรมศาสดาทรงแสดงอนุปุพพิกถา ในที่สุดเทศนา พระเจ้ามหากัปปินะพร้อมด้วยบริวารได้บรรลุโสดาปัตติผล พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ฯ

ส่วนพระนางอโนชาเทวีผู้เป็นอัครมเหสีได้ทราบเนื้อความในราชสาส์นจากพ่อค้า และทราบเรื่องราวตลอดแล้ว ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส จึงประทานรางวัลให้พวกพ่อค้าอีกประมาณ ๙ แสน รวมเป็น ๑๒ แสน และได้ทรงสละราชสมบัติ
พระนางอโนชาเทวีพร้อมบริวาร เสด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดา

ดุจนัยหนหลัง พระบรมศาสดาแสดงอนุปุพพิกถา ในที่สุดเทศนา พระนางอโนชาเทวีพร้อมด้วยบริวารได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบท ภายหลังได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของนางภิกขุณี ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมทั้งบริวาร ฯ

ส่วนท่านพระมหากัปปินะพร้อมทั้งบริวาร ได้สดับฟังพระธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงแสดงแก่พระราชเทวีนั้น ทรงส่งจิตไปตามแนวพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา พระบรมศาสดาทรงพาภิกษุพันรูปนั้นเสด็จกลับพระเชตวันมหาวิหาร

ท่านพระมหากัปปินะนั้น ครั้นได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว มักเที่ยวเปล่งอุทานว่า “อโห สุขํ อโห สุขํ” แปลว่า “สุขหนอ สุขหนอ” ดังนี้เสมอ พวกภิกษุทั้งหลายได้ยินแล้วสำคัญว่าท่านเปล่งอุทานเช่นนั้น เพราะปรารภซึ่งสุขในราชสมบัติของตน จึงได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระบรมศาสดา

พระองค์รับสั่งให้เข้าเฝ้า พระบรมศาสดาตรัสถามทราบความจริงแล้วจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระมหากัปปินะบุตรของเรา มิได้เปล่งอุทานปรารภกามสุขหรือรัชชสุข เธอเกิดความปีติในธรรม เปล่งอุทานปรารภอมตมหานิพพาน ฯ

บางตำนานท่านกล่าวว่า เมื่อพระมหากัปปินะพร้อมด้วยบริวารได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว ท่านไม่ประมาท อุตส่าห์เจริญสมณธรรม บำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล


คราวแรกท่านไม่กล้าจะทรงสั่งสอนใคร เพราะยังไม่ได้รับพระบรมพุทธานุญาต ภายหลังเมื่อได้รับพระบรมพุทธานุญาตให้เป็นผู้สั่งสอนบริวารของท่าน ๑๐๐๐ รูป ให้ได้สำเร็จพระอรหัตผล

พระบรมศาสดาทรงปรารภความสามารถของท่านในเรื่องนี้ให้เป็นต้นเหตุ จึงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างให้โอวาทแก่ภิกษุบริษัท ฯ ท่านพระมหากัปปินะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

* ในธรรมบทภาค ๔ เรื่องกัปปินเถระวัตถุ เป็นสาวัตถี ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-6-29 15:09, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MDF8MDQ5NDg0MTd8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-6-29 15:09, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MDJ8YTIyNTY3ZTJ8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-24 23:22

ตอนที่ ๖๓   

ประวัติพระสาคตเถระ

3.png


ท่านพระสาคตะ เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถี มารดาบิดาให้ชื่อว่า สาคตมาณพ ครั้นเจริญวัยแล้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนาในสำนักของพระบรมศาสดา เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงได้ออกบรรพชาอุปสมบทถือเพศเป็นบรรพชิต ยังฌานสมาบัติ ๘ ประการ ให้บังเกิดขึ้น มีความชำนิชำนาญในองค์ฌานนั้น  

ครั้นกาลต่อมาสมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จจาริกไปตามชนบท บรรลุถึงภัททวติกาคามในพระนครโกสัมพี พระองค์ได้เสด็จประทับอยู่ในบ้านนั้น ฯ ท่านพระสาคตะได้เสด็จไปด้วย ตามตำนานท่านกล่าวว่า ในท่าชื่อว่าอัมพะ มีพญานาคมีฤทธิ์เดชกล้า ชื่อว่า อัมพติฏฐนาค ท่านพระสาคตะได้ทรมานพญานาคนั้นให้เสื่อมสิ้นฤทธิ์เดชแล้ว กลับไปยังสำนักพระบรมศาสดาที่ภัททวติกาคาม ฯ  


ส่วนพระบรมศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ในบ้านนั้นสมควรแก่พุทธอัธยาศัยแล้ว เสด็จไปยังพระนครโกสัมพี อุบาสกอุบาสิกาชาวพระนครโกสัมพี ได้ทำการต้อนรับเสด็จพระองค์ตามสมควร เมื่อได้ทราบว่าท่านพระสาคตะได้สู้กับพญานาคซึ่งอยู่ ณ ท่าชื่อว่าอัมพะ มีชัยชนะ พากันมีความปีติยินดี มีความประสงค์จะหาของอย่างดีเป็นที่พอใจถวาย จึงเข้าไปหาพระสาคตะไหว้แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง

แล้วกล่าวถามว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ อะไรเป็นของหายากและชอบใจยิ่งของพระผู้เป็นเจ้า พวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงบอกแก่อุบาสกเหล่านั้นว่า สุราอ่อนใสสีแดงดังเท้านกพิราบ เป็นของหายากและของชอบใจยิ่งของภิกษุทั้งหลาย จงจัดสุราเช่นนั้นไว้เถิด อุบาสกอุบาสิกาเหล่านั้นจึงจัดสุรานั้นไว้ทุกๆ เรือน


เมื่อเห็นพระสาคตเถระเที่ยวบิณฑบาตจึงนิมนต์ท่านว่า ขอพระผู้เป็นเจ้าจงดื่มสุราอ่อนอันใสสีแดงดังเท้านกพิราบก่อน พระสาคตะก็ดื่มสุรานั้นทุกๆ เรือน ด้วยอำนาจสุราทำให้ท่านมึนเมาลืมสติ จึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายพยุงเธอไปสู่พระวิหาร แล้วทรงตำหนิติเตียนมีประการต่างๆ ในท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์ แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุมิให้ดื่มสุราเมรัยอีกต่อไปว่า “สุราเมรยปาเน ปาจิตฺติยํ” แปลความว่า “เป็นอาบัติปาจิตตีย์เพราะดื่มสุราและเมรัย”

ครั้นรุ่งขึ้นท่านพระสาคตะสร่างเมาได้สติ กราบทูลขอขมาให้พระบรมศาสดาทรงอดโทษแล้ว ก็บังเกิดความสังเวชสลดใจในการทำเช่นนั้น ตั้งแต่นั้นมา ท่านก็อุตส่าห์เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา ฯ

ครั้นกาลต่อมา เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ได้ทรงตั้งท่านพระสาคตะไว้ในตำแหน่งเอตทัคคฐานว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างเป็นผู้ฉลาดในเตโชกสิณสมาบัติ


ตามตำนานปรากฏว่า ท่านเป็นพุทธอุปัฏฐากองค์หนึ่ง ฯ ท่านพระสาคตะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-7-4 14:23, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MDN8OTYxNjExNDV8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-7-4 14:23, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MDR8ZTNiZDVjMzl8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-24 23:38

ตอนที่ ๖๔   

ประวัติพระอุปเสนเถระ

3.png


ท่านพระอุปเสนะ เป็นบุตรของวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อนางสารีพราหมณี ในบ้านชื่อนาลันทะ แคว้นมคธ เดิมชื่อว่า อุปเสนมาณพ อีกอย่างหนึ่งเรียกชื่อตามที่เป็นบุตรของวังคันตพราหมณ์ว่า อุปเสนวังคันตบุตร ท่านเป็นน้องชายของพระสารีบุตร


เพราะพระสารีบุตรมีพี่น้องร่วมท้องมารดาเดียวกันถึง ๖ คน น้องชาย ๓ คน คือ พระจุนทะ ๑ พระอุปเสนะ ๑ พระเรวตะ ๑ และน้องหญิง ๓ คน คือ นางจาลา ๑ นางอุปจาลา ๑ นางสีสุปจาลา ๑ รวมเป็น ๗ คน ทั้งพระสารีบุตร ฯ

อุปเสนมาณพนั้น ครั้นเจริญวัยแล้ว ได้ศึกษาไตรเพทตามลัทธิของพราหมณ์ ต่อมาได้ฟังพระธรรมเทศนาในสำนักพระบรมศาสดา เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงได้บรรพชาอุปสมบทถือเพศเป็นบรรพชิตทำกิจพระพุทธศาสนาตามหน้าที่


ครั้นท่านพระอุปเสนะบวชแล้ว มีพรรษาได้เพียงพรรษาเดียวเท่านั้น ท่านคิดว่าจะยังพระพุทธศาสนาให้เจริญทวีมากขึ้นด้วยหมู่พระอริยสงฆ์ จึงได้อุปัชฌาย์อุปสมบทบวชกุลบุตร ภายหลังท่านพาศิษย์ของท่านไปเฝ้าพระบรมศาสดา ถูกพระบรมศาสดารุกรานว่าเป็นโมฆบุรุษ เป็นผู้มีความมักมาก

เมื่อท่านกลับจากที่เฝ้าแล้ว จึงคิดว่าเราจะยังพระบรมศาสดาให้ตรัสสาธุการ เพราะอาศัยบริษัทของเราให้จงได้ ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว ท่านไม่ประมาท ตั้งใจเจริญซึ่งวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ท่านประพฤติอยู่ในธุดงค์ ๑๓ ประการ

ตามตำนานปรากฏว่า ท่านได้เป็นอุปัชฌาย์บวชกุลบุตร จนมีสัทธิวิหาริกประมาณถึง ๕๐๐ องค์ เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ท่านได้พาสัทธิวิหาริกของท่านไปเฝ้าพระบรมศาสดา ในครั้งนั้นพระบรมศาสดาทรงสาธุการแก่ท่านว่า สาธุ สาธุ อุปเสน ดูก่อนอุปเสนะ ดีละๆ ฉะนี้สมตามความที่ท่านคิดไว้


และพระองค์ได้ทรงแสดงซึ่งคุณแห่งพระอุปเสนะนั้นมีประการต่างๆ แล้วตั้งท่านไว้ในเอตทัคคฐานว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างเป็นผู้นำมาซึ่งความเลื่อมใสโดยรอบในหมู่ชนทั้งชั้นสูงและชั้นต่ำ ฯ ท่านพระอุปเสนะนั้น ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-7-4 14:24, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MDV8NTlhOGZiMjB8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-7-4 14:24, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MDZ8ODhjOWVmMTV8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-24 23:45

ตอนที่ ๖๕   

ประวัติพระขทิรวนิยเรวตเถระ*

3.png


ท่านพระเรวตะ เป็นบุตรของวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อนางสารีพราหมณี ในตำบลบ้านชื่อนาลันทะ เป็นบุตรคนสุดท้องและเป็นน้องชายของท่านพระสารีบุตร เดิมชื่อว่า เรวตมาณพ
เมื่อเข้ามาบวชในพระธรรมวินัยแล้ว ท่านได้พำนักอาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเคียน ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้นามของป่านั้น นำหน้าชื่อว่า “ขทิรวนิยเรวตะ”

ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อเรวตมาณพเจริญวัยมีอายุได้ประมาณ ๘ ปี มารดาบิดาจึงปรึกษากันว่า บุตรของเราบวชหมดแล้ว ยังเหลืออยู่แต่เรวตะคนเดียว ถ้าบวชเสียก็จะไม่มีใครสืบวงศ์ตระกูล เราควรจะผูกพันเรวตะบุตรของเราไว้ด้วยการให้มีเหย้าเรือนเสียแต่ยังเด็กยังหนุ่มอยู่ อย่าให้สมณะศากยบุตรมาพาไปบวชเสียอีกเลย


ครั้นปรึกษากันดังนั้นแล้ว จึงไปขอหมั้นนางกุมาริกา ผู้มีชาติตระกูลเสมอกัน และได้กำหนดวันอาวาหมงคลด้วย ครั้นเมื่อถึงวันกำหนดจึงประดับตกแต่งเรวตมาณพ พาไปเรือนของนางกุมาริกาพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก ฯ

ในขณะเมื่อทำการมงคล เรวตมาณพเกิดความเบื่อหน่ายในการอยู่ครองเรือน เมื่อเสร็จการมงคลแล้ว จึงพากันจัดแจงกลับบ้าน เรวตมาณพกับนางกุมาริกานั่งในรถคันเดียวกัน เมื่อมาในป่าประมาณ ๓๐
โยชน์ ซึ่งอยู่ในประเทศนั้น แล้วขอบรรพชา

ไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดา เพราะท่านพระสารีบุตรสั่งบังคับภิกษุทั้งหลายไว้ว่า ถ้าเรวตะน้องชายของผมเข้ามาบวชในสำนักของท่าน ท่านทั้งหลายจงบวชให้เธอด้วย ไม่ต้องรับอนุญาตจากบิดามารดา เพราะบิดามารดาของผมเป็นมิจฉาทิฏฐิ

ครั้นพวกภิกษุเหล่านั้นให้เรวตะบวชเป็นสามเณรแล้ว จึงส่งข่าวไปให้พระสารีบุตรทราบ ท่านมีความประสงค์จะเยี่ยม จึงได้ทูลลาพระบรมศาสดาถึง ๒ ครั้ง พระองค์ตรัสห้ามเสียทั้ง ๒ ครั้ง จึงได้ยับยั้งอยู่ (เมื่อเรวตะสามเณรมีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ตามวินัยนิยมแล้ว ก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา)


พระเรวตะนั้น ครั้นครบบวชแล้วคิดว่า ถ้าว่าเราจักอยู่ที่นี่ พวกญาติจักติดตามมาพบเรา จึงเรียนเอากัมมัฏฐานในสำนักของภิกษุเหล่านั้น แล้วถือเอาบาตรและจีวรเที่ยวจาริกไปถึงป่าไม้ตะเคียนระยะไกลประมาณ ๓๐ โยชน์ ได้สำนักอาศัยอยู่ที่นั้น อุตส่าห์เจริญสมณธรรมบำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผลภายในพรรษานั้น ฯ

เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว พระสารีบุตรได้กราบทูลลาพระบรมศาสดา เพื่อจะไปเยี่ยมพระเรวตะ พระบรมศาสดารับสั่งให้รอก่อน เพราะว่าพระองค์จะเสด็จไปด้วย และรับสั่งให้บอกแก่ภิกษุผู้จะตามเสด็จตระเตรียม ครั้งนั้นได้เสด็จไปพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ เป็นบริวาร


พระเรวตะกระทำการต้อนรับเป็นอย่างดี ตามตำนานกล่าวว่า พระเรวตะนิรมิตพระคันธกุฎี เพื่อเป็นที่พักของพวกภิกษุผู้เป็นบริวาร นิรมิตที่จงกรม ๕๐๐ ที่พักกลางวันกลางคืนก็ ๕๐๐ พระบรมศาสดาเสด็จประทับแรมอยู่ ณ ที่นั้นถึงเดือนหนึ่ง แล้วจึงเสด็จกลับ ฯ

พระเรวตะชอบอาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเคียน เพราะเหตุนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงตั้งท่านในเอตทัคคฐานว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในป่า ฯ พระเรวตะนั้น ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ
        
๑. ท่านใช้ตามหลังชื่อก็มี เช่น “เรวตขทิรวนิยเถระ”


* ประวัติพระเรวตะ เมื่อพิจารณาตามนัยที่มาในธรรมบทภาค ๔ ได้ความว่า พระเรวตเถระบวชเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ ๗ ปี ครบบวชแล้วไปอยู่ป่า ทำความเพียร ได้บรรลุพระอรหัตผลภายในพรรษานั้น ออกพรรษาแล้วพระบรมศาสดาและพระสารีบุตรเสด็จไปเยี่ยม ครั้งนั้นท่านคงยังเป็นสามเณรอยู่ ได้อุปสมบทภายหลัง ฯ ส่วนที่กล่าวในเรื่องนี้ถือเอาตามนัยอสีติมหาสาวกนิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-7-4 14:24, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MDd8NWNhOWZjOTh8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-7-4 14:24, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MDh8NTE1OWNlYjB8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-24 23:50

ตอนที่ ๖๖   

ประวัติพระสีวลีเถระ

3.png


ท่านพระสีวลี เป็นพระราชโอรสของพระนางสุปปวาสา ผู้เป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงโกลิยะ ฯ จำเดิมแต่พระราชโอรสมาถือปฏิสนธิในครรภ์พระมารดา ทำพระมารดาให้สมบูรณ์ด้วยลาภสักการะเป็นอันมาก แต่อยู่ในครรภ์พระมารดาถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน จึงประสูติ เวลาประสูติก็ประสูติง่ายที่สุด เปรียบประดุจน้ำไหลออกจากหม้อ ด้วยอำนาจแห่งพุทธานุภาพ คือ


เมื่อพระนางมีครรภ์แก่ครบกำหนดประสูติแล้ว ได้เสวยทุกขเวทนาลำบากมาก พระนางจึงให้พระสวามีไปกราบถวายบังคมพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสประทานพรให้ว่า “พระนางสุปปวาสา ผู้เป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงโกลิยะ จงเป็นหญิงมีความสุขปราศจากโรคาพยาธิ ประสูติพระราชบุตรผู้หาโรคมิได้เถิด” พระนางสุปปวาสาก็ได้ประสูติพระราชบุตร พร้อมกับขณะที่พระบรมศาสดาตรัสประทานพร

เมื่อทรงประสูติแล้ว พระญาติได้ขนานพระนามว่า “สีวลีกุมาร” ส่วนพระนางสุปปวาสานึกถึงเหตุการณ์ที่เป็นมาแล้ว มีความปรารถนาจะถวายมหาทานสัก ๗ วัน จึงให้สวามีไปอาราธนานิมนต์พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เพื่อรับภัตตาหารในบ้านตลอด ๗ วัน พระราชสามีก็จัดตามความประสงค์ นางได้ถวายมหาทานตลอด ๗ วัน (สีวลีกุมารนับแต่วันที่ประสูติมา ได้ถือธมกรกกรองน้ำถวายพระตลอด ๗ วัน)

เมื่อสีวลีกุมารเจริญวัยขึ้นแล้ว ได้ทรงออกผนวชในสำนักของพระสารีบุตร ได้บรรลุผลตามความปรารถนา คือบรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา นัยว่าท่านได้บรรลุมรรคผลตั้งแต่เมื่อเวลาปลงผม คือ เวลามีดโกนจดลงที่ศีรษะ ครั้งที่หนึ่งได้บรรลุโสดาปัตติผล ครั้งที่สองได้บรรลุสกทาคามิผล ครั้งที่สามได้บรรลุอนาคามิผล ปลงผมเสร็จได้บรรลุพระอรหัตผล


ตั้งแต่นั้นมา ท่านพระสีวลีเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัจจัยลาภ เพราะเหตุนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างเป็นผู้มีลาภมาก ฯ ท่านพระสีวลีนั้น ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-7-4 14:25, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MDl8MmRjZDViNDd8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-7-4 14:25, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MTB8Y2QyMzNlNjl8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-24 23:54

ตอนที่ ๖๗   

ประวัติพระพาหิยทารุจิริยเถระ

3.png


ท่านพระพาหิยทารุจิริยะ เป็นบุตรของกุฎุมพี ในแว่นแคว้นพาหิยรัฐ เมื่อเจริญวัยใหญ่ขึ้นแล้ว ได้ประกอบอาชีพในทางค้าขาย ครั้งหนึ่งไปค้าขายทางจังหวัดสุพรรณภูมิโดยทางเรือ พร้อมด้วยพวกมนุษย์เป็นอันมาก


เมื่อเรือกำลังแล่นไปในท่ามกลางมหาสมุทร ยังไม่ถึงที่ต้องประสงค์ เรือได้อัปปางลงในท่ามกลางมหาสมุทร พวกมนุษย์ทั้งหมดได้เป็นภักษาแห่งปลาและเต่า ยังเหลืออยู่แต่พาหิยทารุจิริยะคนเดียว เกาะแผ่นกระดานได้แผ่นหนึ่ง อุตส่าห์พยายามแหวกว่ายไปขึ้นที่ท่าเรือชื่อว่าสุปารกะ ผ้านุ่งผ้าห่มไม่มีเหลือติดตัวเลย มองไม่เห็นอะไรที่จะทำเป็นผ้านุ่งห่ม จึงเอาเปลือกไม้บ้างใบไม้บ้างเย็บติดต่อกันเข้า ทำเป็นผ้านุ่งห่มถือกระเบื้องเที่ยวไป เพื่อขอทานอาหารเลี้ยงชีพ

พวกมนุษย์ได้เห็นแล้ว พากันสำคัญว่า ผู้นี้คงเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งเป็นแน่นอน จึงพากันให้ทานข้าวต้มข้าวสวยเป็นต้น และนำเอาผ้านุ่งผ้าห่มไปให้ แต่พาหิยทารุจิริยะคิดว่า ถ้าเราจักนุ่งห่มผ้าที่เขานำมาให้ ลาภสักการะของเราก็จักเสื่อม จึงห้ามพวกมนุษย์เสีย ไม่ให้นำผ้านุ่งผ้าห่มมาให้อีกต่อไป คงนุ่งผ้าทำด้วยเปลือกไม้ตามเดิม และมีความสำคัญว่าตนเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง

ครั้งนั้นเทวดาที่เคยบำเพ็ญสมณธรรมร่วมกันมาแต่ชาติก่อน ซึ่งไปเกิดเป็นพรหมในชั้นสุทธาวาสได้เล็งเห็นอาการของพาหิยทารุจิริยะเช่นนั้น จึงได้ลงมาว่ากล่าวตักเตือนให้สติว่า ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ ฯ ท่านไม่ได้ทำเช่นนั้น จึงรู้สึกสำนึกตัวได้ว่า ตนไม่ใช่พระอรหันต์ การทำเช่นนี้เป็นการหลอกลวงโลก ไม่เป็นการสมควรเลย


เมื่อรู้สึกตัวเช่นนั้นแล้ว จึงได้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ซึ่งประทับอยู่ที่พระนครสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงแสดง มีการตักเตือนให้สำเหนียกศึกษาในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้น ท่านส่งใจไปตามพระธรรมเทศนา ในเวลาจบเทศนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนากับพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสให้ไปแสวงหาบาตรและจีวรอยู่ ในเวลานั้นเผอิญมีนางยักษิณีตนหนึ่ง จำแลงเพศเป็นแม่โคนมวิ่งมาโดยกำลังเร็วขวิดท่านปรินิพพานเสีย ไม่ทันได้อุปสมบท ฯ

พระบรมศาสดาเที่ยวไปบิณฑบาตพร้อมภิกษุเป็นอันมาก ได้ทอดพระเนตรเห็นสรีระของท่านพาหิยทารุจิริยะ จึงรับสั่งให้ภิกษุจัดแจงฌาปนกิจ แล้วก่อพระสถูปบรรจุอัฐิไว้ ภายหลังพระบรมศาสดาทรงยกย่องสรรเสริญว่า ท่านเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างที่เป็นขิปปาภิญญา ตรัสรู้พลัน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-7-4 14:25, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MTF8MjE3MDdmYjV8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-7-4 14:25, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MTJ8ZTRhMjFjMDV8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-25 00:01

ตอนที่ ๖๘   

ประวัติพระพากุลเถระ

3.png


ท่านพระพากุละ เป็นบุตรมหาเศรษฐีในพระนครโกสัมพี มีนามว่า “พากุละ” ด้วยเหตุที่ท่าน
พระพากุละอยู่ในตระกูลเศรษฐีทั้งสอง หรืออีกนัยหนึ่งว่า เป็นผู้อันตระกูลแห่งเศรษฐีทั้ง ๒ ชุบเลี้ยง ดังมีเรื่องราวปรากฏในตำนานว่า

เมื่อท่านเกิดได้ ๕ วัน มารดาบิดาพร้อมด้วยประยูรญาติจัดแจงทำการมงคลโกนผมไฟ และขนานนามท่านพากุละ พี่เลี้ยงและนางนมได้พาท่านไปอาบน้ำชำระเกล้าที่แม่น้ำคงคา ในขณะนั้นได้มีปลาใหญ่ตัวหนึ่งแหวกว่ายมาตามกระแสน้ำ แลเห็นทารกนั้นเข้า สำคัญว่าเป็นอาหาร จึงได้ฮุบทารกนั้นกลืนเข้าไปในท้อง

นัยว่าทารกนั้น เป็นผู้มีบุญญานุภาพมาก เมื่ออยู่ในท้องปลาใหญ่ตัวนั้น ไม่ได้รับอันตรายใดๆ แม้ความลำบากเพียงเล็กน้อยก็ไม่มี นอนสบายเหมือนคนนอนบนที่นอนธรรมดา แต่อาศัยด้วยบุญญานุภาพของทารก จึงบังเอิญให้ปลานั้นเดือดร้อนกระวนกระวาย เที่ยวกระเสือกกระสนแหวกว่ายไปตามกระแสน้ำ และไปติดข่ายของชาวประมงชาวพระนครพาราณสี

เมื่อชาวประมงนั้นปลดปลาออกจากข่าย ปลาตัวนั้นก็ถึงแก่ความตาย เขาจึงได้เอาปลานั้นไปเที่ยวเร่ร่อนขายตีราคาถึงหนึ่งพันกหาปณะ ฯ ในพระนครนั้น มีเศรษฐีคนหนึ่ง
พร้อมด้วยภรรยามีทรัพย์มาก แต่เป็นคนไร้บุตรและธิดา ได้ซื้อปลานั้นราคาพันกหาปณะ เมื่อได้แล่ปลานั้นออก จึงได้เห็นทารกนอนอยู่ในท้องปลา

ครั้นเห็นทารกนั้นแล้วเกิดความรักใคร่ราวกะบุตร จึงได้เปล่งอุทานวาจาขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า “เราได้ลูกในท้องปลา” ดังนี้ เศรษฐีและภรรยาได้เลี้ยงทารกนั้นไว้เป็นอย่างดี มิได้มีความรังเกียจเลย ฯ

ครั้นกาลต่อมา เศรษฐีผู้เป็นบิดาและมารดาทราบเรื่องราวนั้นเข้า จึงได้ไปสำนักพาราณสีเศรษฐี พอเห็นทารกนั้นก็จำได้ว่าเป็นบุตรของตน จึงขอทารกนั้นคืน แสดงเหตุตั้งแต่ต้นจนอวสานให้พาราณสีเศรษฐีนั้นทราบ


พาราณสีเศรษฐีนั้นไม่ยอม เศรษฐีผู้เป็นบิดา เมื่อเห็นว่าจะไม่เป็นการตกลงกันแล้ว จึงได้ทูลเกล้าถวายฎีกาต่อพระเจ้าพาราณสี เพื่อให้พระองค์ทรงวินิจฉัยชี้ขาด พระองค์จึงได้ทรงวินิจฉัยให้ตระกูลทั้ง ๒ ช่วยกันอภิบาลรักษาชุบเลี้ยง รับทารกนั้นไว้เป็นคนกลาง

เศรษฐีทั้ง ๒ นั้น ได้ผลัดเปลี่ยนกัน รับทารกนั้นไปบำรุงเลี้ยงในตระกูลของตนๆ มีกำหนดเวลาคนละ ๖ เดือน อาศัยเหตุตามเรื่องที่กล่าวนี้ ทารกนั้นจึงมีนามว่า “พากุละ” จำเดิมแต่กาลนั้นมา พากุลกุมารได้รับการอภิบาลรักษาเลี้ยงดูจากตระกูลเศรษฐีทั้ง ๒ เป็นอย่างดี จนเจริญวัยใหญ่โตขึ้น ฯ

เมื่อพระบรมศาสดาเที่ยวเสด็จไปประกาศพระศาสนาในพระนครพาราณสี พากุลกุมารพร้อมด้วยบริวาร พากันเข้าเฝ้า เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์ แล้วก็เกิดความเลื่อมใส มีความปรารถนาจะบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท


แล้วได้ฟังพระโอวาทที่พระองค์ทรงสั่งสอนในทางวิปัสสนากรรมฐาน ท่านไม่ประมาท อุตส่าห์พยายามทำความเพียรเจริญสมณธรรมบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นาน ๗ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

ตั้งแต่บวชมาในพระพุทธศาสนาประมาณ ๖๐ ปี ไม่เคยจำพรรษาในบ้านเลย และเป็นผู้ไม่มีโรคเบียดเบียน ไม่ต้องทำการพยาบาลรักษากายด้วยเภสัชโดยที่สุด แม้ผลสมอชิ้นเดียว ท่านก็ไม่เคยฉัน

ตามตำนานท่านกล่าวว่า การที่ท่านเป็นผู้มีโรคาพาธน้อยนั้น ก็เพราะผลของบุญกุศลที่ท่านสร้างเวจกุฎีและให้ยาบำบัดโรคเป็นทาน ฯ เพราะฉะนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคฐานว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างเป็นผู้มีโรคาพาธน้อย ฯ

กิจสำคัญที่ท่านได้ทำไว้ในพระพุทธศาสนา มีปรากฏในตำนานว่า ท่านได้ทำให้อเจลกัสสปปริพาชก ผู้เป็นสหายเกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เข้ามาอุปสมบท จนกระทั่งได้บรรลุพระอรหัตผล ด้วยการกล่าวแก้ปัญหา


ท่านพระพากุละดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ ก่อนแต่จะนิพพาน ท่านเข้าเตโชสมาบัติ นั่งนิพพานท่ามกลางภิกษุสงฆ์ เมื่อท่านนิพพานแล้ว เตโชธาตุก็บังเกิดเป็นไฟไหม้สรีระร่างกายของท่านให้หมดไป ณ ที่นั้น ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-7-4 14:26, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MTN8NWFiNmFiMWF8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-7-4 14:26, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MTR8MmE1ZDc0ZmF8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-25 00:06

ตอนที่ ๖๙   

ประวัติพระทัพพมัลลบุตรเถระ

3.png


ท่านพระทัพพมัลลบุตร เป็นพระราชโอรสของพระราชเทวี ผู้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้ามัลลราช มีนามเดิมชื่อว่า ทัพพราชกุมาร อาศัยที่ท่านเป็นราชบุตรของพระเจ้ามัลละ คำว่า “มัลลบุตร” จึงได้เป็นชื่อผสมกับนามเดิมว่า “ทัพพมัลลบุตร” ฯ  


ทัพพมัลลบุตรราชกุมารนั้น นับแต่วันประสูติมามีพระชนม์ได้ ๗ ปี ได้เข้าไปหาพระมารดาทูลอ้อนวอนขออนุญาตจากพระมารดา เพื่อจะบรรพชาในพระพุทธศาสนา เมื่อได้รับอนุญาตจากพระมารดาแล้ว จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ในสำนักของพระบรมศาสดา

เมื่อได้สดับพระโอวาทของพระองค์แล้ว เป็นผู้ไม่ประมาท อุตส่าห์เจริญสมณธรรมบำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าไม่นานนัก ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ และอภิญญา ๖ ฯ

ตามตำนานปรากฏว่า ท่านได้บรรลุพระอรหัตผล เมื่อเวลาที่มีดโกนจดลงที่พระเศียร ฯ (เมื่อมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ตามวินัยนิยมแล้ว ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา)


ท่านเป็นผู้เอาใจใส่ในกิจสงฆ์เป็นอย่างดี ในครั้งหนึ่งได้มีความดำริว่า เราอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ควรรับภารธุระสงฆ์ จึงได้กราบทูลความดำรินั้นแด่พระบรมศาสดา เมื่อทรงทราบแล้ว ทรงสาธุการว่า ดีละๆ ทัพพมัลลบุตร แล้วตรัสให้สงฆ์สมมติท่านเป็นภัตตุทเทสกะและเสนาสนคาหาปกะ

ท่านได้ตั้งใจทำหน้าที่ของท่านให้สำเร็จเรียบร้อยดี และเพราะท่านเป็นผู้ฉลาดในการนี้ด้วย จึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างแต่งตั้งปูลาดเสนาสนะ ฯ

ครั้นกาลต่อมา ท่านพิจารณาอายุสังขารของท่านว่า สมควรจะปรินิพพานแล้ว จึงได้ไปกราบทูลพระบรมศาสดา ก่อนจะนิพพานได้ทำประทักษิณเวียนรอบพระองค์รอบหนึ่ง แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ เหาะทะยานขึ้นสู่อากาศ นั่งขัดบัลลังก์บนพื้นอากาศอันหาระหว่างมิได้ แล้วเข้าเตโชสมาบัติ ครั้นออกจากสมาบัตินั้นแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ณ เบื้องบนอากาศนั้นเอง

ท่านพระทัพพมัลลบุตรนิพพานเสียแต่เมื่อยังไม่ชรา มีอาจารย์บางท่านแก้ว่า เพราะท่านถูกพวกภิกษุชาวเมตติยภูมิหาเลศโจทย์ด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล ครั้นเมื่ออธิกรณ์นั้นได้วินิจฉัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ยังพากันแช่งด่าท่านอีก ภิกษุผู้เป็นปุถุชนไม่รู้ก็พากันเชื่อถือรังเกียจท่าน แสดงอาการดูหมิ่น ไม่มีความนับถือในท่าน


ท่านเกิดความละอายใจในเรื่องนี้ จึงถวายบังคมลาพระบรมศาสดานิพพานเสีย ฯ บางอาจารย์ก็คัดค้านว่า ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ควรจะเชื่อได้ เพราะว่าธรรมดาพระขีณาสพทั้งหลายย่อมไม่มีความหวั่นไหวในโลกธรรม ละความยินดียินร้าย คือ การเข้าไปว่าร้ายแห่งชนเหล่าอื่นเสียแล้ว การที่ท่านนิพพานเสียแต่ยังหนุ่ม ก็เพราะว่าท่านมีอายุขัยเพียงเท่านี้เอง ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-7-6 13:02, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MTV8OGQyMjZjYWV8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-7-6 13:02, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MTZ8ZTlmZGEyMzJ8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-25 19:42

ตอนที่ ๗๐   

ประวัติพระอุทายีเถระ

3.png


ท่านพระอุทายี มีชาติภูมิอยู่ ณ ที่ไหน และเข้าบวชในพระพุทธศาสนา ในสำนักของใคร ณ ที่ไหน ยังไม่ได้พบที่มาแห่งประวัติของท่าน เรื่องราวของท่านที่มีมาในปกรณ์ต่างๆ ก็กล่าวถึงเรื่องที่ท่านได้อุปสมบทแล้ว ฯ

ดังเรื่องที่มีในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย หน้า ๒๐๔ มีความว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่วัดโฆสิตในพระนครโกสัมพี ครั้งนั้นท่านพระอุทายีนั่งแสดงธรรมแก่พุทธบริษัทหมู่หนึ่งซึ่งนั่งล้อมท่านอยู่ ท่านพระอานนท์ได้เห็นท่านแสดงธรรมอยู่เช่นนั้น จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ


พระองค์ตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นไม่ใช่เป็นของทำได้โดยง่ายเลย ผู้แสดงต้องตั้งธรรมไว้ในใจ ๕ อย่าง คือ ตั้งใจว่าเราจักแสดงธรรมไปโดยลำดับ ไม่ตัดลัดให้ขาดความ ๑ เราจักแสดงธรรมชี้แจงอ้างเหตุผลให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย ๑ เราจักอาศัยความเอ็นดูแสดงธรรม ๑ เราจักไม่แสดงธรรมด้วยเห็นแก่ลาภสักการะ ๑ เราจักไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น ๑

เรื่องนี้ย่อมชี้ให้เห็นว่า ท่านพระอุทายีแสดงธรรมแก่พุทธบริษัทหมู่ใหญ่เช่นนั้น ก็ย่อมตั้งธรรม ๕ อย่างนั้นไว้ในใจ ธรรมเทศนาของท่านจึงเป็นที่ชอบใจของพุทธบริษัท นับว่าท่านเป็นผู้มีปัญญาฉลาดในการแสดงธรรมได้เป็นอย่างดี
ท่านพระอุทายีดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

พระอุทายีมีชื่อว่า มหาอุทายีก็มี แต่เมื่อดูที่มาเพียงในบาลีแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้สงสัยและเข้าใจยาก เพราะศัพท์บาลีท่านวางไว้ว่า “อายสฺมาอุทายี” แต่อรรถกถาท่านแก้เป็นพระโลลุทายี พระสาวกผู้มีนามว่า อุทายีมีหลายรูป เท่าที่ปรากฏชื่อที่รู้กันโดยมากมี ๓ องค์ คือ พระกาฬุทายี ๑ พระมหาอุทายี ๑ พระโลลุทายี ๑ ฯ พระโลลุทายีและพระอุทายี ๒ องค์นี้ มีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้สงสัยว่าจะเป็นองค์เดียวกัน ฯ

ในอสีติมหาสาวก ๘๐ องค์ ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงจัดไว้ในพุทธประวัติ ไม่ได้จัดพระโลลุทายีเข้าด้วย ทรงจัดเอาพระอุทายีเข้าในจำนวนนั้นองค์หนึ่ง เรื่องพระสาวก ๒ รูปนี้ ข้าพเจ้าเคยถามท่านผู้รู้มามากแล้ว ก็ไม่ได้รับคำอธิบายอันเป็นที่พอใจให้หายความสงสัยเสียได้ นอกจากจะค้นพบประวัติเดิมของท่านทั้ง ๒ องค์ เรื่องนี้ขอนักธรรมวินัยช่วยกันวิจารณ์เถิด ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-7-6 13:02, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MTd8NGUyYzljMzB8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-7-6 13:02, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MTh8MGUxZDQzYTR8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-25 19:45

ตอนที่ ๗๑

ประวัติพระอุปวาณเถระ

3.png



ท่านพระอุปวาณะ มีชาติภูมิเป็นมาอย่างไร เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาสำนักของใคร ณ ที่ไหน ยังไม่ได้พบที่มาแห่งประวัติของท่าน เรื่องราวของท่านที่มีมาในปกรณ์นั้นๆ ก็เล่าถึงแต่เพียงเรื่องที่ท่านได้อุปสมบทแล้ว  


เช่นเรื่องที่มาในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค หน้า ๙๕ มีข้อความว่าด้วย เรื่องท่านนั่งสนทนากับท่านพระสารีบุตร กล่าวถึงโพชฌงค์ ๗ ประการ โดยมีเนื้อความในเรื่องนั้นว่า ครั้งนั้นพระอุปวาณะและพระสารีบุตรพำนักอาศัยอยู่ที่วัดโฆสิตในพระนครโกสัมพี เมื่อเวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรเที่ยวไปตากอากาศเล่น แล้วเข้าไปหาท่านอุปวาณะ นั่งสนทนาปราศรัยกันพอเป็นเครื่องร่าเริงใจแล้ว

แล้วท่านพระสารีบุตรได้กล่าวถามพระอุปวาณะว่า ดูก่อนอาวุโสอุปวาณะ ท่านรู้ไหมว่าโพชฌงค์ ๗ ประการ ที่บุคคลอบรมไว้ดีแล้ว ย่อมอำนวยผลให้อยู่เย็นเป็นสุข ท่านพระอุปวาณะตอบว่า กระผมรู้


ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวต่อไปว่า “ดูก่อนอาวุโสอุปวาณะ เมื่อบุคคลมาปรารภโพชฌงค์ ๗ ประการ มีสติสัมโพชฌงค์เป็นต้น แต่ละอย่างๆ ย่อมรู้ว่า จิตของเราพ้นดีแล้ว เราถอนถีนมิทธะได้ขาดแล้ว เราจะระงับอุทธัจจะได้ด้วยดีแล้ว เราตั้งใจทำความเพียรทำใจไม่ให้หดหู่ได้แล้วอย่างนี้ จึงชื่อว่า อำนวยผลให้อยู่เย็นเป็นสุข” ฯ

ท่านพระอุปวาณะ ได้เคยเป็นพุทธอุปัฏฐากพระบรมศาสดา มีความปรากฏในตอนใกล้พระบรมศาสดาจะนิพพาน คือ ในครั้งหนึ่ง พระอุปวาณะยืนถวายงานพัดอยู่ ณ ที่เฉพาะพระพักตร์พระบรมศาสดา ถูกพระองค์รุกรานให้ถอยไปด้วยพระดำรัสว่า "อเปหิ ภิกฺขุ” ดูก่อนภิกษุ เธอจงหลีกไป อย่ายืนอยู่ข้างหน้าเรา ฯ


ท่านพระอานนท์ได้เห็นแล้ว จึงดำริว่าพระอุปวาณะองค์นี้เป็นผู้อุปัฏฐากใกล้เคียงพระองค์มานานแล้ว เหตุอะไรหนอพระองค์จึงทรงรุกรานให้หลีกออกไปเสีย เมื่อได้โอกาสแล้วเข้าไปกราบทูลถาม จึงได้ทราบเนื้อความนั้น เรื่องนี้นำมากล่าวเพื่อให้รู้ว่า ท่านพระอุปวาณะเคยเป็นพุทธอุปัฏฐากองค์หนึ่ง

เมื่อท่านพระอุปวาณะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ได้ดับขันธปรินิพพาน ฯ ตามเรื่องที่กล่าวมานี้ เข้าใจว่าคงนิพพานภายหลังแต่พุทธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-7-6 13:03, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MTl8ZWU3YTY0MWV8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-7-6 13:03, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MjB8Njg0NGU4MDF8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-25 19:49

ตอนที่ ๗๒   

ประวัติพระเมฆิยเถระ

3.png


ท่านพระเมฆิยะ มีชาติภูมิเป็นมาอย่างไร เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาในสำนักของใคร ณ ที่ไหน ยังไม่ได้พบที่มาแห่งประวัติของท่าน ประวัติที่มีมาในปกรณ์นั้นๆ ก็กล่าวถึงเรื่องที่ท่านได้อุปสมบทแล้ว


และปรากฏว่า ท่านเคยเป็นผู้อุปัฏฐากพระบรมศาสดาด้วยองค์ ๑ ซึ่งมีมาในอุทาน หน้า ๑๐๒ มีความว่า ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ จาลิกบรรพตในกรุงจาลิกา มีท่านพระเมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลลาพระองค์เข้าไปบิณฑบาตในชันตุคาม

เมื่อได้รับพุทธานุญาตแล้ว เวลารุ่งเช้าได้เข้าไปบิณฑบาตในบ้านนั้น เมื่อเวลากลับจากบิณฑบาต เดินเล่นมาตามริมฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ได้เห็นสวนมะม่วงร่มเย็นเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ ใคร่จะทำความเพียรที่สวนนั้น

ครั้นกลับมาแล้ว จึงเข้าไปกราบทูลลาพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงห้ามว่า ดูก่อนเมฆิยะ เธอจงรอก่อน ฉันอยู่คนเดียว ขอให้ภิกษุอื่นมาเปลี่ยนเวรอุปัฏฐากแทนเสียก่อน ดังนี้ถึง ๓ ครั้ง ท่านพระเมฆิยะไม่เชื่อฟัง กราบทูลลาแล้วลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมพระองค์แล้วหลีกไปบำเพ็ญเพียรอยู่ที่สวนมะม่วงนั้น แต่หาได้สำเร็จมรรคผลอันใดสมควรตามความประสงค์ไม่ เพราะท่านถูกวิตก ๓ เข้าครอบงำ จึงกลับมาเฝ้ากราบทูลเนื้อความนั้นให้พระองค์ทรงทราบ


พระองค์ตรัสสอนให้ตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการ คือ

๑. เป็นผู้มีกัลยาณมิตร


๒. เป็นผู้มีศีลสำรวมในปาฏิโมกข์

๓. เป็นผู้พูดวาจาเป็นสุภาษิต (วาจาที่ขัดเกลา คือพูดแล้วไม่นำมาซึ่งโทษ มีแต่จะนำมาซึ่งประโยชน์โดยส่วนเดียว)

๔. เป็นผู้มีความเพียรความบากบั่น

๕. เป็นผู้มีปัญญา ฯ

แล้วตรัสให้เจริญธรรมอีก ๔ อย่างคือ อสุภ เพื่อจะละซึ่งราคะ ๑ เมตตา เพื่อจะได้ละพยาบาท ๑ อานาปานสติ เพื่อจะได้ตัดเสียซึ่งวิตก ๑ อนิจจสัญญา เพื่อจะได้ถอนเสียซึ่งอัสมิมานะ ๑ ฯ

ท่านพระเมฆิยะตั้งอยู่ในโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสั่งสอน ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียร ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลนับเข้าในพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ท่านพระเมฆิยะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-7-6 13:03, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MjF8NmQzMTVlNjV8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-7-6 13:03, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MjJ8YjQ1MjI2NmF8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-25 19:52

ตอนที่ ๗๓   

ประวัติพระนาคิตเถระ

3.png


ท่านพระนาคิตะ มีชาติภูมิเป็นมาอย่างไร เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา สำนักของใคร ณ ที่ไหน ยังไม่ได้พบที่มาแห่งประวัติของท่าน ประวัติที่มีมาในปกรณ์นั้นๆ ก็กล่าวถึงเรื่องตอนที่ท่านได้อุปสมบทแล้ว


และปรากฏว่า ท่านก็เคยเป็นผู้อุปัฏฐากพระบรมศาสดาองค์หนึ่ง มีเรื่องที่มาในฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย หน้า ๕๙ เรื่องหนึ่งว่า ครั้งหนึ่งพระบรมศาสดาเสด็จเที่ยวจาริกไปในโกศลชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ บรรลุถึงบ้านพราหมณ์ คฤหบดีชาวอิจฉานังคละได้ทราบข่าวว่า พระองค์เสด็จมา จึงพากันจัดแจงของถวาย มีของเคี้ยวของฉันเป็นต้น แล้วพร้อมกันไปเฝ้าส่งเสียงอึงคะนึงดังอยู่นอกซุ้มประตู

สมัยนั้นท่านพระนาคิตะ เป็นผู้อุปัฏฐากพระองค์ เมื่อพระองค์ได้ทรงสดับเสียงนั้นแล้ว จึงรับสั่งถามท่านพระนาคิตะว่า ดูก่อนนาคิตะ ชนพวกไหนนั่นพากันส่งเสียงอึงคะนึงอยู่เหมือนพวกชาวประมงแย่งปลากัน ท่านออกไปดูแล้วกลับมาทูลว่า พวกพราหมณ์และคฤหบดีชาวอิจฉานังคละได้พากันถือขาทนียโภชนียะมา เพื่ออุทิศถวายพระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์


พระบรมศาสดาจึงรับสั่งว่า นาคิตะ ฉันไม่ต้องการสมาคมด้วยยศ ต้องการแต่ความสงัดความวิเวก ท่านพระนาคิตะกราบทูลว่า ขอพระองค์จงทรงรับเถิด บัดนี้เป็นโอกาสอันสมควรที่พระองค์จะทรงรับ พระองค์ตรัสห้ามเสีย แล้วทรงแสดงอานิสงส์ของภิกษุผู้มีความมักน้อยเที่ยวอยู่ในป่า ยินดีเสนาสนะอันเงียบสงัด ฯ

ท่านพระนาคิตะนั้น นับเข้าในจำนวนพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง แต่ท่านจะได้สำเร็จมรรคผลในครั้งไหนไม่ปรากฏ แม้ในเรื่องที่กล่าวมานี้ ก็ไม่ได้พูดถึง แต่พึงเข้าใจว่า ท่านได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา ท่าน
ดำรงชนมายุอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-7-6 13:04, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MjN8MjM0NGRmODN8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-7-6 13:04, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MjR8OGVlZjIyNTR8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-25 19:55

ตอนที่ ๗๔   

ประวัติพระจุนทเถระ

3.png


ท่านพระจุนทะ เป็นบุตรของวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อว่า นางสารีพราหมณี ในตำบลบ้านชื่อว่า นาลันทะ แว่นแคว้นมคธ เดิมชื่อว่า จุนทะ เมื่อบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ภิกษุทั้งหลายเรียกท่านว่า “มหาจุนทะ”


ถึงแม้เรื่องราวของท่านที่มาในปกรณ์นั้น ฯ โดยมากใช้คำว่า “อายสฺมา มหาจุนฺโท” แปลว่า ท่านมหาจุนทะ แต่ที่เรียกว่า “จุนฺท สมณุทฺเทส” ก็มี ท่านเป็นน้องชายของพระสารีบุตร และได้เป็นพุทธอุปัฏฐากพระบรมศาสดาองค์หนึ่ง

เมื่อครั้งพระบรมศาสดาเสด็จไปปรินิพพานที่กรุงกุสินารา ท่านก็เป็นผู้อุปัฏฐากติดตามไปด้วย เรื่องราวของท่านมีปรากฏในปกรณ์หลายแห่ง เมื่อพิจารณาตามเรื่องราวของท่านแล้ว สันนิษฐานได้ว่า ท่านเป็นพระธรรมกถึกองค์หนึ่ง เช่น สัลเลขสูตร มัชฌิมนิกาย หน้า ๖๖ ความย่อว่า


เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ในนครสาวัตถี ท่านเข้าไปเฝ้ากราบทูลถามถึงทิฏฐิที่ประกอบด้วยคำของโลกว่า ภิกษุจะพึงทำอย่างไรจึงจะละทิฏฐิเหล่านั้นได้เด็ดขาด

พระบรมศาสดาทรงแสดงวิธีขัดเกลากิเลสให้ท่านฟังโดยอเนกปริยาย ท่านพระมหาจุนทะมีความปลาบปลื้มใจ อนุโมทนารับภาษิตของพระองค์ เรื่องที่ท่านให้โอวาทแก่ภิกษุโดยตรงก็มี เช่นในฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย หน้า ๗๒


โดยความก็คือ สั่งสอนไม่ให้ภิกษุถือพวกถือเหล่า ยกภิกษุ ๒ พวกขึ้นเป็นตัวอย่าง คือ พวกภิกษุผู้เรียนคันถธุระฝ่าย ๑ พวกภิกษุผู้เรียนวิปัสสนาธุระฝ่าย ๑  

ตามปกติธรรมดาภิกษุย่อมสรรเสริญแต่ฝ่ายข้างตน ติเตือนอีกฝ่ายหนึ่ง ท่านสอนไม่ให้ทำเช่นนั้น สอนให้สำเหนียกศึกษาว่า คนจะเป็นฝักฝ่ายไหนก็ตาม พึงให้พอใจอีกฝ่ายหนึ่ง สรรเสริญคุณงามความดีของกันและกันทั้ง ๒ ฝ่าย ฯ

ท่านพระมหาจุนทะนั้น เมื่อครั้งพระสารีบุตรเถระพี่ชายไปนิพพานที่บ้านเดิม เพื่อโปรดมารดา ท่านได้ติดตามมาด้วย และได้รวบรวมบาตรและจีวร พร้อมทั้งอัฐิธาตุของท่านพระสารีบุตรนำมาถวายพระบรมศาสดาด้วย ฯ ท่าน
ดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-7-6 13:04, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MjV8YmM5YTgwYTZ8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-7-6 13:04, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MjZ8MmQyMDBlY2Z8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-25 20:05

ตอนที่ ๗๕   

ประวัติพระยโสชเถระ

3.png


ท่านพระยโสชะ เกิดมาในตระกูลชาวประมง ในนครสาวัตถี บิดาของท่านเป็นหัวหน้าของพวกชาวประมง ๕๐๐ ตระกูล เดิมท่านชื่อว่า “ยโสชะ” เมื่อวันที่ท่านคลอดจากครรภ์มารดานั้น บรรดาภรรยาชาวประมง ๕๐๐ คน ก็คลอดบุตรเป็นชายพร้อมกันในวันเดียว ใช่แต่เท่านั้น ท่านกล่าวว่า เมื่อลงสู่ปฏิสนธิในครรภ์มารดาก็พร้อมกันด้วย


เหตุนั้นหัวหน้าชาวประมงผู้เป็นบิดาของยโสชะ เมื่อทราบว่าเด็กในบ้านนั้นเกิดพร้อมในเวลาเดียวกันกับบุตรของตน จึงให้ค่าบำรุงเลี้ยงค่าน้ำนมเป็นต้นแก่เด็กเหล่านั้น ด้วยประสงค์ว่า ต่อไปจะได้เป็นสหายแห่งลูกชายของตน

เด็กเหล่านั้นทั้งหมดได้เป็นสหายเล่นฝุ่นด้วยกัน ค่อยเจริญขึ้นโดยลำดับ ลูกชายของหัวหน้าชาวประมงได้เป็นใหญ่กว่าเด็กเหล่านั้น โดยยศและโดยเดช เมื่อเจริญวัยใหญ่โตขึ้นแล้ว ได้เป็นสหายจับปลาด้วยกัน และมีความรักใคร่ซึ่งกันและกัน

วันหนึ่งพวกสหายเหล่านั้นพากันถือแหไปเพื่อจับปลา พากันทอดแหในแม่น้ำอจิรวดี ได้ปลาทองใหญ่ตัวหนึ่ง แต่มีกลิ่นปากเหม็น เมื่อพวกชาวประมงทั้งหมดได้เห็นแล้ว พากันส่งเสียงดังขึ้นด้วยความดีใจ ปรึกษากันว่าบุตรของพวกเราจับได้ปลาทองตัวใหญ่ พระเจ้าแผ่นดินคงจะโปรดปรานพระราชทานรางวัลให้


สหายเหล่านั้นทั้งหมดจับปลาใส่เรือนำไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อให้พระองค์ทอดพระเนตร พระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรแล้ว ทรงพระดำริว่า พระบรมศาสดาคงทรงทราบเหตุที่ปลาเงินทองปากเหม็น จึงรับสั่งให้คนหาบปลานั้น แล้วเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พอถึงที่เฝ้าแล้ว ปลานั้นได้อ้าปากขึ้น กลิ่นปากเหม็นกลบทั่วพระนครทั้งหมด

พระองค์ทรงรับสั่งว่า ปลานี้ก่อนเคยเป็นภิกษุชื่อว่า กปิละ เป็นพหูสูต มีบริวารมาก แต่ประพฤติย่อหย่อนในพระธรรมวินัย ในพุทธศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า


ครั้นรับสั่งดังนั้นแล้ว จึงตรัสกปิลสูตร ในที่สุดเทศนา บุตรชาวประมงทั้ง ๕๐๐ คน มียโสชะเป็นหัวหน้าเกิดความเลื่อมใส ได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระบรมศาสดา ครั้นได้อุปสมบทแล้ว หลีกไปอยู่ที่เงียบสงัดเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม

ครั้งหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ในพระนครสาวัตถี ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป มีท่านพระยโสชะเป็นหัวหน้านั้น พากันมาเฝ้าพระองค์ ครั้นถึงแล้วได้คุยกันกับพวกภิกษุเจ้าถิ่นเสียงดังสนั่นก้อง จนได้ยินถึงพระกรรณ พระองค์ทรงรับสั่งถามว่า อานนท์ ภิกษุพวกไหนนั่น มาคุยกันเสียงดังลั่น เหมือนพวกชาวประมงแย่งปลากัน พระอานนท์กราบทูลให้ทราบแล้ว รับสั่งให้บอกภิกษุเหล่านั้นเข้ามาเฝ้า ตรัสถามอีก


ท่านพระยโสชะกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ทรงประฌามขับไล่ไม่ให้อยู่ในสำนักของพระองค์ พวกภิกษุเหล่านั้นพากันถวายบังคมกระทำประทักษิณแล้วหลีกไป เที่ยวจาริกไปโดยลำดับบรรลุถึงฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา เขตแดนเมืองเวสาลี พากันทำกุฎีมุงและบังด้วยใบไม้ เข้าพรรษา ณ ที่นี้

อาศัยความไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรสมณธรรม เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผลพร้อมกันทั้งหมดภายในพรรษานี้

ครั้นออกพรรษาปวารณาแล้ว พระบรมศาสดาเสด็จจาริกมายังกรุงเวสาลี ประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ทรงทราบว่าภิกษุเหล่านั้นได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว จึงรับสั่งให้พระอานนท์ใช้ให้ภิกษุไปเรียกพวกเธอมาเฝ้า พระอานนท์ได้ไปเรียกภิกษุเหล่านั้นมาเฝ้าตามรับสั่ง

ครั้นถึงที่เฝ้าแล้ว ได้เห็นพระองค์นั่งเข้าอาเนญชสมาธิอยู่ ท่านรู้พากันนั่งเข้าอาเนญชสมาธิตาม ส่วนพระอานนท์เห็นพระบรมศาสดาประทับนิ่งอยู่ จึงทูลเตือนถึง ๓ ครั้งว่า ภิกษุอาคันตุกะมานั่งอยู่นานแล้ว จึงตรัสบอกว่า อานนท์ ฉันและภิกษุอาคันตุกะ ๕๐๐ รูปเหล่านี้ นั่งเข้าอาเนญชสมาธิอยู่ ฯ


ท่านพระยโสชะนั้นนับเข้าในพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-7-6 13:04, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2Mjd8NmY0YjQ2N2F8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-7-6 13:04, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2Mjh8ZjgxNmEyZWN8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-25 20:21

ตอนที่ ๗๖   

ประวัติพระสภิยเถระ

3.png


ท่านพระสภิยะ มีชาติภูมิอยู่ที่ไหน เป็นบุตรของใครไม่ปรากฏในตำนาน ปรากฏแต่ว่าท่านเป็นปริพาชก ชื่อว่า สภิยะ สมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร อันเป็นกลันทกนิวาปสถานในกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นเทวดาที่เคยเป็นญาติสายโลหิตกันมาแต่ชาติก่อน ได้ผูกปัญหาให้แก่สภิยปริพาชกแล้วสั่งความว่า


ดูก่อนสภิยะ สมณพราหมณ์ผู้ใดแก้ปัญหาที่ท่านถามเหล่านี้ได้ ท่านพึงประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของสมณพราหมณ์เหล่านั้น สภิยปริพาชกเรียนเอาปัญหาในสำนักของเทวดานั้น จำได้แล้วเที่ยวถามสมณพราหมณ์ที่เป็นคณาจารย์ใหญ่ซึ่งมียศปรากฏชื่อเสียง ครั้งนั้นมีครู ๖ คน คือ ปูรณกัสสปะ ๑ มักขลิโคศาล ๑ อชิตเกสกัมพล ๑ ปกุทธกัจจายนะ ๑ สัญชัยเวฬัฏฐบุตร ๑ นิคันถนาฏบุตร ๑ เป็นต้น

ครูเหล่านั้นก็พากันแก้ไม่ได้แม้แต่สักคนเดียว ยังซ้ำกลับพูดเยาะเย้ยสภิยปริพาชกมีประการต่างๆ เสียอีก ครั้งนั้น สภิยปริพาชกเมื่อถูกครูทั้ง ๖ คนเยาะเย้ยแล้วก็เกิดความท้อใจ คิดจะกลับไปเป็นคนเลวบริโภคกามคุณ ครั้นมาหวนคิดถึงพระสมณโคดมขึ้นมาได้ จึงตกลงใจจะไปเฝ้า แต่ยังมีความสงสัยในใจว่า พวกสมณพราหมณ์มีครูทั้ง ๖ เป็นต้น ก็เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ บวชมาเป็นเวลานาน เป็นคณาจารย์สั่งสอนหมู่ศิษย์ แต่ยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้


ไฉนพระสมณโคดมซึ่งยังเป็นเด็กอยู่ ทั้งบวชใหม่ด้วย จะแก้ปัญหานี้ได้เทียวหรือ และได้บรรเทาความสงสัยด้วยตนเอง ถึงแม้พระสมณโคดมจะยังเป็นเด็กเล็กอยู่ก็จริง แต่พระองค์เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพใหญ่ จึงได้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่พระเวฬุวันมหาวิหาร ในกรุงราชคฤห์ กราบทูลขอโอกาสถามปัญหาหลายหมวดหลายตอน พระองค์ทรงแก้ได้ทุกหมวดทุกตอน

ได้ที่สุดแห่งการพยากรณ์ปัญหา สภิยปริพาชกเกิดความเลื่อมใส ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์รับสั่งให้อยู่ติตถิยปริวาส ๔ เดือนเสียก่อน เพราะเป็นคนเดียรถีย์ เมื่อสภิยปริพาชกอยู่ติตถิยปริวาสครบกำหนด ๔ เดือนแล้ว ก็ได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนา


ท่านพระสภิยะนั้นหลีกอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคล นับเนื่องในพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ฯ ท่านพระสภิยะดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-7-6 13:05, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2Mjl8YzE0MGEwNjB8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-7-6 13:05, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MzB8OWNjMmRkZjN8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-25 20:24

ตอนที่ ๗๗   

ประวัติพระเสลเถระ

3.png



ท่านพระเสละ มีชาติภูมิอยู่ที่ไหน เป็นบุตรของใคร ไม่ปรากฏในตำนาน ปรากฏแต่ว่าท่านเป็นพราหมณ์ชื่อว่า เสลพราหมณ์ ได้ศึกษาเรียนรู้จบไตรเพท มีความชำนิชำนาญ เป็นคณาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ประมาณ ๓๐๐ คน


ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุ ๑๒๕๐ องค์ เป็นบริวาร เสด็จจาริกไปยังอังคุตตราปชนบท บรรลุถึงอาปณนิคม เสด็จประทับอยู่ ณ นิคมนั้น ฯ เกณิยชฎิลได้ยินกิตติศัพท์ว่า พระสมณโคดมศากยบุตรเสด็จออกทรงผนวชจากศากยตระกูล ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลกเสด็จมา มีความปรารถนาอยากจะเห็นพระองค์ จึงเข้าไปเฝ้า

ครั้นได้ฟังธรรมีกถาของพระองค์แล้วเกิดความเลื่อมใส ได้นิมนต์พระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เพื่อทรงเสวยในวันรุ่งขึ้น พระองค์ทรงรับสั่งว่า ดูก่อนเกณิยะ ภิกษุสงฆ์ที่เป็นบริวารถึง ๑๒๕๐ องค์ ทั้งท่านก็เลื่อมใสในลัทธิพราหมณ์ด้วย เกณิยชฎิลทูลอ้อนวอนนิมนต์อย่างนั้นถึง ๓ ครั้ง พระองค์จึงทรงรับนิมนต์ด้วยอาการนิ่งอยู่


เมื่อเกณิยชฎิลทราบว่าพระองค์ทรงรับแล้ว จึงถวายบังคมกลับมาบอกแก่มิตรสหายและญาติสายโลหิตให้ช่วยกันจัดสิ่งของถวายพระในวันรุ่งขึ้น พวกชนเหล่านั้นต่างคนต่างช่วยกันจัดแจงตามสมควร ส่วนเกณิยชฎิลจัดแจงโรงฉันด้วยตนเอง ฯ

สมัยนั้นเสลพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้ที่เลื่อมใสของเกณิยชฎิล พร้อมด้วยมาณพผู้เป็นศิษย์ ๒๐๐ คน เที่ยวเดินเล่นผ่านไปทางอาศรมเกณิยชฎิล เห็นเขาจัดโรงฉันอยู่ จึงไต่ถามทราบความว่า นิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งภิกษุสงฆ์มาฉัน ครั้นได้ทราบดังนั้นแล้ว มีความประสงค์อยากจะใคร่เห็นพระองค์ด้วย คิดว่าจะสมบูรณ์ด้วยมหาปุริสลักษณะจริงหรือไม่ จึงถามเกณิยชฎิลอีกว่า พระสมณโคดมเสด็จประทับอยู่ ณ ที่ไหน


เกณิยชฎิลก็ชี้ทางให้ไป จึงพาศิษย์ไปเฝ้าพระบรมศาสดา สนทนาปราศรัยไปพลางตรวจดูมหาปุริสลักษณะไปพลาง เห็นมีครบบริบูรณ์ทุกอย่าง จึงเปล่งวาจาชมเชยด้วยความเลื่อมใสแล้ว พร้อมด้วยบริษัทพากันทูลขอบรรพชาอุปสมบท เวลารุ่งเช้าพระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จไปในที่นิมนต์ ทรงเสวยเสร็จแล้วทรงอนุโมทนา

ส่วนท่านพระเสละพร้อมด้วยบริษัทออกจากหมู่ ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญสมณธรรม เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ฯ ท่านพระเสละนั้น นับเข้าในจำนวนพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-7-6 13:05, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MzF8Yjc0ZmMxMDJ8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-7-6 13:05, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MzJ8MDUwYmViYzN8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-25 20:27

ตอนที่ ๗๘   

ประวัติพระมหาปรันตปเถระ

3.png


ท่านพระมหาปรันตปะ มีชาติภูมิเป็นมาอย่างไร เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาในสำนักของใคร ณ ที่ไหน เมื่อบวชแล้วได้ทำอะไรบ้าง ยังไม่ได้พบที่มาแห่งประวัติของท่านเลย ข้าพเจ้าอุตส่าห์พยายามค้นคว้าในปกรณ์ต่างๆ ก็ไม่พบเรื่องราวของท่านแม้สักตอนเดียว


แต่มีเรื่องหนึ่งชื่อคล้ายคลึงกับท่าน คือพระเจ้าปรันตปะ ผู้เป็นพระราชบิดาของพระเจ้าอุเทน ในพระนครโกสัมพี ซึ่งมีในอรรถกถาธรรมบท ภาค ๒ เรื่องพระนางสามาวดี แต่ก็ไม่ปรากฏว่าพระองค์ได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา มีหลักฐานอยู่เมื่อเวลาพระองค์เสด็จทิวงคต จะเข้าใจว่าเป็นท่านพระมหาปรันตปะ ก็ดูกระไรอยู่ คงจะเป็นไปไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้นในเรื่องราวของท่านพระมหาปรันตปะนี้ ขอให้เข้าใจไว้เพียงว่า ท่านได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคล นับเนื่องเข้าในพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-7-6 13:06, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MzN8ZDhkZDQ4YTJ8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-7-6 13:06, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MzR8ZjllNGE5ZmJ8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-25 20:29

ตอนที่ ๗๙   

ประวัติพระนาลกเถระ

3.png


ท่านพระนาลกะ เป็นบุตรของน้องสาวอสิตดาบสหรือกาฬเทวิลดาบส ในกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อครั้งพระมหาบุรุษประสูติใหม่ กาฬเทวิลดาบสไปเยี่ยมเยียน ได้เห็นพระลักษณะของพระมหาบุรุษมีลักษณะถูกต้องตามตำราพยากรณ์ศาสตร์ของพราหมณ์ว่า พระองค์ทรงผนวชแล้วจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาเอกในโลก จึงแนะนำกะผู้หลานชายให้ออกประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์คอยพระองค์อยู่ นาลกะก็กระทำตามคำแนะนำ


เมื่อพระมหาบุรุษเจ้าเสด็จออกทรงผนวชอยู่ นาลกะได้ทราบข่าวจึงเข้าไปเฝ้ากราบทูลถามปัญหาโมไนยปฏิบัติ พระองค์ทรงพยากรณ์ให้โดยนัยเป็นต้นว่า พึงทำจิตให้เสมอในสัตว์และบุคคลทั้งปวง อย่าโกรธ อย่าโทมนัสขัดเคืองเมื่อถูกบริภาษ ในเวลาจบพยากรณ์ปัญหา นาลกะเกิดความเลื่อมใสทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย

ครั้นท่านได้อุปสมบทแล้ว ทูลลาพระบรมศาสดาเข้าไปสู่ป่า อุตส่าห์พยายามทำความเพียรในโมไนยปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ ไม่ทำความสนิทสนมกับชาวบ้าน ไม่ติดในบุคคลและถิ่น เป็นผู้มักน้อยในที่จะถาม ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล


พระนาลกะป็นผู้ปฏิบัติในโมไนยปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ และเป็นธรรมเนียมของผู้บำเพ็ญโมไนยปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ คงจะมีชีวิตอยู่ได้ ๗ เดือน เป็นอย่างน้อย ๗ ปี เป็นอย่างกลาง ๑๖ ปี เป็นอย่างสูง และในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งๆ จะมีสาวกผู้บำเพ็ญโมไนยปฏิบัติเพียงองค์เดียวเท่านั้น

ในพระพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามโคตมะนี้ ได้จัดว่า พระนาลกะเป็นผู้บำเพ็ญเพียรโมไนยปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ นับแต่วันที่ท่านได้บรรลุพระอรหัตผลมา ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่ได้เพียง ๗ เดือนเท่านั้น ก็ดับขันธปรินิพพานด้วยอิริยาบถยืน ณ เฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระบรมศาสดา ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-7-6 19:43, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MzV8NTA3NTVhMmZ8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-7-6 19:43, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2MzZ8NGFiN2MyNWR8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-25 20:32

ตอนที่ ๘๐   

ประวัติพระองคุลิมาลเถระ

3.png


ท่านพระองคุลิมาละ* เป็นบุตรพราหมณ์ ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ในพระนครสาวัตถี มารดาชื่อว่า นางมันตานีพราหมณี


เมื่อท่านคลอดจากครรภ์มารดา ได้บังเกิดเหตุอัศจรรย์ คือ บรรดาเครื่องศัสตราวุธยุทธภัณฑ์อันมีอยู่ในเรือนนั้นก็ดี เครื่องพระแสงศัสตราวุธของพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ดี ก็บังเกิดรุ่งเรืองเป็นเปลวไฟรุ่งโรจน์โชตนาการ

ฝ่ายปุโรหิตาจารย์ผู้เป็นบิดา เมื่อเห็นเหตุนั้น จึงออกจากเรือน เล็งแลดูฤกษ์บน ฤกษ์ปรากฏในอากาศ ประหลาดใจหนักหนา ด้วยว่าบุตรนั้นจะเกิดเป็นโจร ครั้นเพลารุ่งเช้า จึงเข้าไปสู่ที่เฝ้า กราบทูลเนื้อความนั้นให้พระองค์จับกุมารประหารชีวิตเสีย แต่พระองค์หาทรงทำไม่ กลับสั่งให้บำรุงรักษาไว้

ปุโรหิตาจารย์ก็อภิบาลบำรุงรักษากุมารนั้นไว้ และให้นามว่า “อหิงสกกุมาร” แปลว่า กุมารผู้ไม่เบียดเบียน เพราะถือตามนิมิต ครั้นกาลต่อมา เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้ว มารดาจึงส่งอหิงสกกุมารไปพระนครตักศิลา เพื่อจะให้ศึกษาเล่าเรียนวิชาและศิลปศาสตร์

เมื่อเจ้าอหิงสกกุมารไปถึงพระนครตักศิลาแล้ว ก็เข้าไปหาอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ขอศึกษาศิลปวิทยา อุตส่าห์กระทำวัตรปรนนิบัติเป็นอันดี และมีปัญญาเล่าเรียนได้ว่องไว แม้จะเล่าเรียนศิลปศาสตร์วิชาการใดๆ ก็รู้จบสิ้นทุกประการ เชี่ยวชาญกว่าสานุศิษย์ทั้งปวง จึงเป็นที่โปรดปรานของอาจารย์ทิศาปาโมกข์

ฝ่ายมาณพทั้งหลายอันเป็นเพื่อนเล่าเรียนด้วยกันนั้น ก็บังเกิดการริษยา จึงประชุมปรึกษากันเพื่อคิดอุบายทำลายเจ้าอหิงสกกุมารเสีย เมื่อเป็นที่ตกลงกันแล้ว ได้ไปยุยงอาจารย์ถึง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ในที่สุดอาจารย์ก็ปลงใจเชื่อ คิดหาอุบายที่จะกำจัดอหิงสกกุมารเสีย

เมื่อเห็นอุบายเป็นที่แยบคายแล้ว จึงพูดกับอหิงสกกุมารว่า มาณเว ดูก่อนมาณพ เจ้าจงไปฆ่าคนแล้วตัดเอานิ้วมือมาให้ได้พันนิ้ว แล้วจงนำมา เราจะประกอบศิลปศาสตร์อันชื่อว่าวิษณุ
อหิงสกกุมารจึงได้ฝืนใจทำ เริ่มจัดอาวุธ ผูกพันให้มั่นกับตัวแล้วก็ลาอาจารย์เข้าสู่ราวป่า เที่ยวพิฆาตฆ่ามนุษย์ อันเดินไปมาในสถานที่นั้นๆ

ครั้นฆ่าได้แล้ว มิได้กำหนดนับเป็นคะแนนไว้ ประการหนึ่งจิตของอหิงสกกุมารไม่ได้คิดว่าจะทำการบาปหยาบช้า เหตุดังนี้จึงมิได้กำหนดคนที่ตนฆ่าตาย ก็บังเกิดลบเลือนสงสัย ตั้งแต่นั้นมา เมื่อฆ่าคนตายแล้ว ก็ตัดนิ้วร้อยเป็นพวงไว้ ดุจพวงมาลา นับได้ถึง ๙๙๙ นิ้ว เพราะเหตุนั้น เจ้าอหิงสกกุมารจึงมีนามปรากฏว่า องคุลิมาลโจร แปลว่า โจรผู้ฆ่าคนเอานิ้วมือ

ข่าวคราวเรื่องนี้ก็ระบือกระฉ่อนไปตามนิคมชนบทต่างๆ มหาชนมีความสะดุ้งตกใจกลัว ก็พร้อมกันไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อกราบทูลให้พระองค์กำจัดเสีย เมื่อพระองค์ทรงทราบแล้ว จึงสั่งให้เตรียมพล เพื่อจะไปจับองคุลิมาลโจรฆ่าเสีย ปุโรหิตาจารย์ผู้เป็นบิดาทราบว่าอันตรายจะมีแก่บุตร จึงปรึกษากับนาง
มันตานีพราหมณี ให้นางมันตานีพราหมณีรีบออกไปก่อน เพื่อบอกเหตุนั้นให้แก่บุตรทราบ

ในกาลครั้งนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแลเห็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตผลขององคุลิมาลโจร ถ้าพระองค์ไม่ทรงเป็นพระภารธุระ ก็จะกระทำมาตุฆาตฆ่ามารดาเสีย จักเป็นเหตุเสื่อมจากมรรคผล จึงรีบเสด็จไปแต่เช้าตรู่

เมื่อพบเข้าแล้ว องคุลิมาลโจรก็ตรงเข้าไล่ทันที หมายจักพิฆาตเอานิ้วพระหัตถ์ แม้ไล่เท่าไรก็ไม่ทัน จนเกิดความเหนื่อยเมื่อยล้า จึงได้ร้องตะโกนให้พระบรมศาสดาหยุด พระองค์จึงตรัสตอบว่า พระองค์ท่านได้หยุดแล้ว แต่เขาก็ยังไล่ตามไม่ทัน
องคุลิมาลโจรจึงหาว่าพระองค์ตรัสมุสาวาท

พระองค์ก็ตรัสบอกว่า เราหยุดจากการทำอกุศลอันให้ผลเป็นทุกข์มานานแล้ว ส่วนท่านนั้นยังไม่หยุด

พระสุรเสียงนั้น ทำให้องคุลิมาลโจรรู้สึกสำนึกโทษของตัว จึงเปลื้องศัสตราวุธและองคุลีออกจากกายทิ้งไว้ในซอกภูเขา แล้วเข้าไปเฝ้าทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระองค์ก็ทรงอนุญาต ให้อุปสมบทด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา แล้วทรงนำพาเข้าไปในพระเชตวันมหาวิหาร

ครั้นเวลารุ่งเช้า ท่านเข้าไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี ชาวพระนครได้เห็นท่านแล้วก็เกิดความตกใจกลัว พากันวิ่งหนีเป็นอลหม่าน พากันวิ่งเข้าไปในกำแพงพระราชวังปิดประตูเสีย และพูดจากันต่างๆ นานา บางคนพูดว่า ท่านพระองคุลิมาละปลอมเป็นสมณะเพื่อหลบหนีราชภัย บางคนพูดว่า เพื่อหวังจะประทุษร้ายคนภายในพระนคร


ท่านเที่ยวบิณฑบาตไปถึงไหนก็มีเสียงโจทก์กันเซ็งแซ่ไปถึงนั่น ไม่มีใครถวายบิณฑบาตเลยแม้แต่ทัพพีเดียว ภิกษุรูปใดไปกับท่าน ภิกษุรูปนั้นก็พลอยอดไปด้วย แต่ก็เป็นโชคดีอย่างหนึ่งของท่าน ท่านได้ทำน้ำมนต์ให้หญิงมีครรภ์คนหนึ่ง หญิงนั้นก็คลอดบุตรง่ายเหมือนเทน้ำออกจากกระออม  

ตั้งแต่นั้นมา ก็มีคนนิยมนับถือท่าน จนกระทั่งว่าแท่นที่ท่านนั่ง คนเอาน้ำไปรดแล้วใช้เป็นน้ำมนต์ ก็ได้ผลสมประสงค์เช่นเดียวกัน คาถาที่ท่านทำน้ำมนต์นั้นนิยมกันว่า ได้แก่


“ยโตหํ ภคินิ อริยาย ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สญฺจิจฺจ ปาณํ ชีวิตา โวโรเปตา เตน สจฺเจน โสตฺถิ เต โหตุ โสตฺถิ คพฺภสฺส.” ดังนี้

(ยะโตหัง ภะคินิ อะริยายะ ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตา เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ)

แปลว่า “ดูกรน้องหญิง ตั้งแต่ฉันเกิดมาแล้วโดยอริยชาติ ยังไม่รู้สึกตัวว่าแกล้งปลงชีวิตมนุษย์สัตว์เลย ด้วยอำนาจสัจวาจานั้น ขอความสวัสดี จงมีแก่หล่อนและครรภ์ของหล่อนเถิด”  

ท่านพระองคุลิมาละนั้น เป็นผู้ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรสมณธรรม แต่ว่าจิตฟุ้งซ่านไม่เป็นสมาธิได้ เพราะว่าคนที่ท่านฆ่า ประดุจดังว่ามาปรากฏอยู่เฉพาะหน้า


พระบรมศาสดาทรงทราบ จึงได้เสด็จไปแนะนำสั่งสอน ไม่ให้ระลึกถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้วและสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ให้พิจารณาธรรมที่บังเกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างเดียว

ท่านประพฤติตาม ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลนับเข้าในจำนวนอสีติมหาสาวกองค์หนึ่ง เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

* ท่านพระองคุลิมาละ บางตำนานกล่าวว่า ท่านได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้สามีบริโภค แต่ในเอตทัคคบาลีปรากฏว่าท่านได้ดำรงตำแหน่งเอตทัคคะ เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้กล่าวไว้ เกรงว่าจะเกิน ฯ

4.png




รูปภาพที่แนบมา: 3.png (2023-7-6 19:47, 13.04 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2Mzd8OTI3N2Q4Yjd8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: 4.png (2023-7-6 19:47, 4.01 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzM2Mzh8YzQwMjliMmF8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: pimnuttapa    เวลา: 2011-6-25 20:40

bgpra.1.1.jpg


[ ขอความสุข สวัสดี และดวงตาเห็นธรรม จงมีแด่ทุกท่าน ]

l25.png


IMG_0086.3.JPG




รูปภาพที่แนบมา: IMG_0086.3.JPG (2023-6-7 22:38, 999.55 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzMwMjZ8Mzk2NjVjYzB8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: bgpra.1.1.jpg (2023-6-12 06:53, 98.58 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzMyMDh8MzZlY2U5NDh8MTcxNTE5OTM4OXww



รูปภาพที่แนบมา: l25.png (2023-6-12 06:54, 15.98 KB) / ดาวน์โหลดแล้ว 0
http://www.dannipparn.com/forum.php?mod=attachment&aid=NzMyMDl8ZjVhNDlkYzB8MTcxNTE5OTM4OXww


โดย: sa2kara    เวลา: 2012-9-3 00:09

ขอบคุณครับ.

ขออนุโมทนาในวิริยะของท่านผู้นำบทความมาลง ได้ความรู้ และยังถ่ายทอดไปยังพุทธศาสนิกชนไปอย่างทั่วถึง สาธุ สกฺกาโรติ.
โดย: Teerapat    เวลา: 2012-9-5 15:41

สาธุ ครับ




ยินดีต้อนรับสู่ แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน" (http://www.dannipparn.com/) Powered by Discuz! X1.5